เถาพันซ้าย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเถาพันซ้าย 10 ข้อ !

เถาพันซ้าย

เถาพันซ้าย ชื่อวิทยาศาสตร์ Spatholobus parviflorus (DC.) Kuntze จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2]

สมุนไพรเถาพันซ้าย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เถาทองเลื่อย (ราชบุรี), เครือเขาคู้ (ประจวบคีรีขันธ์), กวางผู้ เครือเขาผู้ ตาลานเครือ (ภาคเหนือ), จานเครือ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ถู่กุ๊โพ๊ะ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของเถาพันซ้าย

  • ต้นเถาพันซ้าย จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยพันขนาดใหญ่ มีความยาวได้ถึง 20 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลม มักขดเป็นวง มีขนสีเทา[1],[2]

ต้นเถาพันซ้าย

  • ใบเถาพันซ้าย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบย่อยที่ปลายเป็นรูปไข่ รูปไข่กลับ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบมีติ่งแหลม โคนใบกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยที่อยู่ด้านข้างเป็นรูปไข่แกมสี่เหลี่ยม รูปไข่กลับ หรือรูปไข่กลับแกมรูปวงรี ปลายใบมน โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร หลังใบมีขนสีน้ำตาล ส่วนท้องใบมีขนนุ่มสีเทา[2]

ใบเถาพันซ้าย

  • ดอกเถาพันซ้าย ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงบริเวณซอกใบ ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก ใบประดับเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน กลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ ส่วนกลีบดอกเป็นสีชมพูแกมขาว รูปดอกถั่ว ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมกันเป็นสองกลุ่ม เกสรเพศเมีย มีรังไข่ที่มีขนสีน้ำตาลขึ้นหนาแน่น[2]

ดอกเถาพันซ้าย

  • ผลเถาพันซ้าย ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน คล้ายปีก รูปขอบขนาน ขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร มีขนละเอียดสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่[2]

ผลเถาพันซ้าย

สรรพคุณของเถาพันซ้าย

  1. ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว และกะเหรี่ยงจะใช้ต้นและใบนำมาต้มกับน้ำดื่มบำรุงเลือด แก้เลือดลมเดินไม่สะดวก (ต้น, ใบ)[1]
  2. เถาใช้ปรุงเป็นยาขับเสมหะ ขับปัสสาวะ (เถา)[3]
  3. ต้นและใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร (ต้น, ใบ)[1]
  4. ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี ด้วยการใช้ต้นและใบมาต้มกับน้ำดื่ม (ต้น, ใบ)[1]
  5. ใช้เป็นยากระตุ้นกำหนัด ช่วยทำให้มีบุตรง่าย ด้วยการใช้ต้นและใบมาต้มกับน้ำดื่ม (ต้น, ใบ)[1]
  6. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้เปลือกต้นเถาพันซ้าย 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตกเลือด (เปลือกต้น)[1]
  7. ใบสดนำมาขยี้กับปูนใช้ทาพอกเป็นยารักษาแผลสด (ใบ)[3]
  8. ต้นและใบนำมาตำคั้นเอาน้ำทาหรือพอกแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน หูด (ต้น, ใบ)[1]
  9. เถาใช้ปรุงเป็นยาทำให้เส้นเอ็นหย่อน (เถา)[3]

ประโยชน์ของเถาพันซ้าย

  • คนอีสานจะนำใบอ่อนมาห่อขนมหรือใช้ประโยชน์แทนใบตองกล้วย[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เถาพันซ้าย”.  หน้า 203.
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “จานเครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [12 ธ.ค. 2014].
  3. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  (ฉันท์ฐิตา ธีระวรรณ).  “เถาพันซ้าย, เครือจาน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bedo.or.th.  [12 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Prashant Awale), www.biogang.net (by boomtom_za)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด