เดื่อหว้า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเดื่อหว้า 4 ข้อ ! (มะเดื่อหว้า)

เดื่อหว้า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเดื่อหว้า 4 ข้อ ! (มะเดื่อหว้า)

เดื่อหว้า

เดื่อหว้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus auriculata Lour. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1]

สมุนไพรเดื่อหว้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเดื่อหว้า (กาญจนบุรี), มะเดื่อชุมพร (ยะลา), เดื่อหลวง (ภาคเหนือ), ไทรโพ (ภาคกลาง), ตะกื้อเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ฮากอบาเต๊าะ (มาเลย์-นราธิวาส) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของเดื่อหว้า

  • ต้นเดื่อหว้า จัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 3-5 เมตร หรืออาจสูงได้ถึง 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นเป็นสีเทาปนน้ำตาล มีน้ำยางสีขาว ลำต้นเห็นแผลของก้านใบที่ร่วงชัดเจน พบขึ้นตามป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ใกล้ลำธาร ในต่างประเทศพบกระจายพันธุ์ในปากีสถาน อินเดียตอนเหนือ เนปาล ภูฏาน สิกขิม พม่า จีนตอนใต้ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ยกเว้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมักพบขึ้นตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ใกล้ลำธารหรือริมลำน้ำ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 0-1,300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล[1],[2],[3]

ต้นเดื่อหว้า

  • ใบเดื่อหว้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นกระจุกที่ปลายยอด ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 12-18 เซนติเมตร และยาวประมาณ 18-25 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เนื้อใบเหนียวหนาคล้ายแผ่นหนัง ก้านใบยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง[1],[2],[3]

ใบเดื่อหว้า

  • ดอกเดื่อหว้า ออกดอกเป็นช่อ เกิดภายในฐานรองดอกที่รูปร่างคล้ายผล ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ออกที่ลำต้น[1]

ดอกเดื่อหว้า

  • ผลเดื่อหว้า ผลเป็นผลสด เกิดเป็นกระจุกตามลำต้นหรือกิ่งขนาดใหญ่ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแบนและมีกลีบเลี้ยงสีน้ำตาลติดอยู่ ผิวผลเกลี้ยงหรืออาจมีขนสั้นนุ่มขึ้นปกคลุม มักมีสันตามยาวและมีรอยแผลใบประดับข้าง ผลมีขนาดตามขวางตอนสดประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแกมแดง ก้านผลยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร[2],[3]

มะเดื่อหว้า

ผลเดื่อหว้า

ผลมะเดื่อหว้า

สรรพคุณของเดื่อหว้า

  • ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ผลเดื่อหว้าประมาณครึ่งผล นำมากินเป็นยาแก้ท้องเสีย (ผล)[1]
  • เปลือกต้นหรือรากเดื่อหว้า ใช้ผสมกับรากเจตพังคี รากเจตมูลเพลิงแดง รากละหุ่งแดง รากมหาก่าน รากหิ่งเม่น รากหิงหายผี ต้นพิศนาด หัวกระชาย เหง้าว่านน้ำ ผลยี่หร่า เมล็ดพริกไทย เมล็ดเทียนดำหลวง วุ้นว่านหางจระเข้ และเทียนทั้งห้า อย่างละเท่ากัน แล้วนำมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย ใช้กินกับน้ำมะนาวเป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (เปลือกต้น, ราก)[1]

ประโยชน์ของเดื่อหว้า

  • ผลสุกใช้รับประทานได้ ส่วนผลดิบใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบหรือลาบปลา รับประทานกับแกงบอนหรือหลามบอน[3]
  • ยอดอ่อนนำไปแกงหรือรับประทานสดหรือลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกและลาบ[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เดื่อหว้า”.  หน้า 111.
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “เดื่อหว้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [22 ธ.ค. 2014].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เดื่อหว้า, มะเดื่อหว้า”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [22 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Spidra Webster, najamudin musa, SierraSunrise, Russell Cumming, 石川 Shihchuan)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด