ห่วงอนามัย : 12 ข้อดี-ข้อเสีย & การใส่ห่วงอนามัย (ห่วงคุมกำเนิด) !

ห่วงอนามัย

ห่วงอนามัย หรือ ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ไอยูดี (IUD) เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ชิ้นเล็ก ๆ ที่มีไว้สำหรับใส่เข้าไปในโพรงมดลูกของสตรี เพื่อทำให้สภาพในโพรงมดลูกไม่เหมาะแก่การฝังตัวของตัวอ่อน จึงใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ชั่วคราวได้ดี โดยห่วงอนามัยนี้มีการใช้กันตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรกรีกโรมัน ห่วงอนามัยชนิดแรกของโลกทำมาจากก้อนกรวดที่ชาวอาหรับและเติร์กใส่เข้าไปในมดลูกของอูฐ เพื่อป้องกันไม่ให้อูฐตั้งท้องขณะเดินทะเลทราย ส่วนห่วงอนามัยในยุคหลังนี้เริ่มมีใช้กันได้ประมาณ 100 ปีแล้วครับ ในระยะแรกห่วงอนามัยจะทำมาจากวัสดุหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโลหะ เส้นไหม หรืออื่น ๆ ต่อมาได้มีการผลิตเป็นพลาสติกชนิดพิเศษที่นำมาทำเป็นห่วงอนามัยได้ดีและคงสภาพเดิมได้หลังจากยืดออกเป็นเส้นตรงชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงทำให้มีคนประดิษฐ์ห่วงอนามัยออกมาหลายชนิด และบางชนิดก็เลิกใช้กันไปแล้ว

ส่วนในประเทศไทยนั้นได้มีการนำห่วงอนามัยมาใช้ครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.2474 แต่ในช่วงแรก ๆ ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนกระทั่งได้มีโครงการคุมกำเนิดในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในปี พ.ศ.2509 ก็มีห่วงอนามัยซึ่งเป็นพลาสติกรูปคล้ายตัวเอส (S) ซ้อนกัน 2 ตัว แต่ก็เลิกใช้ไปแล้ว และต่อมาได้มีการนำลวดทองแดงมาขดรอบ ๆ พลาสติกที่เป็นห่วงอนามัยเพื่อลดอาการข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน โดยทำเป็นรูปตัวที (T) รูปสมอเรือ และรูปอื่น ๆ โครงการวางแผนครอบครัวในบ้านเราเพิ่งนำห่วงชนิดใหม่มาใช้กันเมื่อประมาณ 30 ปีมานี้เองครับ ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขก็ดูเหมือนจะแนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยมากพอ ๆ กับการใช้ยาฉีดและยาเม็ดคุมกำเนิด

การทำงานของห่วงอนามัย

กลไกการทำงานของห่วงอนามัยคาดว่า เกิดจากการอักเสบเมื่อมีวัสดุแปลกปลอม กล่าวคือ การทำงานของห่วงอนามัยนั้นไม่ใช่การป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนเท่านั้น หากแต่เกิดจากการที่มีวัสดุแปลกปลอม (ห่วงอนามัย) เข้าไปอยู่ในโพรงมดลูก และทำให้เกิดการกระตุ้นกระบวนการอักเสบภายในร่างกาย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นพิษต่อตัวอสุจิและขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน นอกจากนี้ในห่วงอนามัยชนิดฮอร์โมนนั้น จะเป็นการเพิ่มกลไกการหนาตัวของมูกบริเวณปากมดลูกเพื่อป้องกันการเคลื่อนตัวของอสุจิ อสุจิไม่สามารถผ่านเข้าไปผสมกับไข่ได้ ทำให้ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกบางลงจนไม่เหมาะสำหรับการฝังตัวอ่อน เพิ่มการแสดง glycoderlin A ที่ต่อมบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งช่วยยับยั้งการจับตัวของอสุจิที่ผนังของไข่อีกด้วย และฮอร์โมนโปรเจสตินยังส่งผลต่อการยับยั้งการตกไข่ได้ประมาณ 25% ส่วนห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดงยังมีการปล่อยอนุมูลทองแดงอิสระและเกลือของทองแดง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบต่อเซลล์ในโพรงมดลูก โดยกระตุ้นการสร้าง prostaglandin ซึ่งเป็นพิษต่อตัวอสุจิและไข่ นอกจากนั้นยังขัดขวางการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิอีกด้วย

ลักษณะของห่วงอนามัย

ห่วงอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิด จะมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติและรูปร่างแตกต่างกันออกไป ดังนี้

1) ห่วงอนามัยชนิดไม่เคลือบสารหรือฮอร์โมน (Unmedicated or inert IUDs) เป็นห่วงอนามัยที่ใช้กันมานานแล้วครับ คือ ห่วงลิปปีส (Lippes loop) ประดิษฐ์ขึ้นโดยนายแพทย์แจ็ค ลิปปิส (Jack Lippes) เมื่อประมาณปี พ.ศ.2505 ห่วงชนิดนี้จะทำด้วยพลาสติกหรือสเตนเลสที่อาบด้วยสารแบเรียมซัลเฟต (เพื่อให้มองเห็นได้จากการถ่ายภาพเอกซเรย์) ตัวห่วงจะมีลักษณะคล้ายรูปตัวเอส (S) ซ้อนกัน 2 ตัว เอสตัวบนจะมีขนาดใหญ่กว่าเอสตัวล่าง จึงทำให้ห่วงมีลักษณะและขนาดที่เหมาะกับโพรงมดลูกพอดี ที่ปลายด้านล่างของห่วงจะมีเอ็นไนลอนที่ผูกติดกันอยู่ ซึ่งมีไว้เพื่อความสะดวกในการตรวจดูห่วงว่ายังอยู่หรือไม่ และใช้สำหรับดึงเอาห่วงออกมาด้วย ตัวห่วงนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 4 ขนาด คือ A, B, C และ D ซึ่งขนาด D จะเป็นขนาดที่ใหญ่ที่สุด เมื่อใส่เข้าไปในโพรงมดลูกแล้วจะกลับคืนรูปร่างเหมือนเดิม และเอ็นไนลอนที่ผูกติดไว้กับปลายห่วงด้านล่างก็จะโผล่ออกมาทางปากมดลูกให้มองเห็นได้ในช่องคลอด (มีไว้สำหรับตรวจเช็กห่วงและใช้สำหรับดึงห่วงออกมา) ส่วนอายุการใช้งานนั้นสามารถใช้ต่อไปได้เรื่อย ๆ อย่างไม่มีกำหนด (ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนห่วงอนามัย)

ห่วงอนามัยคือ

2) ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง (Copper IUDs) ที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่

  • มัลติโหลด Cu375 (Multiload®) ลักษณะของห่วงเป็นรูปก้างปลา มีขดลวดทองแดงพันอยู่ในแกนตั้ง คิดเป็นพื้นที่ผิว 375 ตารางเมตร และมีอายุการใช้งาน 5 ปี เพราะมีพื้นที่ผิวทองแดงมากกว่าชนิด 250A และเป็นห่วงที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และมัลติโหลดยังมีอีกหนึ่งรุ่นครับ คือ Cu250 มีพื้นที่ผิว 250 ตารางเมตร แต่มีอายุการใช้งาน 3 ปี

ห่วงคุมกำเนิด

  • คอปเปอร์ที Copper T 380 (Paragard®) ลักษณะของห่วงเป็นรูปตัว T ซึ่งมีขดลวดทองแดงขนาดเล็กพันอยู่บริเวณแกนนอนและแกนตั้งทั้งสองห่วงอนามัย ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ผิว 380 ตารางเมตร บริเวณส่วนล่างตรงปลายแกนตั้งจะมีปุ่มลักษณะกลมขนาด 3 มิลลิเมตร (มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ห่วงหลุดออกจากปากมดลูก) มีไหมสีขาวชนิด monofilament ผูกต่อยาวจากตรงปลายปุ่มกลม และตัวห่วงยังเคลือบไปด้วยสารแบเรียมซัลเฟต ที่เคลือบไว้เพื่อให้ตรวจพบได้ด้วยการเอกซเรย์ โดยห่วงชนิดนี้จะมีอายุการใช้งานนานถึง 10 ปี

ห่วงคุมกําเนิด

จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ใช้ห่วงอนามัยชนิดนี้จะมีระดับสารทองแดงในเลือดสูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่สารทองแดงที่สูงขึ้นไม่มีผลทำให้เกิดอาการผิดปกติทางคลินิกแต่อย่างใด ส่วนประสิทธิภาพในการใช้ห่วงชนิดนี้ หากผู้ใช้มีการตรวจสอบห่วงอยู่เสมอ จะพบว่ามีโอกาสการตั้งครรภ์ภายในปีแรกเท่ากับ 0.6% หลังจากนั้นโอกาสการตั้งครรภ์หลังปีที่ 7 จะเท่ากับ 1.4-1.6% และภายหลังปีที่ 8 และ 12 จะมีค่าเท่ากับ 2.2% โดยประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลงเมื่อปริมาณพื้นที่ผิวของทองแดงมีน้อยกว่า 380 ตารางเมตร

3) ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน (Progestin-releasing IUDs) คือ ห่วงอนามัยชนิดพิเศษที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน ชนิด Levonorgestrel เคลือบอยู่ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ขนาด ดังนี้

  • Skyla® (LNg14) เป็นห่วงอนามัยที่ประกอบด้วยสาร Levonorgestrel 13.5 มิลลิกรัม สามารถหลั่ง Levonorgestrel ได้ในอัตรา 14 ไมโครกรัมต่อวัน มีอายุการใช้งาน 3 ปี หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดระดับลงไปที่ 5 ไมโครกรัมต่อวันภายใน 3 ปี (ตัวห่วงจะมีวงแหวนเงินฝังอยู่ จึงสามารถตรวจพบได้ทั้งการเอกซเรย์และอัลตราซาวนด์) ข้อดีคือ ตัวห่วงจะมีขนาดเล็กกว่าชนิด LNg20 เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่มีขนาดโพรงมดลูกค่อนข้างเล็กหรือปากมดลูกตีบ และห่วง LNg14 ยังมีโอกาสทำให้เกิดภาวะขาดประจำเดือนได้น้อยกว่าชนิด LNg20 ด้วย โดยคิดเป็นร้อยละ 13 และ 24 ตามลำดับ (แต่ในระยะ 6 เดือนแรกหลังการใส่ห่วงชนิดนี้ อาจพบว่ามีเลือดออกกะปริดกะปรอย แต่จากการศึกษาที่พบว่า การใช้ห่วงอนามัยชนิด LNg20 และ LNg14 จะสามารถช่วยลดปริมาณประจำเดือน บรรเทาอาการปวดประจำเดือน และลดการเกิดเลือดออกกะปริดกะปรอยได้หากใช้ต่อไป) ส่วนประสิทธิภาพของห่วงชนิดนี้ ในปีแรกจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้เท่ากับ 0.41% และภายใน 3 ปี โอกาสการตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 0.9 ปี

ห่วงอนามัยฮอร์โมน

  • Mirena® (LNg20) เป็นห่วงอนามัยที่ประกอบด้วยสาร Levonorgestrel 52 มิลลิกรัม สามารถหลั่ง Levonorgestrel ได้ในอัตรา 20 ไมโครกรัมต่อวัน มีอายุการใช้งาน 5 ปี (แต่ไม่เกิน 7 ปี) หลังจากใช้งานไปประมาณ 5 ปี สารที่หลั่งออกมาจะลดปริมาณลงเหลือ 10-14 ไมโครกรัมต่อวัน (ตัวห่วงเคลือบด้วยสารแบเรียมซัลเฟตและไม่มีส่วนประกอบที่เป็น Latex ผสมอยู่) โดยห่วงชนิดนี้จะมีคุณสมบัติทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีความเข้มข้นของสาร Levonorgestrel สูงกว่าการใช้ยาฝังกำเนิดที่หลั่งสาร Levonorgestrel ถึง 1,000 เท่า ภายหลังการใส่ห่วงในช่วงสัปดาห์แรก ร่างกายจะมีระดับความเข้มข้นของสาร Levonorgestrel ในกระแสเลือดสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 100-200 พิโคกรัมต่อมิลลิลิตร และหลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดระดับลง ซึ่งจะต่างจากการใช้ยาฝังคุมกำเนิด (350 พิโคกรัมต่อมิลลิลิตร) และยาเม็ดคุมกำเนิด (1,500-2,000 พิโคกรัมต่อมิลลิลิตร) ที่ทำให้ระดับความเข้มข้นของสารในกระแสเลือดจะสูงมากกว่า จนอาจส่งผลข้างเคียงต่อผู้ใช้ได้ ส่วนประสิทธิภาพของห่วงชนิดนี้ ในปีแรกจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้เท่ากับ 0.1-0.2% และหลังจากใช้ไป 5 ปี โอกาสการตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 0.5-1.1%

ห่วงฮอร์โมน

4) ห่วงอนามัยชนิดไม่มีโครง (Frameless IUD) ได้แก่ Fibroplant® และ Gynefix® เป็นห่วงอนามัยชนิดที่ไม่มีโครงพลาสติกตรงกลางสำหรับพันขดลวดทองแดง โดย Gynefix® (ภาพล่าง) จะทำมาจากแท่งทองแดงทรงกระบอกร้อยอยู่ในเส้นไหม polypropylene ส่วน Fibroplant® นั้นจะมีหลอดหลั่งสาร Levonorgestrel 14-20 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งในอดีตพบว่าห่วงชนิดนี้มีโอกาสเลื่อนหลุดสูงมาก ในภายหลังจึงได้มีการปรับปรุงให้ตัวห่วงมีตะขอสำหรับเกี่ยวยึดไว้กับชั้นกล้ามเนื้อมดลูก แพทย์ผู้ใส่ห่วงจึงต้องมีทักษะและได้รับการฝึกฝนในการใส่มาแล้วพอสมควร ส่วนข้อดีของห่วงชนิดนี้คือจะมีขนาดเล็ก มีประสิทธิภาพเทียบเท่า และผู้ใช้สามารถทนต่อผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้ดีกว่า

ห่วงอนามัยไม่มีโครง

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของห่วงอนามัย

โดยการใช้ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองอย่างถูกต้อง (Perfect use) จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เพียง 0.6% ซึ่งหมายความว่า จำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยการใช้ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทอง จำนวน 1,000 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 6 คน แต่โดยทั่วไปแล้วจากการใช้งานจริง (Typical use) กลับพบว่า อัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงมากขึ้นเป็น 0.8% หรือคิดเป็น 1 ใน 125 คน จากผู้ที่คุมกำเนิดด้วยการใช้ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดงวิธีนี้

ส่วนการใช้ห่วงอนามัยชนิดเคลือบฮอร์โมนทั้งแบบถูกต้อง (Perfect use) และแบบทั่วไป (Typical use) พบว่า มีอัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เท่ากัน คือ 0.2% หรือคิดเป็น 1 ใน 500 คน สำหรับด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยการใช้ห่วงอนามัยกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ

วิธีคุมกำเนิด|การใช้แบบทั่วไป|การใช้อย่างถูกต้อง|ระดับความเสี่ยง
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05|ต่ำมาก
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบทั่วไป|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2|ปานกลาง
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2|สูง
ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicidal)|28 (1 ใน 3 คน)|18|สูงมาก
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85|สูงมาก
หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)

ปัจจัยในการเลือกห่วงอนามัยชนิดเคลือบฮอร์โมนและชนิดหุ้มทองแดง

  • โรคประจำตัว และประวัติของรอบเดือน เช่น ความสม่ำเสมอ ปริมาณประจำเดือน อาการปวดท้องประจำเดือน ฯลฯ
  • ความต้องการของผู้ใช้ในเรื่องของความต้องการการลดปริมาณประจำเดือน หรือบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
  • ความรู้สึกของผู้ใช้ห่วงอนามัย หลังการใส่ห่วงอนามัยแล้วมีภาวะขาดประจำเดือนหรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอยหรือไม่

ผู้ที่ควรใช้ห่วงอนามัย

  • มีความต้องการที่จะใช้วิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง และมีความจำเป็นต้องการคุมกำเนิดในระยะยาวอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป หรือต้องการเว้นช่วงการมีบุตรมากกว่า 3-5 ปี
  • ผู้ที่ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ
  • เป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำในการติดต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • มีความต้องการที่จะกลับมาตั้งครรภ์อีกครั้งเมื่อหยุดใช้ห่วงอนามัย
  • ผู้ที่มีข้อห้ามหรือจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงการคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก (อ้วน) เพราะยาฮอร์โมนอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ และยังทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วยยาฮอร์โมนลดลงอีกด้วย
  • ผู้ที่ให้นมบุตร
  • ผู้ที่มีความจำเป็นอื่น ๆ ที่ต้องใช้ห่วงอนามัยเพื่อการบำบัดรักษา โดยมิได้หวังผลเพื่อการคุมกำเนิด
  • มีความจำเป็นต้องเลือกใช้ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดงเพื่อการคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน

ผู้ที่ไม่ควรใช้ห่วงอนามัย

  • ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่า ในขณะนั้นตนตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ เพราะการใส่ห่วงอนามัยแล้วตั้งครรภ์จะมีโอกาสแท้งบุตรสูงมาก
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เพราะอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูกได้สูง
  • เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคของลิ้นหัวใจ
  • มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกหรือทางช่องคลอดกะปริดกะปรอยโดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะการใส่ห่วงอนามัยอาจทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดได้ ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาดังกล่าว ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ให้แน่ชัดก่อน
  • เคยมีประวัติการอักเสบในอุ้งเชิงกรานบ่อย ๆ หรือมีการติดเชื้อในอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ, เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ, ปากมดลูกอักเสบเป็นหนอง, วัณโรคในอุ้งเชิงกราน หากคุณมีการติดเชื้อดังกล่าวควรรักษาให้หายสนิทก่อนอย่างน้อย 3 เดือน แล้วจึงค่อยพิจารณาการใส่ห่วงอนามัย (แนะนำว่าให้ใช้ห่วงอนามัยชนิดเคลือบฮอร์โมนมากกว่าชนิดทองแดง)
  • ผู้ที่โพรงมดลูกผิดรูปร่างมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งมักจะเกิดจากความผิดปกติด้านโครงสร้างของโพรงมดลูก เช่น ปากมดลูกตีบ, Bicornuate uterus, กล้ามเนื้อของกล้ามเนื้อมดลูกที่ทำให้โพรงมดลูกผิดรูปร่าง เพราะปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มความยากหรือเป็นอุปสรรคในการใส่ห่วงอนามัย เพิ่มโอกาสที่ห่วงอนามัยจะหลุด หรือทำให้ไม่สามารถใส่ห่วงให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมได้ (ขนาดความลึกของโพรงมดลูกที่เหมาะสม คือ 6-9 เซนติเมตร)
  • ผู้ที่มีเนื้องอกมดลูก เพราะเนื้องอกอาจส่งผลให้รูปร่างของมดลูกผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงไป
  • ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ยังได้รับการบำบัดรักษาอยู่ ไม่ควรใส่ห่วงชนิดเคลือบฮอร์โมน แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีรายงานการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้ป่วยที่ใช้ห่วงอนามัยชนิดเคลือบฮอร์โมนก็ตาม อย่างไรก็ตาม ระดับสาร Levonorgestrel (ฮอร์โมน) ในกระแสเลือดของผู้ที่ใส่ห่วงอนามัยชนิดนี้ก็ยังต่ำกว่าการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนรูปแบบอื่น ๆ มาก จึงอาจนำมาใช้ในกรณีจำเป็นได้ (ถ้ามีประวัติประจำเดือนมามาก หรือปวดท้องประจำเดือนมาก่อน ไม่ควรเลือกใช้ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง)
  • ผู้ที่มีภาวะแพ้สารทองแดง (Wilson’s disease) ในกรณีที่เลือกใช้ห่วงอนามัยที่หุ้มด้วยทองแดง

ผลข้างเคียงการใส่ห่วงอนามัย

ผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อนหลังการใส่ห่วงอนามัย โอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากครับ มีบางคนเท่านั้นที่อาจจะมีอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อย เช่น

  1. มีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย
  2. อาจมีอาการปวดประจำเดือนมากขึ้น ประจำเดือนมามากกว่าปกติเล็กน้อย
  3. มีตกขาวบ้างหรือมีตกขาวมากกว่าปกติ เนื่องจากมีสายห่วงที่อยู่ในช่องคลอด
  4. ปวดถ่วงบริเวณท้องน้อยหรือมีอาการปวดหลัง (แก้ไขด้วยการกินยาแก้ปวด)
  5. เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในสตรีที่มีคู่นอนหลายคน หรือในสตรีที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
  6. ผลข้างเคียงจากห่วงอนามัยชนิดฮอร์โมน (Levonorgestrel) ที่อาจพบได้ เช่น ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน เป็นสิว น้ำหนักตัวขึ้น มีภาวะขนดก เจ็บคัดตึงเต้านม (LNg14 จะมีอาการข้างเคียงเหล่านี้น้อยกว่า LNg20)

การเลือกใช้ห่วงอนามัยในสถานการณ์จำเพาะ

  • สตรีที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunocompromised women) การใส่ห่วงอนามัยจะไม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่มีค่า CD4 ต่ำ จะไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยากับยาต้านไวรัส ห่วงอนามัยชนิดที่แนะนำคือ ห่วงเคลือบฮอร์โมน แต่ภายหลังการใส่ห่วงควรจะเฝ้าระวังภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบอย่างใกล้ชิด
  • สตรีวัยรุ่น เป็นวิธีการคุมกำเนิดระยะยาวที่ได้ผลดี ปลอดภัย ไม่มีผลต่อการลดลงของมวลกระดูก แต่แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • สตรีที่ต้องการคุมกำเนิดฉุกเฉิน แนะนำให้ใช้ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง โดยให้ใส่ภายใน 120 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ โดยโอกาสล้มเหลวจะอยู่ที่ 0.09% และยังใส่ต่อไปเรื่อย ๆ คิดเป็น 80%
  • สตรีที่ไม่มีบุตร (Nulliparous women) แนะนำให้ใช้ห่วงอนามัยชนิด LNg14 เพราะตัวห่วงมีขนาดเล็กและทำให้เกิดอาการข้างเคียงน้อยกว่า LNg20
  • สตรีในวัยที่หมดประจำเดือน กรณีที่ใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทอง ให้นำห่วงออกภายหลังการขาดประจำเดือน 1 เดือน ส่วนในกรณีที่เป็นห่วงอนามัยชนิดฮอร์โมน แนะนำให้เอาห่วงออกในช่วงอายุ 51-52 ปี แต่ถ้ายังต้องการใช้ประโยชน์จากฮอร์โมนทดแทนและห่วงก็ยังไม่หมดอายุ ก็สามารถใส่ห่วงต่อจนครบวัยหมดอายุได้ ร่วมกับการให้เอสโตรเจนทดแทน ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
  • สตรีที่มีประวัติการตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน การใส่ห่วงอนามัยไม่ได้เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูกแต่อย่างใด แถมยังช่วยลดโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้อีกด้วย แต่ในกรณีที่พบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ผู้ใส่ห่วงจะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใส่ สามารถเลือกใช้ได้ทั้งห่วงเคลือบฮอร์โมนและห่วงชนิดหุ้มทองแดงครับ
  • สตรีหลังแท้งบุตร การใส่ห่วงหลังการแท้งบุตรทันทีจะมีความเสี่ยงต่อการเลื่อนหลุดของห่วงอนามัยได้มากกว่าผู้ใส่ห่วงหลังการแท้งประมาณ 3-5 สัปดาห์ แต่กลับพบว่าในสตรีที่ใส่ห่วงหลังแท้งทันที ห่วงจะคุ่มกำเนิดได้นานถึง 6 เดือนเป็นอย่างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่นัดมาใส่ห่วงภายหลัง ซึ่งมักไม่ค่อยมาตามนัดและไม่คุมกำเนิด จึงเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้มากขึ้น ดังนั้นการใส่ห่วงอนามัยหลังการแท้งทันทีจึงเป็นวิธีที่ดีกว่า มีความปลอดภัย และใส่ได้ง่ายเนื่องจากปากมดลูกเปิดอยู่ แถมยังช่วยลดความเสี่ยงมดลูกทะลุและการติดเชื้อไม่ให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
  • สตรีที่เป็นโรคความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังสามารถใส่ห่วงอนามัยได้ เนื่องจากการใส่ห่วงจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Bacteremia และภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ซึ่งสามารถใส่ห่วงได้ทั้งชนิดหุ้มทองแดงและเคลือบฮอร์โมน ส่วนในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและจำเป็นต้องได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้ใช้ห่วงอนามัยชนิดฮอร์โมน ซึ่งสามารถช่วยลดอาการประจำเดือนมามากได้
  • ใส่ห่วงเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง จากการศึกษาพบว่า การใส่ห่วงอนามัยชนิด LNg20 สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใส่ห่วง
  • ใส่ห่วงอนามัยในการรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) จากการศึกษาพบว่า การใส่ห่วงอนามัยชนิด LNg20 สามารถช่วยลดอาการปวดท้องน้อย อาการปวดประจำเดือน และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดแบบอนุรักษ์มดลูก

เปรียบเทียบคุณสมบัติของห่วงอนามัยแต่ละชนิด

ข้อมูล|ห่วงหุ้มทองแดง (TCu380 หรือ Mutiload)|ห่วงเคลือบฮอร์โมน (LNg14)|ห่วงเคลือบฮอร์โมน (LNg20)|ห่วงชนิดไม่เคลือบสาร
ระยะเวลาการใช้งาน|TCu380 10 ปี / Mutiload 5 ปี|3 ปี|5 ปี|ไม่มีหมดอายุ
ฮอร์โมน|ไม่มี|มี|มี|ไม่มี
ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดในปีแรก|0.5-0.8% (ปีต่อไป 1.6%)|0.41% (ปีต่อไป 0.9%)|0.1-0.2% (ปีต่อไป 0.5-1.1%)|3%
ภาวะขาดประจำเดือน|ไม่มี|มี (น้อยกว่า LNg20)|มี|ไม่มี
มีเลือดออกกะปริดกะปรอย|ไม่มี|มี|มี|ไม่มี
ปวดประจำเดือน / ประจำเดือนมามาก|พบได้ในช่วงปีแรก และจะลดลงเมื่อผ่านไป|มีอาการลดลง|มีอาการลดลง|ไม่มี
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก|ลดลง|ลดลง|ลดลง|ไม่มีข้อมูล
การรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่|ไม่ได้|ข้อมูลน้อย|ได้|ไม่ได้
ใช้คุมกำเนิดฉุกเฉิน|ได้|ไม่ได้|ไม่ได้|ไม่ได้

การใส่ห่วงอนามัย

สำหรับคนทั่วไป การใส่ห่วงอนามัยจะเริ่มใส่ห่วงเมื่อใดก็ได้ครับ แต่ต้องแน่ใจแล้วว่าไม่ตั้งครรภ์แน่นอน (ถ้าใส่ในขณะตั้งครรภ์จะทำให้แท้งและอาจทำให้มดลูกอักเสบได้มาก) ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ แนะนำให้เลื่อนการใส่ห่วงอนามัยออกไปก่อนก็จะดีมากครับ ซึ่งโดยมากแล้วแพทย์จะแนะนำใส่ห่วงอนามัยในขณะประจำเดือนใกล้หมดหรือเพิ่งหมดใหม่ ๆ เพราะนอกจากจะแน่ใจแล้วว่าไม่ตั้งครรภ์ ยังทำให้การใส่ห่วงเป็นไปได้โดยง่ายและไม่ทำให้มีอาการปวดท้องมากหลังการใส่อีกด้วยครับ เพราะในระยะนี้ปากมดลูกยังเปิดอยู่ เมื่อใส่เสร็จแล้วก็ไม่รู้ด้วยว่ามีเลือดออก (เพราะกำลังมีเลือดออกอยู่แล้ว) ส่วนคุณแม่หลังคลอดถ้าต้องการใส่ห่วงอนามัย ก็สามารถทำได้ในระยะหลังตั้งครรภ์ประมาณ 6 สัปดาห์ขึ้นไป หรือถ้าแท้งบุตรก็สามารถใส่ห่วงได้หลังจากแท้งประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือจะใส่เลยก็ได้ครับ (หากมีการอักเสบในช่องคลอดหรือโพรงมดลูก จะต้องรักษาให้หายก่อนนะครับ)

เมื่อพร้อมและศึกษาข้อมูลทั้งข้อดี-ข้อเสียของการใส่ห่วงมาพอสมควรแล้ว ให้ไปพบแพทย์หรือสูตินรีแพทย์ได้เลยครับ โดยแพทย์จะทำการซักถามถึงประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ เพื่อประเมินว่า จะสามารถคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ได้หรือไม่ ต่อจากนั้นก็จะตรวจร่างกายและตรวจภายในเพื่อหาขนาด รูปร่าง และตำแหน่งของมดลูก รวมถึงตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูก ถ้าทุกอย่างพร้อมและไม่มีปัญหาก็จะมาถึงขั้นตอนการใส่ห่วงครับ (ห่วงอนามัยจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ก็ต่อเมื่อแพทย์สอดห่วงผ่านช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูกแล้วเท่านั้น)

ขั้นตอนการใส่ห่วงอนามัย โดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาในการใส่ห่วงไม่นานครับ ไม่ต้องฉีดยาชาหรือให้ดมยาสลบแต่อย่างใด ระยะเวลาในการใส่จริง ๆ แค่ประมาณ 1-2 นาทีก็เสร็จครับ ในขณะใส่ห่วงอาจจะรู้สึกเสียว ๆ หรือปวดตรงท้องน้อยบ้างเล็กน้อย หรือบางคนก็อาจไม่รู้สึกเลย โดยปลายข้างหนึ่งของห่วงอนามัยจะมีสายไนลอนผูกไว้ (ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร) ซึ่งสายนี้จะโผล่ออกจากปากมดลูกมาอยู่ในช่องคลอดเล็กน้อย เพื่อมีไว้ตรวจดูว่าห่วงยังอยู่หรือไม่ หลังใส่ห่วงเสร็จแล้ว แพทย์จะให้นอนพักในห้องพักประมาณ 10-15 นาที จากนั้นก็สามารถกลับบ้านได้เลยโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาลครับ และสามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเหมือนเดิม (หลังใส่ห่วงประมาณ 2-3 วันแรก อาจมีเลือดออกเปื้อนกางเกงบ้างเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ) เวลาจะตรวจห่วงอนามัย ก็ให้ล้างมือให้สะอาดแล้วสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอดพร้อมกับคลำดูสายไนลอนที่อยู่บริเวณปากมดลูก (ควรตรวจดูเดือนละครั้งหลังประจำเดือนหมดใหม่ ๆ เพราะบางครั้งห่วงอาจหลุดออกมาพร้อมกับประจำเดือนได้ครับ และถ้าใส่ไปได้ 3-4 เดือน แล้วห่วงไม่หลุดเลย โอกาสหลุดจากนี้ก็มีน้อยลงครับ

การใส่ห่วงอนามัย

การตรวจห่วงอนามัย

หลังจากใส่ห่วงอนามัยไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน หรือหลังใส่หลังครบ 3 เดือน แพทย์อาจนัดให้มาตรวจดูห่วงว่ายังอยู่ในตำแหน่งของห่วงอนามัยที่เหมาะ (บริเวณยอดโพรงมดลูก – Uterine cavity) หรือมีอาการแทรกซ้อนหรือไม่ ถ้าห่วงยังอยู่เรียบร้อยดี แพทย์ก็จะนัดตรวจห่วงและตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี ถ้าเผื่อมีปัญหาก็จะได้รีบแก้ไขได้ทัน

ในกรณีที่พบว่าตำแหน่งของห่วงอนามัยไม่เหมาะสม (Malposition) ซึ่งอาจพบได้ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ใช้ (ไม่จำเป็นต้องนำห่วงออกเสมอไป) ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบีบท้องน้อย (ซึ่งไม่เคยมีอาการมาก่อน) มีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือน ประจำเดือนมามากผิดปกติ ส่วนในการรักษานั้นก็ขึ้นอยู่กับอาการและตำแหน่งของห่วงอนามัยครับ ถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าวแพทย์จะแนะนำให้เอาห่วงอนามัยออก แต่ถ้าไม่มีอาการใด ๆ แพทย์จะทำการตรวจเอกซเรย์หรืออัลตราซาวนด์เพื่อดูตำแหน่งของห่วง ถ้าห่วงอยู่ในตำแหน่งส่วนล่างของโพรงมดลูกหรือใกล้กับตำแหน่งยอดของโพรงมดลูก ก็ไม่จำเป็นต้องนำห่วงอนามัยออก และโอกาสการที่ห่วงจะหลุดก็มีน้อย แต่ถ้าหากห่วงอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งของ Internal os ก็ต้องนำห่วงอนามัยออก

การตรวจห่วงอนามัย

กรณีที่คลำสายห่วงไม่พบ (Strings not visible) โอกาสที่พบได้บ่อยสุด คือ ห่วงอนามัยยังอยู่ในโพรงมดลูก แต่สายห่วงบิดม้วนเข้าไปอยู่ภายในปากมดลูกหรือสายห่วงขาดหายไป, ห่วงอนามัยหลุด และทะลุเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อมดลูกหรือภายในช่องท้อง ตามลำดับ หากพบเหตุการณ์ดังกล่าว ควรทดสอบการตั้งครรภ์ให้แน่ใจก่อนครับ หากไม่ตั้งครรภ์ แพทย์จะใช้ cytobrush ใส่เข้าไปในปากมดลูก เพื่อตรวจว่าสายห่วงขดอยู่ในปากมดลูกหรือไม่ ถ้าไม่พบก็ต้องตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อเป็นการยืนยันว่า ห่วงอนามัยหลุดไปอยู่ในโพรงมดลูกหรือไม่ แต่ถ้าตรวจไม่พบ แพทย์จะเอกซเรย์ช่องท้องและอุ้งเชิงกราน ถ้าไม่พบแสดงว่าห่วงอนามัยหลุดไปแล้ว และสามารถใส่ห่วงอันใหม่ได้ทันที

กรณีที่ห่วงอนามัยแตกหัก (Broken IUD) หากไม่ได้นำชิ้นส่วนที่แตกหักออก จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ตกขาวผิดปกติ และภาวะมีบุตรยาก หากไม่ทราบตำแหน่งที่แน่ชัดของห่วงที่แตกหัก แพทย์จะเอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ หรือส่องกล้องภายในโพรงมดลูก เพื่อหาตำแหน่งของชิ้นส่วนที่แตกหัก และสามารถใช้เครื่องดูดสุญญากาศ (manual vacuum extraction), alligator หรือ Bozeman uterine packing forceps, hysteroscope หรือ curettage ก็ได้

มดลูกทะลุ (Perforation) ในระหว่างใส่ห่วงอนามัย เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก หรือพบได้เพียง 0.1% ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มดลูกทะลุจะมาจากเทคนิคการใส่ห่วง, retroverted uterus, อยู่ในช่วงให้นมลูก หรือมีจุดเปราะบางที่ผนังกล้ามเนื้อมดลูก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการทันทีหลังใส่ห่วงเสร็จ และมักจะกลับมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้อง เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด สายห่วงสั้นลง เป็นต้น เมื่อตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์หรือทำอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าห่วงอนามัยอยู่นอกโพรงมดลูก แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและแนะนำให้เอาห่วงอนามัยที่อยู่นอกโพรงมดลูกออก เพราะจะมีโอกาสเกิดเป็นพังพืดในช่องท้องและบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียงได้

สำหรับผู้ที่มักมีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือนหรือภายหลังการร่วมเพศ ตกขาวมากผิดปกติ มีอาการปวดบีบท้องน้อย หรือมีอาการเจ็บปวดในขณะร่วมเพศ (ทั้งชายและหญิง) ผู้ใช้ควรตรวจคลำดูสายว่ายาวขึ้นหรือคลำไม่ได้หรือไม่ เพราะอย่างบางคู่นั้น ฝ่ายชายบ่นว่าเจ็บขณะร่วมเพศกับฝ่ายหญิง ซึ่งมีสาเหตุมาจากสายไนลอนอาจเลื่อนออกมายาวไป แพทย์ก็ตัดให้สั้นลง ทำให้ไม่เจ็บอีก

ตรวจห่วงอนามัยด้วยตัวเอง

สำหรับการตรวจห่วงอนามัยด้วยตัวเองนั้น สามารถทำได้โดยการตรวจคลำสายห่วงในช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือน โดยเฉพาะในช่วงที่เลือดประจำเดือนหยุดไหลหรือหลังหมดประจำเดือนประมาณ 7 วัน ด้วยการล้างมือให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น แล้วสอดนิ้วชี้เข้าไปจนสุดนิ้วจะคลำได้ปากมดลูกเป็นก้อนกลมแข็ง และคลำดูสายไนลอนเส้นเล็ก ๆ ที่ปากมดลูก ส่วนในกรณีที่คลำแล้วไม่พบสายห่วง (หลุดเข้าในปากมดลูก) หรือคลำได้ว่า ห่วงหลุดคาปากมดลูก ควรรีบไปพบแพทย์ครับ เพื่อตรวจภายในดูว่ามีสายหรือห่วงอนามัยอยู่บริเวณใด หากไม่พบแนะนำให้ตรวจอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์อุ้งเชิงกราน เพื่อดูว่ามีห่วงอนามัยอยู่ในปากมดลูกหรือไม่

วิธีการใส่ห่วงอนามัยคุมกําเนิด

ห่วงอนามัยหลุด

การเลื่อนหลุดของห่วงอนามัย (Expulsion) ห่วงอนามัยมีโอกาสเลื่อนหลุดออกมาข้างนอกได้สูงสุดในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังการใส่ ซึ่งจะพบได้ในบางรายเท่านั้น แต่เมื่อผ่านไปโอกาสที่ห่วงอนามัยจะหลุดก็ยากมากขึ้นแล้วครับ โดยโอกาสการเลื่อนหลุดของห่วงอนามัยชนิด TCu380 มีเท่ากับ 3-10%, LNg20 เท่ากับ 3-6% และ LNg14 เท่ากับ 3.2% ซึ่งห่วงมักจะหลุดออกมาพร้อมกับการมีประจำเดือนช่วงแรก ๆ ในประจำเดือนช่วงนี้คุณต้องคอยสังเกตด้วยว่ามีห่วงหลุดออกมาหรือเปล่า ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มโอกาสทำให้ห่วงอนามัยหลุดได้ก็คือ การใส่ห่วงอนามัยทันทีภายหลังการแท้ง, มีประจำเดือนมามาก, ปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง หรือเคยมีประวัติที่ห่วงอนามัยเลื่อนหลุดมาก่อนอยู่แล้ว ถ้าพบว่าห่วงอนามัยหลุดออกมา ก็ควรงดการมีเพศสัมพันธ์หรือเลือกคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นชั่วคราวไปก่อน แล้วรีบไปแพทย์ครับ

การเลื่อนหลุดของห่วงอนามัยซ้ำซ้อน (Recurrent expulsion) หากพบว่ามีปัญหาดังกล่าว คุณควรสืบหาสาเหตุให้ได้ว่าความผิดพลาดเกิดจากเทคนิคการใส่หรือเกิดจากความผิดปกติที่โพรงมดลูก เช่น โพรงมดลูกมีรูปร่างผิดปกติ ปากมดลูกด้านในเปิดกว้างออก ฯลฯ และเมื่อต้องการใส่ห่วงอนามัยซ้ำ ควรตรวจอัลตราซาวนด์ร่วมด้วยว่าใส่ห่วงในตำแหน่งได้เหมาะสมหรือยัง

ข้อปฏิบัติในระหว่างการใส่ห่วงอนามัย

  1. ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันแรกหลังใส่ห่วง
  2. หลังการใส่ห่วงอนามัยประมาณ 2-3 วันแรก อาจมีเลือดออกบ้างกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องรักษา เพราะหลังจากเลือดออกก็จะหยุดและหายไปเอง เมื่อหยุดไหลดีแล้วก็จะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
  3. วันแรก ๆ หลังการใส่ห่วงอนามัย อาจมีอาการปวดท้องได้บ้าง และสามารถระงับอาการปวดได้ด้วยการทานยาแก้ปวดธรรมดา เช่น แอสไพริน
  4. หลังใส่ห่วงอนามัยในช่วง 1-3 เดือนแรก ประจำเดือนอาจมามากหรือมานานกว่าปกติได้ กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา เพราะหลังจากใส่ประมาณ 2-3 เดือน ก็จะดีขึ้นเอง แต่ในกรณีที่คุณมีอาการปวดประจำเดือนก็สามารถรับประทานยาแก้ปวด อย่าง พอนสแตน (Ponstan – 250-500 mg.) วันละ 2-3 ครั้งได้
  5. ในรายที่มีตกขาวมากกว่าปกติ ในระยะ 2-3 เดือนหลังการใส่ห่วง กรณีนี้ก็ไม่ต้องกังวลครับ เพราะเดือนถัดไปอาการตกขาวจะค่อย ๆ หายไปเอง
  6. ควรมีการจดบันทึกประจำเดือนทุกวัน เพื่อดูว่าประจำเดือนมาช้าหรือไม่ ถ้าประจำเดือนยังไม่มาเกิน 1 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูการตั้งครรภ์
  7. เมื่อใส่ห่วงอนามัย ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด แต่ให้ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศภายนอกไปตามปกติ
  8. ควรมีการตรวจภายในอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นการตรวจดูว่าห่วงยังอยู่ในลักษณะที่เหมาะสมดีหรือไม่ และเป็นการตรวจหามะเร็งปากมดลูกไปในตัวด้วยครับ
  9. หากมีอาการปวดท้องมาก เป็นไข้ ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น คลำสายห่วงแล้วไม่พบ หรือห่วงอนามัยหลุดออกมา (โดยเฉพาะห่วงที่หลุดออกมาพร้อมกับมีเลือดออกทางช่องคลอด) ให้รีบไปพบแพทย์
  10. หากมีอาการปวดท้องน้อยหลังใส่ห่วงอนามัยไปได้ระยะหนึ่ง (ไม่เคยมีอาการปวดท้องน้อยมาก่อน) ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจดูว่าไม่มีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ตั้งครรภ์นอกมดลูก แท้งคุกคามหรือแท้งไม่สมบูรณ์ ห่วงอนามัยหลุด หรือมดลูกทะลุ
  11. ในกรณีที่มีอาการปวดประจำเดือนในผู้ใช้ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง ถ้ามีอาการปวดไม่มาก แนะนำให้รักษาด้วยยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAID แต่ถ้าปวดประจำเดือน แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ห่วงอนามัยชนิดเคลือบฮอร์โมนหรือเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นแทน
  12. เมื่อมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด (Abnormal uterine bleeding) ในกรณีของ TCu380 มักสัมพันธ์กับการทำให้มีประจำเดือนมากขึ้นและมีอาการปวดประจำเดือน สามารถใช้ยากลุ่ม NSAID บรรเทาอาการดังกล่าวได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือมีภาวะโลหิตจางด้วย แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อนำห่วงอนามัยออก แล้วเปลี่ยนไปใช้ห่วงชนิดเคลือบฮอร์โมนแทน โดยเฉพาะ LNg20 ที่มักจะช่วยลดปริมาณประจำเดือนและอาการปวดท้องประจำเดือน แต่ในระยะ 6 เดือนแรก อาจมีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือนและภาวะขาดประจำเดือนได้ โดยในช่วง 6 เดือนแรกจะมีโอกาสขาดประจำเดือนได้ 44% มีประจำเดือนมาน้อย 25% และมีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือน 11% (หากมีภาวะขาดประจำเดือน ให้ทดสอบการตั้งครรภ์อยู่เสมอ)
  13. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease) จะมีโอกาสการเกิดเท่ากับ 0.14% แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ โดยไม่ต้องเอาห่วงอนามัยออก หลังจากนั้นจึงค่อยประเมินอาการของผู้ป่วยภายใน 2-3 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือมีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ แพทย์จะนำห่วงอนามัยออกและส่งเพาะเชื้อจากห่วงอนามัย แล้วทำการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อลดความเสี่ยงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดก่อน ถ้าผู้ป่วยต้องการใส่ห่วงอนามัยอีกครั้ง ก็สามารถใส่ได้อีกหลังจากรักษาหายดีแล้วครบ 3 เดือน
  14. พบการติดเชื้อ Actinomyces จากการตรวจ PAP smear ถ้าผู้ป่วยยังไม่มีอาการของการติดเชื้อ แพทย์จะยังไม่แนะนำให้ทำการรักษา แต่ถ้ามีอาการติดเชื้อในโพรงมดลูก ให้นำห่วงอนามัยออกทันที เนื่องจากเชื้อดังกล่าวมักเจริญเติบโตได้ในวัตถุแปลกปลอม และให้การรักษาด้วยยากลุ่ม Penicillin (ในรายที่แพ้ Penicillin ให้ใช้ Tetracyclines แทน)
  15. หากมีการติดเชื้อในอวัยวะสืบพันธุ์ระหว่างการใส่ห่วง คุณควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะประมาณ 2 สัปดาห์ และให้เอาห่วงอนามัยออก
  16. เมื่อครบกำหนดการถอดห่วงอนามัย ควรไปถอดห่วงอนามัยและใส่ห่วงอันใหม่แทน หากยังต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีการใส่ห่วง เนื่องจากประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของห่วงอนามัยจะดีที่สุดตามกรอบเวลาที่กำหนดเอาไว้ แล้วแต่ชนิดของห่วง เช่น 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เพราะหากเลยช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของห่วงอนามัยจะลดลงครับ (เพื่อความมั่นใจ คุณอาจเปลี่ยนห่วงอนามัยก่อนครบกำหนดประมาณ 1-2 เดือนก็ได้ครับ)
  17. หากต้องการถอดห่วงอนามัยออกก่อนกำหนด เนื่องจากวางแผนจะมีลูก คุณสามารถไปถอดห่วงได้ที่โรงพยาบาล คลินิก หรือสถานีอนามัยต่าง ๆ ได้เลย โดยไม่ต้องมีการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า เพราะการนำห่วงออกมีวิธีการที่ไม่ซับซ้อน แต่แนะนำว่าควรไปเอาออกในช่วงที่มีประจำเดือนจะดีกว่า เพราะเป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิด ทำให้แพทย์สามารถดึงห่วงอนามัยออกมาได้โดยง่ายและไม่ปวดท้อง อย่างไรก็ตาม สามารถถอดห่วงอนามัยได้ทุกเวลาครับ แค่คุณมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ก็พอ
  18. ใส่ห่วงแล้วตั้งครรภ์ (มีโอกาสพบได้มากภายใน 1 ปีแรกหลังการใส่ห่วงอนามัย) คุณควรรีบไปพบแพทย์ ถ้าต้องการตั้งครรภ์ต่อ แพทย์จะตรวจดูว่าสายห่วงอนามัยยังอยู่ที่ช่องคลอดหรือไม่ ถ้ายังอยู่ แพทย์จะพยายามใช้เครื่องมือดึงห่วงออกมา (ในกรณีที่พอดึงได้) แต่ถ้าห่วงหลุดเข้าไปในโพรงมดลูก (อาจเพราะมดลูกโตขึ้น) แพทย์จะไม่พยายามเอาออกมาครับ เพราะจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ กรณีนี้ต้องปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น แล้วมาลุ้นเอาจะแท้งบุตรหรือไม่ แต่ในบางรายห่วงอาจจะหลุดออกมาเองตอนท้องแก่หรือหลุดออกมาในขณะคลอดพร้อมกับรกก็ได้ครับ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใส่ห่วงแล้วตั้งครรภ์และแพทย์ไม่สามารถเอาห่วงออกมาได้ พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่ง (50%) จะแท้งบุตรครับ แต่ถ้าสามารถเอาห่วงออกมาได้ ก็จะมีโอกาสแท้งบุตรน้อยลงครับ คือ ประมาณ 25%

ข้อเท็จจริงของห่วงอนามัย

  • การใส่ห่วงอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ? ใช่ครับ ไม่สามารถป้องกันได้และในทางตรงข้ามยังอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้ง่ายอีกด้วย ในกรณีที่มีคู่นอนหลายคู่หรือในฝ่ายชายมีการอักเสบติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศอยู่แล้ว
  • หลังใส่ห่วงควรงดมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ ? : ปกติจะไม่มีข้อห้ามในเรื่องนี้ครับถ้าคุณมั่นใจว่า “ช่วงนั้นไม่ใกล้หรือเป็นช่วงไข่ตกที่อาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้” (แต่ทางที่ดีควรเว้นไปประมาณ 7 วัน) ถ้าหากใส่ห่วงอนามัยในช่วงที่มีประจำเดือน ก็มั่นใจได้ครับว่าจะไม่ตั้งครรภ์ ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงไว้ก่อนก็จะดีครับ เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้ง่าย
  • การใส่ห่วงอนามัยจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกทางเพศหรือไม่ ? ไม่มีผลกระทบทั้งชายและหญิงครับ เพราะจะมีเพียงสายห่วงขนาดเล็กมาก ๆ เพียง 2 เส้นอยู่ในช่องคลอด ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจึงไม่สามารถรู้หรือสัมผัสได้ว่ามีห่วงในระหว่างการร่วมเพศ
  • ใส่ห่วงอนามัยแล้วฝ่ายชายมีอาการเจ็บในขณะร่วมเพศ : มีโอกาสเกิดขึ้นได้ครับ เพราะการใส่ห่วงจะมีสายไนลอนโผล่จากปากมดลูกออกมาขูดอยู่บริเวณปากมดลูกอยู่แล้ว แต่สายไนลอนอาจเลื่อนออกมายาวหรือสั้นเกินไป ทำให้บาดปลายอวัยวะเพศชายของสามีได้ แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ไม่ยากครับ คือไปพบแพทย์เพื่อทำการตัดสายห่วงให้สั้นลงหรือตัดให้ชิดติดกับปากมดลูก แล้วแต่กรณีครับ หรืออีกวิธีก็คือให้ฝ่ายชายเปลี่ยนทิศทางของการสอดใส่อวัยวะเพศ เพื่อที่จะได้ไม่โดนสายห่วง ซึ่งก็เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดีเหมือนกัน
  • ห่วงอนามัยสามารถใส่ได้นานเพียงใด ? : หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงตามที่กล่าวไว้ คุณก็สามารถใส่ห่วงอนามัยไปได้เรื่อย ๆ ครับ และให้เปลี่ยนห่วงอนามัยตามเวลาที่กำหนด และหากประจำเดือนไม่มานาน 1 ปี ซึ่งหมายถึงอยู่ในวัยที่หมดประจำเดือนแล้ว ก็ควรจะไปเอาห่วงอนามัยออก อย่าปล่อยทิ้งไว้นานเกินไปครับ เพราะจะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญไปหุ้มห่วงอนามัยได้ ซึ่งจะทำให้การเอาห่วงออกทำได้ยากมากยิ่งขึ้น
  • ห่วงหลุดออกมาจะเป็นอันตรายหรือไม่ ? : ในกรณีที่ห่วงอนามัยหลุดออกมานั้น จะไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงใด ๆ ต่อร่างกาย เพียงแต่เท่ากับว่าจะไม่มีการคุมกำเนิดแล้ว ในระยะนี้คุณควรงดการมีเพศสัมพันธ์หรือใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นป้องกันไปก่อน
  • ใส่ห่วงอนามัยก็มีสิทธิ์ท้องได้ ! : แม้จะใส่ห่วงอนามัยก็ยังอาจเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้ครับ ซึ่งอาจมาจากสาเหตุที่ห่วงหลุดหรือห่วงฝังอยู่ที่ผนังมดลูก จึงทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันการตั้งครรภ์น้อยลง (แต่จะเป็นอัตราที่ต่ำมาก ๆ ครับ)
  • หลังถอดห่วงอนามัย อีกนานแค่ไหนถึงจะตั้งครรภ์ได้ ? : เมื่อถอดห่วงอนามัยออกแล้ว ก็สามารถตั้งครรภ์ได้เลยครับ เพราะกลไกการมีประจำเดือน การตกไข่ จะยังคงทำงานไปตามปกติ เนื่องจากไม่มีผลต่อฮอร์โมนที่ไปยับยั้งการตกไข่เหมือนการฉีดยาคุมกำเนิด
  • ใส่ห่วงอนามัยแล้วจะมีอาการทางประสาท ? : ไม่จริงอย่างแน่นอนครับ ถ้ามีอาการทางประสาทจริง เช่น ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ไม่มีแรง ทำงานหนักไม่ได้ ฯลฯ ก็คงเป็นเพราะสาเหตุอื่นแล้วครับ อย่างบางคนเครียดมากเพราะมีสาเหตุมาจากการได้รับข้อมูลหรือข่าวลือผิด ๆ ว่าใส่ห่วงแล้วจะเป็นนู่นเป็นนี่ พอแพทย์อธิบายให้ฟังจนโล่งใจอาการเหล่านี้ก็หายไป
  • ใส่ห่วงแล้วทำให้ท้องนอกมดลูกหรือไม่ ? : ไม่ครับ และไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด เพราะโอกาสที่จะตั้งครรภ์นอกมดลูกของคนที่ไม่ได้ใส่ก็มีพอ ๆ กับคนที่ใส่ห่วง อีกทั้งการใส่ห่วงอนามัยยังช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ปกติในโพรงมดลูกได้อีกด้วย แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์นอกมดลูกนะครับ 🙂
  • ใส่ห่วงอนามัยแล้วตกขาวมากจริงหรือ ? : การตกขาวอาจมีมากกว่าปกติได้ในช่วงระยะแรก ๆ หลังการใส่ห่วงครับ แต่เมื่อรางกายของเราปรับตัวได้แล้ว อาการตกขาวก็เป็นปกติ แต่ใส่ห่วงมานานแล้วและยังมีตกขาวมากอยู่ อาจเกิดมาจากสาเหตุอื่นครับ เช่น เกิดโรคหนองใน เชื้อรา เชื้อพยาธิ ฯลฯ
  • ใส่ห่วงอนามัยแล้วทำให้เป็นหมัน ? : ไม่จริง 100% ครับ เพราะเมื่อเลิกคุมกำเนิดโดยการใส่ห่วง ก็สามารถมีลูกได้เลยในทันที แต่สำหรับคนที่ถอดห่วงแล้วแต่ยังไม่มีลูก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุครับ
  • ใส่ห่วงอนามัยแล้วมดลูกอักเสบ ? จริงครับ แต่มีโอกาสไม่มาก เพียง 2% ซึ่งจะเป็นการอักเสบเพียงเล็กน้อยและรักษาให้หายได้โดยง่าย ตามรายงานของดร.มิเชลล์ (Dr.Mishell) ยังระบุด้วยว่า ไม่พบเชื้อแบคทีเรียในโพรงมดลูกในผู้ที่ใส่ห่วงอนามัย ส่วน ดร.เดวิส (Dr.Davis) เขาพบว่าเม็ดเลือดขาวจำนวนมากอยู่บริเวณเยื่อบุมดลูกเหล่านี้เป็นตัวทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นการติดเชื้อในผู้ที่ใส่ห่วงจะเกิดขึ้นได้น้อยกว่าคนที่ไม่ได้ใส่ห่วงเสียอีกครับ
  • ต้องเปลี่ยนห่วงอนามัยบ่อย ๆ หรือไม่ ? : ไม่จำเป็นครับ เพราะการใส่ห่วงเพียงครั้งเดียวก็สามารถคุมกำเนิดไปได้ตลอด แต่บางคนอาจไม่สบายใจ ก็อาจให้หมอเปลี่ยนห่วงใหม่ได้ครับ แต่แนะนำว่าเมื่อครบกำหนดเปลี่ยนก็ควรจะเปลี่ยนดีกว่าครับ
  • ใส่ห่วงอนามัยแล้วทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก ? : การเกิดมะเร็งปากมดลูกมักมีสาเหตุมาจากการอักเสบหรือการระคายเคืองเรื้อรังหลาย ๆ ครั้ง จนกลายเป็นมะเร็ง ซึ่งจะต้องอาศัยเวลานานถึง 4-6 ปี ถ้าเราใส่ห่วงและไปตรวจเป็นประจำทุกปี เมื่อพบอาการผิดปกติและทำการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะไม่เป็นมะเร็งอย่างแน่นอนครับ ในทางตรงข้ามผู้ที่ไม่ได้ใส่ห่วงและไม่ตรวจภายในเลยก็จะเสี่ยงเป็นมะเร็งได้มากกว่าอีกครับ เพราะมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกจะไม่แสดงอาการใด ๆ เลย
  • เมื่อใส่ห่วงอนามัยแล้วมีอาการข้างเคียง แพทย์มักจะไม่เอาห่วงออกให้ ? : เมื่อก่อนอาจจะใช่ครับ แต่เดี๋ยวนี้เมื่อมีปัญหาแพทย์จะเอาห่วงออกให้เป็นอันดับแรกก่อนเสมอ เนื่องจากมีการพิสูจน์กันแล้วว่า ถ้าเกิดอาการแทรกซ้อนใด ๆ เมื่อเอาห่วงออก อาการดังกล่าวจะหายเร็วขึ้น โดยไม่ต้องใช้ยารักษาใด ๆ (ยกเว้นในกรณีที่มดลูกอักเสบ)

ข้อดีของการใส่ห่วงอนามัย

  1. การใส่ห่วงเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย มีความสะดวก เนื่องจากใส่เพียงครั้งเดียว ที่สำคัญคือเป็นวิธีที่ประหยัดและมีความปลอดภัยสูง
  2. ห่วงอนามัยมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงและยาวนาน (ประมาณ 3-10 ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วง)
  3. เหมาะสำหรับคนขี้ลืมที่ไม่ต้องคอยรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดทุกวัน หรือต้องได้รับการฉีดยาคุมทุก 1-3 เดือน
  4. ไม่มีอาการข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดเหมือนยาเม็ดหรือยาฉีดคุมกำเนิด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นฝ้า น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ฯลฯ
  5. ไม่ทำให้ความรู้สึกในการร่วมเพศเปลี่ยนไปหรือน้อยลงจากเดิม (ไม่เหมือนกับการใส่ถุงยางอนามัย)
  6. ทำให้รู้สึกสบายใจ เพราะมีประจำเดือนมาทุกเดือนตามปกติ
  7. ใส่ห่วงแล้วยังสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ
  8. ถ้าอยากมีลูกก็สามารถถอดห่วงออกและเริ่มมีลูกได้ทันที โดยไม่ต้องรอนานเหมือนยาเม็ดหรือยาฉีดคุมกำเนิด (เพราะไม่มีผลกับฮอร์โมน) อย่างชนิดที่นิยมใช้ในบ้านเรา คือ มัลติโหลด (Multiload) ที่สามารถใส่ได้ประมาณ 3-5 ปี และชนิดที่เป็นรูปตัวที (T) จะใช้ได้นานถึง 10 ปี

ข้อเสียของการใส่ห่วงอนามัย

  1. ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  2. การใส่ห่วงอนามัยอาจมีความยุ่งยากบ้างเล็กน้อย เพราะต้องให้แพทย์เป็นผู้ใส่ให้ (ไม่สามารถทำเองได้)
  3. ในบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนบ้างเล็กน้อย แต่ส่วนมากจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร
  4. ห่วงอนามัยอาจทะลุเข้าไปในช่องท้องได้ แต่ก็มีโอกาสน้อยมากครับที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้
เอกสารอ้างอิง
  1. ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “Intrauterine devices: ห่วงอนามัย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th.  [07 ต.ค. 2015].
  2. หาหมอดอทคอม.  “ใส่ห่วงอนามัย ใส่ห่วงคุมกำเนิด Intrauterine device”.  (รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [07 ต.ค. 2015].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 28 คอลัมน์ : หญิงอ่านดี..ชายอ่านได้.  “11 คำถามเกี่ยวกับการใส่ห่วงคุมกำเนิด”.  (นพ.ม.ร.ว.สุรวรรณ วรวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [08 ต.ค. 2015].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด