อายุครรภ์ : การนับอายุครรภ์ & คำนวณวันคลอด (อย่างแม่นยำ !!)

อายุครรภ์

ธรรมชาติของการคลอดนั้นมีความเร้นลับมากเลยนะครับ ที่สามารถกำหนดให้ลูกกระต่ายอยู่ในท้องแม่ได้ 1 เดือน ลูกสุนัข 3 เดือน ลูกช้าง 2 ปี และลูกคนอีก 9 เดือน 7 วัน หรือ 10 เดือนทางจันทรคติพอดี ๆ หรือสัตว์อื่น ๆ ก็มีระยะเวลาในการตั้งท้องแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือระยะเวลาในการคลอดจะใกล้เคียงกันทุกครั้ง

โดยปกติแล้วการนับอายุครรภ์แบบเป็นเดือน ๆ จะไม่มีความละเอียดเพียงพอ เนื่องจากในแต่ละเดือนจะมีจำนวนวันไม่เท่ากัน คือ มี 31 วันบ้าง 30 หรือ 28 วันบ้าง และ 29 วันก็มี ดังนั้นการนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์จึงจะถูกต้องมากกว่า โดยมนุษย์เรานั้นจะมีระยะเวลาการตั้งครรภ์รวมแล้วประมาณ 40 สัปดาห์ หรือ 280 วันพอดี ๆ ซึ่งจะเริ่มนับจากวันแรกที่ประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาแล้วบวกไปอีก 280 วัน

คำนวณวันคลอด

ปกติแล้วคุณแม่จะทราบกำหนดวันคลอดได้จากประจำเดือนครั้งสุดท้าย การจดบันทึกการมีประจำเดือนไว้เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งตลอดอายุการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอดจะอยู่ที่ 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน โดยจะเริ่มนับจากวันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายของคุณแม่ ไม่ใช่เริ่มนับจากวันสุดท้ายของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด หรือนับจากวันที่ประจำเดือนถึงกำหนดจะมาแต่ไม่มา เช่น ประจำเดือนของคุณแม่มาครั้งล่าสุดวันที่ 1 มกราคม และประจำเดือนหมดวันที่ 5 มกราคม 2559 และกำหนดที่ประจำเดือนครั้งต่อไปควรจะมาอีกครั้งคือวันที่ 28-29 มกราคม 2559 ดังนั้นประจำเดือนครั้งสุดท้ายที่มาคือวันที่ 1 มกราคม (ไม่ใช่วันที่ 5 หรือ 28-29 มกราคม) โดยจะมีสูตรในการคำนวณวันคลอดแบบง่าย ๆ ดังนี้

  1. นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายบวกไปอีก 9 เดือน และนับบวกต่อไปอีก 7 วัน ก็จะได้วันกำหนดคลอด สมมติว่า วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายของคุณแม่คือวันที่ 1 มกราคม 2559 ก็ให้บวกไปอีก 9 เดือน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม 2559 แล้วให้นับบวกต่อไปอีก 7 วัน ดังนั้น กำหนดคลอดของคุณแม่ก็จะตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม 2559
  2. นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายย้อนหลังไป 3 เดือนและนับบวกต่อไปอีก 7 วัน ก็จะได้วันกำหนดคลอด สมมติว่า วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายของคุณแม่คือวันที่ 1 มกราคม 2559 ก็ให้นับย้อนหลังไปอีก 3 เดือน คือ ธันวาคม พฤศจิกายน และตุลาคม และนับบวกไปอีก 7 วัน ดังนั้น กำหนดวันคลอดของคุณแม่จะตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม 2559

โดยสูตรการนับทั้ง 2 วิธีนี้จะให้ผลเหมือนกันครับ (แล้วแต่ว่าจะสะดวกนับแบบไหน) เป็นสูตรที่สูติแพทย์และผดุงครรภ์ใช้กันทั่วโลก ซึ่งอาศัยการสังเกตจากประสบการณ์และการทำสถิติการคลอดของคนทั่วโลก จะให้ผลอย่างแม่นยำในกรณีที่คุณแม่จำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายได้เท่านั้นนะครับ และถ้าหากคุณแม่มีรอบเดือนมาสม่ำเสมอทุก ๆ 28-30 วัน คุณแม่ส่วนใหญ่ก็มักจะคลอดก่อนวันที่กำหนดไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ (ซึ่งจากตัวอย่างก็จะตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม 2559 โดยประมาณ) แต่ในความเป็นจริงแล้วจะมีคุณแม่เพียง 5-6% เท่านั้นครับที่จะคลอดลูกได้ตรงกับกำหนดวันคลอดพอดี และอีก 40% มักจะคลอดลูกเกินกำหนด ซึ่งร้อยละ 25 ของคุณแม่ในกลุ่มนี้จะคลอดลูกเมื่ออายุครรภ์ 42 สัปดาห์, ร้อยละ 12 จะคลอดลูกเมื่ออายุครรภ์ 43 สัปดาห์ และที่เหลือเพียงร้อยละ 3 จะคลอดลูกเมื่ออายุครรภ์ 44 สัปดาห์

จากสูตรนี้สามารถนำมาเขียนเป็นตารางกำหนดวันคลอดได้ดังนี้ครับ โดยกำหนดให้ แถวบน คือ วันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย / แถวล่าง คือ กำหนดวันคลอด

คำนวณวันคลอด

ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งก็คือ บางคนพอรู้วันกำหนดคลอดของตัวเองแล้วก็เกิดความวิตกกังวล เพราะไปตรงกับเลขไม่เป็นมงคล เช่น บางคนถือว่าเลข 13 เป็นเลขไม่ดี หรือบางคนพอดูจากปฏิทินทำนายโชคตะตาแล้วตรงกับวันไม่ดีก็เลยเกิดความไม่สบายใจ ด้วยกลัวว่าลูกจะมีวาสนาไม่ดี ฯลฯ กรณีนี้ก็ขอให้สบายใจได้เลยครับ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าคนที่จะคลอดได้ตรงวันที่กำหนดนั้นมีอยู่เพียง 5-6% เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่จะคลอดก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ หรือหลังจากวันครบกำหนดคลอด

ในทางการแพทย์จะถือว่าการคลอดก่อนหรือหลังกำหนดวันคลอด 2 สัปดาห์ คือระหว่าง 38 สัปดาห์ หรือ 42 สัปดาห์ ยังอยู่ในระยะที่ถือว่าเป็นการคลอดครบกำหนด

ดังนั้น ถ้าคุณแม่คลอดก่อนหรือหลังกำหนด 2 สัปดาห์ ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะมีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือเมื่อถึงกำหนดคลอดแล้ว คุณแม่ยังไม่เจ็บครรภ์คลอดสักที ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ ถ้าหมอบอกว่าไม่เป็นอะไรก็ขอให้ใจเย็นไว้ก่อน เนื่องจากคุณแม่ที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ วัดคลอดจริง ๆ อาจคลาดเคลื่อนไปได้ ถ้าห่างกันมากกว่า 28 วัน ก็อาจจะคลอดช้ากว่ากำหนด แต่ถ้าห่างกันน้อยกว่า 28 วัน ก็อาจจะคลอดก่อนวันที่กำหนดไว้

ส่วนสาเหตุที่นับจากประจำเดือนครั้งสุดท้ายเนื่องจากมันชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่ามาวันไหน เพราะถ้านับอายุครรภ์จากวันไข่ตกหรือวันปฏิสนธิ ก็มีน้อยคนมากครับที่จะรู้ว่าวันไหนคือวันไข่ตกจริง ๆ อีกอย่างรอบเดือนของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน จึงทำให้วันที่ไข่ตกไม่ตรงกันด้วย แต่ถ้าจะให้นับจากวันที่ไข่ตกหรือวันปฏิสนธิ ก็จะต้องลดลงไป 2 สัปดาห์ เหลือแค่ 38 สัปดาห์ครับ

จำประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้ จะกำหนดวันคลอดอย่างไร

คุณแม่หลาย ๆ คนอาจมีปัญหานี้ ที่จำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายไม่ได้แน่นอน เนื่องจากไม่ได้มีการจดบันทึกประจำเดือนไว้ หรือเป็นเพราะประจำเดือนมาไม่ค่อยสม่ำเสมอ หรือจากการกินยาคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด ฯลฯ พอหยุดคุมกำเนิดประจำเดือนก็หายไปแล้ว หลายเดือนต่อมาจึงรู้สึกว่ามีอาการแพ้ท้อง หรือประจำเดือนขาดภายหลังคลอด หรืออยู่ในระหว่างให้นมลูกแล้วตั้งครรภ์โดยไม่รู้อายุครรภ์ เรียกว่ายังไม่ทันได้ตั้งหลักก็ท้องแล้ว

แต่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไปครับ อันดับแรกก็ให้รีบไปหาหมอก่อนเลยครับ หมอจะตรวจภายในและคาดคะเนดูว่าขนาดของมดลูกโตเท่ากับการตั้งครรภ์ระยะใด หลังจากนั้นก็บวกเข้าไปให้ครบ 40 สัปดาห์ ก็จะเป็นกำหนดวันคลอดอย่างคร่าว ๆ ซึ่งการคาดคะเนด้วยวิธีนี้อาจคลาดเคลื่อนได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์

หรืออีกวิธีซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือคุณหมอจะใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ช่วยในการกำหนดวันคลอดของคุณแม่ คุณแม่ที่มีประวัติประจำเดือนไม่แน่นอน เมื่อทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ คุณหมอจะทำการตรวจทารกในครรภ์ด้วยการอัลตราซาวนด์ทันที โดยเครื่องอัลตราซาวนด์จะช่วยวัดขนาดความกว้างของหัวเด็กและความยาวของเด็กในครรภ์ได้ เมื่อนำมาคำควณก็จะบอกได้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์มาแล้วประมาณกี่สัปดาห์ แต่ก็อาจจะคลาดเคลื่อนจากที่คำนวณได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์เช่นกันครับ (จะมีความแม่นยำสูงมากถ้าคุณแม่ได้รับการตรวจในช่วงอายุครรภ์หลังจาก 3 เดือน)

มารู้ตัวอีกทีเมื่อลูกดิ้น จะกำหนดวันคลอดอย่างไร

ในกรณีที่คุณแม่ไม่มีอาการแพ้ท้องแสดงออกมาเลย และมารู้ตัวอีกทีก็รู้สึกแล้วว่ามีอะไรดิ้นอยู่ในท้อง คุณแม่อาจสงสัยได้ว่าจะนับวันคลอดได้อย่างไร แต่ก็ไม่ต้องห่วงครับ ทุกปัญหามีทางออกเสมอ ถ้าคุณแม่จำวันที่ลูกดิ้นครั้งแรกได้ หมอก็สามารถกำหนดวันคลอดให้ใกล้เคียงได้ โดยจะบวกเข้าไปอีก 22 สัปดาห์สำหรับคุณแม่ท้องแรก และบวก 24 สัปดาห์ สำหรับคุณแม่ท้องหลัง ก็จะครบ 40 สัปดาห์พอดี โดยคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แรกจะรู้สึกได้ว่าลูกดิ้น เมื่อมีอายุครรภ์ได้ 18-20 สัปดาห์ แต่สำหรับคุณแม่ที่เคยคลอดลูกมาแล้ว จะรู้สึกว่าลูกดิ้นได้เร็วกว่าคุณแม่ท้องแรก คือจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นเมื่อมีอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ สาเหตุที่รู้สึกเร็วกว่านั้นก็เนื่องมาจากคุณแม่ที่เคยคลอดลูกมาแล้วจะเคยสัมผัสความรู้สึกอย่างนี้มาก่อน บวกกับผนังหน้าท้องก็ยืดด้วย จึงทำให้รู้สึกว่าลูกดิ้นได้เร็วกว่า ในความจริงแล้วลูกในครรภ์จะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาตั้งแต่ท้องอ่อน ๆ แล้วล่ะครับ เพียงแต่เขายังตัวเล็กมาก คุณแม่เลยยังไม่รู้สึกจนกว่าเขาจะโตพอสมควรแล้ว

แต่ในรายที่เมื่อตั้งครรภ์ได้ 18-19 สัปดาห์แล้วยังไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นสักที ก็ไม่ต้องเป็นกังวลครับ เพราะบางทีลูกดิ้นแล้วแต่คุณแม่ไม่รู้สึกเอง เพราะการดิ้นครั้งแรก ๆ ของลูกนั้นค่อนข้างจะแผ่วเบามาก คุณแม่จะรู้สึกเหมือนกับว่ามีอะไรเคลื่อนไหวอยู่ข้างในหรือกระตุกแผ่ว ๆ ที่ท้อง โดยอาจจะติด ๆ กันหรือบางทีก็เงียบไปนาน ๆ ก็ได้ บางรายก็กระตุกครั้งเดียวแล้วก็หายไป จนผ่านไป 1-2 วันจึงค่อยกลับมารู้สึกใหม่ก็มีครับ หรือถ้าหน้าท้องคุณแม่หนาหรือมีไขมันมากเกินไป ก็อาจทำให้รู้สึกว่าลูกดิ้นช้ากว่าคุณแม่คนอื่น ๆ ถ้าท้องโตขึ้น มีน้ำหนักมากขึ้น ไม่มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือไม่มีสิ่งผิดปกติอื่น ๆ คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลใจมากเกินไปครับ

นอกจากนี้ การจำวันที่ลูกดิ้นครั้งแรกได้ยังมีประโยชน์อีกอย่างนะครับ อย่างในกรณีที่คุณแม่มีประจำเดือนมาไม่ค่อยสม่ำเสมอ หรือคุณแม่เองก็ไม่แน่ใจว่าหมอจะบอกผิดหรือไม่ ก็จะได้ตรวจสอบกันอีกทีว่าตรงกันหรือไม่ โดยดูจากวันแรกที่ลูกดิ้นนั่นแหละครับ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “การกำหนดวันคลอด”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ).  หน้า 63-67.
  2. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  “ประจำเดือนครั้งสุดท้ายกับการตั้งครรภ์”.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์).  หน้า 115.

ภาพประกอบ : www.everydayfamily.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด