อัลเบนดาโซล (Albendazole) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

อัลเบนดาโซล (Albendazole) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

อัลเบนดาโซล

อัลเบนดาโซล (Albendazole) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า อัลบีเมด (Albemed), อัลเบน (Alben) เป็นยาที่มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิได้หลายชนิด เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ตับ เป็นต้น

องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาอัลเบนดาโซลเป็นยาจำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานของแต่ละประเทศ ส่วนในประเทศไทยนั้นได้บรรจุยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตราย ซึ่งการใช้ยาที่ถูกต้องและปลอดภัย ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

ตัวอย่างยาอัลเบนดาโซล

ยาอัลเบนดาโซล (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น เอ-บี-วอร์ม (A-b-worm), อัลบาเทล (Albatel), อัลเบกา (Albega), อัลบีเมด (Albemed), อัลเบน (Alben), อัลเบนดา (Albenda), อัลเบนดาโซล (Albendazole), อัลเบนเทล (Albentel), อัลเบน-ฮีโร (Alben-Hero), อัลเบน-วีซี (Alben-VC), อัลเบนซ์ (Albenz), อัลเบนโซล (Albenzole), อัลเบซอล (Albezol), อัลดา (Alda), อัลดัน (Aldan), อัลดาโซล (Aldazole), อัลฟูกา (Alfuca), อัลซอล (Alzol), อะนาเบน (Anaben), แอนทิดา (Antheda), เบนลาร์ (Benlar), เบนเทล (Bentel), เบนวาเทล (Benvatel), เบนยาด (Benyad), บิ๊กเบน (Bigben), ซีบี-400 (CB-400), เอนเมด (Enmed), อีราซิต (Erasit), ฟอลเบน (Falben), ฟาเทล (Fatel), เจนดาเซล (Gendazel), กูซเบน (Goose-ben), ลาเบนดา (Labenda), ลีโอ-400 (Leo-400), มาโนไซด์ (Manozide), เมดาไซด์ (Medazide), เมซิน (Mesin), มัยโคเทล (Mycotel), ฟาเบนดาโซล (Pharbendazole), โพรดาโซล (Prodazole), คิว-วอร์ม (Q – worm), แซน-แซน (San-San), เซโทดา (Setoda), ซันซัน (Sunsun), เทลเมด (Telmed), แวนดาโซล (Vandazol), เวอร์มิไซด์ (Vermixide), วีโทเบน (Vetoben), วอมเทล (Vomtel), ซัลเบน (Zalben), ซีเบน (Zeben), เซลา/เซลา-ซี (Zela/Zela-C), เซนเทล (Zentel), เซนโทซา (Zentoza), เซนเซรา (Zenzera) ฯลฯ

รูปแบบยาอัลเบนดาโซล

  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 200 และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาดความแรง 100 และ 200 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)

อัลบีเมด(Albemed)
IMAGE SOURCE : www.antiwormsshop.com

อัลบีเมด
IMAGE SOURCE : www.ebay.com

สรรพคุณของยาอัลเบนดาโซล

ยานี้เป็นยารักษาโรคพยาธิ โดยมีสรรพคุณเป็นยาสำหรับฆ่าพยาธิ/ถ่ายพยาธิ เช่น

  • พยาธิตัวกลม เช่น โรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis), โรคพยาธิปากขอ (Hookworm Infection), โรคพยาธิเส้นด้าย หรือ พยาธิเข็มหมุด (Pinworm Infection), โรคพยาธิแส้ม้า (Whipworm Infection), โรคพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostomiasis), โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans), โรคพยาธิแคพิลลาริเอซิส (Capillariasis), โรคพยาธิฟิลาเรีย หรือ โรคเท้าช้าง (Filariasis), โรคพยาธิสตรองจีลอยด์ (Strongyloidiasis)
  • โรคพยาธิตัวตืด หรือ พยาธิตัวแบน (Taeniasis) เช่น พยาธิตืดวัว (Tanenia saginata), พยาธิตืดหมู (Taenia solium), โรคพยาธิตืดหมูในระบบประสาท (Neurocysticercosis), โรคพยาธิไฮดาติด (Hydatid disease)
  • โรคพยาธิใบไม้ตับ (Liver fluke)
  • โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอัลเบนดาโซล

ยาอัลเบนดาโซลจะมีกลไกการออกฤทธิ์ไปยับยั้งการเชื่อมต่อโปรตีนทิวบูลินในตัวพยาธิ (Tubulin เป็นโปรตีนสำคัญที่ใช้ในการทำงานของเซลล์ของพยาธิ) และไปปิดกั้นการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส ทำให้พยาธิขาดพลังงานในการดำรงชีวิตและตายลงในที่สุด

หลังจากรับประทานยาไปแล้ว ตัวยาจะสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยกว่า 5% เมื่อยาผ่านเข้ากระแสเลือดจะจับตัวกับพลาสมาโปรตีน 7% โดยประมาณ และถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง ในการกำจัดยาออกจากร่างกายโดยผ่านมากับปัสสาวะและอุจจาระ

ก่อนใช้ยาอัลเบนดาโซล

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอัลเบนดาโซล สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาอัลเบนดาโซล (Albendazole) หรือยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาอัลเบนดาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาอัลเบนดาโซลร่วมกับยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) สามารถเพิ่มระดับความเข้มข้นของยาอัลเบนดาโซลในเลือดได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
    • การใช้ยาอัลเบนดาโซลร่วมกับยาลดกรด เช่น ไซเมทิดีน (Cimetidine) สามารถทำให้ประสิทธิภาพของยาอัลเบนดาโซลด้อยลง หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
  • หากเป็นหรือเคยเป็นโรคโลหิตจาง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ โรคทางเดินน้ำดี โรคตับ หรือเป็นผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
  • มีการตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาอัลเบนดาโซล

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาอัลเบนดาโซล
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กทารก
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นโรคตับ
  • ในเพศหญิงหลังจากหยุดการใช้ยา ควรระวังอย่าให้เกิดการตั้งครรภ์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน

วิธีใช้ยาอัลเบนดาโซล

  • สำหรับโรคพยาธิไส้เดือน (Ascariasis) และโรคพยาธิปากขอ (Hookworm Infection) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว ส่วนในเด็กอายุ 1-2 ปี ให้รับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียวเช่นกัน (สำหรับยาเม็ด อาจใช้วิธีบดผสมกับน้ำ หรือเคี้ยวก่อนกลืน หรือกลืนทั้งเม็ดเลยก็ได้)
  • สำหรับโรคพยาธิเส้นด้าย/พยาธิเข็มหมุด (Pinworm Infection) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปีที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 20 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม ส่วนในเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 20 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 200 มิลลิกรัม โดยให้รับประทานยาเพียงครั้งเดียว และให้รับประทานซ้ำอีกครั้งในอีก 2 สัปดาห์[4]
  • สำหรับโรคพยาธิแส้ม้า (Whipworm Infection) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน[4]
  • สำหรับโรคพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostomiasis) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานยาพร้อมอาหาร ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 21 วัน[4]
  • สำหรับโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3-7 วัน หรือรับประทานยาครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3-5 วัน (ห้ามใช้รักษาในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี)
  • สำหรับโรแคพิลลาริเอซิส (Capillariasis) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน (ควรใช้เป็นทางเลือกสำหรับการรักษา)
  • สำหรับโรคพยาธิฟิลาเรีย/โรคเท้าช้าง (Filariasis) ที่เกิดจากพยาธิตัวกลมชนิด Mansonella perstans ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน
  • สำหรับโรคพยาธิสตรองจีลอยด์ (Strongyloidiasis) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานยาพร้อมอาหาร ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน (ควรใช้เป็นทางเลือกสำหรับการรักษา และหากจำเป็นแพทย์อาจให้ยาซ้ำได้อีก)[4] ส่วนข้อมูลจากเอกสารกำกับยายี่ห้ออัลบีเมด ระบุให้รับประทานยานี้พร้อมอาหาร ครั้งละ 2 เม็ด (400 มิลลิกรัม) วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน
  • สำหรับโรคพยาธิตัวตืด/พยาธิตัวแบน (Taeniasis) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา โดยให้รับประทานวันละ 1 ครั้งติดต่อกัน 3 วัน และในอีก 10-21 วันต่อมาให้กินซ้ำอีกชุด
  • สำหรับโรคพยาธิตืดหมูในระบบประสาท (Neurocysticercosis) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานพร้อมอาหาร ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 8-30 วัน แต่หากมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 60 กิโลกรัม ให้รับประทานยาในขนาดวันละ 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้งเช่นกัน แต่สูงสุดได้ไม่เกินวันละ 800 มิลลิกรัม โดยให้รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 8-30 วัน
  • สำหรับพยาธิไฮดาติด (Hydatid disease) ในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานพร้อมอาหาร ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 8-30 วัน แต่หากมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 60 กิโลกรัม ให้รับประทานยาในขนาดวันละ 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้งเช่นกัน แต่สูงสุดได้ไม่เกินวันละ 800 มิลลิกรัม โดยให้รับประทานยาติดต่อกันรอบละ 28 วัน แล้วเว้น 14 วัน และค่อยเริ่มรับประทานยาใหม่จนครบ 3 รอบ
  • สำหรับโรคพยาธิใบไม้ตับ (Liver fluke) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานยาพร้อมอาหารในขนาดวันละ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน (แนะนำให้ใช้เป็นการรักษาทางเลือก)[4] ส่วนข้อมูลจากเอกสารกำกับยายี่ห้ออัลบีเมด ระบุให้รับประทานยานี้พร้อมอาหาร ครั้งละ 2 เม็ด (400 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน
  • สำหรับโรคทริคิโนซิส (Trichinosis) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 8-14 วัน

คำแนะนำในการใช้ยาอัลเบนดาโซล

  • ควรรับประทานยาในขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ควรรับประทานยาให้ครบช่วงการรักษาตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • ในระหว่างการใช้ยานี้ ต้องคอยตรวจความผิดปกติของระบบเลือดและการทำงานของตับควบคู่กันไปด้วย

การเก็บรักษายาอัลเบนดาโซล

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะป้องกันแสงได้ เช่น ขวดหรือซองสีชา
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ) และเก็บยาให้พ้นแสงแดด (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง)
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานยาอัลเบนดาโซล

หากลืมรับประทานยาอัลเบนดาโซล ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาอัลเบนดาโซล

  • ถ้าใช้ในขนาดปกติจะมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร ปวดมวนท้อง ท้องเดิน ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ ตับอักเสบ หรืออาจแพ้ยา (มีอาการลมพิษ ผื่นคัน) ฯลฯ
  • ผลค้างเคียงรุนแรง คือ ผื่นคัน ลมพิษ หายใจลำบาก มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ชัก ตัวเหลืองตาเหลือง การมองเห็นเปลี่ยนไป ท้องเสียรุนแรง เหนื่อย อ่อนเพลีย มีการกดการทำงานของไขกระดูก
  • ถ้าใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ผมร่วง ตับอักเสบ หรือเม็ดเลือดขาวต่ำ แต่เมื่อหยุดยาก็จะดีขึ้น
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “อัลเบนดาโซล (Albendazole)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 261-262.
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “ALBENDAZOLE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [24 ก.ย. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ยาอัลเบนดาโซล (Albendazole)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: haamor.com.  [24 ก.ย. 2016].
  4. Drugs.com.  “Albendazole”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [25 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด