อัญชัน
อัญชัน ชื่อสามัญ Butterfly pea, Blue pea
อัญชัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Clitoria ternatea L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
สมุนไพรอัญชัน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แดงชัน (เชียงใหม่), เอื้องชัน (ภาคเหนือ) เป็นต้น
อัญชัน เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ ปลูกทั่วไปในเขตร้อน ลักษณะของดอกอัญชันจะมีสีขาว สีฟ้า สีม่วง ส่วนตรงกลางดอกจะมีสีเหลือง และรูปทรงคล้ายหอยเชลล์ มีสรรพคุณที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะมีสารที่ชื่อว่า “แอนโทไซยานิน” (Anthocyanin) ซึ่งมีหน้าที่ไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น เช่น ไปเลี้ยงบริเวณรากผม ซึ่งช่วยทำให้ผมดกดำ เงางาม หรือไปเลี้ยงบริเวณดวงตาจึงช่วยบำรุงสายตาไปด้วยในตัว หรือไปเลี้ยงบริเวณปลายนิ้วมือ ซึ่งก็จะช่วยแก้อาการเหน็บชาได้ด้วย และที่สำคัญสารนี้ยังมีความโดดเด่นที่ใครหลาย ๆ คนยังไม่ทราบ นั่นก็คือช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดอุดตันได้ และการ “กินดอกอัญชันทุกวัน…วันละหนึ่งดอก” จะช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดสมองตีบได้อีกด้วย
เนื่องจากดอกอัญชันนั้นมีฤทธิ์ในการละลายลิ่มเลือด สำหรับผู้มีเลือดจางห้ามรับประทานดอกอัญชันเด็ดขาด หรืออาหารเครื่องดื่มที่ย้อมสีด้วยอัญชันก็ไม่ควรรับประทานบ่อย ๆ
สรรพคุณของอัญชัน
- น้ำอัญชันมีส่วนช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย
- เครื่องดื่มน้ำอัญชันช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายและเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย
- มีส่วนช่วยในการชะลอวัยและริ้วรอยแห่งวัย
- ชดอกชมีส่วนช่วยในการบำรุงสมอง เพิ่มการไหลเวียนเลือด
- ดอกอัญชันมีฤทธิ์ในการละลายลิ่มเลือด
- ช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดสมองตีบ
- ช่วยรักษาอาการผมร่วง (ดอก)
- อัญชันทาคิ้ว ทาหัว ใช้เป็นยาปลูกผม ปลูกขนช่วยให้ดกดำเงางามยิ่งขึ้น (น้ำคั้นจากดอก)
- ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดเส้นเลือดอุดตัน
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
- ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน
- อัญชันมีคุณสมบัติในการช่วยล้างสารพิษและของเสียออกจากร่างกาย
- ช่วยบำรุงสายตา แก้อาการตาฟาง ตาแฉะ (น้ำคั้นจากดอกสดและใบสด)
- ช่วยป้องกันโรคต้อกระจก ต้อหิน ตาเสื่อมจากโรคเบาหวาน (ดอก)
- ช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็นให้ดียิ่งขึ้น
- นำรากไปถูกับน้ำฝน นำมาใช้หยอดตาและหู (ราก)
- นำมาถูฟันแก้อาการปวดฟันและทำให้ฟันแข็งแรง (ราก)
- ใช้เป็นยาระบาย แต่อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้ (เมล็ด)
- ใช้รากปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก,ใบ)
- แก้อาการปัสสาวะพิการ
- ใช้แก้อาการฟกช้ำ (ดอก)
- ช่วยป้องกันและแก้อาการเหน็บชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า
- นำมาทำเป็นเครื่องดื่มน้ำอัญชันเพื่อใช้ดับกระหาย
- ดอกอัญชันตากแห้งสามารถนำมาชงดื่มแทนน้ำชาได้เหมือนกัน
- ดอกอัญชันนำมารับประทานเป็นผัก เช่น นำมาจิ้มน้ำพริกสด ๆ หรือนำมาชุบแป้งทอดก็ได้
- น้ำดอกอัญชันนำมาใช้ทำเป็นสีผสมอาหารโดยให้สีม่วง เช่น ขนมดอกอัญชัน ข้าวดอกอัญชัน (ดอก)
- ช่วยปลูกผมทำให้ผมดกดำขึ้น (ดอก)
- ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่าง ครีมนวดผม ยาสระผม เป็นต้น
- นิยมนำมาปลูกไว้ตามรั้วบ้านเพื่อความสวยงาม
วิธีทำน้ำดอกอัญชัน
- วัตถุดิบที่ต้องเตรียมมีดังนี้ น้ำดอกอัญชัน 1 ถ้วย / น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ / น้ำเชื่อม 4 ช้อนโต๊ะ
- ขั้นตอนแรกให้ทำน้ำดอกอัญชันก่อน ด้วยการนำดอกอัญชันสดประมาณ 100 กรัม นำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วใส่หม้อเติมน้ำเปล่า 2 ถ้วย นำไปต้มจนเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 3 นาทีแล้วกรองดอกอัญชันขึ้นจากหม้อ
- ต่อมาก็ทำน้ำเชื่อม โดยใช้สัดส่วน น้ำเปล่า 500 กรัม / น้ำตาลทราย 500 กรัม
- เมื่อได้ส่วนผสมครบแล้วให้นำน้ำดอกอัญชัน น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง ผสมรวมกันตามสัดส่วนที่ระบุไว้ในข้อแรก
- ชิมรสชาติตามชอบใจ เสร็จแล้วน้ำดอกอัญชัน
- ถ้าหากจะทำเป็นน้ำพันช์ให้ใช้ส่วนผสมดังนี้ น้ำดอกอัญชันครึ่งถ้วย / น้ำผึ้ง 4 ช้อนโต๊ะ / น้ำเชื่อม 6 ช้อนโต๊ะ / น้ำมะนาวครึ่งถ้วย / และน้ำโซดาเย็นประมาณ 1 ขวด แล้วนำมาผสมรวมกัน ชิมรสชาติจนเป็นที่พอใจแล้วใส่น้ำแข็งเกล็ดเพื่อความสดชื่นอีกที
- ถ้าต้องการทำเป็นน้ำชาไว้ดื่ม ก็ใช้ดอกอัญชันที่ตากแห้งแล้วประมาณ 25 ดอก นำมาชงในน้ำเดือด 1 ถ้วยแล้วนำมาดื่ม
- หรือจะใช้อีกสูตร ก็คือให้เตรียมดอกอัญชัน 3 ดอก / น้ำเปล่า 1 แก้ว / น้ำตาลทราย (ตามความต้องการ) / น้ำมะนาว (ตามความต้องการ)
- นำดอกมาเด็ดก้านเขียว ๆ ออกแล้วนำไปล้างให้สะอาด
- ต้มน้ำแล้วใส่ดอกอัญชันลงไป รอจนเดือดและน้ำเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับดอก
- ใส่น้ำตาลลงไปตามใจชอบ
- เสร็จแล้วกรองเอากากออก แล้วทิ้งไว้ให้เย็น
- นำมาปรุงรสนิดหน่อยด้วยน้ำมะนาวตามความต้องการ (สีของน้ำจากสีฟ้าก็จะกลายเป็นสีม่วง)
- นำมาดื่มพร้อมใส่น้ำแข็ง
คำแนะนำ
- ควรดื่มทันทีเมื่อทำเสร็จ เพื่อรักษาคุณค่าทางสารอาหารและยา
- ไม่ควรดื่มน้ำสมุนไพรในอุณหภูมิที่ร้อนจัด หรือมีอุณหภูมิเกิน 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป เพราะอาจจะทำให้เยื่อบุผิวหลอดอาหารเสียสภาพภูมิคุ้มกันได้ ทำให้ดูดซับสารก่อมะเร็งและสารอื่น ๆได้ง่าย
- ไม่ควรดื่มน้ำสมุนไพรใด ๆ ชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)