หิ่งเม่นน้อย
หิ่งเม่นน้อย ชื่อสามัญ Rattlebox
หิ่งเม่นน้อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Crotalaria alata D.Don (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Crotalaria alata H.Lev., Crotalaria alata H. Lév., Crotalaria bidiei Gamble) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2]
สมุนไพรหิ่งเม่นน้อย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หิ่งห้อย (เลย), หิ่งเม่น หิ่งเม่นดอย มะหิ่งเม้นน้อย มะหิ่งเม่นดอย (เชียงใหม่) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของหิ่งเม่นน้อย
- ต้นหิ่งเม่นน้อย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีอายุเพียงฤดูเดียว ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงของต้นได้ประมาณ 1 เมตร กิ่งก้านชูขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านมีรยางค์ แผ่เป็นปีกแคบ ๆ พบขึ้นตามพื้นที่โล่งในป่าเต็งรังและป่าผสมผลัดใบ[1],[2]
- ใบหิ่งเม่นน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปวงรี รูปใบหอก หรือรูปใบหอกกลับ ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม มน หรือกลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-9 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนนุ่มสั้นทั้งสองด้าน หูใบแผ่เป็นปักยาวตามกิ่ง ขนาดกว้างประมาณ 4-10 มิลลิเมตร ปลายเป็นรูปสามเหลี่ยมรูปเคียว[1],[2]
- ดอกหิ่งเม่นน้อย ออกดอกเป็นช่อกระจะสั้น ๆ โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยประมาณ 2-3 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ใบประดับเป็นรูปกึ่งหัวใจถึงรูปใบหอก มีขนาดยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเป็นรูปากเปิด ยาวประมาณ 11 มิลลิเมตร มีขน ส่วนกลีบดอกเป็นรูปดอกถั่ว สีเหลืองสด มีเกสรเพศผู้ 10 อัน รังไข่เป็นรูปขอบขนาน ผิวเกลี้ยง[2]
- ผลหิ่งเม่นน้อย ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปทรงกระบอกหรือรูปขอบขนาน โป่งพอง สีดำ มีขนาดกว้างประมาณ 0.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ผิวผลเกลี้ยง เมื่อแก่จะแตก ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก[2]
สรรพคุณของหิ่งเม่นน้อย
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้สมุนไพรหิ่งเม่นน้อยทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้ฟกช้ำบวม (ทั้งต้น)[1],[2]
ประโยชน์ของหิ่งเม่นน้อย
- ทั้งต้นใช้ทำปุ๋ยพืชสดได้ดี[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หิ่งเม่นน้อย”. หน้า 80.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “หิ่งเม่นน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [22 ก.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “หิ่งเม่นดอย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [24 ก.ย. 2014].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)