40 วิธีแก้อาการแพ้ท้อง & อาการแพ้ท้อง รับมืออย่างไร ?

อาการแพ้ท้อง

อาการแพ้ท้อง (Morning sickness) เป็นอาการหรือความรู้สึกที่ไม่สุขสบายที่เกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 80-90% ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียมากกว่าปกติ แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อมีอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือน สำหรับสาเหตุของการเกิดอาการแพ้ท้องนั้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่มักเชื่อว่าเป็นผลมาจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเอชซีจี (HCG – Human chorionic gonadotropin) ที่รกสร้างสูงขึ้น

ส่วนสาเหตุการเกิดอาการแพ้ท้องที่น่าเชื่อถืออื่น ๆ ก็เช่น อาการแพ้ท้องอาจเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง ทำให้สมดุลฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง, เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้จากการแทรกซึมของสเปิร์มหรือทารกในครรภ์ ร่างกายคุณแม่จึงมีการต่อต้านสิ่งแปลกปลอม, เกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ช้าลง อาหารย่อยได้ช้า จึงรู้สึกอึดอัด มีอาการท้องอืด ไม่สบายในท้องเพิ่มขึ้น, เกิดจากกลไกธรรมชาติที่ไม่อยากให้คุณแม่กินอะไรเข้าไปมากในช่วงระยะ 3 เดือนแรกเพราะเกรงว่าหากคุณแม่ทานอาหารแบบไม่ระมัดระวังร่างกายจะได้รับสารพิษเข้าไป ทำให้ลูกในครรภ์ได้รับอันตราย ฯลฯ

นอกจากนี้อาการแพ้ท้องยังมีความสัมพันธ์กับภาวะจิตใจและอารมณ์อีกด้วย โดยพบว่าผู้ที่มีจิตใจหรืออารมณ์อ่อนไหว เครียด และวิตกกังวล จะมีอาการแพ้ท้องได้มากกว่าคนปกติ ส่วนผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งมักจะไม่มีอาการแพ้ท้อง หรือมีอาการน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีจิตใจอ่อนไหว และความต้องการเรียกร้องความสนใจก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ท้องได้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ด้วยเหตุนี้หญิงตั้งครรภ์แฝดหรือครรภ์ไข่ปลาอุก จึงอาจมีอาการแพ้ท้องได้มากกว่า เพราะมีระดับฮอร์โมน HCG ที่สูงขึ้นนั่นเอง ส่วนคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก คุณแม่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 75 กิโลกรัม ก็อาจจะมีอาการแพ้ท้องเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลอย่างแน่นอนว่าหากทำแบบนี้แบบนั้นแล้วอาการแพ้ท้องจะหายไป เพราะวิธีเดียวกันอาจใช้ได้ผลกับบางคน แต่อีกคนกลับใช้ไม่ได้ผลก็ได้ แต่หากรับรู้เอาไว้ว่าโดยส่วนใหญ่อาการแบบใดจะเกิดขึ้นและมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร ก็จะช่วยนำไปสู่วิธีจัดการกับอาการเหล่านั้นได้บ้าง แต่โดยหลัก ๆ แล้ววิธีการแก้อาการแพ้ท้องจะเป็นการปรับเรื่องของอาหารการกินและสภาพจิตใจเป็นหลักครับ ยังไงก็ลองนำวิธีแก้อาการแพ้ท้อง (ในหัวข้อถัดไป) มาลองปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองดูครับ

อาการคนแพ้ท้อง

สำหรับอาการของผู้ที่แพ้ท้องนั้น คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม อาเจียน แสบลิ้นปี่ โดยมักจะมีอาการแพ้ท้องมากในตอนเช้าหลังตื่นนอน (Morning sickness) แต่ก็อาจมีอาการแพ้ในช่วงกลางวันหรือช่วงเย็นได้บ้าง หรืออาจเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวันเลยก็ได้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนท้องว่างก็จะมีอาการมากกว่าปกติ โดยตัวอย่างของอาการแพ้ท้องหลัก ๆ แล้วจะมีดังต่อไปนี้ (อาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน)

  • รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน : คุณแม่จะรู้สึกอึดอัดท้องและหน้าอกมากจนต้องอาเจียนออกมา เมื่ออาเจียนออกมาตอนท้องว่างและไม่มีอะไรออกมา คุณแม่จะรู้สึกทรมานมาก (บางคนถึงกับต้องยอมกินทั้งที่ไม่อยากกิน เพราะหากไม่มีอะไรตกถึงท้องก็จะรู้สึกคลื่นไส้อยู่ตลอดเวลา)
  • ปวดแสบลิ้นปี่ : ในช่วงที่คุณแม่มีอาการแพ้ท้องและอาเจียนบ่อย ๆ อาจมีอาการแสบบริเวณลิ้นปี่เกิดขึ้นตามมาได้ เพราะน้ำย่อยที่อาเจียนออกมาทำให้แสบหลอดอาหารและคุณแม่อาจมีความรู้สึกขมที่ลิ้น รู้สึกเจ็บปวดในอก และอาจกระจายถึงคอ จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บคอและมีอาการไอเรื้อรังได้ นอกจากนี้อาการปวดแสบลิ้นปี่ยังอาจเกิดจากการที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารได้รับผลกระทบ จึงอาจมีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารและระคายเคืองหลอดอาหารจนทำให้คุณแม่รู้สึกแสบที่ลิ้นปี่ได้
  • รู้สึกไวต่อกลิ่น : อาการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติไม่มั่นคง ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกไม่สบายในทันทีเมื่อได้กลิ่นเหม็น ๆ เช่น บางคนอาจรู้สึกไม่ชอบกลิ่นอาหาร เช่น เนื้อ กลิ่นกระเทียม กาแฟ กลิ่นน้ำหอมที่เคยชอบกลับไม่ชอบ บางทีก็รู้สึกเหมือนกลิ่นคุณพ่อ แต่บางทีก็รู้สึกหอมมากกับบางสิ่ง เช่น กลิ่นหุงข้าว กลิ่นไอน้ำจากของต้ม
  • ความชอบในการกินเปลี่ยนไป : บางครั้งคุณแม่อาจอยากกินอาหารแปลก ๆ เช่น อาหารที่มีรสเปรี้ยวอย่างมะม่วง มะกอก มะดัน ฯลฯ หรือจู่ ๆ ก็ไม่สามารถกินของที่ตัวเองเคยชอบได้ และบางครั้งก็อยากกินของที่ไม่เคยชอบอย่างมาก แต่คุณแม่บางรายก็ไม่อยากจะกินอะไรเลยก็มี ซึ่งอาจเป็นเพราะมีอาการขมเฝื่อนในปาก เพราะร่างกายเปลี่ยนไป ทำให้กินอาหารไม่อร่อย
  • มีอาการอ่อนเพลีย : รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อยากนอนหลับตลอดเวลา เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้นมีผลทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายคลายตัวเหมือนยากล่อมประสาท ภายในร่างกายมีการเผาไหม้อาหารสำหรับทารกตัวน้อยมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงและสูญเสียพลังงานมากขึ้น ถ้าคุณแม่ได้พักผ่อนก็จะสบายขึ้น
  • มีอารมณ์แปรปรวน : รู้สึกหงุดหงิด และอาจปวดศีรษะบ่อยขึ้น แต่ไม่รุนแรงมากนัก
  • รู้สึกง่วงนอน : คุณแม่บางคนอาจจะรู้สึกว่าร่างกายเหนื่อยล้า นอนเท่าไรก็ไม่เต็มอิ่ม

