เตยทะเล สรรพคุณและประโยชน์ของเตยทะเล 14 ข้อ ! (ลําเจียก)

เตยทะเล

เตยทะเล ชื่อสามัญ Seashore screwpine

เตยทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pandanus odoratissimus L.f.)[1],[5],[6] จัดอยู่ในวงศ์เตยทะเล (PANDANACEAE)

สมุนไพรเตยทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า การะเกด ลำเจียก (ภาคกลาง), ปะหนัน ปาแนะ (มลายู-นราธิวาส), เกตก์, การเกด, ลำจวน, รัญจวน เป็นต้น[1],[2],[4]

ลักษณะของเตยทะเล

  • ต้นเตยทะเล หรือ ต้นลำเจียก มีถิ่นกำเนิดตามชายหาดทั่วคาบสมุทรในแถบเส้นศูนย์สูตรรอบโลก โดยพบขึ้นเป็นดงอยู่ตามชายหาด ตั้งแต่หมู่เกาะของฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม คาบสมุทรมลายู หมู่เกาะฮาวาย อินเดีย ออสเตรเลีย พอลินีเชีย และวานูอาตู ส่วนในประเทศไทยพบได้มากที่จังหวัดตรังและสตูล[6] ต้นเตยทะเลและต้นลำเจียกจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลักษณะเป็นทรงพุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 5-6 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-20 เซนติเมตร โคนต้นมีรากอากาศช่วยค้ำจุนลำต้น ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน ๆ มีหนามแหลมสั้นกระจายอยู่ทั่วไป[1],[2],[3],[4] พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกกอหรือหน่อ (ทำได้ในปีที่ 2) และวิธีการเพาะเมล็ด (ทำได้ไม่ยาก แต่ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีเมล็ดให้เพาะ) ปลูกขึ้นได้ดีในดินอุดมร่วนซุยหรือดินเหนียวปนทรายที่อุ้มน้ำได้ดี ต้องการความชื้นและน้ำปริมาณมาก และชอบแสงแดด มักขึ้นตามชายน้ำ ชายทะเล[4],[5],[6]

รูปเตยทะเล

ต้นเตยทะเล

รากอากาศเตยทะเล

  • ใบเตยทะเล ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว ออกเรียงสลับเวียนรอบกิ่งที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม ส่วนขอบทั้งสองข้างจะหยักและมีหนามแหลมคม ปลายหนามมีลักษณะโค้งไปทางปลายใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1 เมตร เนื้อใบเหนียว ใต้ท้องใบมีแกนกลาง[1],[2],[4],[5]

ใบเตยทะเล

  • ดอกเตยทะเล ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด ปลายกิ่ง หรือออกตามซอกใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้มีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ไม่มีกลีบดอก มีกาบรองดอกสีขาวนวล 2-3 กาบ ส่วนดอกเพศเมียเป็นสีเขียว อยู่ติดกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ และมีกาบรองดอกสีเขียว 2-3 กาบ โดยดอกจะเริ่มบานในช่วงเย็นและจะมีกลิ่นหอมฉุน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[4],[5] ตามตำราระบุว่าต้นที่มีดอกเพศผู้จะเรียกว่า “ลําเจียก” ส่วนต้นที่มีดอกเพศเมียจะเรียกว่า “เตยทะเล[3]

ดอกเตยทะเล

  • ผลเตยทะเล ผลเป็นผลรวมคล้ายผลสับปะรด ลักษณะเป็นรูปกลมหรือขอบขนาน ผลมีลักษณะแข็ง ปลายมีหนามสั้น ๆ ติดกันเป็นกลุ่มแน่น ผลอ่อนเป็นสีเขียวอมขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีส้มอมแดง และมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกระสวย สามารถออกผลได้ตลอดทั้งปี[1],[2],[5]

ผลเตยทะเล

รูปผลเตยทะเล

สรรพคุณของเตยทะเล

  1. ช่อดอกเพศผู้ของต้นเตยทะเลจัดอยู่ในตำรับยาเกสรทั้งเก้า ใช้ปรุงเป็นยาหอม และยาบำรุงหัวใจ (ช่อดอกเพศผู้)[1],[2],[3]
  2. รากมีรสเย็นและหวานเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษโลหิต (ราก)[1],[2],[4]
  3. ช่วยแก้พิษไข้ (ราก)[1],[2],[3],[4]
  4. ช่วยแก้พิษเสมหะ ขับเสมหะ (ราก)[1],[2],[3],[4]
  5. รากเป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่ว (ราก)[1],[2],[3],[4]
  1. รากอากาศใช้ปรุงเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการและแก้นิ่ว (รากอากาศ)[1],[2],[4]
  2. ช่วยรักษาหนองใน (รากอากาศ)[1],[2],[4]
  3. ช่วยแก้มุตกิด ระดูขาวมีกลิ่นเหม็น (รากอากาศ)[1],[2],[4]
  4. นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เพียงแต่ว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่มีแหล่งอ้างอิง ผู้เขียนจึงไม่ยืนยันว่าพรรณไม้ชนิดนี้จะมีสรรพคุณตามที่เขียนไว้หรือไม่ ซึ่งตามข้อมูลได้ระบุสรรพคุณนอกเหนือจากที่ผู้เขียนกล่าวมาแล้วว่า รากอากาศนั้นมีสรรพคุณแก้กษัยไตพิการ ช่อดอกเพศผู้เป็นยาแก้ลม ส่วนต้นใช้เป็นยาแก้กษัยน้ำเบาพิการ ยาขับปัสสาวะ และยาแก้โรคเบาหวาน และใช้ใบเป็นยาเย็นบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น รักษาโรคผิวหนัง และแก้หัด

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเตยทะเล

  • สารสกัดหยาบจากลำต้นใต้ดินของต้นลำเจียกสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของถั่วผี ถั่วเขียวผิวดำ ผักกาดหอม และไมยราบยักษ์ได้[7]

ประโยชน์ของต้นเตยทะเล

  1. ผลใช้รับประทานได้[6]
  2. ใบนำมาใช้สานเป็นเสื่อและเครื่องใช้ประเภทจักสานได้[5]
  3. เปลือกสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือกได้[6]
  4. นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ขึ้นได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ดินเค็ม ชายน้ำ ชายหาด ลำคลอง หนอง บึง สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อม น้ำขังแฉะ น้ำเค็ม โรคและเมลงศัตรูพืชได้ดี และชาวบ้านนิยมชอบปลูกไว้เพื่อบังลม ต้นเตยทะเลสามารถทนต่อลมแรงและอากาศแล้งได้ดี อีกทั้งต้นเป็นพุ่มใหญ่ ใบและต้นมีหนาม จึงใช้ปลูกเป็นรั้วบ้านได้[5],[6]
  5. นอกจากจะปลูกเป็นไม้ประดับแล้ว ยังสามารถใช้ปลูกคลุมวัชพืชได้ดี เพราะมีใบหนาแน่น[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “เตยทะเล (Toei Thale)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 131.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “เตยทะเล”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 101.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ลำเจียก”.  หน้า 159.
  4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ลําเจียก”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 691-692.
  5. พืชจักสาน, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เตยทะเล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/use/weaving.htm. [17 เม.ย. 2014].
  6. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “เตยทะเล”.  (นพพล เกตุประสาท).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [17 เม.ย. 2014].
  7. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 50 วันที่ 31 ม.ค. 2555 – 2 ก.พ. 2555 สาขาส่งเสริมการเกษตรและคหกรรมศาสตร์, สาขาพืช.  “การสกัดสารจากลำต้นใต้ดินของลำเจียกและผลของสารสกัดต่อการเจริญของต้นกล้าของพืชทดสอบ 4 ชนิด”. (ศานิต สวัสดิกาญจน์). หน้า 356-366.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, colleeninhawaii, sclereid0309, Stan Dalone & Miran Rijavec, Jin Yao Ong, mutolisp,  joegoauk25)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด