อบเชย สรรพคุณและประโยชน์ของอบเชย 48 ข้อ !

อบเชย สรรพคุณและประโยชน์ของอบเชย 48 ข้อ !

อบเชย

อบเชย ชื่อสามัญ Cinnamon, Cassia[3]

อบเชย ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum spp. จัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE)[1],[3]

สมุนไพรอบเชย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บอกคอก (ลำปาง), พญาปราบ (นครราชสีมา), สะวง (ปราจีนบุรี), กระดังงา (กาญจนบุรี), ฝักดาบ (พิษณุโลก), สุรามิด (สุโขทัย), กระแจกโมง โมงหอม (ชลบุรี), กระเจียด เจียดกระทังหัน (ยะลา), อบเชยต้น มหาปราบ (ภาคกลาง) เป็นต้น[3]

ชนิดของอบเชย

อบเชยมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีคุณภาพที่แตกต่างกันออกไปตามสถานที่ปลูกหรือแหล่งผลิต อบเชยแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติหรือสรรพคุณทางยาที่ใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ โดยอบเชยพันธุ์ที่มีชื่อเสียงคุณภาพดีและราคาแพงที่สุด คือ อบเชยสายพันธุ์จากศรีลังกา อบเชยสายพันธุ์จากจีนจะอ่อนที่สุด ส่วนอบเชยไทยนั้นไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะเปลือกหนาและไม่หอม[3] ส่วนอีกข้อมูลระบุนั้นว่าอบเชยญวนจะมีคุณภาพสูงสุด รองลงมาคืออบเชยจีน และอบเชยเทศ ซึ่งส่วนประกอบของสารเคมีและน้ำมันระเหยแต่ละชนิดจะไม่เท่ากัน[4] อบเชยที่พบได้ในประเทศไทยนั้นมีมากกว่า 16 ชนิด แต่จะมีชนิดใหญ่ ๆ อยู่ 5 ชนิดด้วยกัน[8] ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

  • อบเชยเทศ หรือ อบเชยลังกา ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum verum J.Presl (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cinnamomum zeylanicum Blume)[3],[10] ) ชื่อสามัญ Ceylon cinnamon, True cinnamon เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ไม่ผลัดใบ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาและหนา กิ่งขนานกับพื้นและตั้งชันขึ้น ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันตามลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ มีเส้นใบ 3 เส้น ใบค่อนข้างหนา ผิวใบเรียบเป็นมัน สีเขียมเข้ม ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีเหลืองและมีกลิ่นหอม ผลเป็นสีดำมีลักษณะคล้ายรูปไข่ ผิวเปลือกเรียบบาง หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ชนิดนี้มาจากประเทศอินเดียและศรีลังกา[3],[10] เป็นชนิดที่มีราคาแพงที่สุด[3],[8]

ต้นอบเชยเทศ

ดอกอบเชยเทศ

ผลอบเชยเทศ

เมล็ดอบเชยเทศ

  • อบเชยจีน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum cassia (L.) J.Presl (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cinnamomum aromaticum Nees, Cinnamomum cassia (L.) D. Don)[4],[5] ชื่อสามัญ Chinese cassia, Chinese cinnamom, Cassia lignea, Cassia bark, False cinnamon[10] (ชื่ออื่น โย่วกุ้ย กวนกุ้ย อิกุ้ย (จีนกลาง)[4]) อบเชยชนิดนี้มีความสูงและขนาดของลำต้นใหญ่กว่าอบเชยเทศ มีเปลือกหนาหยาบกว่าและสีเข้มกว่าอบเชยเทศเล็กน้อย[3] อบเชยจีนเป็นพรรณไม้ที่พบในประเทศจีนแถบมณฑลกวงสี ยูนนาน และกวางตุ้ง โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ประมาณ 10-15 เมตร เปลือกลำต้นหนาและเป็นสีเทาเข้ม มีรอยแตกตามยาว เปลือกลำต้นมีรูปรูปกลมรี เนื้อในเปลือกเป็นสีแดงเข้ม มีกลิ่นหอมและมีรสหวาน ตามกิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ใบอบเชยจีน ใบออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหลายแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร เนื้อใบหนา มีเส้นใบตามยาว 3 เส้น หลังใบเป็นสีเขียวผิวใบเรียบมัน ส่วนท้องใบมีสีเขียมอมเทา และมีขนปกคลุมเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ส่วนดอกอบเชยจีน ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือง่ามใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 10-19 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ดอกเป็นสีเหลืองอมเขียว กลีบดอกคล้ายรูปหัวใจ ดอกมีกลีบดอก 6 กลีบ ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ใจกลางของดอกมีมีเกสรเพศผู้ 9 อัน และผลอบเชยจีน ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา ผลเมื่อสุกจะเป็นสีม่วงเข้ม[4]

