หวายลิง
หวายลิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Flagellaria indica L. จัดอยู่ในวงศ์ FLAGELLARIACEAE[1]
สมุนไพรหวายลิง มีชื่ออื่น ๆ ว่า หวายลี หวายเย็บจาก (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของหวายลิง
- ต้นหวายลิง จัดเป็นไม้เถาล้มลุกขนาดเล็ก แตกกิ่งเป็นง่ามห่าง ๆ 3-5 เมตร หรือบางครั้งอาจยาวได้ถึง 10 เมตร ลำต้นหรือเนื้อไม้แข็งเหนียวคล้ายลำหวาย เถากลมเรียว ผิวเปลือกเนียนเป็นมัน สีเขียวเข้มแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเทาเมื่อมีอายุมากขึ้น ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3-0.8 เซนติเมตร มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคมาเลเซีย เมลานีเซีย โพลีเนเซีย ไปจนถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ในบ้านเราพบได้มากทางภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และทางภาคตะวันออก โดยมักขึ้นตามที่ชุ่มชื้น ตามป่าโปร่งตามชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าพรุ ป่าดิบเขา และตามชายป่าโกงกาง ที่ระดับความสูงถึง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล (ในต่างประเทศ)[1],[2],[3],[4]
- ใบหวายลิง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับถึงเวียนสลับแบบห่าง ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรีหรือรูปใบหอกแคบ ปลายใบแหลมเรียวม้วนเป็นมือไว้เกาะ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-20 เซนติเมตร (อาจมีความยาวได้ถึง 50 เซนติเมตร) เนื้อใบบางคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมันวาว ส่วนท้องใบมีสีซีดกว่า เส้นใบเป็นแบบขนานตามความยาวของใบ ก้านใบสั้นหรือไม่มีก้าน ส่วนกาบใบเป็นหลอด เรียงซ้อนทับกับหุ้มลำต้น ยาวประมาณ 1-7 เซนติเมตร เป็นริ้วตามยาว[1],[2],[3],[4]
- ดอกหวายลิง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดไม่มีก้านแยกแขนงโปร่ง ๆ ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร โดยจะออกตามปลายยอด ก้านช่อดอกมักแตกแขนงเป็น 2 กิ่ง แต่ละช่อจะประกอบไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกย่อยเป็นสีขาวครีมหรือสีขาวอมเหลือง ไม่มีก้านดอก เป็นดอกเดี่ยวหรือติดกันเป็นกระจุก กลีบดอกบาง ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร วงกลีบรวมมี 6 กลีบ เป็นรูปรี แยกจากกันเป็นอิสระ เรียงเป็น 2 วง โดยกลีบวงนอกจะยาวกว่ากลีบวงใน ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ก้านเกสรเพศเมียปลายแยกเป็นแฉก 3 แฉก โผล่พ้นกลีบรวม ส่วนรังไข่แคบ[1],[2],[3],[4]
- ผลหวายลิง ผลมีขนาดเล็กลักษณะกลม ออกผลเป็นพวงคล้ายกับเมล็ดพริกไทย มีหลายช่อในก้านเดียวกัน ผิวผลเรียบ ผนังชั้นนอกบาง ส่วนผนังชั้นในแข็ง ปลายผลมีตุ่มแหลม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-0.6 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส่วนผลแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีส้มสดหรือสีชมพูอมแดง ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด หนึ่งก้านจะมีผลประมาณ 30-40 ผล[1],[2],[3]
สรรพคุณของหวายลิง
- เถาหวายลิงมีรสเย็นกร่อย มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้อันเนื่องจากดีและโลหิต (เถา)[1]
- หัวและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ดีซ่าน (หัวและราก)[5]
- หัวใช้ผสมในน้ำให้เด็กอาบแก้พยาธิ โดยให้อาบอย่างน้อย 1 เดือน (หัว)[5]
- ต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ และใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น)[5] ส่วนต้น ใบ ดอก เหง้า และทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (ทั้งต้น)[6]
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ใช้รักษาบาดแผล (ใบ)[6]
- ผลใช้เป็นยารักษาเม็ดหนองพุพอง (ผล)[6]
ประโยชน์ของหวายลิง
- ลำต้นมีความเหนียว สามารถนำมาใช้ทำเชือกและทำเครื่องจักสานได้[4]
- ยอดอ่อนคนในสมัยก่อนจะนำมาใช้สระผม[6]
- ผลใช้เป็นยาเบื่อสุนัข เนื่องจากเมล็ดมีพิษ[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “หวายลิง”. หน้า 147.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “หวายลิง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [27 ก.ย. 2014].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “หวายลิง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [27 ก.ย. 2014].
- ระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. “หวายลิง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : marinegiscenter.dmcr.go.th. [27 ก.ย. 2014].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “หวายลิง”. อ้างอิงใน : หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [27 ก.ย. 2014].
- เดอะแดนดอทคอม. “หวายลิง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.the-than.com. [27 ก.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Somjit2012, 翁明毅, Ahmad Fuad Morad, Flora & Fauna of the Mid North Coast of NSW)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)