หูชั้นนอกอักเสบ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหูชั้นนอกอักเสบ 5 วิธี !!

หูชั้นนอกอักเสบ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหูชั้นนอกอักเสบ 5 วิธี !!

หูชั้นนอกอักเสบ

หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa หรือ Swimmer’s ear) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย แต่จะพบได้มากในวัยหนุ่มสาว ซึ่งอาการของหูชั้นนอกอักเสบมักจะเกิดภายหลังการแคะหู หรือหลังจากมีน้ำเข้าหูแล้วพยายามเช็ดหู โดยเฉพาะหลังการเล่นน้ำหรือว่ายน้ำ (เนื่องจากคันในรูหู) โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหู หูอื้อ มีน้ำเหลืองเยิ้มคล้ายหูแฉะเป็นอาการหลัก โรคนี้อาจเป็นรุนแรงได้ในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง หรือผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน

การอักเสบของหูชั้นนอก อาจเป็นการอักเสบทั่ว ๆ ไปทั้งหูชั้นนอก หรืออาจเป็นการอักเสบเฉพาะที่บริเวณส่วนนอกของหูชั้นนอกก็ได้ โดยอาจเป็นเพียงรูขุมขนอักเสบ หรือเป็นฝีเฉพาะที่ หรืออาจเป็นรุนแรงจนลุกลามเข้าไปยังหูชั้นกลาง ทำลายเส้นประสาทสมอง อวัยวะอื่น ๆ รอบหู หรืออาจลามไปยังสมองก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการฉายรังสีหรือได้รับยาเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ที่มักพบว่าเป็นโรคนี้รุนแรงกว่าผู้ป่วยทั่วไป

สาเหตุของหูชั้นนอกอักเสบ

การอักเสบของหูชั้นนอกอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อสแตฟีโลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus aureus) หรือเกิดจากเชื้อรา หรือผื่นแพ้ก็ได้ ดังนั้นการได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกจะทำให้โรคนี้หายเร็วและป้องกันไม่ให้โรคลุกลามหรือเป็นรุนแรงได้

โดยปกติรูหูส่วนนอกจะมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคผ่านเข้าไปได้ โดยมีกระดูกอ่อนหน้าหูที่ทำหน้าที่เหมือนประตูปิดหู มีรูหูส่วนนอกที่มีลักษณะไม่ตรง มีส่วนคอดแคบ มีขนสั้นและอ่อน มีต่อมไขมัน และมีต่อมสร้างขี้หูที่ทำให้หน้าสร้างขี้หูให้ออกมาปะปนกับส่วนที่หลุดลอกออกมาจากชั้นผิวของรูหูส่วนนอก เหล่านี้จึงช่วยต่อต้านไม่ให้สิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคต่าง ๆ หลุดเข้าไปได้ อีกทั้งยังมีสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งจะคอยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา และมีส่วนของไขมันที่เคลือบอยู่บนผิวของรูหูส่วนนอกที่ทำหน้าที่ป้องกันการเปื่อยลอกของเยื่อบุของรูหูส่วนนอกได้อีกด้วย ซึ่งกลไกต่าง ๆ เหล่านี้เองจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบของหูชั้นนอกได้ อย่างไรก็ตาม มีหลายสาเหตุที่ทำให้การป้องกันดังกล่าวนี้เสื่อมหน้าที่ไป และทำให้เกิดการอักเสบของหูชั้นนอกตามมาได้ คือ

  1. การแคะหรือเขี่ยขี้หูออก หลายคนเข้าใจว่า ขี้หูเป็นสิ่งสกปรก จึงพยายามแคะหรือเขี่ยมันออกจนหมด จึงทำให้สารเคมีที่ปกป้องและไขมันที่ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังของรูหูนั้นเสียหน้าที่ไป
  2. การเล่นน้ำ ว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือล้างหูด้วยสบู่บ่อย ๆ ซึ่งจะทำให้ขี้หูถูกละลายออกไปและทำให้เกิดภาวะเป็นด่างในรูหูส่วนนอก จึงทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี
  3. ผู้ที่มีรูหูที่แคบและมีขี้หูมาก บางคนจะมีรูหูที่แคบ แต่มีขี้หูมาก เมื่อมีน้ำเข้าไปในรูหู จึงทำให้เกิดอาการหูอื้อ เพราะน้ำไม่สามารถระบายออกมาได้ ทำให้ต้องคอยแคะหู เช็ดหู หรือพยายามเอาน้ำออกอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบของรูหูส่วนนอกได้ถ้าเป็นบ่อย ๆ
  4. ความร้อนและความชื้น ในสภาวะอากาศที่ร้อนอาจทำให้ความชุ่มชื้นในรูหูสูงผิดปกติได้ จึงทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เจริญเติบโตได้ดี
  5. ความเครียด จากความเครียดทางอารมณ์ อาจทำให้บางคนแคะหู โดยใช้นิ้วมือหรือวัตถุใด ๆ ก็ตาม ซึ่งอาจทำให้มีรอยถลอกหรือเกิดแผลได้ ซึ่งจะทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าไปตามรอยถลอกหรือรอยแผลนั้นได้จนเกิดการอักเสบตามมา
  6. โรคทางระบบอื่น ๆ เช่น โรคขาดวิตามิน โรคเลือด โรคของระบบต่อมไร้ท่อ และโรคผิวหนังบางชนิด (เช่น ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส โรคภูมิของแพ้ผิวหนัง เช่น จากการแพ้เครื่องช่วยฟังชนิดที่ใส่อยู่ในรูหู, การแพ้น้ำยาล้างชิ้นส่วนของแว่นตา, การแพ้ยาหยอดหูที่มียาปฏิชีวนะนีโอมัยซิน (Neomycin) เป็นส่วนประกอบ, การแพ้เชื้อแบคทีเรียจากโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเกิดการอักเสบของรูหูส่วนนอกได้)

อาการของหูชั้นนอกอักเสบ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหู คันหู ระคายเคืองในรูหูส่วนนอก และอาจมีน้ำเหลืองเยิ้มคล้ายหูแฉะหรือหนองไหลออกมาจากหู บางรายอาจมีอาการหูอื้อหรือมีไข้ร่วมด้วย

 รูปหูชั้นนอกอักเสบ
IMAGE SOURCE : elotoblog.blogspot.com

อาการหูชั้นนอกอักเสบ
IMAGE SOURCE : www.youtube.com (by Your Health), entsho.com, www.aafp.org

สำหรับอาการแสดงที่พบได้ของโรคหูชั้นนอกอักเสบ คือ

  • กดเจ็บบริเวณหน้าใบหู เมื่อดึงใบหูหรือโยกใบหูจะเจ็บมากขึ้น
  • บางรายอาจมีอาการบวมแดงของรูหูและใบหูได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการหูอื้อตามมา โดยเฉพาะในรายที่ติดเชื้อราหรือมีขี้หูมาก อาจทำให้รูหูอุดตัน ได้ยินเสียงไม่ชัด ทำให้ผู้ป่วยรำคาญและต้องไปพบแพทย์
  • อาจพบน้ำเหลืองหรือหนองที่มีกลิ่นเหม็นอยู่ภายในรูหูส่วนนอก และอาจพบเนื้อเยื่อที่ตายหรืออักเสบ
  • อาจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่หน้าหู หลังหู หรือบริเวณคอร่วมด้วย
  • ในรายที่เป็นรุนแรง อาจทำให้ใบหูยื่นไปข้างหน้า บริเวณกระดูกมาสตอยด์มีอาการบวมแดงและกดเจ็บ หรือมีการอัมพาตของเส้นประสาทสมองบางเส้นได้

หูชั้นนอกอักเสบ
IMAGE SOURCE : www.medrx-education.com, familymedicinehelp.com, eac.hawkelibrary.com, www.medrx-education.com

ภาวะแทรกซ้อนของหูชั้นนอกอักเสบ

ส่วนใหญ่โรคนี้ผู้ป่วยมักจะพบแพทย์ได้เร็ว จึงทำให้พบภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงได้น้อยมาก และส่วนมากจะรักษาให้หายได้ภายใน 7-14 วัน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดหูมาก บางรายช่องหูบวมแดงตีบ ทำให้การได้ยินลดลง บางรายมีอาการกำเริบขึ้นใหม่หลังจากที่หายแล้ว หรือบางรายอาจเป็นรุนแรงมาก ถ้ารักษาไม่ทันก็อาจมีผลต่อเส้นประสาทเลี้ยงบริเวณใบหน้าทำให้หน้าเบี้ยว หรือถ้าเป็นมากขึ้นอาจติดเชื้อแบคทีเรียขึ้นสมอง หรือสมองอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยหูชั้นนอกอักเสบ

โดยลักษณะอาการที่สำคัญของโรคนี้ คือ เมื่อดึงใบหูแรง ๆ จะทำให้เจ็บในรูหูมาก ซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยที่เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวก) ที่จะตรวจไม่พบอาการนี้

เมื่อแพทย์ใช้เครื่องส่องหู (Otoscope) จะเห็นลักษณะการอักเสบหรือฝีอยู่ในรูหู พบอาการบวมแดงของรูหู ทำให้มองเห็นแก้วหูไม่ชัด ส่วนเยื่อแก้วหูมักจะเป็นปกติและไม่มีรูทะลุ

นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่หน้าหู หลังหู หรือบริเวณคอร่วมด้วย

วิธีรักษาหูชั้นนอกอักเสบ

  • ส่วนใหญ่แพทย์จะให้การรักษาไปตามสาเหตุ โดยเริ่มจากการทำความสะอาดรูหูโดยใช้ไม้พันสำลีเช็ดออกเบา ๆ หรือใช้เครื่องมือดูดเอาหนองหรือขี้หูออก (การทำความสะอาดรูหูจะต้องกระทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการล้างหูหรือแคะหูด้วยตนเอง แต่ในกรณีที่น้ำเข้าหูแล้วต้องซับออกให้แห้ง โดยใช้สำลีเช็ดหูหรือไม้พันสำลี ก็ควรทำด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้)
  • แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ประมาณ 7-14 วัน เพื่อรักษาการติดเชื้อในรูหูชั้นนอก (ผู้ป่วยควรรับประทานยาให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม และไม่ควรซื้อยามารับประทานด้วยตัวเอง)
  • ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดมาก อาจให้รับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วยได้ เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
  • ถ้ารูหูส่วนนอกบวมมาก แพทย์อาจใช้ผ้าก๊อซเล็ก ๆ (Ear wick) ชุบยาสเตียรอยด์ใส่ไว้ในหูชั้นนอกประมาณ 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดอาการบวม เมื่อรูหูส่วนนอกยุบลงแล้วจึงค่อยใช้ยาหยอดหูปฏิชีวนะ (Antibiotic ear drops) ที่แพทย์สั่งให้ หยอดหูวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละมากกว่า 5 หยด (ถ้ามีหนองไหล ควรใช้ไม้พันสำลีเช็ดหนองออกก่อนการหยอดยาด้วย)
  • ถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะ ให้รับประทานยาต่อไปให้ครบตามที่แพทย์สั่ง แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นหรือเป็นบ่อย หรือพบว่าเป็นรุนแรงในผู้ป่วยเบาหวานหรือโรคเอดส์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
  • ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์อาจรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด
  • คำแนะนำในการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคหูชั้นนอกอักเสบ
    1. ในระหว่างที่มีอาการ ควรระวังอย่าให้น้ำเข้าหู เช่น การไม่ลงเล่นน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง และควรใช้สำลีอุดรูหูในขณะอาบน้ำด้วย เป็นต้น
    2. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามไม่ให้น้ำเข้าหู รับประทานยาหรือหยอดยาตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
    3. ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ ซึ่งโดยปกติแพทย์จะนัดมาตรวจติดตามอาการ อาจทุก 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและดุลยพินิจของแพทย์จนกระทั่งอาการหายเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 7-14 วัน
    4. ไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรืออาการต่าง ๆ เลวลง เช่น มีอาการปวดมากขึ้น หูบวมแดงมากขึ้น ปวดศีรษะมาก หรือมีไข้ เป็นต้น
    5. ถ้ารักษาแล้วยังมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
    6. ถ้าพบว่าหูชั้นนอกอักเสบรุนแรง (ผู้ป่วยมีอาการปวดหูมาก มีหนองไหล มีกลิ่นเหม็น หูตึง และอาจมีอาการปากเบี้ยว) ควรไปตรวจเลือดดูว่าเป็นโรคเบาหวานหรือโรคเอดส์หรือไม่

วิธีป้องกันหูชั้นนอกอักเสบ

  1. โดยปกติแล้วช่องหูชั้นนอกจะมีลักษณะเป็นรูปตัว S ดังนั้นเมื่อมีน้ำเข้าหู แนะนำให้ใช้วิธีเอียงศีรษะเอาหูข้างที่น้ำเข้าลงต่ำ ดึงใบหูให้กางออกและเฉียงไปทางด้านหลังเพื่อทำให้ช่องหูอยู่ในแนวตรงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้น้ำสามารถไหลออกมาได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาน้ำเข้าหูจะหายทันที ไม่ควรแคะหูหรือปั่นหูเพราะจะทำให้หูอักเสบได้ แต่ถ้าปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวแล้วน้ำยังไม่ออกจากช่องหู ควรไปพบแพทย์หูคอจมูก
  1. อย่าพยายามแคะ เขี่ย เช็ดขี้หูออก หรือทำความสะอาดหูโดยใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใด ๆ ก็ตามโดยไม่จำเป็น
  2. ผู้ที่ต้องเช็ดทำความสะอาดหูหลังการอาบน้ำ เนื่องจากมีน้ำเข้าหูเป็นประจำจนเกิดความรู้สึกรำคาญ ควรใช้สำลี วัสดุอุดรูหู หรือหมวกคลุมผมทุกครั้งในขณะอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู จะได้ไม่ต้องเช็ดหูทุกครั้งหลังการอาบน้ำ (วัสดุอุดรูหู หรือ Ear plug คือ ที่อุดหูสำหรับการว่ายน้ำหรือดำน้ำ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์กีฬาทั่วไป)
  3. ถ้าเป็นไปได้ในขณะอาบน้ำควรใช้หมวกคลุมผมคลุมลงมาปิดบริเวณใบหูทุกครั้งหลังอาบน้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดีที่สุด หรือจะใช้วัสดุที่หล่อขึ้นเองให้เข้ากับขนาดของช่องหูพอดี (Ear mold) ซึ่งจะสามารถกันน้ำอย่างสนิท โดยจะมีทั้งแบบสำเร็จรูป (มักทำจากวัสดุซิลิโคนนิ่ม สามารถจัดแต่งรูปร่างให้เข้ากับช่องหูและคืนรูปได้ และสามารถใช้ได้หลายครั้ง) และแบบสั่งทำขึ้นมาเองตามโรงพยาบาลที่มีบริการเครื่องช่วยฟังเพื่อให้เหมาะกับหูของบุคคลนั้น ๆ (จะเป็นการหล่อให้เข้ารูปกับช่องหู ซึ่งทำด้วยวัสดุซิลิโคนที่ค่อนข้างแข็งกว่าแบบสำเร็จรูป และใช้ได้นานกว่า)
  4. เมื่อมีอาการคันหูทั้งในช่วงที่มีอาการช่องหูอักเสบหรือในภาวะปกติ แนะนำให้ใช้วิธีดึงขยับใบหูเบา ๆ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการคันหูได้ดี โดยไม่ต้องใช้ไม้แคะหูหรือปั่น ส่วนการทำให้รอบ ๆ หูและใบหูแห้งก็เป็นอีกวิธีช่วยลดอาการคันหูได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่ออาบน้ำหรือว่ายน้ำเสร็จ ควรใช้ผ้าเช็ดตัวเช็ดทำความสะอาดรอบ ๆ หูและใบหูให้แห้งเสมอ
  5. ไม่ควรซื้อยาหยอดหูทุกชนิดมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยาหยอดหูได้
  6. ไม่ควรล้างหูด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อย ๆ
  7. สำหรับผู้ที่หายจากหูชั้นนอกอักเสบก็สามารถกลับไปว่ายน้ำได้ตามปกติ แต่แนะนำว่าควรใช้วัสดุอุดรูหูทุกครั้งและห้ามปั่นหู เพราะมีโอกาสที่หูชั้นนอกจะกลับมาอักเสบได้อีก ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติเพื่อความเข้าใจตรงกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยว่าโรคหายแล้ว ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนกลับไปว่ายน้ำอีกจะเหมาะสมกว่า
  8. เมื่อมีอาการคันหูมากและบ่อย หรือมีอาการของหูชั้นนอกอักเสบดังที่กล่าวมาเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเพื่อรับการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 913.
  2. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “หูชั้นนอกอักเสบ”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [23 ธ.ค. 2016].
  3. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.  “หูชั้นนอกอักเสบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com.  [24 ธ.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “น้ำเข้าหู (Swimmer’s ear)”.  (พญ.วัชราภรณ์ บัวโฉม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [24 ธ.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด