หิ่งเม่น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหิ่งเม่น 8 ข้อ !

หิ่งเม่น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหิ่งเม่น 8 ข้อ !

หิ่งเม่น

หิ่งเม่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Crotalaria pallida Aiton (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Crotalaria mucronata Desv.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรหิ่งเม่น มีชื่อเรียกอื่นว่า ฮ่งหาย (ชุมพร)[1]

ลักษณะของหิ่งเม่น

  • ต้นหิ่งเม่น จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี มีลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 1-1.5 เมตร แตกกิ่งก้านย่อย มีขนละเอียดขึ้นปกคลุมแนบไปกับลำต้นและกิ่งก้าน ลำต้นเป็นสีเขียวอ่อนและจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 9.06-17.4 มิลลิเมตร[1],[3] พบได้ทั่วไปในแถบทวีปเอเชียเขตร้อน ตามป่าหญ้าข้างทาง ชายป่าดิบเขา หรือตามป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงถึง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล[2]

ต้นหิ่งเม่น

รูปหิ่งเม่น

  • ใบหิ่งเม่น ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ก้านช่อใบยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบข้างยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ก้านใบมีขนละเอียดคลุมหนาแน่น ลักษณะของใบย่อยด้านปลายเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมนทู่หรือโค้งเว้าบุ๋ม ปลายยอดมีติ่งเป็นเส้นสั้น ๆ โคนใบสอบ ส่วนขอบใบหยักแบบขนครุย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-7.5 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ไม่มีขน ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน มีขนสีขาวปกคลุมหนาแน่น ผิวใบค่อนข้างนุ่ม เส้นใบปลายโค้งจรดกัน ส่วนใบย่อยด้านข้างจะมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย โดยมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-7.5 เซนติเมตร หูใบแหลม เล็กสั้นสีม่วงแดง[1],[2],[3]

ใบหิ่งเม่น

  • ดอกหิ่งเม่น ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยประมาณ 27-44 ดอก เป็นดอกเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันบนแกนช่อดอก และมีก้านยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ดอกย่อยมีลักษณะเป็นรูปถั่ว กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบบนเป็นรูปไข่ปลายมน ส่วนกลีบด้านข้างจะมีลักษณะคล้ายปีกรูปขอบขนาน ส่วนกลีบล่างเชื่อมกันเป็นรูปท้องเรือ ปลายมีลักษณะแหลมโค้ง กลีบดอกด้านในเป็นสีเหลืองเข้ม ส่วนกลีบดอกด้านนอกเป็นสีเหลืองมีลายเส้นสีแดงเข้มพาดตามยาว เมื่อดอกบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.4-1.6 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นมัด 10 อัน อับเรณูเป็นสีส้ม[1],[2],[3]

ดอกหิ่งเม่น

  • ผลหิ่งเม่น ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปทรงกระบอก มีฝักประมาณ 7-16 ฝักต่อช่อ ฝักมีลักษณะโค้งงอเล็กน้อย มีขนาดกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-9.5 เซนติเมตร ปลายยอดฝักมีติ่งเป็นเส้นยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ฝักมีผลปกคลุม เส้นกลางฝักด้านนอกเป็นแนวยาวลึกลง ฝักอ่อนเป็นสีแดง เมื่อแก่จะเริ่มเปลี่ยนเปลี่ยนสีน้ำตาล ผลเมื่อแก่จะแตกออกเป็นฝา ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก ประมาณ 56-58 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไตสีน้ำตาล ผิวเกลี้ยงเป็นมัน มีขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร[1],[2],[3] โดยจะออกดอกและติดฝักในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[2]

ฝักหิ่งเม่น

เมล็ดหิ่งเม่น

รากหิ่งเม่น

สรรพคุณของหิ่งเม่น

  1. ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้รากหิ่งเม่น นำมาฝนกับน้ำกินครั้งละ 1 ถ้วยตะไล เป็นยาแก้อาเจียน (ราก)[1],[3]
  2. ชาวเขาเผ่าแม้ว มูเซอจะใช้รากหิ่งเม่น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (ราก)[1],[3]
  3. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคทางเดินปัสสาวะ ส่วนตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหิ่งเม่นผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ ได้แก่ รากเจตพังคี รากเจตมูลเพลิงแดง รากละหุ่งแดง รากมหาก่าน รากหิงหายผี เปลือกต้นหรือรากเดื่อหว้า ต้นพิศนาด หัวกระชาย หัวกำบัง เหง้าว่านน้ำ ผลยี่หร่า เมล็ดพริกไทย เมล็ดเทียนคำหลวง วุ้นว่านหางจระเข้ และเทียนทั้งห้า ในปริมาณเท่า ๆ กัน แล้วนำมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย ใช้กินกับน้ำมะนาวเป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (ราก)[1],[3]
  4. รากมีสรรพคุณเป็นยากระตุ้นกำหนัด (ราก)[1]
  5. ช่วยทำให้มีบุตรง่าย (ราก)[1]
  6. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ร้อนในได้ (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้ป่าชายหาด (มัณฑนา นวลเจริญ))

ประโยชน์ของหิ่งเม่น

  • เป็นแหล่งของอาหารสัตว์ตามธรรมชาติของโคกระบือ โดยยอดอ่อน ใบ และก้านใบ ในระยะที่เริ่มมีดอก จะมีค่าโปรตีน 23.94%, ไขมัน 2.65%, เถ้า 2.65%, เยื่อใย 21.01%, เยื่อใยส่วน ADF 38.6%, NDF 47.67%, ลิกนิน 15.11%[3]
  • ต้นหิ่งเม่นสามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยพืชสดได้ดี[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หิ่งเม่น”.  หน้า 84.
  2. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5.  “หิ่งเม่น”.
  3. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์.  “หิ่งเม่น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th.  [24 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by David Tng, Russell Cumming, Jay Keller, 翁明毅, Somjit2012, Dinesh Valke), pharmacy.mahidol.ac.th/siri/

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด