หัสคุณ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหัสคุณ 22 ข้อ !

หัสคุณ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหัสคุณ 22 ข้อ !

หัสคุณ

หัสคุณ ชื่อสามัญ Lime Berry

หัสคุณ ชื่อวิทยาศาสตร์ Micromelum minutum Wight & Arn. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Glycosmis subvelutina F.Muell.) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย AURANTIOIDEAE[1],[2]

สมุนไพรหัสคุณ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คอมขน สามโซก (เชียงใหม่), หวด (ลำปาง), เพี้ยฟานดง สมัดดง สมัดต้น สมัดใหญ่ (เลย), หัสคุณ (สระบุรี), ฉี้ ลิ้นชี่ สาบแร้งสาบกา (จันทบุรี), หมอน้อย (อุตรดิตถ์), ดอกสะมัด สะแบก (อุดรธานี), ชะมุย (ชุมพร), มุยขาว (ประจวบคีรีขันธ์), หมุยขน (นครศรีธรรมราช), กะม่วง สมุยช้าง หมุยช้าง (ยะลา), มรุยช้าง (ตรัง), สมุย (สุราษฎร์ธานี), หมรุย หมุยใหญ่ (กระบี่), กาจับลัก จี้ปุกตัวผู้ จี้ย้อย มองคอง หญ้าสาบฮิ้น (ภาคเหนือ), หมุย สมุย หัสคุณ (ภาคใต้), สมัด, สมัดน้อย, สหัสคุณ, หัสคุณไทย เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของหัสคุณ

  • ต้นหัสคุณ จัดเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ถึง 10 เมตร ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นสีเทา ส่วนต้นเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตื้นตามยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบขึ้นตามป่าดงดิบเขา ตามลำธาร ตามป่าโปร่งทุ่งร้างทั่วไป[1],[2],[4]

ต้นหัสคุณ

สมัดน้อย

  • ใบหัสคุณ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 7-15 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อใบบาง มีต่อมน้ำมันเล็ก ๆ จับดูแล้วจะรู้สึกเหนียว หลังใบเกือบเรียบถึงมีขนสั้น ๆ ส่วนท้องใบมีขนบาง ๆ ใบมีกลิ่นหอมเหมือนการบูร มีรสหอมร้อน[1],[2]

ใบหัสคุณ

  • ดอกหัสคุณ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีกลีบดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีขาวแกมเหลือง เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะม้วนไปด้านหลังเล็กน้อย[1]

หัสคุณไทย

ดอกหัสคุณ

  • ผลหัสคุณ ผลเป็นผลสด ออกเป็นพวงโต ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวยหรือรูปไข่ขนาดเล็ก ผิวผลเรียบใส ฉ่ำน้ำ ผลเป็นสีเขียวอ่อน มีขนปกคลุม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดง[1],[2]

ผลหัสคุณ

หมรุยมัน

สรรพคุณของหัสคุณ

  1. รากหัสคุณมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้โลหิตอันข้นด้วยบุพโพ (ราก)[2]
  2. ใบและเปลือกใช้เป็นยารมรักษาริดสีดวงจมูก (เมื่อโดนละอองยาจะร้อนมากจนแสบจมูก) (ใบและเปลือก)[1],[2]
  3. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้อันผอมเหลือง (ใบ)[1],[2] ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน (ราก)[3]
  4. ใช้เป็นยาแก้ไอ (ต้น, ใบ)[1],[2]
  5. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืดไอ (ใบ)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคหอบหืด (ราก)[4]
  6. ตำรายาไทยระบุว่า หัสคุณเป็นยารสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะและลมทั้งปวง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1],[2]
  7. ดอกมีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะให้ตก ขับเสมหะให้ลงสู่คูถทวาร (ดอก)[1],[2]
  8. ต้นมีรสร้อน มีสรรพคุณช่วยแก้ลมภายในให้กระจาย (ต้น)[2] ใบมีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณช่วยแก้ลมอันเสียดแทง ช่วยขับลม ยอกในข้อ (ใบ)[1],[2] ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมเช่นกัน (ราก)[3]
  9. เปลือกต้นมีรสร้อน มีสรรพคุณช่วยแก้โลหิตในลำคอ และลำไส้ให้กระจาย (เปลือกต้น)[2]
  1. กระพี้มีรสร้อน ใช้เป็นยาแก้โลหิตในลำไส้ (กระพี้)[2]
  2. ผลมีสรรพคุณเป็นยาถ่าย (ผล)[1]
  3. ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1],[2]
  4. ต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิไส้เดือน (ต้น)[1],[2]
  5. ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวง (ราก)[2],[3]
  6. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหัสคุณผสมกับรากปลาไหลเผือก ฝนกับน้ำซาวข้าวกินเป็นยารักษานิ่วในไต (ราก)[1],[2]
  7. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำดี (ทั้งต้น)[2]
  8. รากมีสรรพคุณเป็นยาขับเลือดและหนอง (ราก)[1],[2]
  9. รากใช้เป็นยาพอกแผลริดสีดวงจมูก และแผลคุดทะราด (ราก)[1],[2]
  10. ดอกมีกลิ่นหอม รสร้อน ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค รักษาแผลเรื้อรัง (ดอก) [2]
  11. ใบนำมาตำใช้เป็นยาทาแก้คัน หรือนำมาพอกประคบหรืออบไอน้ำ แก้ผื่นคันตามผิวหนัง กระจายเลือดลมให้เดินสะดวก และช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต (ใบ)[2]
  12. เมื่อนำมาใช้ร่วมกันในพิกัด “สหัสคุณทั้ง 2” คือ หัสคุณ (สมัดน้อย) ที่กล่าวถึงในบทความนี้ และสหัสคุณเทศ สมัดใหญ่ หรือหวดหม่อน (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clausena excavata Burm.f.) โบราณว่า มีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาขับลมในท้อง แก้ผอมแห้ง หืดไอ แก้ริดสีดวง ช่วยขับเลือด ขับหนองให้ตก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหัสคุณ

  • สารสกัดจากต้นหัสคุณมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบในสัตว์ทดลอง[1]

ประโยชน์ของหัสคุณ

  • ยอดและดอกใช้รับประทานเป็นผักสดได้ ดอกอ่อนมีรสหวานมัน นิยมนำมากินกับแกงไตปลาน้ำพริกและขนมจีน[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หัสคุณ”.  หน้า 153.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “สมัดน้อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [26 ก.ย. 2014].
  3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “หัสคุณไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com.  [26 ก.ย. 2014].
  4. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “หมรุยมัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/.  [26 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Black Diamond Images, Flora & Fauna of the Mid North Coast of NSW, Russell Cumming, Nieminski, Bellingen1)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด