หูปลาช่อน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหูปลาช่อน 22 ข้อ !

หูปลาช่อน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหูปลาช่อน 22 ข้อ !

หูปลาช่อน

หูปลาช่อน ชื่อสามัญ Cupid’s shaving brush, Emilia, Sow thistle

หูปลาช่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Emilia sonchifolia (L.) DC. ex DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cacalia sonchifolia Hort ex L.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[3]

สมุนไพรหูปลาช่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักบั้ง (ลำปาง), ผักแดง (เลย), หางปลาช่อน (เพชรบุรี, ภาคกลาง) เอี่ยโต่ยเช่า เฮียะแอ่อั้ง (จีนแต้จิ๋ว), หยางถีฉ่าว หยางถีเฉ่า เยวียะเสี้ยหง อีเตี่ยนหง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของหูปลาช่อน

  • ต้นหูปลาช่อน จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีลำต้นตั้งตรง มีมีสีเขียวแกมม่วง ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 10-50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านที่โคนต้น ลำต้นปกคลุมไปด้วยขนนุ่มทั่วไป ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้วัชพืชที่มักขึ้นตามที่ชื้น ทุ่งหญ้าโล่ง หรือขึ้นปะปนกับวัชพืชทั่วไป พบได้ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย และจัดเป็นวัชพืชที่มีการกระจายพันธุ์ได้รวดเร็ว[1],[2]

ต้นหูปลาช่อน

หญ้าหูปลาช่อน

  • ใบหูปลาช่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบมีลักษณะห่อหุ้มลำต้นอยู่ ปลายใบแหลมเรียว โคนใบกว้างเป็นรูปไข่ ส่วนขอบใบโค้งหยักเล็กน้อยหรือหยักเว้า มีขนาดยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีม่วงแดง ใบที่โคนต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าใบที่อยู่บนยอด ใบบนเป็นรูปหอกโคนเว้าขอบจักแคบ ไม่มีก้านใบ[1],[2]

ใบหูปลาช่อน

  • ดอกหูปลาช่อน ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามบริเวณกลางลำต้นหรือยอดต้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร และก้านดอกมักแบ่งออกเป็น 2 แขนง (ช่อหนึ่งจะแยกออกเป็น 2 แขนง) มีดอกย่อยประมาณ 20-45 ดอก ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ลักษณะของดอกเป็นดอกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 12-14 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก กลีบดอกส่วนโคนจะเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ดอกเป็นสีแดงม่วงมี 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน[1],[2]

ดอกหูปลาช่อน

  • ผลหูปลาช่อน ผลเป็นผลเดี่ยว ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอกยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร เปลือกผลแข็งมีจรสีขาวปกคลุมที่เส้นสันผิวเปลือก ผลแห้งจะไม่แตกหรืออ้าออก เมล็ดล่อน สีน้ำตาล และมีขน[1],[2]

ผลหูปลาช่อน

สรรพคุณของหูปลาช่อน

  1. ทั้งต้นมีรสขมฝาด เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดตับและลำไส้เล็ก ใช้เป็นยารักษาระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ (ทั้งต้น)[2]
  2. รากใช้เป็นยาแก้โรคตานซางขโมยในเด็ก ด้วยการใช้รากสดประมาณ 10 กรัม นำมานึ่งกับเนื้อหมูแดงให้เด็กกิน (ราก)[1]
  3. ทั้งต้นใช้เป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ เป็นยาแก้ไข้ ทำให้เลือดเย็น ช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย (ทั้งต้น)[2]
  4. ช่วยแก้หืดไอ (ทั้งต้น)[6]
  5. ช่วยแก้เลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือด (ทั้งต้น)[2]
  1. ช่วยแก้ตาเจ็บตาแดง (ทั้งต้น)[2] น้ำคั้นจากใบใช้หยอดแก้เจ็บตา (ใบ)[4]
  2. ลำต้นนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้เจ็บคอ คอตีบ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการต้นสดใช้ 30-90 กรัม ส่วนแห้งใช้ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง (ลำต้น)[1],[2]
  3. ช่วยขับเสมหะ (ทั้งต้น)[4]
  4. ใช้แก้บิดถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด แก้ท้องร่วง ด้วยการใช้ลำต้นสดประมาณ 30-90 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มเอาน้ำกิน (ลำต้น)[1],[2]
  5. รากมีสรรพคุณช่วยแก้ท้องเสีย (ราก)[6]
  6. ช่วยขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[2]
  7. ช่วยรักษาโรคเริม ด้วยการใช้ต้นสดนำมาพอกบริเวณที่เป็น และให้เปลี่ยนยาวันละครั้ง (ต้น)[7]
  8. หากช่องคลอดอักเสบหรือคัน ให้ใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำสะอาดแล้วใช้ชะล้าง (ทั้งต้น)[7]
  9. ช่วยลดและแกอาการบวมน้ำ (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[2]
  10. ช่วยรักษาฝีในลำไส้ (ทั้งต้น)[2]
  11. ช่วยแก้ฝีฝักบัว ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกิน (ต้นสดใช้ 30-90 กรัม ส่วนแห้งใช้ 15-30 กรัม) (ลำต้น,ทั้งต้น)[1],[2]
  12. ใช้แก้ผดผื่นคัน ฝีต่าง ๆ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็น (ลำต้น)[1]
  13. ใบนำมาขยี้ทารักษาหูด (ใบ)[4]
  14. ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาห้ามเลือด และสมานแผล (ใบและดอก,ทั้งต้น)[2],[4],[6]
  15. ทั้งต้นใช้ตำพอกแก้ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ทั้งต้น)[6]
  16. รากมีรสเฝื่อนเย็น นำมาตำคั้นผสมกับน้ำตาลเมาใช้ดื่มแก้อาการปวดหลัง ปวดเอว (ราก)[6]

หมายเหตุ : การใช้ตาม [1],[2] ถ้าเป็นต้นสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม ถ้านำมาใช้ภายนอกให้กะปริมาณเอาตามสมควร ใช้ตำพอกแผลหรือต้มเอาน้ำล้างแผล[2]

ข้อควรระวัง : สตรีมีครรภ์ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้[2] สมุนไพรชนิดนี้เป็นพิษต่อตับ โดยสารที่เป็นพิษคือสาร Pyrrolizidine alkaloid หากได้รับในครั้งแรกจะทำให้อาเจียน หลังจากนั้นประมาณ 8-10 ชั่วโมง จะมีอาการชักกระตุกควบคู่ไปกับมีอาการเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง และหมดสติ ส่วนวิธีการแก้พิษเบื้องต้น ให้ทำให้อาเจียน โดยการรับประทาน Syrup of ipecac ในผู้ใหญ่ให้ใช้ 2 ช้อนโต๊ะ ส่วนเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1-12 ให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหูปลาช่อน

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ สารจำพวก Alkaloid และ Phenols[2]
  • จากการรักษาปู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจจำนวน 50 ราย และผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่เป็นเด็กอีก 25 ราย ด้วยการใช้ลำต้นของหูปลาช่อนแห้งประมาณ 1 กรัม นำมาทำเป็นยาฉีด ฉีดข้ากล้ามเนื้อติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน พบว่าจากการรักษาได้ผลดีที่เป็นที่น่าพอใจ และทำให้อาการไข้ลดลง อาการหอบ อาการไอก็หายไปด้วย[1],[2]
  • รากที่ต้มของหูปลาช่อน พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Btaphylo coccus ได้[2]
  • จากการศึกษาฤทธิ์ระงับอาการปวดของต้นหูปลาช่อน โดยป้อนสารสกัดไฮโดรเอทาโนลิคจากส่วนของลำต้นส่วนที่อยู่เหนือดินให้แก่หนูเมาส์ในขนาด 30, 100 และ 300 มก./กก. 1 ชั่วโมง ก่อนนำหนูไปกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บปวดด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อสังเกตพฤติกรรมการตอบสนองของหนูต่อสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และเปรียบเทียบผลที่ได้กับหนูที่ถูกป้อนด้วยยาระงับอาการปวดชนิดอื่น ๆ และหนูที่ไม่ได้รับยาชนิดใด ๆ เลย ผลการทดลองพบว่าสารสกัดไฮโดรเอทาโนลิคจากต้นหูปลาช่อนในขนาด 100 และ 300 มก./กก. มีผลระงับอาการเจ็บปวดของหนูได้ในทุกรูปแบบของการทดลอง และยังให้ผลดีกว่าการใช้มอร์ฟีน จึงแสดงให้เห็นว่าสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ในการยับยั้งอาการเจ็บปวดได้[5]

ประโยชน์ของหูปลาช่อน

  • ยอดอ่อนและใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือลาบได้[6]

ผักหูปลาช่อน

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หูปลาช่อน“.  หน้า 827-829.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หูปลาช่อน“.  หน้า 620.
  3. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “หูปลาช่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.  [18 ก.ค. 2014].
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เครือข่ายกาญจนาภิเษก.  “หูปลาช่อน“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.kanchanapisek.or.th.  [18 ก.ค. 2014].
  5. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัดจากต้นหูปลาช่อน (Emilia sonchifolia)”.  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [18 ก.ค. 2014].
  6. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “หางปลาช่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [18 ก.ค. 2014].
  7. ไทยเกษตรศาสตร์.  “สมุนไพรหูปลาช่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com.  [18 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by AFI 11, Nelindah, Tang C., Russell Cumming, Ahmad Fuad Morad, Harry Rose)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด