หูเสือ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหูเสือ 28 ข้อ ! (เนียมหูเสือ)

หูเสือ

หูเสือ ชื่อสามัญ Indian borage, Country borage, Oreille, Oregano[2]

หูเสือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Coleus amboinicus Lour., Coleus aromaticus Benth.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1]

สมุนไพรหูเสือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หอมด่วนหูเสือ หอมด่วนหลวง (ภาคเหนือ), เนียมหูเสือ (ภาคอีสาน), ผักฮ่านใหญ่ (ไทใหญ่), ผักหูเสือ (ไทย), เนียมอีไหลหลึง โฮว้หีเช่า (จีน) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของต้นหูเสือ

  • ต้นหูเสือ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้ประมาณ 2-3 ปี มีความสูงของลำต้นประมาณ 0.3-1 เมตร ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ หักได้ง่าย กิ่งและลำต้นค่อนข้างกลม ต้นอ่อนจะมีขนขึ้นอย่างหนาแน่น เมื่อแก่แล้วจะค่อย ๆ หลุดร่วงไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำยอดหรือต้น ขึ้นได้ในทุกสภาพดิน เจริญเติบโตได้ดีในดินอุดมสมบูรณ์ที่มีอินทรียวัตถุสูง ชอบความชื้นมาก และแสงแดดปานกลาง พบขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป ตามที่ลุ่มชื้นแฉะทั่วทุกภาคของประเทศ แต่พบได้มากทางภาคเหนือ[1],[4],[5]

ต้นหูเสือ

  • ใบหูเสือ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้างค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ส่วนขอบใบจักเป็นคลื่นมน ๆ รอบ ๆ ใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวอ่อน แผ่นใบหนาและอวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วทั้งใบ แผ่นใบนูน เส้นใบลึก ก้านใบมีความยาวประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร ใบเมื่อนำมาขยี้ดมจะมีกลิ่นหอมฉุน[1]

ใบหูเสือ

ผักหูเสือ

  • ดอกหูเสือ ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือยอด ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 6-8 ดอก ดอกจะทยอยบานทีละ 1-2 ดอก ดอกย่อยติดกันหนาแน่นเป็นวงรอบแกนผล เป็นระยะ ๆ และมีขน ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วงขาว ลักษณะเป็นรูปเรือ ยาวได้ประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนปลายแยกเป็นกลีบ 2 กลีบ กลีบบนสั้น ตั้งตรง และมีขน ส่วนกลีบล่างมีลักษณะยาวและเว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร มีขน และมีต่อม ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก แฉกบนเป็นรูปไข่กว้าง ปลายแหลม ส่วนแฉกข้างเป็นรูปหอกแคบ โดยแฉกล่างจะยาวกว่าแฉกอื่นเล็กน้อย ส่วนใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแหลม ก้านสั้น[1]

ดอกหูเสือ

รูปดอกหูเสือ

  • ผลหูเสือ ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแป้นสรน้ำตาลอ่อน เปลือกผลแข็ง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร[1]

หมายเหตุ : ต้นหูเสือ กับ Oregano (Origanum vulgare) ซึ่งเป็นพืชเครื่องเทศของประเทศแถบยุโรป เป็นพืชคนละชนิดกันกับต้นหูเสือ แต่อยู่ในวงศ์เดียวกัน พืชทั้งสองชนิดนี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นต้นเดียวกัน เพราะหูเสือกับ Oregano จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก ต่างกันเพียง Oregano มีต้นและใบที่ไม่อวบน้ำ และมีก้านใบสั้นกว่าต้นหูเสือ[3]

สรรพคุณของหูเสือ

  1. ต้นและใบมีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร (ต้นและใบ)[1]
  2. ใบหูเสือมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย (ใบ)[1],[4]
  3. ตำรับยาบำรุงเลือดลม ระบุให้ใช้รากหูเสือนำมาต้มกับน้ำกิน จะช่วยรักษาเลือดลมให้เป็นปกติ (ราก)[4]
  4. ต้นและใบนำมาคั้นเอาน้ำใช้หยอดหู จะช่วยแก้ฝีในหู แก้ปวดหู หูน้ำหนวก และแก้พิษฝีในหูได้ (ต้นและใบ, ใบ)[1],[2],[4]
  5. ช่วยดับกลิ่นปาก แก้ปวดฟัน ป้องกันฟันผุ ด้วยการนำรากหูเสือมาแช่กับน้ำธรรมดา แล้วนำมากินและอมบ่อย ๆ (ราก)[4]
  6. ใบใช้ภายนอกเป็นยาพอกศีรษะแก้อาการปวด ลดไข้ (ใบ)[1]
  7. ต้นและใบใช้ตำแล้วนำมาโปะหน้าผากหรือกระหม่อมเด็กเล็กจะช่วยลดไข้ตัวร้อน แก้ไข้หวัดในเด็กได้ (ต้นและใบ,ใบ)[1],[4]
  8. ใบนำมาขยี้ดม จะช่วยแก้อาการหวัด คัดจมูกได้ (ใบ)[1],[4]
  1. ตำรับยาแก้อาการไอ ไอเรื้อรัง แก้เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ระบุให้ใช้ใบสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำ 1 ลิตร กินครั้งละครึ่งแก้ววันละ 3 เวลา (อาจจะใส่น้ำผึ้งและเกลือเล็กน้อยด้วยก็ได้) โดยให้กินก่อนหรือหลังอาหาร อุ่นเช้าและเย็น สัก 2 วัน ต้มดื่มเรื่อย ๆ จะช่วยทำให้อาการไอและเจ็บคอดีขึ้นและหายได้ หรืออีกวิธีให้ใช้ใบหูเสือสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาสับกับหมูไม่ติดมันให้ละเอียด ใช้ต้มกินแบบแกงจืด ใส่เกลือป่น โดยให้กินทั้งน้ำและเนื้อ 2 มื้อ เช้าและเย็น ส่วนตำรับยาแก้ไอในเด็ก ระบุให้นำใบหูเสือมานวดกับเกลือ คั้นเอาน้ำใส่ช้อนทองเหลืองอุ่นให้เดือด แล้วนำมาให้เด็กกิน (ใบ)[1],[4]
  2. ช่วยแก้โรคหืดหอบ ด้วยการนำใบหูเสือสดมารับประทานร่วมกับน้ำพริก แจ่ว จะช่วยแก้หอบหืด ทำให้หายใจโล่ง อีกทั้งยังช่วยแก้ไอ แก้หวัดได้อีกด้วย (ใบ, ต้นและใบ)[1],[4]
  3. ต้นและใบนำมาขยี้ใช้ทาท้องเด็กเพื่อแก้อาการท้องอืดได้ (ต้นและใบ, ใบ)[1],[4]
  4. ยางจากใบใช้ผสมกับน้ำตาลกินจะช่วยขับลม แก้อาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย (ยางจากใบ)[1]
  5. ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (ใบ)[1]
  6. ใบนำมาต้มกับน้ำกินหลังคลอดจะช่วยขับน้ำคาวปลา (ใบ)[1]
  7. ต้นและใบนำมาขยี้ใช้เป็นยาปิดห้ามเลือด (ต้นและใบ, ใบ)[1],[4]
  8. ใบใช้เป็นยาพอกรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการนำใบหูเสือมาล้างให้สะอาด ตำแล้วนำมาโปะตรงที่เป็นแผล จะช่วยทำให้แผลไม่เปื่อย ไม่พอง และไม่ลุกลาม (ใบ)[1],[4]
  9. ใบนำมาคั้นเอาใช้เป็นยาทารักษาแผลเรื้อรัง แผลที่มีน้ำเหลือง น้ำหนอง หรือเป็นตุ่มพุพอง (ใบ)[1],[4]
  10. ใบนำมาขยี้ทารักษาหิด (ใบ)[1],[4]
  11. ใบใช้ภายนอกนำมาขยี้ทาหรือใช้เป็นยาพอกแก้แมงป่องต่อย ตะขาบกัด (ใบ)[1],[4]
  12. ช่วยรักษาอาการบวม ใช้ตำพอกแก้ปวดข้อ (ใบ)[1],[4]
  13. ใบใช้เป็นยาแก้ลมชักบางประเภท (ใบ)[1]
  14. ช่วยบำรุงน้ำนมหลังคลอดของสตรี (ใบ)[4]
  15. บางข้อมูลระบุว่าหูเสือยังมีสรรพคุณช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ (นำใบมาต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชา), ช่วยลดเสมหะ (นำใบสดมาต้ม ใส่ใบกระวานและกานพลูเล็กน้อย ผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน) (ไม่มีแหล่งอ้างอิง)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหูเสือ

  • สารสำคัญที่พบได้ในใบหูเสือ ได้แก่ น้ำมันหอมระเหย carvacrol, cyperene, thymol, γ-terpinene เป็นต้น[3]
  • หูเสือหรือเนียมหูเสือมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเชื้อรา ยับยั้งยีสต์ ฆ่าแมลง ยับยั้งการงอกของพืชอื่น และยับยั้งเอนไซม์ protease จากเชื้อ HIV[3]

ประโยชน์ของหูเสือ

  1. ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบทุกชนิด ก้อย แจ่วป่น ซุปหน่อไม้ ซุบมะเขือ ใช้ใส่ในแกงต่าง ๆ ใช้รับประทานสดเป็นผักแกล้มกับอาหารอื่น ๆ ใช้กินกับหมาก รวมทั้งยังนำมาใช้แทนใบกะเพราในแกงกบ แกงปลาไหล ผัดหมูสับ เป็นต้น เนื่องจากผักหูเสือมีน้ำมันหอมระเหยสูง จึงช่วยย่อยและดับกลิ่นคาวได้ดีมาก[1],[2],[4]
  2. กลิ่นหอมของใบหูเสือจะคล้ายกับเครื่องเทศ “ออริกาโน” (Oregano) ที่ใช้โรยหน้าพิซซ่า หากใครที่ชอบกลิ่นของออริกาโน ก็สามารถนำใบหูเสือมาตากให้แห้งสนิทในที่ร่ม แล้วบดให้ละเอียด เพียงเท่านี้ก็สามารถนำมาใช้แทนออริกาโนได้เลย[4]
  3. ต้นนำมาตำหรือบดใช้ซักผ้า สระผมได้[5]
  4. ใบสามารถนำไปทำเป็นยานัตถุ์ได้ เพราะมีกลิ่นหอม หรือจะนำมาใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลง ใช้ดับกลิ่นคาวอาหารก็ได้[1],[4]
  5. หูเสือ เป็นผักที่มีกลิ่นหอมฉุน มีรสเผ็ดร้อน มีรสเปรี้ยวแทรกอยู่เล็กน้อย ตามบ้านเรือนต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะพบหูเสือถูกปลูกอยู่ในกะละมัง แม้ว่าผักหูเสือจะไม่ใช่ผักหรือสมุนไพรที่โดดเด่น แต่แทบทุกบ้านมักจะปลูกไว้เป็นไม้คู่บ้าน โดยชาวบ้านในแถบทางภาคอีสานและภาคเหนือจะปลูกไว้เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ส่วนคนจีนจะปลูกไว้เป็นยาแก้ไอ[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “หูเสือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [23 ก.ย. 2014].
  2. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “หูเสือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [23 ก.ย. 2014].
  3. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ใบหูเสือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.  [23 ก.ย. 2014].
  4. กรุงเทพธุรกิจ.  “หูเสือ แก้ไอ บำรุงเลือด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokbiznews.com. [23 ก.ย. 2014].
  5. คมชัดลึกออนไลน์.  (นายสวีสอง).  “หูเสือ ต้นสระผมได้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net.  [23 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, Shubhada Nikharge, CH.Chiu, Click Cluck)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด