หูปากกา
หูปากกา ชื่อสามัญ Sweet clock vine[2]
หูปากกา ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia fragrans Roxb. var. fragrans จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1],[2]
สมุนไพรหูปากกา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จิงจ้อ จิงจ้อเขาตาแป้น (สระบุรี) เป็นต้น[1],[2]
หมายเหตุ : ต้นหูปากกาที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพืชคนละชนิดกันกับต้นหูปากกา ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia fragrans Roxb. var. vestita Nees หรือที่ทางภาคกลางเรียกว่า “หนามแน่ขาว“
ลักษณะของหูปากกา
- ต้นหูปากกา จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น มีความยาวได้ประมาณ 1-3 เมตร เถามีลักษณะกลมเป็นสีเขียวอมน้ำตาล พบได้ตามพื้นป่าผลัดใบ[1]
- ใบหูปากกา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก ขอบใบหยักตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร แผ่นใบบาง มีขนตามเส้นใบ ผิวใบด้านบนเรียบ ส่วนด้านล่างเรียบหรือมีขน[1],[2]
- ดอกหูปากกา ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกเป็นสีขาว กลางดอกเป็นสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม มีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบดอกเว้าโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปปากแตร ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคม[1],[2]
- ผลหูปากกา ผลมีลักษณะกลม ปลายผลเป็นจะงอยแหลมแข็ง ผลแห้งแตกออกได้[1]
สรรพคุณของหูปากกา
- ทั้งต้นใช้ผสมกับต้นจันตาปะขาว นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อัมพฤกษ์ อัมพาต (ทั้งต้น)[1],[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหูปากกา
- สารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นหูปากกาด้วยแอลกอฮอล์ไม่มีฤทธิ์แก้ปวด ลดอาการชัก หรือลดการบีบตัวของลำไส้[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “หูปากกา”. หน้า 193.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หูปากกา”. หน้า 210.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Mauricio Mercadante, Russell Cumming, Dr. Arup Kumar Banerjee, Tony Rodd, Dinesh Valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)