เทียนกิ่ง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเทียนกิ่ง 24 ข้อ ! (เฮนน่า)

เทียนกิ่ง

เทียนกิ่ง ชื่อสามัญ เฮนน่า (Henna) และมีชื่อสามัญอื่น ๆ อีก เช่น Alcana, Cypress shrub, Egyptian Rrivet, Henna Tree, Inai, Kok khau, Krapin, Madayanti, Mehadi, Mignonotte tree, Mong Tay, Lali, Reseda, Sinamomo เป็นต้น[1],[5],[8]

เทียนกิ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Lawsonia inermis L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lawsonia alba Lam.) จัดอยู่ในวงศ์ตะแบก (LYTHRACEAE)[1],[5],[8]

สมุนไพรเทียนกิ่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เทียนขาว เทียนแดง เทียนไม้ เทียนต้น เทียนข้าวเปลือก เทียมป้อม เทียนย้อม (ภาคกลาง), ฮวงกุ่ย โจนกะฮวยเฮี๊ยะ (จีน) เป็นต้น[1],[2],[3] ส่วนทางภาคอีสานนั้นจะเรียกต้นเทียนกิ่งว่า ต้นกาว หรือ ต้นกกกาว เหตุที่เรียกเช่นนั้นก็เป็นเพราะเมื่อนำใบสดมาตำหรือขยี้จะมีลักษณะเหนียวคล้ายกาว[11]

ลักษณะของเทียนกิ่ง

  • ต้นเทียนกิ่ง เป็นพรรณไม้จากต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดและเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย (แหล่งปลูกต้นเทียนกิ่งที่สำคัญของโลกคือที่ประเทศอินเดีย อียิปต์ และซูดาน) โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งรอเลื้อยขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามากเป็นพุ่มกว้าง ลักษณะของกิ่งก้านเมื่อยังอ่อนจะเป็นสีเขียวนวล กิ่งเมื่อแก่จะมีหนาม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมสีเทา ผิวขรุขระ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้เร็ว ขึ้นได้ดีในดินทุกชนิดที่มีความชื้นปานกลางถึงต่ำ ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน[1],[2],[5],[7]

ต้นเทียนกิ่ง

  • ใบเทียนกิ่ง ใบมีขนาดเล็ก ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมโค้ง โคนใบแหลมเรียวสอบเข้าหากันหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบค่อนข้างหนาและแข็ง ก้านใบสั้น[1],[2],[5]

ใบเทียนกิ่ง

  • ดอกเทียนกิ่ง ออกดอกเป็นช่อติดกันเป็นกระจุกยาว โดยจะออกตามยอดกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก แบ่งเป็นสองสายพันธุ์คือ พันธุ์ดอกขาวและพันธุ์ดอกแดง[3] ดอกมีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ช่อดอกยาวประมาณ 9-14 เซนติเมตร พันธุ์ดอกขาวดอกจะเป็นสีเหลืองอมสีเขียว กลีบดอกแยกเป็นกลีบ 4 กลีบ ปลายกลีบมน มีรอยย่นยับ กลีบดอกมีขนาดยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ที่ฐานดอกที่มีกลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ที่กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 8 ก้านและเกสรเพศเมีย 1 ก้าน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ดอกร่วงได้ง่าย[1],[2],[3],[4],[5]

ดอกเทียนกิ่งแดง

ดอกเทียนกิ่ง

  • ผลเทียนกิ่ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมคล้ายกับเมล็ดพริกไทย ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกหรือแก่เต็มที่แล้วจะเป็นสีน้ำตาลและแตกได้ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มจำนวนมากอัดกันแน่น ลักษณะของเมล็ดเป็นเหลี่ยม[1],[2],[3],[5]

ผลเทียนกิ่ง

ลูกเทียนกิ่ง

สรรพคุณของเทียนกิ่ง

  1. ดอกใช้เป็นยารักษาดีซ่าน (ดอก)[4]
  2. รากใช้เป็นยารักษาโรคลมบ้าหมู (ราก)[4]
  3. ดอกแก้อาการปวดศีรษะ (ดอก)[4]
  4. รากใช้เป็นยารักษาตาเจ็บ (ราก)[4]
  5. ใบใช้เป็นยาลดไข้ (ใบ)[8]
  6. ใบเทียนกิ่งสดหรือแห้งนำมาต้มเอาแต่น้ำใช้เป็นยาอมบ้วนปากและคอ จะช่วยแก้อาการเจ็บคอได้ (ใบ)[1]
  7. น้ำต้มใบทั้งสด หรือแห้ง หรือยอดอ่อน เมื่อนำมาดื่มจะช่วยแก้โรคท้องร่วงและแก้ท้องร่วงในเด็กได้เป็นอย่างดี (ใบ, ยอดอ่อน)[1],[2],[4]
  8. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใบ)[4]
  9. ใบใช้เป็นยาแก้บิด กระเพาะอาหารผิดปกติ (ใบ)[8]
  10. รากและใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก, ใบ)[4]
  1. ราก ดอก และผลเทียนกิ่งเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (ราก, ดอก, ผล)[4]
  2. ช่วยรักษากามโรค (ใบ)[4]
  3. ใบสดมีรสฝาดเฝื่อน ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ใบ)[2]
  4. เปลือกต้นช่วยขับน้ำเหลืองเสียในโรคเรื้อน (เปลือกต้น)[4]
  5. ใบสดใช้ตำพอกช่วยห้ามเลือด แก้ห้อเลือด (ใบ)[5]
  6. ใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้น้ำล้างหรือทารักษาบาดแผล แผลสด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลบวมฟกช้ำ แผลมีหนอง แผลอักเสบบวมเป็นหนอง ถอนพิษปวดแสบปวดร้อน (ใบ)[1],[4],[5]
  7. น้ำต้มใบสดหรือใบแห้ง ใช้น้ำล้างหรือทารักษาโรคผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ รักษาฝีได้ (ใบ)[1],[4]
  8. มีรายงานว่าใบเทียนกิ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราและเชื้อหนองซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกลาก (ใบ)[3],[4],[7]
  9. ตำรับยากันเล็บถอด แก้เล็บขบ เล็บช้ำ เล็บเป็นแผล เล็บเจ็บเป็นหนอง แก้อาการปวดนิ้วมือนิ้วเท้า ให้ใช้ใบสดของต้นเทียนกิ่งนำมาตำผสมกับขมิ้นอ้อยสดหรือเหง้าขมิ้นชัน และใส่เกลือพอประมาณ หรืออาจจะใช้ใบสดผสมกับเหล้าตำให้ละเอียดก็ได้ ส่วนอีกวิธีให้ใช้ใบสดประมาณ 20-30 ใบที่ล้างสะอาดแล้วนำมาตำให้ละเอียด เอาข้าวสุกปั้นเป็นก้อนขนาดเท่าหัวแม่มือ นำไปเผาไฟให้บางส่วนดำเป็นถ่าน ตำรวมใส่เกลือเล็กน้อยแล้วนำมาพอกเล็บบริเวณที่เป็นก็จะหาย (ใบ)[1],[2],[3],[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเทียนกิ่ง

  • จากการทดลองพบว่าในใบของต้นเทียนกิ่งมีสารเคมีแนพโทควิโนน (Naphthoquinone) ที่ชื่อว่า “ลอโซน” (Lawsone) (2-hydroxy-1,4-naphthoquinone) อยู่ประมาณ 0.5-0.9%, 1,4-naphthoquinone, แทนนิน (tannin) 5-10%, มีฟลาโวนอยด์ เช่น กลูโคไซด์ของอะพิเจนิน (Apigenin), ลูทีโอลิน (Luteolin) กรดฟีนอลิก (Phenolic acid), กรดไขมัน และแซนโทน (xanthones) ได้แก่ แลคแซนโทน (laxanthone I, II) และยังมีรายงานองค์ประกอบทางเคมีเพิ่มเติม[6],[8] ได้แก่
    • เบนซีนอยด์ (benzenoids) ได้แก่ กรดแกลลิก (Gallic acid), ลาลอยไซด์ (Laloiside)
    • คูมารินส์ (Coumarins) ได้แก่ เอสคูเลติน (Aesculetin), ฟราเซติน (Fraxetin), สโคโพเลติน (Scopoletin)
    • ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ได้แก่ ไซนาโรไซด์ (Cynaroside), ทิเลียนิน (Tilianin)
    • โพลีไซคลิก (Polycyclics) ได้แก่ ลอโซเนียไซด์ (Lawsoniaside)
    • สเตียรอยด์ (Steroids) ได้แก่ เบต้า-ซิโตสเตียรอล (β-sitosterol)
  • สารสกัดจากใบเทียนกิ่งสดด้วยแอลกอฮอล์จะได้สารที่เรียกว่า Lawsone จะมีความเข้มข้นต่ำสุด 1,000 ppm. ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราหรือเชื้อโรคได้หลายประเภท เช่น Brucella, Escherichia coli, Micrococcus pyogenes var. aureus, Salmonella, Staphylococcus, Streptococcus เป็นต้น แต่สารดังกล่าวจะไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ Candida albicans และเชื้อ Pseudomonas aerugingosa[1]
  • สารสกัดจากใบเทียนกิ่งด้วยน้ำมีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัว[10]
  • สารสกัดเอทานอล 95% มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ[10]
  • สาร Lawsone มีความปลอดภัยสูง มีรายงานว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์และก่อมะเร็ง[3] และได้มีการทดสอบความเป็นพิษของใบกับคน โดยให้รับประทานใบคนละ 30 กรัม ผลการทดลองไม่พบว่าเป็นพิษ แต่หากใช้ไปนาน ๆ จะมีอาการเบื่ออาหาร ลำไส้มีอาการเคลื่อนไหวมาก และเมื่อทดลองในสุนัขก็ไม่พบว่ามีอาการเป็นพิษ[10]

ประโยชน์ของเทียนกิ่ง

  1. ต้นเทียนกิ่งเป็นพรรณไม้จากต่างประเทศที่มีดอกสวยงาม สามารถตัดแต่งต้นให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้ จึงนิยมนำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับตามวัด ปลูกเป็นไม้ประธาน ปลูกเป็นแนวรั้วบังสายตาตามสวนสาธารณะ ริมถนนทางเดิน ริมทะเล หรือตามบ้านเรือนต่าง ๆ แต่เนื่องจากผลเป็นพิษจึงไม่ควรปลูกใกล้กับสนามเด็กเล่น[1],[5]
  2. ในประเทศอินเดียจะใช้ใบสดของต้นเทียนกิ่งเป็นสีย้อมผ้า ย้อมสีผม ย้อมขน คิ้ว หนวดเครา เล็บมือ ใช้เขียนลายบนฝ่าเท้า ผิวหนังได้อย่างปลอดภัย ไม่มีพิษ ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง และยังใช้ในการย้อมขนสัตว์และเส้นไหมได้อีกด้วย โดยใช้ Ferrous sulphate, Potassium dichromate, Stannous chloride หรือ Alum ซึ่งใช้วิธีย้อมด้วยการแช่ ก็จะทำให้สีย้อมนั้นติดทนนาน โดยสีที่ได้จากใบเทียนกิ่งจะเป็นสีส้มแดง ซึ่งชาวอียิปต์ได้มีการเทียนเป็นสีย้อมผมมานานกว่า 3,000 ปีแล้ว (ลอโซนจะติดผมได้ไม่แน่นเท่ากับสารสกัดจากเฮนน่า ดังนั้นการย้อมสีผมโดยใช้ผงใบเทียนกิ่ง จึงประหยัดและติดทนได้ดีกว่าสารลอโซนบริสุทธิ์) หากใช้สีของเทียนกิ่งผสมสีของดอกอัญชัน ซึ่งได้จากการสกัดด้วยน้ำ เมื่อนำมาย้อมผมจะได้สีผมเป็นสีน้ำตาลเกือบเข้มหรือดำ ซึ่งเป็นสีผมที่เหมาะกับคนไทย และยังพบว่าสีผมหลังการย้อมนั้นติดทนทาน[1],[4],[7],[8],[11]
  3. ในต่างประเทศจะใช้ใบบำรุงผิวพรรณ (ไม่ได้ระบุว่าใช้อย่างไร)[8]
  4. ในวงการเครื่องสำอางจะใช้ผงจากใบเทียนกิ่งแห้ง นำมาใช้ทำเป็นยาย้อมสีผมและบำรุงเส้นผม โดยจะให้สีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลแดง หรือสีแดงปนสีส้ม และยังสามารถช่วยป้องกันเส้นผมจากแสงแดดได้อีกด้วย โดยสารที่ออกฤทธิ์คือสาร Lawsone[3],[7],[8]
  5. นอกจากนี้ประโยชน์ในด้านเครื่องสำอาง ยังใช้ในการทำความสะอาดผิว ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมัน (Liliac-scented oil) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม[8]

ข้อควรระวังในการใช้เทียนกิ่ง

  • อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ (ข้อมูลไม่ได้ระบุไว้ว่าแพ้จากอะไร)[8]

วิธีการย้อมผมด้วยใบเทียนกิ่ง

  • ให้เตรียมใบเทียนกิ่งที่บดเป็นผงแล้วประมาณ 60-250 กรัม (ผมสั้นหรือผมเส้นเล็กให้ใช้ประมาณ 60-100 กรัม, ผมยาวปานกลางให้ใช้ประมาณ 100-150 กรัม, หากผมยาวมากให้ใช้ประมาณ 150-250 กรัม)
  • ส่วนผสมอื่น ๆ ที่ต้องใช้ ได้แก่ มะนาวครึ่งผลต่อผงเทียนกิ่ง 100 กรัม, ไข่แดง 1 ฟอง และโยเกิร์ต 1 ถ้วย (จะช่วยทำให้ผมนุ่ม), กาแฟหรือคราม (ใช้เพิ่มเติมสีผม), น้ำชาที่ต้มจนเดือดแล้ว 1 แก้ว (ประมาณ 250 ซีซี)

ย้อมผมด้วยเทียนกิ่ง

  • ส่วนผสมที่ใช้เพิ่มเติมสีผม หากต้องการสีผมโทนสีแดง ให้เติมผงกาแฟ 1-2 ช้อนโต๊ะ, สีแดง ให้ใส่เหล้าคอนยัค (Cognac) เพิ่ม 1 ช้อนโต๊ะพร้อมน้ำมันมะกอกอีก 1 ช้อนโต๊ะ, สีน้ำเงินเข้ม ให้เติมน้ำดอกอัญชัน (ประมาณ 30-50 ดอก) ที่ผ่านการต้มรวมกับน้ำชาจนกลีบดอกมีสีจางแล้วคั้นเอากากออก, สีดำ ให้เติมกานพลูบดละเอียด 3 กรัมหรือจะใช้ครามก็ได้ และหากต้องการเพิ่มประกายสีทอง ให้ผสมน้ำส้มไซเดอร์หรือน้ำส้มจากแอปเปิล 3 ช้อนโต๊ะ (เข้าใจว่าคือแอปเปิลไซเดอร์)
  • อุปกรณ์ที่ใช้ทำประกอบไปด้วย ภาชนะใส่ส่วนผสมเทียนกิ่ง, อุปกรณ์สำหรับใช้คนส่วนผสมให้เข้ากัน, แปรงหรือพู่กันสำหรับป้ายครีม, ถุงมือยางและหมวกคลุมผม, ผ้ากันเปื้อนและผ้าโพกศีรษะ, สำลีชุบน้ำหมาด ๆ สำหรับใช้เช็ดครีมที่เปื้อนตามหน้าและหู วาสลีนหรือครีมทาบริเวณตีนผม

ย้อมสีผมด้วยเทียนกิ่ง

  • มาถึงขั้นตอนทำครีมเทียนกิ่ง ให้เทผงเทียนกิ่งลงในชามแก้วหรือกระทะเหล็ก > บีบมะนาวลงไปในผงเทียนกิ่ง > ใส่ไข่แดงและโยเกิร์ตตามลงไป > ค่อย ๆ เทน้ำชาที่เตรียมไว้ลงไปทีละน้อย > คนส่วนผสมให้เข้ากันดีและเหนียวข้นจนคล้ายยาสีฟัน > ให้เติมส่วนผสมที่ใช้เพิ่มเติมสีผมลงไป เช่น กาแฟหรือคราม > ตั้งทิ้งไว้อย่างน้อย 8 ชั่วโมงเพื่อให้สีของเทียนกิ่งออกมาเข้มตามความต้องการ

วิธีการย้อมสีผมด้วยเทียนกิ่ง

  • ขั้นตอนการหมักผม อย่างแรกให้สระผมให้สะอาดแล้วทิ้งไว้จนแห้งสนิท เพราะจะทำให้สีผมติดทนดี > ใช้ครีมหรือวาสลีนทาให้ทั่วบริเวณไรผม > ให้สวมผ้ากันเปื้อน สวมถุงมือให้เรียบร้อย > แบ่งผมตรงกลางหน้าผากเป็นช่อกลม ๆ > บีบครีมป้ายลงหวี แล้วป้ายครีมเทียนกิ่งลงโคนผมทั้งด้านขวาและซ้าย หรือด้านบนและด้านล่าง จากโคนจรดปลาย

หมักผมด้วยทียนกิ่ง

  • เมื่อป้ายทั่วช่อแรกแล้ว ก็ให้ป้ายครีมวนรอบช่อแรกไปจนทั่วศีรษะ โดยใช้ปลายหวีจัดแบ่งผมตามต้องการ

ใบเทียนกิ่งย้อมสีผม

  • เมื่อเสร็จแล้วให้ใช้หมวกพลาสติกคลุมผมไว้ แล้วพันทับด้วยผ้า หมักผมไว้อย่างน้อย 3 ชั่วโมง (ถ้าผมหงอกให้หมักทิ้งไว้ประมาณ 5-8 ชั่วโมง ผมจากสีขาวก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ถ้าหากต้องการให้สีผมออกมาเข้มมากขึ้นก็อาจหมักทิ้งไว้ได้นานถึง 24 ชั่วโมง แต่ถ้าผมดำอยู่แล้วและการทำไฮไลต์แบบประกายทองก็ให้ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง)

ใบเทียนกิ่งย้อมผม

  • เมื่อหมักผมเสร็จแล้วให้ล้างครีมเทียนกิ่งออกด้วยน้ำธรรมดา (ห้ามใช้แชมพูเด็ดขาด) แล้วเช็ดผมให้แห้ง เสร็จแล้วก็ได้ผมสีน้ำตาลแดงหรือสีแดงอมสีส้ม

ย้อมสีผมด้วยใบเทียนกิ่ง

  • ปัญหาที่พบ อย่างแรกก็คือสีผมอาจจางลงได้เมื่อสระผมหรือแปรงผม และอาจต้องย้อมซ้ำทุก ๆ 3-4 สัปดาห์, การย้อมผมด้วยเทียนกิ่งจะใช้เวลานาน, หลังล้างครีมเทียนกิ่งออกอาจเกิดอาการคันหนังศีรษะได้ หากมีอาการคันหนังศีรษะ ก่อนลงครีมเทียนกิ่งก็ให้ใช้น้ำสกัดไพลชโลมให้ทั่วศีรษะก่อน หรือหากเป็นขวดสเปรย์ก็ให้นำมาฉีดให้ทั่วศีรษะ

น้ำสกัดไพล

  • สำหรับการเตรียมและการใช้น้ำไพลสกัด อย่างแรกให้เตรียมวัตถุดิบและอุปกรณ์ดังนี้ ไพลสด (มากน้อยกะเอาตามต้องการ), แอลกอฮอล์ 95% (มากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของไพลที่ใช้), มีด ครก สาก ขวดแก้วสำหรับหมักไพล, ขวดแก้วสำหรับนำมาบรรจุน้ำสกัดไพล

วิธีการย้อมผมด้วยเทียนกิ่ง

  • วิธีการสกัดน้ำไพล ขั้นตอนแรกให้นำไพลสดมาปอกเปลือกล้างน้ำให้สะอาดก่อน ทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ แล้วหั่นเป็นแว่นบาง ๆ นำไปตำให้ละเอียด แล้วใส่ไพลที่ได้ลงไปในขวดแก้ว เทแอลกอฮอล์ตามลงไปให้พอท่วมไพลแล้วปิดฝาขวดให้สนิท > ให้ทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน โดยให้เขย่าขวดไพลที่ได้ทุก ๆ วัน > เมื่อครบวันแล้วให้กรองเอากากไพลออกด้วยผ้าขาวบาง แล้วใส่ทิงเจอร์ลงไปในขวดแก้ว ปิดฝา แล้วตั้งทิ้งไว้ 3 วัน > รินทิงเจอร์ไพลส่วนที่ใส ๆ ใส่ลงในขวดแก้วที่มีหัวฉีดสเปรย์หรือหัวเปิดหยดน้ำได้[9]

วิธีสกัดน้ำไพล

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “เทียนกิ่ง”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 380-382.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “เทียนกิ่ง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 146.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เทียนกิ่ง”.  หน้า 132.
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เทียนกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [20 มี.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “เทียนกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [20 มี.ค. 2014].
  6. โรงเรียนโสภณศิริราษฎร์.  “เทียนกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sopon.ac.th. [20 มี.ค. 2014].
  7. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฉบับคอมพิวเตอร์.  “เทียนกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th.  [20 มี.ค. 2014].
  8. หนังสือสมุนไพรธรรมชาติที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เล่ม 1.  กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.  “เทียนกิ่ง”.  (ภก.วันชัย ศรีวิบูลย์, ภญ.แววตา ประพัทธ์ศร, ภญ.อรอนงค์ ตัณฑวิวัฒน์, รศ.ดร.วีณา จิรัจฉริยากูล).  หน้า 343-348.
  9. คู่มืออบรมย้อมผมสมุนไพร.  “การย้อมผมด้วยเทียนกิ่ง & การป้องกันอาการคันศีรษะ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.stou.ac.th/nursing/Project/คู่มืออบรมย้อมผมสมุนไพร.ppt‎.  [20 มี.ค. 2014].
  10. ไทยสมุนไพร.  “เทียนกิ่ง เปลี่ยนสีผมด้วยสมุนไพรไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ไทยสมุนไพร.net.  [20 มี.ค. 2014].
  11. บทความวิทยุกระจายเสียงรายการวันนี้กับวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 23 (กระจายเสียงจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย) ประจำเดือน มกราคม 2553.  “เทียนกิ่ง : สมุนไพรไทยเพื่อความงาม”  (พิสมัย เลิศวัฒนะพงษ์ชัย, จิตต์เรขา ทองมณี).

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Shubhada Nikharge, Amal Hayati Zainal Abidin, VanLap Hoàng, Nieminski, CANTIQ UNIQUE, Karl Gercens)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด