หนามพรม
หนามพรม ชื่อสามัญ Conkerberry, Bush Plum
หนามพรม ชื่อวิทยาศาสตร์ Carissa spinarum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Carissa cochinchinensis Pierre ex Pit., Carissa diffusa Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[3]
สมุนไพรหนามพรม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้แฮด (ภาคเหนือ), พรม หนามพรม (ภาคกลาง) เป็นต้น[1]
ลักษณะของหนามพรม
- ต้นหนามพรม จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 4-5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามากเป็นพุ่มทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง มีหนามแหลมยาวตามกิ่ง ลำต้น และบริเวณโคนต้น ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร และลำต้นมียางสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด และจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง พบขึ้นตามบริเวณป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป และมีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนของทวีปเอเชียและออสเตรเลีย[1],[2],[3]
- ใบหนามพรม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปกลม รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมมีติ่ง โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก หลังใบและท้องใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างบางและเกลี้ยง ใต้ท้องใบมีเส้นใบประมาณ 5-7 คู่ ซึ่งจะเห็นได้ชัดมาก ส่วนก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 1-3 มิลลิเมตร[1],[2],[3]
- ดอกหนามพรม ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาวมีกลิ่นหอม มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายกลีบดอกแหลม กลีบดอกยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ กลีบเป็นรูปหอก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ปลายกลีบแยกออกจากกัน และมีเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ภายในหลอดดอกหรือกลางท่อดอก[1],[2],[3]
- ผลหนามพรม ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปไข่ ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มหรือสีดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1] ส่วนอีกข้อมูลบอกว่าภายในผลมีเมล็ด 4 เมล็ด[3]
สรรพคุณของหนามพรม
- แก่นหนามพรมมีรสมันเบื่อ มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายแข็งแรง (แก่น)[1],[2] ส่วนเนื้อไม้มีรสเฝื่อนมันขมฝาด ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้เช่นเดียวกับแก่น (เนื้อไม้)[1],[3]
- แก่นมีสรรพคุณช่วยบำรุงไขมัน (แก่น)[4]
- ตำรับยาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากของต้นหนามพรมผสมกับลำต้นไส้ไก่ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร ใช้ผสมกับรากไส้ไก่ และรากนมแมว ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงในจมูก (ราก)[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หนามพรม (Nam Phrom)”. หน้า 325.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “หนามพรม”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 188.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หนามพรม”. หน้า 817.
- ระบบต้นแบบศูนย์สมุนไพรเสมือนด้วยแอนนิเมชันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง. “หนามพรม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: khaodanherb.com. [15 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by satish nikam, Stephen Buchan)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)