เกล็ดปลา
เกล็ดปลา ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllodium longipes (Craib) Schindl. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Desmodium longipes Craib, Desmodium tonkinense Schindl.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[3]
สมุนไพรเกล็ดปลา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลูบตีบต้น (เชียงใหม่), เกล็ดลิ่นใหญ่ (นครราชสีมา), เกล็ดปลา (กาญจนบุรี), กาสามปีกใหญ่ (สร) เป็นต้น[2]
ลักษณะของเกล็ดปลา
- ต้นเกล็ดปลา จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม มีความสูงได้ประมาณ 1.5-2.5 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านโปร่ง ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนนุ่ม ปลายกิ่งย้อยลง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นในจีนตอนใต้จนถึงมาเลเซีย โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบที่ชื้น และป่าดงดิบ ที่ระดับความสูงประมาณ 400-800 เมตร[1],[2],[3]
- ใบเกล็ดปลา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยที่อยู่ตรงกลางจะเป็นรูปไข่แกมรูปหอก หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนถึงหยักเว้าเล็กน้อย ด้านล่างมีขนนุ่มแน่น มีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยด้านข้างจะมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย โดยจะมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ หลังใบและท้องใบมีขน ก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ดอกเกล็ดปลา ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง กลุ่มละ 5-15 ดอก ดอกมีใบประดับลักษณะคล้ายเกล็ดปลาขนาดใหญ่ประกบหุ้มไว้ 2 ใบ ทั้งสองด้าน รูปกลมรี มีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-4.5 เซนติเมตร มีสีเขียวไม่เข้มมาก ประกบซ้อนกัน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวหรือรูปแท่งย้อยออกมา กลีบดอกย่อยเป็นสีขาว ลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว มีขนาดเล็ก[1],[3]
- ผลเกล็ดปลา ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาว รูปขอบขนาน คอดเป็นข้อ ๆ ระหว่างเมล็ดประมาณ 2-5 ข้อ เมื่อแห้งจะหลุดเป็นข้อ ๆ ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.7-2.5 เซนติเมตร ผิวฝักมีขนขึ้นปกคลุม เมล็ดมีขนาดเล็กและแข็ง มีลักษณะเป็นรูปไต[1],[2],[3]
สรรพคุณของเกล็ดปลา
- รากเกล็ดปลา ใช้ผสมกับรากกระดูกอึ่ง รากกาสามปีกใหญ่ รากโมกมัน และรากหางหมาจอก ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้คุณไสย (มีอาการผอมแห้ง ใจสั่น บางเวลาเพ้อคลั่ง และร้องไห้) (ราก)[1],[2]
- หมอยาพื้นบ้านจังหวัดมุกดาหารจะใช้รากเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[2]
- ใบมีรสจืด ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น (ใบ)[2]
- หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้รากต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ราก)[2]
- ใบใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ปัสสาวะดำ (ใบ)[2]
- รากมีรสจืดเฝื่อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคตับพิการ (อาการผิดปกติของตับ) (ราก)[1],[2],[3]
- เปลือกรากมีรสจืดเฝื่อน ใช้ตำพอกแก้ปวด แก้เคล็ดบวม (เปลือกราก)[2]
ประโยชน์ของเกล็ดปลา
- สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนได้ ให้รูปทรงสวยงามดูแปลกตา[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เกล็ดปลา (Klet Pla)”. หน้า 54.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เกล็ดลิ่นใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [14 มิ.ย. 2015].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เกล็ดปลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [14 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kai Yan, Joseph Wong, Russell Cumming, 阿橋)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)