เถาเอ็นอ่อน
เถาเอ็นอ่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cryptolepis dubia (Burm.f.) M.R.Almeida (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cryptolepis buchananii Roem. & Schult.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1]
สมุนไพรเถาเอ็นอ่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือเถาเอ็น[1] เครือเขาเอ็น[4] (เชียงใหม่), เขาควาย (นครราชสีมา), เสน่งกู (บุรีรัมย์), หญ้าลิเลน (ปัตตานี), หมอตีนเป็ด (สุราษฎร์ธานี), ตีนเป็ดเครือ (ภาคเหนือ), เครือเอ็นอ่อน (ภาคอีสาน), เมื่อย (ภาคกลาง), กวน (ฉาน-แม่ฮ่องสอน), นอออหมี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กู่โกวเถิง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[4],[5],[7]
ลักษณะของเถาเอ็นอ่อน
- ต้นเถาเอ็นอ่อน จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น เป็นไม้เลื้อยจำพวกเถาเนื้อแข็ง เถาลำต้นกลม เปลือกเถาเรียบหนาเป็นสีน้ำตาลอมสีดำหรือเป็นสีแดงเข้มและมีลายประตลอดเถา ยาวประมาณ 4-5 เมตร ก้านเล็ก มีสีเทาอมเขียวและไม่มีขนปกคลุม เมื่อเถาแก่เปลือกจะหลุดลอกออกเป็นแผ่น ๆ มียางสีขาวข้นทั้งต้น พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มักพบขึ้นตามป่าราบหรือตามที่รกร้างทางจังหวัดหวัดสระบุรี[1],[3],[4]
- ใบเถาเอ็นอ่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมนมีหางสั้น โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเรียบเป็นมันและลื่น ท้องใบเรียบเป็นสีเขียวนวล ใบอ่อนมีขนปกคลุม ส่วนใบแก่ไม่มีขน เส้นใบตามขวางจะเป็นเส้นตรงไม่โค้ง ใบหนึ่งจะมีประมาณ 30 คู่ ส่วนก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[2],[4]
- ดอกเถาเอ็นอ่อน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีเป็นสีขาวอมเหลือง ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมี 5 กลีบ[1],[4]
- ผลเถาเอ็นอ่อน ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระสวย กลมยาว ยาวประมาณ 6.5-10 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางฝักประมาณ 1-2 เซนติเมตร ฝักมีเนื้อแข็ง โคนผลติดกัน ปลายผลแหลม ผิวผลเป็นมันลื่น พอแก่แล้วจะแตกอ้าออก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลมีขนปุยสีขาวติดอยู่และปลิวไปตามลมได้ ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีหรือรูปกลมยาวแบน มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร[1],[4]
สรรพคุณของเถาเอ็นอ่อน
- ราก เถา และใบมีรสขมเบื่อเอียน เป็นยาเย็น มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและตับ ใช้เป็นยาฟอกเลือด (ราก, เถา, ใบ)[4]
- เถานำมาต้มกินจะช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น (เถา)[3]
- เมล็ดมีรสขมเมา เป็นยาขับลมในลำไส้และในกระเพาะอาหาร ทำให้ผายและเรอ ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง (เมล็ด)[1],[2],[3]
- เถาใช้แก้อาการฟกช้ำดำเขียว โดยใช้เถาที่บดเป็นผง 0.35 กรัม ผสมกับเหล้ารับประทาน หรือใช้ยาแห้งประมาณ 5-6 กรัม นำมาดองกับเหล้ารับประทานครั้งละ 5 ซีซี วันละ 3 ครั้ง (ตำรับนี้ใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ด้วย) (เถา)[4]
- ใบและเถาเป็นยาบำรุงเส้นเอ็น แก้อาการปวดเมื่อย โดยใบมีรสเบื่อเอียน ใช้ทำเป็นลูกประคบ ด้วยการนำใบมาโขลกให้ละเอียด แล้วนำมาห่อกับผ้าทำเป็นลูกประคบแก้เมื่อยขบ แก้ปวดเสียวเส้นเอ็น ช่วยคลายเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นที่ตึงยืดหย่อน ส่วนเถามีรสขมเบื่อมัน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง แก้เส้นเอ็นพิการ เส้นแข็ง แก้อาการปวดเมื่อยเส้นเอ็น แก้อาการปวดบวม ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหลัง แก้ขัดยอก (ใบ, เถา)[1],[2],[3],[4],[6]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเถาเอ็นอ่อน
- เนื่องจากเถาเอ็นอ่อนเป็นสมุนไพรที่มีสารซึ่งมีฤทธิ์ต่อการกระตุ้นของหัวใจ ดังนั้นในการรับประทานจึงไม่ควรรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนดให้ใช้ และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานจนเกินไป[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเถาเอ็นอ่อน
- สารสำคัญที่พบในเถาเอ็นอ่อน คือ สาร Cryptolepisin ซึ่งเมื่อนำสารชนิดนี้ที่สกัดได้จากเถาเอ็นอ่อนในอัตราส่วน 2.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของสัตว์ทดลองมาฉีดกับหัวใจที่อยู่นอกร่างของสัตว์ เช่น หนูหรือกระต่าย พบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ไปกระตุ้นการบีบตัวของหัวใจให้แรงขึ้น แต่จะทำให้การเต้นของหัวใจช้าลง และเมื่อกระตุ้นต่อไปสักพักหนึ่งหัวใจจะหยุดเต้นในท่าระหว่างบีบตัว[4]
ประโยชน์ของเถาเอ็นอ่อน
- เถาเอ็นอ่อนเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยใช้เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมจากสูตรยาหลัก เมื่อต้องการอบเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือมีอาการปวดหลัง ปวดเอว เป็นต้น[5]
- นอกจากจะใช้เป็นสมุนไพรแล้ว ในปัจจุบันยังพบว่ามีการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับบ้านกันมากขึ้นอีกด้วย[7]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “เถาเอ็นอ่อน (Thao En On)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 140.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “เถาเอ็นอ่อน”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 120.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “เถาเอ็นอ่อน”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 354.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “เถาเอ็นอ่อน”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 252.
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เถาเอ็นอ่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [18 มี.ค. 2014].
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เถาเอ็นอ่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [18 มี.ค. 2014].
- ไทยโพสต์. “เถาเอ็นอ่อน สู้เมื่อยขบ เมื่อยตึง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net. [18 มี.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke, Shubhada Nikharge, tola)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)