อั้วข้าวตอก
อั้วข้าวตอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Calanthe triplicata (Willemet) Ames (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Orchis triplicata Willemet) จัดอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (ORCHIDACEAE)[1],[2]
สมุนไพรอั้วข้าวตอก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข้าวตอกฤาษี, พุ่มข้าวตอก, อั้ว, อั้วดอกขาว, เอื้องข้าวตอก, เอื้องเหลี่ยมดอกขาว เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของอั้วข้าวตอก
- ต้นอั้วข้าวตอก จัดเป็นไม้จำพวกกล้วยไม้ดินแตกกอ รากหนา ยาว และมีขน มีลำต้นโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินเล็กน้อย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของก้านใบ มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่มาดากัสการ์ อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และประเทศมาเลเซีย จนถึงออสเตรเลีย หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และในญี่ปุ่น ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ (ยกเว้นภาคกลาง) โดยมักขึ้นตามใต้ร่มเงาในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 1,600 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบได้จนถึง 3,000 เมตร[1],[2]
- ใบอั้วข้าวตอก ใบเป็นใบเดี่ยว ใบพับจีบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมยาว โคนใบสอบหรือเรียวแคบคล้ายก้านใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ผิวใบเป็นมัน ผิวใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม เส้นใบเป็นร่องจากโคนไปจรดรวมกันที่ปลายใบ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 15 เซนติเมตร[1]
- ดอกอั้วข้าวตอก ออกดอกเป็นช่อกระจุก โดยจะออกตามซอกใบ ก้านช่อยาวประมาณ 25-100 เซนติเมตร ส่วนแกนช่อยาวประมาณ 6-25 เซนติเมตร มีขนสั้นละเอียดขึ้นหนาแน่นหรือเกือบเกลี้ยง ใบประดับติดทน ลักษณะเป็นรูปใบหอก ยาวได้ประมาณ 1-4 เซนติเมตร ช่วงล่างของช่อดอกจะยาวกว่าช่วงบนช่อ ต้นมีดอกจำนวนมาก ก้านดอกจะยาวได้ประมาณ 3-4 เซนติเมตร มีลักษณะเรียวจรดรังไข่ ที่ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร บางครั้งไม่เห็นขนชัดเจน มีขนสั้นละเอียดหรือเกือบเกลี้ยง ดอกอั้วข้าวตอกนั้นเป็นสีขาว กลีบปากมีสีแดงหรือสีเหลืองแต้มอยู่ที่โคน มีขนสั้นนุ่มขึ้นประปรายอยู่ด้านนอก ส่วนกลีบเลี้ยงจะแยกจากกัน ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม ยาวไปประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอก กลีบปีก จะคล้ายกับกลีบเลี้ยง แต่จะเรียวและแคบกว่า กลีบปากโคนติดกลีบปีก ห่อหุ้มเกสร ปลายบานออก แยกเป็นพู 3 พู ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร พูด้านข้างมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนพูตรงกลางจะแยกเป็นแฉก 2 แฉก ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ที่โคนมีเดือยเรียวยาว ยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร เส้าเกสรสั้น ยาวประมาณ 0.8 เซนติเมตร หนา ส่วนยอดเกสรเพศเมียติดด้านข้าง เรณู 8 อัน แยกออกเป็น 2 กลุ่ม และมีเมือกเหนียว โดยออกดอกในช่วงเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม หรือในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[2]
สรรพคุณของอั้วข้าวตอก
- รากเหง้าหรือหัวอั้วข้าวตอกนำมาตากแห้งคั่วกับไฟ ใช้ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ และขับน้ำนิ่วในไต (รากเหง้า, หัว)[1]
ประโยชน์ของอั้วข้าวตอก
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “อั้วข้าวตอก”. หน้า 152.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “อั้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [21 ก.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 澎湖小雲雀, tanetahi, judymonkey17, Victor Fernando Ocampo, Nobuhiro Suhara)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)