หนามพรม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนามพรม 3 ข้อ !

หนามพรม

หนามพรม ชื่อสามัญ Conkerberry, Bush Plum

หนามพรม ชื่อวิทยาศาสตร์ Carissa spinarum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Carissa cochinchinensis Pierre ex Pit., Carissa diffusa Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[3]

สมุนไพรหนามพรม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้แฮด (ภาคเหนือ), พรม หนามพรม (ภาคกลาง) เป็นต้น[1]

ลักษณะของหนามพรม

  • ต้นหนามพรม จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 4-5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามากเป็นพุ่มทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง มีหนามแหลมยาวตามกิ่ง ลำต้น และบริเวณโคนต้น ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร และลำต้นมียางสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด และจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง พบขึ้นตามบริเวณป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป และมีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนของทวีปเอเชียและออสเตรเลีย[1],[2],[3]

ต้นหนามพรม

  • ใบหนามพรม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปกลม รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมมีติ่ง โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก หลังใบและท้องใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างบางและเกลี้ยง ใต้ท้องใบมีเส้นใบประมาณ 5-7 คู่ ซึ่งจะเห็นได้ชัดมาก ส่วนก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 1-3 มิลลิเมตร[1],[2],[3]

ใบหนามพรม

  • ดอกหนามพรม ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาวมีกลิ่นหอม มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายกลีบดอกแหลม กลีบดอกยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ กลีบเป็นรูปหอก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ปลายกลีบแยกออกจากกัน และมีเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ภายในหลอดดอกหรือกลางท่อดอก[1],[2],[3]

ดอกหนามพรม

  • ผลหนามพรม ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปไข่ ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มหรือสีดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1] ส่วนอีกข้อมูลบอกว่าภายในผลมีเมล็ด 4 เมล็ด[3]

ผลหนามพรม

ลูกหนามพรม

สรรพคุณของหนามพรม

  • แก่นหนามพรมมีรสมันเบื่อ มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายแข็งแรง (แก่น)[1],[2] ส่วนเนื้อไม้มีรสเฝื่อนมันขมฝาด ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้เช่นเดียวกับแก่น (เนื้อไม้)[1],[3]
  • แก่นมีสรรพคุณช่วยบำรุงไขมัน (แก่น)[4]
  • ตำรับยาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากของต้นหนามพรมผสมกับลำต้นไส้ไก่ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร ใช้ผสมกับรากไส้ไก่ และรากนมแมว ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงในจมูก (ราก)[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “หนามพรม (Nam Phrom)”.  หน้า 325.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “หนามพรม”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 188.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หนามพรม”.  หน้า 817.
  4. ระบบต้นแบบศูนย์สมุนไพรเสมือนด้วยแอนนิเมชันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.  “หนามพรม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: khaodanherb.com.  [15 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by satish nikam, Stephen Buchan)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด