เกล็ดหอย
หญ้าเกล็ดหอย ชื่อวิทยาศาสตร์ Drymaria cordata (L.) Willd. ex Schult. จัดอยู่ในวงศ์ CARYOPHYLLACEAE[1],[2]
สมุนไพรหญ้าเกล็ดหอย มีชื่อเรียกอื่นว่า เกล็ดหอย (ไทย), ผักตั้ง (ลั้วะ) เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของหญ้าเกล็ดหอย
- ต้นหญ้าเกล็ดหอย จัดเป็นพรรณไม้หรือวัชพืชล้มลุก ลำต้นทอดเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน แตกแขนงมาก บริเวณที่สัมผัสดินหรือข้อต่อจะออกราก มีความสูงได้ประมาณ 15-30 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเรียวยาว ผิวลำต้นเรียบ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบได้บ้างเล็กน้อยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางภาคใต้ของประเทศไทย ชอบสภาพชุ่มชื้นในไร่ชา กาแฟ และสวนผลไม้[1],[2],[3]
- ใบหญ้าเกล็ดหอย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปค่อนข้างกลม หรือรูปไต โคนใบเรียวแหลมเป็นรูปสามเหลี่ยม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ก้านใบสั้น[1],[2],[3]
- ดอกหญ้าเกล็ดหอย ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม เป็นกระจุกแน่น ช่อละประมาณ 3-10 ดอก โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเป็นสีขาว มีขนาดเล็ก[1]ดอกจะออกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม[2],[3]
- ผลหญ้าเกล็ดหอย ผลเป็นผลแห้ง แตกออกได้เป็น 3 ฝา ผนังผลบาง[1] ผลมีขนเหนียวปกคลุมเช่นเดียวกับดอก เมื่อผลแก่จะหลุดร่วงไปพร้อมกับก้านดอก และภายในผลจะมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกลมแบนผิวขรุขระประมาณ 1-8 เมล็ด[2]
สรรพคุณของหญ้าเกล็ดหอย
- ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ทั้งต้นหญ้าเกล็ดหอย นำมาตำพอกข้อมือ ข้อเท้าสลับข้างกัน เป็นยาแก้ไข้ (ทั้งต้น)[1]
- ทั้งต้นนำมาตากให้แห้งขยี้ผสมกับม้ามหมู ห่อด้วยใบตองปิ้งกินแก้ม้ามโต (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้บวม แก้แผลฟกช้ำ (ทั้งต้น)[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเกล็ดหอย
- สารสกัดจากทั้งต้นเกล็ดหอยด้วยเมทานอล มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อหนองและเชื้อกลากในหลอดทดลองได้[1]
ประโยชน์ของหญ้าเกล็ดหอย
- ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เกล็ดหอย”. หน้า 95.
- ข้อมูลพรรณไม้ – วัชพืช, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หญ้าเกล็ดหอย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [13 มิ.ย. 2015].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หญ้าเกล็ดหอย”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [13 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Foggy Forest, judymonkey17, Barry Hammel)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)