ห่อข้าวสีดา
ห่อข้าวสีดา ชื่อสามัญ Staghorn fern[2], Crown Staghorn, Disk Staghorn[3]
ห่อข้าวสีดา ชื่อวิทยาศาสตร์ Platycerium coronarium (Mull.) Desv. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Osmunda coronaria Mull.)[2] จัดอยู่ในวงศ์ POLYPODIACEAE[1],[2]
สมุนไพรห่อข้าวสีดา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สายม่าน สายวิสูตร (ชื่อทางการค้าในกรุงเทพฯ), กระจาด กระปรอกกระจาด (ชลบุรี), หัวสีดา (ประจวบคีรีขันธ์), หัวสีดา ห่อข้าวสีดา หัวอีโบ (ภาคอีสาน, ภาคตะวันออก), ห่อข้าวสีดา (ภาคกลาง, ภาคใต้), กระปรอก (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของเฟิร์นห่อข้าวสีดา
- ต้นห่อข้าวสีดา จัดเป็นเฟิร์นที่เกาะอาศัยกับพรรณไม้อื่น เหง้าสั้น ๆ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 เซนติเมตร ลำต้นเป็นเหง้าทอดเลื้อย ปลายยอดเหง้าปกคลุมไปด้วยเกล็ด เป็นแผ่นบางสีน้ำตาล ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร ทั้งต้นเป็นสีเขียวอมเหลือง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อต้นใหม่ หรือขยายพันธุ์จากสปอร์ เจริญเติบโตออกใบใหม่ตลอดปีและโตเร็วมาก หากได้รับแสงและความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ และเหง้ายังสามารถแตกกิ่งตายอดใหม่ได้ ห่อข้าวสีดามีเขตการกระจายพันธุ์ในไทย พม่า ลาว เขมร เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้มากทางภาคใต้และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบได้บ้างประปรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักขึ้นตามคบไม้ที่มีแสงแดดส่องถึงตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง และป่าพรุ ที่ระดับความสูงปานกลางจากระดับน้ำทะเล[1],[2],[3]
- ใบห่อข้าวสีดา ใบจะออกรอบ ๆ ลำต้น มีสองชนิด ใบเกล็ดหรือใบที่ไม่สร้างสปอร์ (ใบกาบ) จะมีลักษณะชูตั้งขึ้นเป็นตะกร้า ลักษณะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 40-100 เซนติเมตร ขอบใบเว้าเป็นพู แยกเป็นแฉก 2 แฉก ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร แฉกย่อยกว้างยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ปลายแฉกกลมหรือโค้งมน โคนใบมนกว้าง อวบน้ำ เส้นแขนงใบแตกเป็นแขนง เส้นแขนงใบย่อยเป็นแบบร่างแห[1],[2]
- ส่วนใบแท้หรือใบที่สร้างสปอร์ (ใบชายผ้า) จะมีลักษณะห้อยลง มองดูเหมือนสายม่านหรือตาข่าย มีความยาวกว่า 1 เมตร หรือยาวประมาณ 50-200 เซนติเมตร ใบแยกเป็นหลายพู พูละ 2 แฉก คล้ายกิ่ง ที่โคนแฉกมีขนาดไม่เท่ากัน ช่วงปลายแฉกเท่า ๆ กัน เส้นแขนงใบแยกเป็นแฉก 2 แฉก[1],[2]
- แผ่นกลุ่มอับสปอร์ออกเดี่ยว ๆ มีลักษณะคล้ายรูปหอยแครง เกือบกลม หรือเว้าเป็นรูปหัวใจ มีขนาดกว้างประมาณ 4-16 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-11 เซนติเมตร และมีก้านยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร กลุ่มอับสปอร์จะติดทั่วทั้งแผ่น มีขนกระจุก[1],[2]
ข้อสังเกต : เฟิร์นห่อข้าวสีดา ถ้าสังเกตดูจากใบชายผ้า จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละต้น ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ อย่างไม่เป็นทางการได้ดังนี้ คือ กลุ่มใบชายผ้าเป็นริ้วแบนและกว้าง (พบทางภาคใต้), กลุ่มใบชายผ้าเป็นริ้วแคบสั้น และกลุ่มใบชายผ้าเป็นริ้วแคบยาว (ทั้งสองกลุ่มหลังนี้พบได้ทางภาคตะวันออก) ซึ่งคาดว่าลักษณะที่แตกต่างกันน่าจะมาจากถิ่นกำเนิด[3]
สรรพคุณของห่อข้าวสีดา
- ใบนำมาต้มกับน้ำอาบหรือดื่มเป็นยาลดไข้ (ใบ)[2]
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบห่อข้าวสีดาผสมกับใบแห้งกล้วยตีบ ใบเปล้าใหญ่ นำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้ไข้สูง (ใบ)[1]
- ใบนำมาต้มกับน้ำอาบหรือดื่มเป็นยาช่วยบรรเทาอาการปวด (ใบ)[2]
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบห่อข้าวสีดานำมาผสมกับรากส้มชื่นและใบกล้วยง้วน แล้วนำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้บวม (ใบ)[1]
- ชาวเขาเผ่าแม้วจะใช้ใบเฉพาะส่วนของชายผ้า นำมาต้มกับน้ำดื่ม รักษาอาการไม่สบายและอ่อนเพลียของสตรีขณะอยู่ไฟหลังคลอด (ใบในส่วนของชายผ้า)[1]
ประโยชน์ของห่อข้าวสีดา
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เป็นพืชที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี การนำมาปลูกเลี้ยงจึงไม่ใช่เรื่องยาก ปลูกเป็นไม้เกาะอาศัย ชอบความชื้นสูงและแสงสว่างปานกลาง ไม่ชอบน้ำปริมาณมาก และไม่ทนต่อสภาพอากาศเย็น การนำมาปลูกจึงไม่ควรเอาไว้ในที่ร่มจัด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หากได้รับน้ำมากเกินไปจะทำให้เน่าได้ง่าย[2],[3]
- ในด้านสมุนไพร ใบห่อข้าวสีดาสามารถนำมาใช้เป็นยาแทนใบชายผ้าสีดาได้[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ห่อข้าวสีดา”. หน้า 168.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ห่อข้าวสีดา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [27 ส.ค. 2014].
- เฟิร์นสยาม. “Platycerium coronarium”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.fernsiam.com. [27 ส.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Carlos Tatsuta, Mas Ayeh Ayeh, Ahmad Fuad Morad, bromlad, Halcyon75)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)