ระดับของอาการแพ้ท้อง

  1. ภาวะแพ้ท้องระดับเล็กน้อย เป็นระดับที่ไม่น่าห่วงเท่าไร คุณแม่มักจะมีอาการคลื่นไส้หรือพะอืดพะอม วิงเวียนศีรษะ อาเจียนเป็นบางครั้ง เวียนศีรษะด้วยเล็กน้อย และรับประทานอาหารได้น้อยลง คุณแม่สามารถใช้วิธีช่วยลดอาการแพ้ท้องในที่กล่าวถึงบทความนี้เพื่อบรรเทาอาการได้
  2. ภาวะแพ้ท้องระดับปานกลาง คุณแม่จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน มักทานอะไรไม่ค่อยได้หรือทานอาหารไม่ได้เป็นช่วง ๆ ปัสสาวะสีเข้ม ถึงจะพักผ่อนอย่างไรก็ไม่ช่วยทำให้มีอาการดีขึ้น คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ดูแล โดยแพทย์อาจจะให้น้ำเกลือหรือฉีดกลูโคสเพื่อระงับอาการอ่อนเพลียจากการอาเจียน และแพทย์จะสั่งจ่ายยาระงับอาการคลื่นไส้ พร้อมกับแนะนำวิธีการปรับตัวให้รับประทานอาหารได้ เมื่อพบแพทย์แล้วอาการคลื่นไส้อาเจียนของคุณแม่จะดีขึ้น
  3. ภาวะแพ้ท้องมาก หรือ ภาวะท้องอย่างแรง หรือ ภาวะแพ้ท้องขั้นรุนแรง (Hyperemesis gravidarum) ในหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 1 ใน 500 คน อาจมีภาวะแพ้ท้องอย่างแรงได้ โดยมีสาเหตุมาจากการมีระดับฮอร์โมน HCG สูงมากกว่าปกติ เช่น ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด, ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก หรือเกิดจากภาวะทางจิตใจที่เครียดหรือกังวลกับการตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกมากจนเกินไป ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนอย่างรุนแรงจนไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้เลย จนเกิดภาวะขาดน้ำ ภาวะเลือดเป็นกรด น้ำหนักตัวลดลง (มากกว่า 5% ของน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์) และขาดสารอาหารได้ อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์ตัวเล็กและขาดสารอาหาร ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร คุณแม่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ในบางรายอาจทำให้เซลล์ตับตาย (Necrosis) และมีภาวะไขมันสะสมในตับ (Fatty liver) ของคุณแม่เกิดอาการดีซ่าน อาจมีภาวะเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด ภาวะสิ่งหลุดอุดตันของเลือดแดงในปอด หรือมีภาวะหลอดอาหารทะลุหรือปอดทะลุ ไตวาย และภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่อาจพบได้อีกประการหนึ่งก็คือ อาจทำให้จอตาอักเสบและมีเลือดออก (Hemorrhagic retinitis) ทำให้ตาบอดได้ หากพบจำเป็นต้องรีบยุติการตั้งครรภ์ ดังนั้น ถ้าคุณแม่มีอาการรู้สึกหมดแรงและวิงเวียนศีรษะ อยู่ในภาวะขาดน้ำเนื่องจากอาเจียนหลายครั้งมาตลอดทั้งวัน กินอะไรไม่ได้เลยเป็นเวลาหลายวัน และน้ำหนักลดลง 5 กิโลกรัม (จากก่อนตั้งครรภ์) อาจจะส่งผลกระทบต่อทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ได้ จึงขอให้พบแพทย์โดยด่วน
    • ในกรณีที่ครรภ์แรกคุณแม่มีอาการแพ้ท้องมาก การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปคุณแม่อาจจะแพ้ท้องมาก แพ้ท้องปกติ หรือไม่แพ้ท้องเลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ
    • การแพ้ท้องมากไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการมีประวัติครอบครัวที่แพ้ท้องมากมาก่อน คุณแม่มือใหม่จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีอาการแพ้ท้องมากตามญาติพี่น้อง แต่มีข้อยกเว้นในกรณีของการตั้งครรภ์แฝดที่ส่วนมากจะมีประวัติทางกรรมพันธุ์อยู่แล้ว เพราะหากตั้งครรภ์แฝดก็จะมีอาการแพ้ท้องกว่าปกติเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว

แพ้ท้องมาก

อาการแพ้ท้องเริ่มเมื่อไหร่ ?

อาการแพ้ท้องเป็นอาการที่มักพบได้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (3 เดือนแรก) ซึ่งจะเริ่มปรากฏขึ้นในช่วงที่ตั้งครรภ์ไปแล้วประมาณ 6 สัปดาห์ (หากเป็นผู้ที่มีอาการแพ้ท้องเร็วอาจจะเริ่มมีอาการในช่วงที่รู้ตัวว่ารอบเดือนมาช้าหรือไม่มา หรือเมื่อย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์) แต่อาจจะเป็นต่อไปอีกนานจนถึง 12-16 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ทุเลาและหายไปเอง แต่ช่วงที่ทรมานที่สุดส่วนใหญ่จะเป็นช่วงสัปดาห์ที่ 8-9 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งช่วงเวลาในการแพ้ท้องของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป คุณแม่บางคนอาจไม่มีอาการแพ้ท้องใด ๆ เลยก็ได้ แต่คุณแม่บางคนอาจมีอาการแพ้ท้องและบรรเทาลงในช่วงก่อนและหลัง 12 สัปดาห์ หรือบางคนก็มีอาการแพ้ท้องไปจนกระทั่งถึงตอนคลอดเลยก็มี

ข้อดีของการแพ้ท้อง

มีงานวิจัยที่พบว่าคุณแม่ที่มีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร แต่ในกรณีที่มีเลือดออกและมีอาการแพ้ท้องควบคู่ไปด้วย โอกาสการแท้งบุตรก็จะมีน้อยกว่าคุณแม่ที่ไม่มีอาการแพ้ท้องครับ ยิ่งคุณแม่ที่มีอาการแพ้มาก ก็แสดงว่าฮอร์โมน HCG ถูกสร้างขึ้นมากตามไปด้วย จึงทำให้ทราบว่ารกมีความแข็งแรงดีและสามารถสร้างอาหารไปเลี้ยงตัวอ่อนได้สบาย ๆ แต่ในกรณีที่แพ้ท้องมากจนเกินไปก็อาจเป็นที่มาของอาการผิดปกติก็ได้

แต่ที่กล่าวมาแล้วว่าอาการแพ้ท้องไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับคุณแม่ทุกคนเสมอไป คุณแม่ที่ไม่มีอาการแพ้ท้องใด ๆ เลยก็ไม่ต้องเป็นกังวลไปว่าลูกในท้องจะเป็นอันตรายหรือไม่แข็งแรง เพราะเท่าที่วงการแพทย์ศึกษากันมาก็ไม่พบว่าลูกในท้องของคุณแม่ที่ไม่แพ้ท้องจะมีปัญหามากกว่าลูกของคุณแม่ที่แพ้ท้องแต่อย่างใด

การที่แพ้ท้องจนไม่สามารถกินอะไรได้เลย ลูกจะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงหรือไม่ ?

เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาครับ เพราะทารกในช่วงแพ้ท้องในระยะแรกของการตั้งครรภ์ ทารกยังคงมีขนาดเล็กมาก จึงไม่จำเป็นต้องรับสารอาหารมากมายนัก อีกทั้งในร่างกายของคุณแม่ยังมีกลไกการทำงานที่ช่วยป้อนสารอาหารที่จำเป็นให้แก่ทารกได้อยู่แล้วในช่วงระยะ 3 เดือนแรก แต่ถ้าเลยช่วง 3 เดือนไปแล้วคุณแม่ยังมีอาการแพ้ท้องมากจนทานอะไรไม่ได้เลย ทารกจะเริ่มขาดสารอาหาร เพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังมีการสร้างอวัยวะต่าง ๆ

อยู่ ๆ อาการแพ้ท้องก็หายไป ?

โดยปกติแล้วอาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ สูงขึ้นและจะคงที่อยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นอาการจะค่อย ๆ ลดลงและหายเป็นปกติ แต่ถ้าวันดีคืนดีคุณแม่ที่แพ้ท้องอยู่ ตื่นมาแล้วไม่มีอาการอะไรเกิดขึ้นเลย ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจครับ รอดูอาการสัก 1-2 วัน ถ้าอาการแพ้ท้องยังไม่มาก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะนั่นอาจจะหมายถึงการเสียชีวิตของลูกในครรภ์ก็ได้

สามีสามารถแพ้ท้องแทนภรรยาได้จริงหรือ ?

จริง ๆ คุณพ่อไม่สามารถแพ้ท้องแทนคุณแม่ได้นะครับ เพราะว่าเป็นคนละคนกัน แต่อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อนั้นเป็นเรื่องความผูกพันทางจิตใจ อาจจะเป็นห่วงภรรยา มีความรู้สึกแทนกันหรือร่วมกัน

วิธีลดอาการแพ้ท้อง

หากสงสัยว่าตั้งครรภ์หรือมีอาการแพ้ท้อง อย่างแรกที่ควรทำคือการทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูป หากพบว่ามีการตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์ ในรายที่มีอาการแพ้ท้อง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัว ดังนี้

  1. ดื่มนมหรือเครื่องดื่มร้อน ๆ หลังจากตื่นนอนตอนเช้า
  2. เมื่อรู้สึกคลื่นไส้อาเจียนให้จิบน้ำอุ่นหรือดื่มน้ำขิงอุ่น ๆ (ควรเป็นขิงแท้ 100% ไม่ผสมน้ำตาล) เพราะขิงสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก และอาการคลื่นไส้ได้
  3. หลังอาเจียน ควรดื่มน้ำอุ่น ๆ และกลั้วคอล้างกลิ่นที่อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้หรือพะอืดพะอม และในระหว่างวันควรดื่มน้ำให้มาก ๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้บ้าง จะเป็นน้ำสะอาด น้ำผลไม้คั้นสด หรือนมก็ได้ (แต่บางคนก็อาจไม่ช่วย ดื่มน้ำผลไม้หรือนมแล้วอาเจียนก็มีครับ)
  4. ควรกินอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยได้ง่าย เลือกกินอาหารที่ยังอุ่น ๆ และแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อย ๆ ประมาณวันละ 5-6 มื้อ ก็จะช่วยลดความรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน และอาการแน่นท้องของคุณแม่ได้
  5. มีผลไม้หลายชนิดที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องของคุณแม่ได้ และมีผลไม้อยู่ 2 ชนิดที่ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี คือ สับปะรด (ช่วยในการย่อยอาหารและรักษาอาการคลื่นไส้) และกล้วย (ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือดและบรรเทาอาการแพ้ท้อง)
  6. อาการแพ้ท้องของคุณแม่อาจทุเลาลงได้ หากคุณแม่รับประทานขนมปังจืด ๆ หรือขนมปังกรอบธัญพืชสัก 1-2 ชิ้นก่อนเข้านอน เพื่อไม่ให้ท้องว่างนานเกินไป หรือจะทานอาหารเบา ๆ อย่างแครกเกอร์หรือเครื่องดื่มอุ่น ๆ ก่อนนอนก็ได้ จะทำให้คุณแม่หลับได้สบายขึ้น
  7. คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องควรเตรียมเครื่องดื่มหรือขนมปังแครกเกอร์แบบเค็ม ๆ ไว้ใกล้ตัวเสมอ หลังจากตื่นนอนตอนเช้าให้รับประทานแครกเกอร์ทันทีแล้วนอนต่อสัก 15 นาทีก่อนที่จะลุกขึ้นจากเตียง เพราะอาการแพ้ท้องส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในตอนเช้าและตอนท้องว่าง ถ้าปล่อยให้เกิดอาการเช่นนั้น ก็จะทำให้คุณแม่รู้สึกทรมานไปทั้งวัน
  8. เมื่อลืมตาตื่นนอนแล้วให้นอนพักร่างกายสักครู่ อย่าเพิ่งรีบลุกออกจากเตียงทันที เพราะจะทำให้คุณแม่คลื่นไส้ได้ง่าย
  9. นักจิตวิทยาชื่อ Gordon Gallup ได้กล่าวไว้ว่า “การมีออรัลเซ็กซ์สามารถช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้ โดยเขาเชื่อว่าการมีออรัลเซ็กซ์จะช่วยเพิ่มความต้านทานของผู้หญิงที่มีต่อน้ำอสุจิของฝ่ายชายโดยการกลืนมันเข้าไปให้มากขึ้น” แต่คำกล่าวนี้ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมหรือมีหลักฐานสนับสนุนแต่อย่างใด
  10. การใส่สายรัดข้อมืออาจช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องของคุณแม่ได้ แต่ต้องเป็นสายรัดข้อมือกดจุดเท่านั้นนะครับที่จะช่วยป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนได้ (ทำงานโดยการให้ความดันที่ปลอกข้อมืดกดจุดที่เรียกว่า “เพอริคาร์เดียม 6“)
  11. หาอะไรทำเพลิน ๆ พูดคุยกับเพื่อน หรืออยู่กับสิ่งที่ชอบ เพื่อผ่อนคลายความเครียดและลืมความรู้สึกคลื่นไส้หรือพะอืดพะอม เพราะอาการแพ้ท้องส่วนหนึ่งจะมีสาเหตุมาจากเรื่องของอารมณ์และจิตใจ
  12. มีงานวิจัยของชาวอเมริกันที่พบว่าการเดินไปเดินมาง่าย ๆ จะสามารถช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง รวมไปถึงอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ได้ด้วย เช่น อาการจุกเสียด
  13. กลิ่นหอมจากธรรมชาติบางกลิ่นสามารถช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ เช่น กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยเปปเปอร์มินต์ หากคุณแม่เติมน้ำมันหอมระเหยชนิดไว้ในห้องนอนเวลากลางคืนก็จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องในเช้าของวันถัดมาได้
  14. รักษาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ท้อง อย่างในกรณีที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด ก็ควรรักษาแบบประคับประคองอาการไปเรื่อย ๆ ส่วนในกรณีที่ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกก็อาจต้องรักษาด้วยการยุติการตั้งครรภ์ ก็จะทำให้อาการแพ้ท้องหายไป
  15. ในกรณีที่แพ้ท้องไม่มาก แพทย์จะให้คำแนะนำว่าอาการเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติยาแก้แพ้ท้องเพื่อไม่ให้คุณแม่ต้องเป็นกังวล และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเบื้องต้นเพื่อให้อาการบรรเทาลงได้ แพทย์มักจะไม่ให้ยาแก้แพ้ท้อง เพราะอาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น
  16. ถ้ามีอาการแพ้ท้องมาก กินอะไรก็อาเจียนออกหมด แนะนำให้อมลูกอมบ่อย ๆ จิบน้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ทีละน้อย ๆ บ่อย ๆ เพื่อให้พลังงานและป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แล้วจึงรีบไปพบแพทย์
  17. ในรายที่มีอาการอาเจียนมากจนรับประทานอาหารไม่ได้ ควรรีบไปแพทย์ ไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจจำเป็นต้องได้รับการให้น้ำเกลือ และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้อาเจียน เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate), ดอมเพอริโดน (Domperidone) ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง วันละ 2-3 ครั้ง (เป็นยาแก้อาการเมารถ เมาเรือ คลื่นไส้ อาการแพ้ท้อง) แต่หากไม่สะดวกไปพบแพทย์และคุณแม่อยากซื้อยามารับประทานเอง แนะนำว่าควรเป็นวิตามินบี 6 รับประทานวันละ 3 เวลา เพราะวิตามินบี 6 จะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ดี (ถ้าไม่มีก็สามารถใช้วิตามินบี 6 บี 12 แทนก็ได้) แต่หากใช้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์จะดีที่สุด
  18. ในรายที่มีอาการอาเจียนรุนแรงและเป็นอย่างต่อเนื่อง มีภาวะขาดน้ำ, ขาดสารอาหาร, ภาวะเลือดเป็นกรด (หายใจหอบลึก), ตาพร่ามัวซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน หรือดีซ่าน หรือสงสัยว่าเป็นอาการแพ้ท้องอย่างแรง (Hyperemesis gravidarum) ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดโดยด่วน แพทย์จะให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือทดแทนภาวะขาดน้ำ (อาจมีการเพิ่มแร่ธาตุหรือวิตามินด้วย) และอาจให้อาหารทางสายยางหรือหลอดเลือด ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจต้องทำการยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่ได้รับอันตราย

วิธีป้องกันอาการแพ้ท้อง

  1. คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก หาเวลางีบบ้างระหว่างวัน ทำจิตใจให้สงบและเข้มแข็ง ไม่เครียด หาเวลาผ่อนคลาย ด้วยการนอนนิ่ง ๆ เปิดรับอากาศบริสุทธิ์อย่างสม่ำเสมอ ฟังเพลงสบาย ๆ ฯลฯ และไม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ เพราะสภาพจิตใจมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้อาการแพ้ท้องรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยลง (การที่สามีคอยเอาอกเอาใจและคอยดูแลภรรยาเป็นอย่างดีจะช่วยให้อาการของคุณแม่ดีขึ้นเป็นลำดับ)
  2. ไม่ควรฝืนทำงานหรือออกกำลังกายมากเกินไป เพราะในช่วงนี้สภาพร่างกายของคุณแม่และสภาพของลูกยังไม่มั่นคงดีพอ
  3. อย่างดอาหาร เมื่อรู้ว่าอยากรับประทานอาหารก็ให้รับประทานได้เลย คุณแม่จึงควรมีขนมขบเคี้ยวที่มีโปรตีนสูงไว้ใกล้ ๆ ตัว เพื่อหยิบทานได้ง่าย เช่น ขนมจำพวกถั่ว ขนมที่ทำจากถั่วเหลือง เพราะเวลาท้องว่างจะทำให้คุณแม่อาเจียนได้ง่ายกว่าตอนที่มีอาหารอยู่ในท้อง
  4. แม้ว่าบางครั้งคุณแม่จะไม่รู้สึกหิว แต่ก็ควรจะพยายามบังคับตัวเองให้รับประทานอาหารให้ได้ (ครั้งละน้อย ๆ ก็ยังดี)
  5. หลีกเลี่ยงอาหารมันหรือของทอด อาหารรสจัดหรือมีเครื่องเทศมาก อาหารร้อนจัด ผลไม้ดอง ฯลฯ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นหน้าอกได้ง่าย และควรหันมารับประทานผักและผลไม้สดให้มากขึ้น
  1. อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงจะรับประทานได้ง่ายกว่า เช่น ข้าวสวย ธัญพืช ขนมปังแห้ง ๆ กรอบ ๆ
  2. อาหารที่มีโปรตีนสูงบางชนิดอาจทำให้คุณแม่ไม่สบายท้องได้ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว คุณแม่อาจเปลี่ยนมารับประทานไข่ต้มสุก ๆ อาหารทะเล หรือเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เพื่อทดแทนโปรตีนน่าจะดีกว่า
  3. เมื่อนึกอยากรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว ให้คุณแม่พยายามเลือกทานยำ สลัด หรือผลไม้สดที่มีรสเปรี้ยว แทนการเลือกทานแต่ของหมักดอง ก็จะมีประโยชน์กับคุณแม่มากกว่า
  4. เครื่องดื่มที่มีอุณหภูมิเย็นจัดหรือร้อนจัด อาจทำให้คุณแม่ท้องไส้ปั่นป่วนได้ ลองหันมารับประทานผักและผลไม้สด ๆ แทนจะดีกว่าครับ เช่น ผักกาดหอมที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่มาก ผลไม้แช่สด ๆ แช่เย็น เช่น กล้วย แอปเปิ้ล สับปะรด ฝรั่ง พุทรา
  5. คุณแม่ควรดื่มน้ำก่อนและหลังรับประทานอาหารประมาณ 30 นาที และไม่ควรดื่มน้ำร่วมกับการรับประทานอาหารหรือหลังอาหารในทันที
  6. ควรดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน หรือจิบน้ำบ่อย ๆ ในระหว่างวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำและทำให้ปัสสาวะเข้มข้น (ฝานขิงอ่อนเป็นแผ่นบาง ๆ แช่ในน้ำร้อน แล้วนำมาจิบบ่อย ๆ จะช่วยลดอาการแพ้ท้องคลื่นไส้ อาเจียนได้ดี)
  7. บางครั้งคุณแม่อาจอยากรับประทานอาหารแปลก ๆ ที่แปลกมากเกินไปกว่าที่คนแพ้ท้องทั่วไปรับประทานกัน หรือสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น อยากรับประทานดิน คุณแม่จะต้องพยายามหักห้ามใจและหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนั้น ๆ
  8. ไม่ควรแปรงฟันทันทีหลังอาหาร แต่ให้รอสักพักแล้วจึงค่อยแปรง เพราะการแปรงฟันอาจทำให้คุณแม่อยากอาเจียนหรือทนรสชาติยาสีฟันไม่ไหว แต่จะลองหันมาใช้ยาบ้วนปากดูบ้างก็ได้ครับ เผื่อจะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
  9. ไม่ควรนอนทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ
  10. คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่ร้อนอบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเท เพราะจะทำให้คุณแม่เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ง่าย ถ้าคุณแม่ต้องออกไปทานข้าวนอกบ้านก็พยายามหลีกเลี่ยงแสงแดดหรือพกร่ม พัด ยาดม และลูกอมติดตัวไว้ด้วยเสมอ
  11. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่คนแออัด หากคุณแม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีคนอยู่อย่างแออัด แนะนำให้พกผ้าปิดปากติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อลดการได้กลิ่นต่าง ๆ ให้น้อยลง
  12. ควรลดสัมภาระในกระเป๋าถือลงบ้างหากต้องออกไปข้างนอก ให้เหลือไว้แต่ของใช้จำเป็น เพราะการแบกของหรือยกของหนักเกินไป อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยและไม่สบายตัวได้
  13. การสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ง่ายขึ้น ดังนั้น คุณแม่ควรเลือกสวมใส่เสื้อที่สบายตัว เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี
  14. ควรหลีกหนีให้ไกลจากกลิ่นที่ทำให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้หรือพะอืดพะอม หากจำเป็นต้องปรุงอาหารก็ควรเปิดหน้าต่าง เปิดประตู พร้อมกับเปิดพัดลมเพื่อระบายอากาศ (ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรให้ผู้อื่นเป็นผู้ปรุงอาหารให้) และเลือกพักผ่อนร่างกายอยู่ที่บ้านด้วยการเปิดประตูหน้าต่างออกเพื่อช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกมากขึ้น
  15. มีงานวิจัยชี้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ทานอาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสีที่พบได้มากในอาหารประเภทนม เนื้อสัตว์ ตับ ไข่ ปลา สัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ถั่ว ข้าวโพด หรือในรูปของอาหารเสริม จะมีแนวโน้มที่จะแพ้ท้องได้น้อยกว่า
  16. วิตามินเสริมที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้ หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงมาก่อนก็ควรจะแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย คุณหมออาจจะสั่งจ่ายวิตามินบีรวมหรือวิตามินบี 6 มาให้คุณแม่รับประทาน เพื่อช่วยให้อาการแพ้ท้องดีขึ้น
  17. หากเป็นไปได้คุณแม่ควรจดบันทึกประจำวัน ว่าเวลาใดบ้างที่มักมีอาการแพ้ท้อง หากรู้ว่าอาการแพ้ท้องมักเกิดขึ้นเวลาใด คุณแม่จะได้ระวังตัวหรือวางแผนทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ในแต่ละวัน
เอกสารอ้างอิง
  1. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “แพ้ท้อง (Morning sickness)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 154.
  2. หาหมอดอทคอม.  “แพ้ท้อง อาการแพ้ท้อง (Morning sickness)”.  (รศ.พญ.ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [21 พ.ย. 2015].
  3. ข้อมูลอื่น ๆ จากทางอินเทอร์เน็ต

ภาพประกอบ : www.healthline.com, www.bellybelly.com.au

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด