เทียนแดง สรรพคุณและประโยชน์ของเทียนแดง 17 ข้อ !

เทียนแดง

เทียนแดง ชื่อสามัญ Garden Cress, Garden Cress Seed[2],[3]

เทียนแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepidium sativum L. (ของอินเดีย), Lepidium apetalum Willd. (ของจีน) จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)[1]

สมุนไพรเทียนแดง ในภาษาจีนกลางจะเรียกว่า ถิงลี่จื่อ, ตู๋สิงช่าย[1]

ลักษณะของเทียนแดง

  • ต้นเทียนแดง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้ประมาณ 1-2 ปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงและมีความสูงประมาณ 10-40 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านบริเวณยอดต้น รากเป็นสีขาว มีรากฝอยไม่มากแทงลงใต้ดิน มีขนอ่อนขึ้นปกคลุมทั้งต้น[1]

รูปต้นเทียนแดง

ต้นเทียนแดง

  • ใบเทียนแดง ใบที่อยู่ใกล้โคนต้นจะมีก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ส่วนใบด้านบนไม่มีก้านใบ ใบเทียนแดงเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแคบ ขอบใบหยักลึก แตกเป็นแฉกคล้ายขนนก มีประมาณ 2-3 แฉก หน้าใบมีขน แต่หลังใบมีขน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ใบยอดกิ่งมักมีขนาดเล็กเป็นเส้น[1]

ใบเทียนแดง

  • ดอกเทียนแดง ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง รวมเป็นกระจุก มีสีขาวอมม่วง ขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ รอบกลีบมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 6 อัน[1]

ดอกเทียนแดง

  • ผลเทียนแดง ผลมีลักษณะกลมยาวเป็นรูปไข่แบนมีเหลี่ยม ออกบริเวณง่ามใบ มีขนอ่อนขึ้นปกคลุม ภายในมีเมล็ดกลมรูปไข่กลมรี มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีแดงเข้ม ผิวเมล็ดเรียบเป็นมัน ตรงกลางมีริ้ว[1] แม้ว่าเทียนแดงจะเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ แต่เทียนแดงก็เป็นสมุนไพรที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเอธิโปเปียและมีการเพาะปลูกกันมากในประเทศอินเดีย[4]

ผลเทียนแดง

เมล็ดเทียนแดง

หมายเหตุ : เทียนแดงชนิด Lepidium sativum L. จัดเป็นเทียนแดงที่ได้มาจากประเทศอินเดีย ส่วนเทียนแดงชนิด Lepidium apetalum Willd. จะมาจากประเทศจีน ซึ่งทั้งสองชนิดนี้จะมีลักษณะและคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน มีเมล็ดสีแดงเหมือนกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ แต่ส่วนที่ต่างกันก็คือส่วนของใบ นอกจากนี้ในวงศ์เดียวกันสมุนไพรชนิดนี้จะมีประมาณ 10 กว่าชนิด ที่สามารถนำมาใช้แทนกันได้เช่นกัน เช่น ชนิด Lepidium latifoium L., Lepidium ruderale L. เป็นต้น[1]

สรรพคุณของเทียนแดง

  1. เมล็ดมีรสเผ็ดขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด หัวใจ ม้าม และกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาขับความชื้นในร่างกาย ขับความชื้นในปอด น้ำท่วมปอด (เมล็ด)[1]
  2. เมล็ดใช้เป็นยาลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน (เมล็ด)[3],[4]
  3. ช่วยฟอกโลหิต (เมล็ด)[4]
  4. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้เมล็ดเทียนแดง 300 กรัม นำมาบดให้เป็นผง ใส่น้ำลงไปต้มเคี่ยวจนน้ำแห้ง แล้วจึงนำไปแช่กับเหล้ารับประทาน จากการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีนี้พบว่าได้ผลดีมาก (เมล็ด)[1]
  1. สำหรับผู้ที่หัวใจไม่มีกำลังเนื่องมาจากอาการไอเรื้อรัง ให้ใช้เทียนแดง 6 กรัม นำมาบดให้เป็นผง แบ่งชงกับน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ผลจากการรักษาผู้ป่วยจำนวน 10 รายด้วยวิธีนี้ พบว่าหลังจากผู้ป่วยรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 4 วัน อาการบวมน้ำจะลดลง ถ้ารับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ หัวใจของผู้ป่วยจะมีกำลังดีขึ้น และไม่พบอาการเป็นพิษ (เมล็ด)[1]
  2. ใช้เป็นยาช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะ (เมล็ด)[1],[2],[3],[4]
  3. ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน (เมล็ด)[2],[3],[4]
  4. น้ำมันจากเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลักปิดลักเปิด (น้ำมันจากเมล็ด)[3],[4]
  5. เมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืด แก้อาการแน่นหน้าอก (เมล็ด)[1],[4]
  6. ใช้เป็นยาแก้ลม ขับลม แก้ลมเสียดแทงสองราวข้าง (เมล็ด)[2],[3],[4]
  7. เมล็ดใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย (เมล็ด)[1]
  8. ช่วยแก้น้ำดีพิการ (เมล็ด)[4]
  9. ใช้เป็นยาแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้เมล็ด 300 กรัม นำมาบดให้เป็นผง ใส่น้ำลงไปต้มเคี่ยวจนน้ำแห้ง แล้วจึงนำไปแช่กับเหล้ารับประทาน จากการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีนี้พบว่าได้ผลดีมาก (เมล็ด)[1]
  10. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยขับน้ำนมของสตรีให้นมบุตร (เมล็ด)[3],[4]
  11. ในแถบอินเดียและโมร็อกโกจะใช้เมล็ดเป็นยารักษาโรคผิวหนัง (เมล็ด)[4]
  12. เมล็ดเทียนแดงจัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดเทียน” ซึ่งพิกัดเทียนจะประกอบไปด้วย “พิกัดเทียนทั้ง 5” (เทียนแดง, เทียนขาว, เทียนดำ, เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน), “พิกัดเทียนทั้ง 7” (เพิ่มเทียนสัตตบุษย์ และเทียนเยาวพาณี), และ “พิกัดเทียนทั้ง 9” (เพิ่มเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย) มีสรรพคุณโดยรวม คือ เป็นยาบำรุงโลหิต แก้อาเจียน ช่วยขับลม และใช้ตำรับยาหอม (เมล็ด)[4]
  13. เมล็ดเทียนแดงยังจัดอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) โดยปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งมีส่วนประกอบของเทียนแดงอยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบทางเดินอาหาร โดยปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” ซึ่งมีส่วนประกอบของเทียนแดง เทียนขาว เทียนดำ เทียนเยาวพาณี และเทียนสัตตบุษย์ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการท้องอืด (เมล็ด)[4]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] เมล็ดให้ใช้ครั้งละ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนการนำมาใช้ภายนอกให้ใช้ตามความต้องการหรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา[1] ส่วนการใช้เมล็ดตาม [3] ให้ใช้เมล็ดเทียนแดงประมาณ 1-2 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้าและเย็น[3]

ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีธาตุอ่อน ปอดหย่อนไม่มีกำลัง ไม่ควรรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1] เทียนแดงมีส่วนประกอบของ mustard oil การรับประทานในขนาดที่สูงเกินไป อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร ทำให้เนื้อเยื่ออักเสบได้[4]

เมล็ดเทียนแดง

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเทียนแดง

  • ในเมล็ดเทียนแดงพบน้ำมัน, โปรตีน, Glucolin, Erucic acid, Stearic acid, Sinapic acid, Sitosterol, Benzyl isothiocyanate benzylcyanide lepiidine สาร Helveticoside และ Evomonoside (เป็นสารที่ทำให้เกิดการบีบตัวของหัวใจ แต่มีปริมาณไม่มาก) เป็นต้น[1]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดความดัน ลดไขมัน กระตุ้นหัวใจ ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้เล็ก ขับปัสสาวะ แก้ปวด ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส[3]
  • เมื่อนำสารที่สกัดได้จากเมล็ดเทียนแดงด้วยแอลกอฮอล์มาฉีดเข้าเส้นเลือดของกบทดลอง พบว่าจะทำให้หัวใจของกบมีการบีบตัวแรงขึ้น เมื่อหัวใจเต้นต่อไปได้สักพักหนึ่ง หัวใจก็จะหยุดเต้นในท่าบีบตัว หากนำสารสกัดมาเข้าเส้นเลือดของกระต่ายหรือแมว จะพบว่าทำให้หัวใจของสัตว์ทดลองดังกล่าวมีการบีบตัวแรงขึ้น แต่หัวใจกลับเต้นช้าลง จึงมีการนำมาใช้กับผู้ป่วยที่หัวใจไม่ค่อยมีกำลัง เพื่อทำให้หัวใจมีการฉีดเลือดเข้าเส้นเลือดได้มากขึ้น แต่จะทำให้ความดันโลหิตลดลง[1]
  • จากการให้น้ำมันจากเมล็ดในขนาด 10% แก่หนูทดลองนาน 8 สัปดาห์ พบว่า สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลที่ตับได้ 12.3% ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ 40.4% และลดระดับไขมัน LDL ได้ 9.45% มีระดับ ALA, EPA, DHA ในตับ และซีรัม เพิ่มขึ้น ส่วนระดับไขมัน HDL น้ำหนัก และน้ำหนักของอวัยวะ ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง[4]
  • สารสกัดจากเมล็ดเทียนแดงด้วยน้ำ เมื่อนำมาให้หนูทดลองกินในขนาดสูงเพียงครั้งเดียวหรือให้กินต่อเนื่องกันเป็นเวลา 15 วัน พบว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานและหนูปกติได้ โดยไม่ทำให้ระดับอินซูลินในเลือดมีการเปลี่ยนแปลง และทำให้น้ำหนักตัวของหนูลดลง[4]
  • สารสกัดจากเมล็ดเทียนแดงน้ำ เมื่อนำมาให้หนูทดลองที่มีความดันโลหิตสูงกิน ในขนาด 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ภายหลังการทดลองพบว่า สามารถลดความดันโลหิตของหนูได้ในวันที่ 7 ของการได้รับสารสกัด โดยไม่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจและไม่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ แต่ในหนูปกติจะเพิ่มการขับปัสสาวะ[4]
  • สารสกัดบิวทานอลจากเมล็ดเทียนแดง เมื่อนำมาให้หนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้หลอดลมหดตัวด้วยสารฮีสตามีนและอะเซทิลโคลีน พบว่าจะสามารถป้องกันหลอดลมหดตัวได้ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน ketotifen (1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) และยา atropine sulphate (2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)[4]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าสารสกัดจากผลแห้งเทียนแดงด้วย 50% เอทานอล ขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่มีพิษ ไม่ว่าหนูถีบจักรจะกินหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และให้สารสกัดจากเมล็ดเทียนแดงด้วย 95% เอทานอล ก็ไม่มีพิษเช่นกัน โดยให้หนูถีบจักรกินในขนาด 3 กรัมต่อกิโลกรัม ครั้งเดียว หรือให้กินในขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ทุกวันติดต่อกัน 90 วัน ก็ไม่มีพิษ[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศอียิปต์ ได้ทำการศึกษาทดลองผลของเมล็ดเทียนแดงในการลดไขมันเลือด โดยพบสาร flavonoid ในสารสกัดเทียนแดง ทำการทดลองโดยใช้ Chromatog techniques มีผลในการลดเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด 28.5% (ทำการทดลองในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน) และแสดงผลในการลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรีกลีเซอไรด์[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศอียิปต์ ได้ทำการทดลองใช้เมล็ดเทียนแดงในควายที่อยู่ในระยะให้นมลูก จำนวน 15 ตัว ที่มีอายุ 4-6 ปี แบ่งกลุ่มการทดลองเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 3 ตัว ทำการทดลองนาน 12 สัปดาห์ โดยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม, กลุ่มที่ 2 ให้เมล็ดลูกซัด 200 กรัม, กลุ่มที่ 3 ให้เทียนตากบ (caraway) จำนวน 50 กรัม, กลุ่มที่ 4 ให้ถั่วเมล็ดดำ 50 กรัม และกลุ่มที่ 5 ให้เมล็ดเทียนแดง 100 กรัม ผลการทดลองสรุปได้ว่า เมล็ดเทียนแดงสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P<0.05[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “เทียนแดง”.  หน้า 272.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เทียนแดง Garden Cress Seed”.  หน้า 214.
  3. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “เทียนแดง”  หน้า 111.
  4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เทียนแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [07 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by andreasbalzer, naturgucker.de, Dinesh Valke, shadowshador), www.botanik.uni-karlsruhe.de (by  Michael Hassler)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด