หวายนั่ง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหวายนั่ง 3 ข้อ !

หวายนั่ง

หวายนั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Calamus acanthophyllus Becc. จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE[1]

ลักษณะของหวายนั่ง

  • ต้นหวายนั่ง จัดเป็นพืชจำพวกปาล์มขนาดเล็ก เป็นหวายต้นเตี้ยที่มีความสูงของต้นได้ประมาณ 0.5-1 เมตร ลำต้นสั้น ป่อง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหรือโตได้ประมาณ 5 เซนติเมตร ตามลำต้นและก้านใบมีหนามแหลม ทนไฟป่าได้ดี พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในประเทศลาวและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยจะขึ้นอย่างหนาแน่นตามที่โล่งในป่าทุ่งหญ้าหรือใต้ป่าเต็งรังที่เป็นหินทราย ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 300 เมตร[1],[2]

ต้นหวายนั่ง

  • ใบหวายนั่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ยาวได้ประมาณ 1.5 เมตร ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปดาบ โคนใบหนาแผ่หุ้มลำต้น กาบในใบอ่อนเป็นหลอด ก้านใบยาวได้ประมาณ 90 เซนติเมตร มีหนามกระจายอยู่ห่าง ๆ ใบย่อยมีประมาณ 14 ใบ ในแต่ละข้าง เรียงเป็นกระจุก 2-3 ใบ คนละระนาบ ช่วงใบที่ยาวที่สุดยาวได้ประมาณ 15-23 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร มีหนามทั่วไปตามแผ่นใบด้านบนและขอบใบ[2] ส่วนอีกข้อมูลนั้นระบุว่าใบหวายนั่งจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30-45 เซนติเมตร[1]

ใบหวายนั่ง

  • ดอกหวายนั่ง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกตั้งตรง ยาวได้ประมาณ 0.4-1.1 เมตร ดอกย่อยเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเป็นสีเหลืองนวล ช่อดอกเพศผู้แยกเป็นแขนง 1-2 ชั้น ส่วนช่อดอกเพศเมียแยกเป็นแขนงชั้นเดียว ดอกเพศผู้นั้นจะออกเดี่ยว ๆ บนแกนช่อ มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนกลีบดอกมี 3 กลีบ แยกเกือบจรดโคน ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน และมีเกสรเพศเมียที่เป็นหมันขนาดเล็ก โดยดอกเพศเมียจะออกคู่กับดอกเพศผู้ที่เป็นหมัน กลีบเลี้ยงเป็นจักตื้น ๆ 3 กลีบ กลีบดอกมี 3 กลีบ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 6 อัน เชื่อมติดกันเป็นวง ส่วนเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 3 แฉก[1],[2]

ดอกหวายนั่ง

  • ผลหวายนั่ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปรีเกือบกลม มีขนาดยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ที่ปลายเป็นจะงอยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เปลือกผลเหนียว มีลักษณะคล้ายเกล็ดขนาดเล็ก เรียงเป็นแถวประมาณ 13-14 แถว สีครีม ขอบเกล็ดเป็นสีเข้ม ภายในมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปรี ยาวได้ประมาณ 7 มิลลิเมตร[1]

ผลหวายนั่ง

สรรพคุณของหวายนั่ง

  • ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้รากหวายนั่งผสมกับลำต้นเหมือนคนตัวผู้ ลำต้นเหมือนคนตัวเมีย ลำต้นเฉียงพร้านางแอ แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยเจริญอาหาร โดยอาจผสมรากหวายขม รากกะสูก และรากเขียงเข้าไปด้วยก็ได้ (ราก)[1]
  • ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ยอดอ่อนนำมาเคี้ยวกินเป็นยาบรรเทาอาการปวดจากพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ถ้ารีบใช้โดยทันทีจะได้ผลดี (ยอดอ่อน)[1]

ประโยชน์ของหวายนั่ง

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หวายนั่ง”.  หน้า 55.
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “หวายนั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [27 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by scott.zona)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด