7 สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าสามคม ! (หญ้าคมบาง)

7 สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าสามคม ! (หญ้าคมบาง)

หญ้าสามคม

หญ้าสามคม ชื่อวิทยาศาสตร์ Scleria levis Retz. จัดอยู่ในวงศ์กก (CYPERACEAE)[1]

สมุนไพรหญ้าสามคม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าคมบาง (ตราด), หญ้าพุงเม่น (ชัยภูมิ), คมปาว (ยโสธร) ส่วนอุดรธานีเรียก “หญ้าสามคม” เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของหญ้าสามคม

  • ต้นหญ้าสามคม จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะเป็นข้อแข็ง ๆ ลำต้นมีความสูงได้ถึง 1.5 เมตร ลำต้นบนดินเรียวยาว เป็นสันสามเหลี่ยมคม ที่มุมสากมือ ผิวเรียบหรือมีขน กาบใบแผ่เป็นครีบ[1] พบได้ทั่วไปในพื้นที่ป่าโปร่ง เปิดโล่ง และตามชายป่าในป่าดิบแล้ง เช่นที่อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 130 เมตร[2],[3]

ต้นหญ้าสามคม

หญ้าคมบาง

  • ใบหญ้าสามคม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับซ้อนกันเป็น 3 เส้า ลักษณะของใบเป็นรูปดาบแคบยาว มีขนาดกว้างได้ถึง 1 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 1 เมตร ผิวใบเรียบถึงมีขน[1]

ใบหญ้าสามคม

  • ดอกหญ้าสามคม ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง ยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร โดยจะออกที่ปลายยอด ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกย่อยมีจำนวนมาก สีน้ำตาล ไม่มีกลีบดอก มีวงใบประดับรองรับ ช่อดอกย่อยเพศผู้เป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ส่วนช่อย่อยดอกเพศเมียเป็นรูปไข่ มีกาบช่อย่อย[1],[2],[3]

ดอกหญ้าสามคม

  • ผลหญ้าสามคม ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่แกมรูปทรงกลม สีขาว ผิวมัน และมีขนเล็กน้อย มีขนาดยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ฐานรองผลยาวคลุมครึ่งหนึ่งของผล ปลายเป็นติ่งหนาม[1],[3]

รูปหญ้าสามคม

ผลหญ้าสามคม

สรรพคุณของหญ้าสามคม

  1. ผลใช้เป็นยาแก้ไอ (ผล)[3]
  2. ชาวเขาเผ่ามูเซอจะใช้รากหญ้าสามคม นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ (ราก)[1]
  3. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มต่างน้ำชาเป็นยาแก้โรคกระเพาะอาหาร (ราก)[1]
  4. ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้หญ้าสามคมทั้งต้นผสมกับหญ้าคมบาง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ฝีในท้อง (ทั้งต้น)[1]
  5. ชาวบ้านจังหวัดยโสธร จะใช้รากและเหง้าหญ้าสามคมเป็นส่วนประกอบต้มกับเครืออีทก และดอกล่ำ (กกอีล่ำ) เป็นยาเพิ่มสมรรถนะเพศชาย (ราก)[2]
  6. ทั้งต้นใช้ผสมกับหญ้าคมบาง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคตับพิการ (ทั้งต้น)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าสามคม

  • สารสกัดจากหญ้าสามคมทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย[1]

ประโยชน์ของหญ้าสามคม

  • ยอดอ่อนใช้เป็นอาหารสัตว์ของโค กระบือ ส่วนของใบรวมก้านใบ ที่มีอายุประมาณ 45 วัน มีวัตถุแห้ง 96.05% จะมีโปรตีน 11.08%, คาร์โบไฮเดรต 46.26, ไขมัน 1.25%, เถ้า 14.48%, เยื่อใย 26.93%, เยื่อใยส่วน ADF 38.22%, NDF 57.27%, ADL 10.58%[2]

ข้อควรระวัง : ส่วนของต้นและใบถ้าใช้มือดึงหรือหากเดินผ่านโดยไม่ระวังก็อาจทำให้โดนบาดได้

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หญ้าสามคม”.  หน้า 192.
  2. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์.  “หญ้าสามคม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th.  [02 ต.ค. 2014].
  3. ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา, กรมปศุสัตว์.  “หญ้าสามคม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ncna-nak.dld.go.th.  [02 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Foggy Forest), www.biogang.net (by suchada28538)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด