เจ็ดช้างสารใหญ่
เจ็ดช้างสารใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Lasianthus cyanocarpus Jack จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]
สมุนไพรเจ็ดช้างสารใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ประดงเขียวใหญ่ (ชัยภูมิ) ส่วนที่จังหวัดตราดเรียก “เจ็ดช้างสารใหญ่“[1]
ลักษณะของเจ็ดช้างสารใหญ่
- ต้นเจ็ดช้างสารใหญ่ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 2-3 เมตร[1],[2]
- ใบเจ็ดช้างสารใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบและหลุดร่วงได้ง่าย[1]
- ดอกเจ็ดช้างสารใหญ่ ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ โดยจะออกเป็นกระจุกประมาณ 2-3 ดอก กลีบดอกเป็นสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว มีขนยาวสีขาวทั้งสองด้านของกลีบดอกด้านบน ด้านล่างเกือบเรียบ[1]
- ผลเจ็ดช้างสารใหญ่ ผลเป็นผลสดสีน้ำเงิน มีขน ตรงปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่[1]
สรรพคุณของเจ็ดช้างสารใหญ่
- ตำรายาพื้นบ้านจะใช้แก่นของต้นเจ็ดช้างสารใหญ่ นำมาผสมกับแก่นข้าวหลามดง ต้นกำลังช้างสาร ต้นกำลังเสือโคร่ง และต้นม้ากระทืบโรง ใช้ต้มกับน้ำหรือดองกับเหล้าดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น)[1],[2]
- ต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงเลือด (ต้น)[2]
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ลำต้นหรือรากเจ็ดช้างสารใหญ่ นำมาผสมกับหัวยาข้าวเย็น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (ลำต้น, ราก)[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เจ็ดช้างสารใหญ่”. หน้า 141.
- การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนเขาตายิ้ม อ.เมือง จ.ตราด, สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้ พ.ศ.2549. (ชูจิตร อนันตโชค, ทรรศนีย์ พัฒนเสรี, วจีรัตน์ บุญญะปฏิภาค). “เจ็ดช้างสารใหญ่”. หน้า 141.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Foggy Forest, Shirley Sekarajasingham, 翁明毅)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)