ต้นอบเชยจีน

อบเชยจีน

  • อบเชยญวน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum loureiroi Nees (ชื่อสามัญ Cinnamon, Saigon Cinnamon, Vietnamese cassia)[2],[5] เป็นไม้ยืนต้น มีลักษณะลำต้นคล้ายคลึงกับอบเชยจีนมาก ใบเป็นใบเดี่ยวค่อนข้างบาง ลักษณะของใบเป็นรูปร่างยาวเรียว ปลายใบแหลม ดอกและผลมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม แต่กลิ่นจะหอมไม่เท่ากับอบเชยเทศ มีรสหวาน[3] ชนิดนี้มีรสหวานแต่ไม่ค่อยหอม ปลูกได้ดีมากในประเทศไทย และประเทศไทยเราจะส่งออกอบเชยชนิดนี้เป็นหลัก[8]

อบเชยญวน

  • อบเชยชวา หรือ อบเชยอินโดนีเซีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum burmanni (Nees & T.Nees) Blume[5] ชื่อสามัญ Indonesian cassia, Batavia cassia, Batavia cinnamom, Panang cinnamon[10] เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่กว่าอบเชยที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นอบเชยที่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป แต่นิยมเรียกกันว่า อบเชยเทศ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวเรียว ปลายใบแหลม ดอกและผลมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมแต่น้อยกว่าอบเชยเทศ[3] และเป็นอบเชยที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน[8]

ต้นอบเชยชวา

อบเชยชวา

  • อบเชยไทย คืออบเชยชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum bejolghota (Buch.-Ham.) Sweet (มีชื่อเรียกอื่นว่า เชียกใหญ่, จวงดง, เฉียด, ฝนเสน่หา, สมุลแว้ง, มหาปราบ ) หรือเป็นอบเชยที่ได้จากต้น “อบเชยต้น” (Cinnamomum iners Reinw. ex Blume.)[5] โดยอบเชยต้นนั้นมีชื่อสามัญว่า Cinnamom และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น ๆ อีกว่า บอกคอก (ลำปาง), พญาปราบ (นครราชสีมา), กระดังงา (กาญจนบุรี), สะวง (ปราจีนบุรี), ฝักดาบ (พิษณุโลก), กระแจะโมง กะเชียด กะทังนั้น (ยะลา), มหาปราบตัวผู้ อบเชย อบเชยต้น (ภาคกลาง), เขียด เคียด เฉียด ชะนุต้น (ภาคใต้), ดิ๊กซี่สอ กัวเล่ะบิ๊ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), กะพังหัน โกเล่ เนอม้า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), เสี้ยง (ม้ง), ม้าสามเอ็น (คนเมือง), เชียด[7],[8]) อบเชยชนิดจะพบได้ในป่าเขาที่ยังอุดมสมบูรณ์หรือป่าดงดิบทั่วไปในประเทศไทย[8],[9] จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร ทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปเจดีย์ต่ำ ๆ ทึบ เปลือกต้นค่อนข้างเรียบเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลอมเทา เปลือกและใบมีกลิ่นหอม ใบอบเชยไทย ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-25 เซนติเมตร แผ่นใบหนา เกลี้ยง แข็ง และกรอบ เส้นใบออกจากโคนมี 3 เส้น ยาวตลอดจนถึงปลายใบ ด้านล่างเป็นคราบขาว ก้านใบยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ดอกอบเชยไทย ออกดอกเป็นช่อแบบกระจายที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นเหม็น ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวอ่อน ผลอบเชยไทย ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลแข็ง ตามผิวผลมีคราบขาว แต่ละมีเมล็ดเดียว ฐานรองรับผลมีลักษณะเป็นรูปถ้วย[7] (อบเชยไทยเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดระนอง [9])

ต้นอบเชยไทย

ดอกอบเชยไทย

ลักษณะของอบเชย

อบเชยเป็นเครื่องยาหรือเครื่องเทศที่ได้มาจากการขูดเอาเปลือกชั้นออกให้หมด แล้วลอกเปลือกชั้นในออกจากแก่นลำต้น โดยใช้มีดกรีดตามยาวของกิ่ง แล้วนำไปผึ่งในที่ร่มสลับกับตากแดดประมาณ 5 วัน และในขณะที่ตากให้ใช้มือม้วนเอาขอบทั้งสองข้างเข้าหากัน เมื่อเปลือกแห้งแล้วจึงมัดรวมกัน โดยเปลือกอบเชยที่ดีนั้นจะต้องเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีสนิม มีความตรงและยางอย่างสม่ำเสมอ โดยยาวประมาณ 1 เมตร มีรสสุขุม เผ็ด หวานเล็กน้อย และมีกลิ่นหอมแบบเฉพาะ[5]

อบเชยเทศ

สรรพคุณของอบเชย

  1. เปลือกต้นและเนื้อไม้ มีรสเผ็ด หวานชุ่ม มีกลิ่นหอม เป็นยาร้อนออกฤทธิ์ต่อไต ม้าม และกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยกระจายความเย็นในร่างกาย ทำให้เลือดหมุนเวียนดี (เปลือกต้นและเนื้อไม้)[4]
  2. เปลือกต้นใช้ปรุงผสมเป็นยาหอมและยานัตถุ์ ทำให้สดชื่น แก้ปวดศีรษะ แก้อาการอ่อนเพลีย (เปลือกต้น)[1],[2],[5]
  3. ช่วยบำรุงดวงจิต บำรุงธาตุ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย (เปลือกต้น)[5],[6] ส่วนใบอบเชยต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ และบำรุงกำลัง (ใบอบเชยไทย)[6]
  4. รากอบเชยเทศ มีสรรพคุณช่วยปลุกธาตุให้เจริญ แก้พิษร้อน ส่วนเปลือกต้นอบเชยเทศมีสรรพคุณปลุกธาตุอันดับให้เจริญ (เปลือกต้นอบเชยเทศ,รากอบเชยเทศ)[10]
  5. อบเชยจีนมีรสเผ็ดอมหวาน มีฤทธิ์ร้อน ช่วยบำรุงธาตุไฟในระบบไต ตับ ม้าม และหัวใจ (เปลือกต้นอบเชยจีน)[13]
  6. อบเชยสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ ด้วยการใช้ผงอบเชยที่หาซื้อได้ทั่วไปที่เป็นแท่งนำมาบด โดยให้ใช้ผงอบเชยหนัก 1 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (เปลือกต้น)[12]
  7. ใช้ปรุงเป็นยานัตถุ์รับประทานแก้เบื่ออาหาร (เปลือกต้น)[5] เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ และช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้นอบเชยไทย)[7]
  8. อบเชยมีสรรพคุณช่วยทำให้ร่างกายมีความสามารถในการใช้อินซูลินเพื่อการสันดาปกลูโคสได้ดีขึ้น อบเชยสามารถลดการดื้ออินซูลินทำให้เซลล์ต่าง ๆ นำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานให้หมดไปไม่ค้างอยู่ในเลือด สมุนไพรอบเชยจึงเหมาะสมกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน ให้ใช้อบเชยวันละ 1 ช้อนชา หรือประมาณ 1,200 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งการรับประทานออกเป็น 4 มื้อ ซึ่งจะได้ผงอบเชยในปริมาณ 300 มิลลิกรัม หรือมีขนาดเท่ากับแคปซูลเบอร์ 1 แต่สำหรับผู้ไม่เป็นเบาหวานสามารถกินได้วันละ 500-600 มิลลิกรัม หรือประมาณวันละ 2 แคปซูล (เปลือกของกิ่ง)[3]
  1. ช่วยย่อยสลายไขมัน ควบคุมระดับไขมันในเลือด และคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ให้มีระดับต่ำลง (เปลือกต้น)[3],[12]
  2. ช่วยต้านมะเร็ง เพราะมสารคลีเซอไรซินเข้มข้น (เปลือกต้น)[3],[12]
  3. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้สันนิบาต แก้อาการหวัด แก้อาการไอ (เปลือกต้น)[5] เมล็ดนำมาทุบให้แตกผสมกับน้ำผึ้ง ให้เด็กกินเป็นยาแก้ไอ (เมล็ดอบเชยไทย)[7]
  4. รากและใบ ใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้เนื่องจากความอักเสบของสตรีที่คลอดบุตรใหม่ ๆ (รากและใบอบเชยไทย)[6],[8]
  5. ช่วยแก้ไอเย็น หืดหอบเนื่องมาจากลมเย็นกระทบ (เปลือกต้นและเนื้อไม้)[4]
  6. ตำรับยาแก้อาการไอหอบหืด ให้ใช้อบเชยจีน หู่จื้อ เจ็กเสี่ย เปลือกโบตั๋น อย่างละ 3-5 กรัม ซัวจูยู้ ซัวเอี๊ยะ หกเหล็ง อย่างละ 6 กรัม และเส็กตี่ 12 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน หรือทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)[4]
  7. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียน (เปลือกต้น)[6] ส่วนใบสามารถนำมาปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียนได้เช่นกัน (ใบอบเชยไทย)[6],[8]
  8. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เปลือกต้น)[5]
  9. รากใช้ปรุงเป็นยาแก้อาการปวดฟัน (รากอบเชยไทย)[8]
  10. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาน้ำ แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยขับผายลม อาหารไม่ย่อย (เปลือกต้น)[1],[2],[4],[5],[6] ส่วนใบใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้จุกเสียดแน่นท้องและลงท้อง (ใบอบเชยต้น)[6],[8]
  11. ช่วยแก้อาการท้องร่วง แก้ท้องเสีย แก้ท้องเสียในเด็ก แก้บิด ลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ ลำไส้อักเสบ (เปลือกต้น)[3],[5] เมล็ดอบเชยไทย นำมาทุบให้แตกผสมกับน้ำผึ้งให้เด็กกินเป็นยาแก้บิด (เมล็ดอบเชยไทย)[7]
  12. เปลือกต้นใช้แทน Cinnamon เคี้ยวกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (เปลือกต้นอบเชยไทย)[7]
  13. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (เปลือกต้น)[3]
  14. แก้โรคกระเพาะ ปวดกระเพาะหรือถ่าย เนื่องจากลมเย็นชื้นหรือลมเย็นที่ทำให้มีอาการปวดและท้องเสีย ให้ใช้อบเชยจีน 2-3 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)[4]
  15. ยาชงจากเปลือกต้น ใช้กินเป็นยาถ่าย (เปลือกต้นอบเชยไทย)[7]
  16. ช่วยขับพยาธิ (เปลือกต้น)[5]
  17. ช่วยขับปัสสาวะ (เปลือกต้น)[3]
  18. ช่วยแก้ไตหย่อน ปัสสาวะไม่รู้ตัว หรือปัสสาวะบ่อย ให้ใช้อบเชยจีน หู่จื้อ เจ็กเสี่ย เปลือกโบตั๋น อย่างละ 3-5 กรัม ซัวจูยู้ ซัวเอี๊ยะ หกเหล็ง อย่างละ 6 กรัม และเส็กตี่ 12 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน หรือทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)[4]
  19. เปลือกนำมาต้มหรือทำเป็นผง ใช้แก้โรคหนองในและแก้โทษน้ำคาวปลา (เปลือกต้นอบเชยไทย)[6],[8]
  20. เปลือกต้นนำมาบดให้เป็นผงใช้โรยรักษาแผลกามโรค (เปลือกต้น)[5]
  21. ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี (เปลือกต้น)[5]
  22. รากนำมาต้มให้สตรีกินหลังการคลอดบุตร และลดไข้หลังการผ่าตัด (รากอบเชยไทย)[7]
  23. น้ำต้มเปลือกต้นใช้ดื่มเป็นยาแก้ตับอักเสบ (เปลือกต้น)[5]
  24. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาห้ามเลือด ช่วยสมานแผล (เปลือกต้น)[5]
  25. ใบอบเชยเทศมีสรรพคุณเป็นยาฆ่าเชื้อ (ใบอบเชยเทศ)[6]
  26. น้ำมันอบเชยเทศมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อรา แต่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง (เข้าใจว่าคือน้ำมันจากเปลือกต้น)[11]
  27. น้ำยางจากใบใช้เป็นยาทาแผลถอนพิษของยางน่อง (ใบอบเชยไทย)[7]
  28. ใบใช้ตำเป็นยาพอกแก้อาการปวดรูมาติสซั่ม (ใบอบเชยไทย)[7]
  29. ช่วยแก้อาการปวด แก้ปวดหลัง ปวดเอวเนื่องจากไตหย่อน ไม่มีกำลัง แก้ปวดตามข้อ ปวดตามบ่าหรือไหล่ (เปลือกต้นและเนื้อไม้)[4]
  30. คนเมืองจะใช้รากอบเชยไทย นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอว (รากอบเชยไทย)[7]
  31. ช่วยแก้ลมอัณฑพฤกษ์ (เปลือกต้น)[5]
  32. รากมีรสหอมสุขุม มีสรรพคุณช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (รากอบเชยเทศ)[10]
  33. อบเชยจัดอยู่ในพิกัดยาไทยร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ หลายตำรับ ได้แก่ พิกัดตรีธาตุ (เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้ไข้ แก้เสมหะ), พิกัดตรีทิพย์รส (เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ), พิกัดจตุวาตะผล (เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้พรรดึก ขับผายลม แก้ลมกองริดสีดวง แก้ตรีสมุฏฐาน), พิกัดทศกุลาผล (เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้เสมหะ บำรุงปอด ขับลมในลำไส้ แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต) เป็นต้น[5]

หมายเหตุ : ตำรายาไทยจะใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับอบเชยที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ[2] อบเชยเทศมีสรรพคุณทางยาเหมือนอบเชยจีน[10]

ข้อห้ามในการใช้อบเชย

  • ผู้ที่เป็นไข้ตัวร้อน ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด อุจจาระแข็งแห้ง เป็นโรคริดสีดวงทวาร เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานอบเชย และห้ามกินน้ำมันอบเชน เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนและเป็นอันตรายต่อไตได้[3],[12]
  • อบเชยจีนเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ถ้ารับประทานในปริมาณมาก ๆ หรือไม่ได้รับประทานตามคำแนะนำในฉลาดหรือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่เป็นโรคตับ เนื่องจากอบเชยจีนมีสารคูมารินซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตับ และการได้รับสารนี้ในในระยะยาวก็อาจมีปัญหาต่อตับได้[13]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของอบเชย

  • เปลือกต้นอบเชยจีนพบน้ำมันระเหยประมาณ 1-2% ในน้ำมันระเหยพบสารหลายชนิด เช่น Cinnamic aldehyde, Cinnamyl acetate, Phenyl-propyl acetate, Tannin, Latax และยาง เป็นต้น[3] ในน้ำมันหอมระเหยสารที่เป็นองค์ประกอบหลักคือ Cinnamic aldehyde ประมาณ 51-76% และพบ eugenol เล็กน้อยประมาณ 5-18%[5]
  • สารสำคัญที่พบ สารที่ใช้บำบัดรักษาโรคเบาหวาน คือ เมธิลไฮดรอกซี่ ชาลโคน โพลิเมอร์ (Methylhydroxy Chalcone Polymer – MHCP) ซึ่งเป็นชาลโคนชนิดแรกที่พบในอบเชยอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า โพลีฟีนอล (Polyphenol) หรือ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) นอกจากนี้ยังมีสารอื่น ๆ อีก เช่น coumarin, cinnamaldehyde, cinnamic acid, ocimene, linalool, terpinene, vanillin เป็นต้น[3]
  • อบเชยมีฤทธิ์ลดความดัน ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด ลดการหดเกร็งของหลอดลม ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และกระเพาะอาหาร ต้านออกซิเดชัน มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านมะเร็งเม็ดเลือด ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา แก้ปวดและต้านการอักเสบ ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้นในหนูทดลอง[5]
  • อบเชยมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งปากมดลูก สามารถยับยั้งการเจริญและกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งตับได้ และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งผิวหนัง[13]
  • สารสำคัญในอบเชยจีนมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูง[13]
  • อบเชยมีฤทธิ์ต้านการซึมเศร้า ช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง[13]
  • น้ำมันระเหยจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดขยาดตัว จึงทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกยิ่งขึ้น[4]
  • คุณสมบัติเด่นของอบเชยจีนคือความสามารถในการระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยมีการศึกษามากมายที่ระบุค่อนข้างแน่ชัดว่าอบเชยจีนสามารถต้านโรคเบาหวานได้[13]
  • ผลของอบเชยและขมิ้นต่อระดับ Oxalate ไขมัน และน้ำตาลในเลือด อบเชยและขมิ้นมีสาร Oxalate สูง ซึ่งการรับประทานสารดังกล่าวในปริมาณมากอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ ซึ่งจากการศึกษาทางคลินิกแบบ Crossover กับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 11 ราย แบ่งเป็นชาย 4 คน และหญิง 7 คน มีอายุตั้งแต่ 21-38 ปี เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยให้ได้รับอบเชยในขนาด 3 กรัมต่อวัน จำนวน 6 ราย หรือได้รับขมิ้น 2.8 กรัมต่อวัน จำนวน 5 ราย โดยให้รับประทานพร้อมกับอาหารเช้า อาหารกลาง และที่เหลือให้รับประทานในมื้อเย็น (อาสาสมัครจะได้รับสาร Oxalate จากอบเชยหรือขมิ้นวันละประมาณ 55 มิลลิกรัม) เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นมีการปรับขนาด โดยให้รับอบเชยในขนาด 3.5 กรัมต่อวัน หรือได้รับขมิ้นวันละ 3.2 กรัมต่อวัน (อาสาสมัครจะได้รับสาร Oxalate จากอบเชยหรือขมิ้นวันละประมาณ 63 มิลลิกรัม) เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า อบเชยและขมิ้นในขนาดดังกล่าว ไม่มีผลต่อระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือด แต่ช่วงที่อาสาสมัครได้รับขมิ้นจะมีการขับสาร Oxalate ออกมาทางปัสสาวะสูง เมื่อเทียบกับช่วงที่ได้รับอบเชยหรือยาหลอก จากผลการทดลองดังกล่าว ทำให้สามารถสรุปได้ว่าการได้รับขมิ้นในปริมาณมาก อาจเป็นสาเหตุให้เกิดนิ่วในไตได้[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศจีน พบว่าอบเชยสามารถช่วยทำให้การสลายลิ่มเลือด ขยายหยอดเลือด การไหลเวียนของเลือด และลดไขมันกับความหนืดของเลือดให้ดีขึ้นได้ และอบเชยยังสามารถนำมาใช้รักษาหรือปรับปรุงให้ดีขึ้นของการเกิดลิ่มเลือดและเซลล์สมองฝ่อได้ ตัวยานี้จะส่งผลในการเปลี่ยนแปลงและผลของฤทธิ์ยาต่อสิ่งมีชีวิต โดยการใช้เป็นยาระบายเอาของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย ยาจะส่งผลได้ดรในการลดไขมันในเลือด โดยลดได้ถึง 94% และยังส่งผลในการรักษาการขาดแคลนโลหิตที่มาหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงถึง 89% และลดการเกิดลิ่มเลือดที่เกิดจากไขมันในเลือดสูงได้ถึง 80% อีกทั้งการสกัดและการเตรียมยาก็ง่ายและมีประสิทธิภาพในการรักษา[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศจีน กระบวนการเตรียมและการสกัดยาจากอบเชยนั้น สามารถทำได้โดยการแช่อบเชยสดในน้ำสะอาดแล้วเคี่ยวด้วยไฟปานกลางประมาณ 20 นาที และกรองเอากากออก น้ำยาที่ได้จะช่วยรักษาไขมันในเลือดสูง ซึ่งมีผลต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย มีประสิทธิภาพ และราคาถูก ถ้าสามารถหาแหล่งวัตถุดิบได้เอง[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศจีน ได้สรุปผลการทดลองว่า อบเชยนั้นสามารถนำมาใช้เป็นตัวยาในการรักษาโรคความดันสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคทางประสาท โรคปัสสาวะขัด และโรคต่อมลูกหมากโตได้[3]
  • จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่าอบเชยสามารถเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และลดระดับไตรีกลีเซอไรด์ในเลือดได้ และจากการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานพบว่าอบเชยนอกจากจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้วยังช่วยปรับระดับไขมันในเลือดให้ดีขึ้นได้ โดยลดระดับคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิดเลว และไตรกลีเซอไรด์[13]
  • น้ำมันระเหยจากเปลือกต้นมีฤทธิ์กระตุ้นกระเพาะลำไส้ ให้มีการบีบตัวแรงขึ้น ทำให้มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้เพิ่มมากขึ้น จึงมีการช่วยขับลมในกระเพาะลำไส้ และยังมีฤทธิ์คล้ายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบในกระเพาะลำไส้ จึงสามารถช่วยแก้อาการปวดกระเพาะและลำไส้ได้[4]
  • อบเชยมีฤทธิ์บรรเทาการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูทดลองซึ่งกลไกการทำงานยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับการหลั่งเมือกของกระเพาะที่ถูกกระตุ้นโดยเซโรโทนิน[13]
  • สารสกัดจากอบเชยจีนด้วยน้ำมีคุณสมบัติต้านการอักเสบที่เกิดจากการทำงานของภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป เช่น การแพ้ที่ผิวหนังอย่างรุนแรง หลอดเลือดอักเสบที่ผิวหนัง การอักเสบบวมแดงเฉพาะที่ ภาวะไตอักเสบ ซึ่งกลไกในการต้านการอักเสบส่วนหนึ่งนั้นมาจากความสามารถในการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ของเซลล์ภูมิคุ้มกัน[13]
  • จากการศึกษาที่อินเดียพบว่า สารสกัดจากเปลือกอบเชยจีน มีความสามารถในการต้านไวรัส HIV ได้ และยังมีคุณสมบัติในการต้านไวรัสที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่[13]
  • น้ำมันหอมระเหยในอบเชยจีนมีความสามารถในการต้านจุลชีพ ได้แก่ เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และยีสต์ และยังช่วยยับยั้งการเจริญและกิจกรรมของแบคทีเรีย Helicobactor pyroli ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะอาหาร[13]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าในอัตราส่วนขนาดสูงสุดที่ทำให้หนูขาวทนได้ (LD50) มีค่าเท่ากับ 4.16 กรัมต่อกิโลกรัม[3]
  • จากการศึกษาทางพิษวิทยา ด้วยการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากเปลือกอบเชยญวนด้วยเอทานอล 50% แล้วนำมาให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 926 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน และให้โดยวิธีการฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ[5]

ประโยชน์ของต้นอบเชย

  1. เปลือกต้นใช้เป็นเครื่องเทศ ยาขับลม แต่งกลิ่น บดให้เป็นผงใช้เป็นเครื่องเทศใส่อาหาร ใส่ในเครื่องสำอาง น้ำมันจากเปลือกไม้ต้นใช้แต่งกลิ่นอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ลูกวาด ขนมหวาน เหล้า รวมไปถึงเภสัชภัณฑ์ สบู่ ยาเตรียมที่ใช้สำหรับช่องปาก ใช้เป็นส่วนผสมในยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยาขับลม ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคและกันบูด เป็นต้น[2],[6],[11] ส่วนเปลือกอบเชยชวามักนำมาใช้ผสมเครื่องแกงมัสมั่น และแต่งกลิ่นข้าวหมกไก่[11]
  2. เปลือกต้นอบเชยเมื่อนำมาย่างไฟจะมีกลิ่นหอม นิยมนำมาใส่ในแกงมัสมั่นและอาการประเภทต้มหรือตุ๋นเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เพื่อลดความคาว หรือจะลองหาผงอบเชยมาเหยาะลงในอาหารหรือเครื่องดื่มก็ได้ อย่างเช่น ชา กาแฟ น้ำผลไม้ แซนด์วิช ก็ได้ แล้วแต่จะดัดแปลงสูตร[12]
  3. ใบอบเชยเทศมีน้ำมัน ใช้สำหรับแต่งกลิ่น แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง แต่งกลิ่นสบู่ ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตน้ำหอม ใช้เป็นแหลงของสารยูจีนอลเพื่อนำมาสังเคราะห์เป็นสารวานิลลิน ใช้เป็นส่วนผสมในยาทาถูนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดตามข้อ[6],[11]
  4. ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้เปลือกต้นอบเชยไทยนำมาตากให้แห้งแล้วนำไปเคี้ยวกินกับหมาก[7]
  5. ชาวม้งจะใช้เปลือกไม้ของอบเชยไทย นำไปตากแห้งแล้วตำให้เป็นผง นำไปทำธูป มีกลิ่นหอม[7]
  6. เนื้อไม้อบเชยไทยมีกลิ่นหอมคล้ายการบูร เนื้อไม้หยาบและค่อนข้างเหนียว สามารถนำมาใช้ในการแกะสลักทำหีบใส่ของเพื่อป้องกันแมลง ทำเครื่องเรือน หรือทำไม้บุผนังที่สวยงามได้[9]
  7. สำหรับเรื่องสิว อบเชยก็สามารถช่วยได้เช่นกัน ด้วยการใช้ผงอบเชย 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำผึ้ง 3 ช้อนชา แล้วคนให้เข้ากัน จากนั้นนำมาป้ายลงบนหัวสิวก่อนเข้านอน แล้วค่อยล้างออกในตอนเช้าด้วยน้ำอุ่น โดยให้ทำติดต่อกัน 2 สัปดาห์ สิวจะค่อย ๆ หมดไป (ข้อมูลจาก Woman plus)
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “อบเชย”.  หน้า 195.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “อบเชย”.  หน้า 83.
  3. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “อบเชย”  หน้า 207-209.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “อบเชยจีน”.  หน้า 642.
  5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “อบเชย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [29 ก.ค. 2014].
  6. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “อบเชยเทศ”, “อบเชยต้น (เชียด)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [29 ก.ค. 2014].
  7. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เชียด, ม้าสามเอ็น, อบเชยไทย, อบเชยต้น”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [29 ก.ค. 2014].
  8. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “เชียด, อบเชยต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com.  [29 ก.ค. 2014].
  9. พันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “อบเชย”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/pattani_botany/.  [29 ก.ค. 2014].
  10. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย.  (วุฒิ วุฒิธรรมเวช).  “อบเชย”.  หน้า 195.
  11. ไทยเกษตรศาสตร์.  “อบเชย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com.  [29 ก.ค. 2014].
  12. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “อบเชย”.  (นพพล เกตุประสาท).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [29 ก.ค. 2014].
  13. สมุนไพรเพื่อสุขภาพ.  “อบเชยจีนสมุนไพรเพื่อสุขภาพ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: herb-to-health.blogspot.com.  [29 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Steelshots, Pi Rawr, Scamperdale, Vijayasankar Raman, jt huang)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด