9 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนามแน่แดง !

หนามแน่แดง

หนามแน่แดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia coccinea Wall.[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hexacentris coccinea (Wall.) Nees) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1],[2]

สมุนไพรหนามแน่แดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า น้ำปู้ หนามแน่แดง เครือนกน้อย (เชียงใหม่), เหนอะตอนเมื่อย (เย้า-เชียงใหม่), จอละดิ๊กเดอพอกวอ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), จอลอดิ๊กเดอพอกวอ ปังกะล่ะกวอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), รางจืด, รางจืดแดง เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของหนามแน่แดง

  • ต้นหนามแน่แดง จัดเป็นไม้พุ่มเลื้อยพัน มีความยาวได้ประมาณ 10-20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากจนปกคลุมต้นไม้อื่น ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอมแดงถึงสีน้ำตาลเข้ม พบขึ้นกระจายอยู่ในป่าดิบชื้น บริเวณที่โล่งหรือตามชายป่า ตามภูเขาสูง ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 100-800 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2] พบได้มากทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน และพม่า โดยมักขึ้นตามชายป่าดิบเขาที่ระดับความสูงประมาณ 900-1,700 เมตร[3]

ต้นหนามแน่แดง

  • ใบหนามแน่แดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากข้อของลำต้นหรือกิ่ง โดยจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกันแบบเวียนรอบ ทิ้งระยะค่อนข้างห่างระหว่างข้อ ก้านใบมีลักษณะกลม ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยงและไม่มีขน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่แกมใบหอก ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบโค้งมน ป้าน หรือเว้าลึกเล็กน้อย ส่วนขอบใบหยักคล้ายซี่เลื่อยหรือเป็นลูกคลื่นแบบห่าง ๆ ไม่สม่ำเสมอกัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างบาง หลังใบเกลี้ยงเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่าและมีนวลสีขาวขึ้นปกคลุม เส้นใบจะออกจากโคนใบ มีประมาณ 5-7 เส้น[1],[2]

ใบหนามแน่แดง

  • ดอกหนามแน่แดง ออกดอกเป็นช่อห้อยลง โดยจะออกตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ช่อดอกยาวได้ถึง 2 เมตร ดอกย่อยมีหลายดอก เป็นดอกสมบูรณ์ โดยมีจำนวนประมาณ 20-60 ดอกต่อช่อ ออกเรียงตัวแบบเวียนรอบแกนช่อ ทิ้งระยะค่อนข้างห่าง มีใบประดับลักษณะเป็นรูปไข่ปลาแหลมหรือมนเล็กน้อย ดอกเป็นสีส้ม สีส้มอมแดง ถึงสีแดงอมม่วงหุ้มดอกเมื่อดอกตูม เมื่อดอกเริ่มบานกลีบดอกสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้มจะโผล่ออกมาทางด้านล่างของใบประดับ กลีบเลี้ยงดอกมีขนาดเล็กมาก มีลักษณะเป็นแถบเล็ก ๆ อยู่บริเวณโคนกลีบดอก กลีบดอกมีช่วงโคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาวประมาณ 2/3 ส่วนของความยาวกลีบดอก ช่วงปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ กลีบมีขนาดไม่เท่ากัน โดยกลีบบนจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ๆ และมีลักษณะตั้งขึ้น ส่วนกลีบที่เหลือมักพับลง ผิวด้านในของกลีบจะมีสีอ่อนกว่าด้านนอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน โดยจะอยู่ลึกลงไปในท่อกลีบดอก ก้านเกสรสั้น มีรังไข่ 1 อัน[1],[2]

รูปหนามแน่แดง

ดอกหนามแน่แดง

รางจืดแดง

  • ผลหนามแน่แดง ผลมีลักษณะเป็นฝักประเภทแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ยาวได้ประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปลายฝักเป็นจะงอยแข็งยาว ภายในฝักมีเมล็ดหลายเมล็ด โดยจะออกดอกและผลในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2],[3]

สรรพคุณของหนามแน่แดง

  1. ชาวเย้าจะใช้เถานำมาต้มกับน้ำให้เด็กอาบแก้อาการเด็กนอนไม่หลับ (เถา)[2]
  2. ชาวเขาเผ่าปะหล่องไทใหญ่และพม่าจะใช้เถาอ่อนและใบนำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้ไข้ (เถาและใบ)[2]
  3. ใบและเครือนำมาต้มหรือใช้น้ำที่อยู่ภายในลำต้นมาล้างตา จะช่วยแก้อาการเคืองตา ตาแดง เจ็บตา (ใบและเครือ)[2]
  4. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหนามแน่แดง ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น เช่น รากพญาดง (Persicaria chinensis) นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการปวดท้องน้อยของผู้ป่วยกามโรค (ราก)[1]
  5. ดอกและผลใช้ตำพอกแผลที่โดนงูกัด จะช่วยดูดพิษได้ (ดอกและผล)[2]
  6. เครือนำมาต้มกับน้ำกินเวลาที่โดนพิษจากสัตว์มีพิษ เช่น แมงป่อง ตะขาบ แมงมุมพิษ งู โดยจะมีฤทธิ์แรงกว่าจอลอดิ๊กเดอพอกวา (เครือ)[2]
  7. รากและใบใช้เป็นยาแก้พิษยาเบื่อ พิษจากยาฆ่าหญ้าหรือยาฆ่าแมลง โดยเชื่อว่าจะมีฤทธิ์แรงกว่ารางจืด (Thunbergia laurifolia Linn.) (รากและใบ)[2]

ประโยชน์ของหนามแน่แดง

  • ดอกหนามแน่แดงสามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร เช่น ทำแกง[2]
  • ต้นหนามแน่แดงจัดเป็นไม้หายาก นิยมนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับบ้านทั่วไป หรือปลูกเป็นไม้ประดับซุ้ม ชอบแสงแดดรำไร อากาศเย็น เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุสูง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่ง[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หนามแน่แดง”.  หน้า 209.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “หนามแน่แดง, รางจืด, รางจืดแดง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือองค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 3. (สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร, สุวรรณ ทาเขียว, อ่องเต็ง นันทแก้ว).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :  eherb.hrdi.or.th.  [29 ก.ย. 2014].
  3. พืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “หนามแน่แดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th.  [29 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Forest and Kim Starr, Karl Gercens, Michael Wieser)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด