หญ้าฝรั่น สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าฝรั่น 36 ข้อ !

หญ้าฝรั่น สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าฝรั่น 36 ข้อ !

หญ้าฝรั่น

หญ้าฝรั่น (ออกเสียงว่า ฝะ-หรั่น) ชื่อสามัญ Saffron, True saffron, Spanish saffron, Crocus

หญ้าฝรั่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Crocus sativus L. จัดอยู่ในวงศ์ว่านแม่ยับ (IRIDACEAE) และยังไม่มีชื่อท้องถิ่นหรือชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ เนื่องจากเป็นพืชสมุนไพรของต่างประเทศ โดยประเทศที่ปลูกหญ้าฝรั่นเพื่อส่งออกได้แก่ ประเทศสเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส อินเดีย และอิหร่าน[1],[3],[4],[8] โดยอิหร่านเป็นประเทศที่สามารถผลิตหญ้าฝรั่นที่มีคุณภาพและมีปริมาณการผลิตมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 81 ของหญ้าฝรั่นทั่วโลก[7]

Saffron คืออะไร ? Saffron หรือหญ้าฝรั่นคือเครื่องเทศสมุนไพรจากต่างประเทศที่มีราคาแพงมากที่สุดในโลก เป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกและโรมันโบราณ โดยแหล่งผลิตหญ้าฝรั่นที่มีคุณภาพสูงคือประเทศอิหร่าน

ลักษณะของหญ้าฝรั่น

  • ต้นหญ้าฝรั่น จัดเป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร และมีความสูงเฉลี่ยน้อยกว่า 30 เซนติเมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดินลักษณะคล้ายหัวเผือกหรือหัวหอม มีอายุหลายปี ในประเทศไทยยังไม่มีการเพาะปลูกหญ้าฝรั่น[1],[4],[7],[8]

ต้นหญ้าฝรั่น

รูปต้นหญ้าฝรั่น

  • หัวหญ้าฝรั่น ลักษณะคล้ายกับหัวหอม เป็นที่สะสมกักตุนแป้ง หัวเป็นเมล็ดกลมสีน้ำตาล มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4.5 เซนติเมตร และห่อหุ้มด้วยเส้นใยขนานกันหนา

ลักษณะหญ้าฝรั่น

  • ใบหญ้าฝรั่น ลักษณะยาวเรียวแหลมแคบ มีสีเขียว แต่ละใบมีความยาวถึง 40 เซนติเมตร[1],[4],[8]

ใบหญ้าฝรั่น

  • ดอกหญ้าฝรั่น ก้านดอกจะแทงออกมาจากหัวใต้ดิน ลักษณะของดอกมีรูปร่างคล้ายดอกบัว ดอกมีสีม่วง มีกลีบดอก 5-6 กลีบ กลีบดอกลักษณะเรียวยาวคล้ายรูปไข่ มีเกสรขนาดยาวโผล่พ้นเหนือดอก เกสรตัวเมียมีสีแดงเข้ม ดอกอยู่ได้นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ มักออกดอกในช่วงฤดูใบไม้ร่วง[1],[4],[8]

ดอกหญ้าฝรั่น

  • เกสรหญ้าฝรั่น หรือที่เรียกว่า หญ้าฝรั่น คือยอดเกสรเพศเมียสีแดงสดยื่นยาวออกมาโผล่พ้นเหนือดอก มีลักษณะเป็นง่าม 3 ง่าม แต่ละง่ามมีความประมาณ 25-30 มิลลิเมตร มักเก็บดอกเมื่อตอนดอกเริ่มบาน ส่วนที่เก็บคือเกสรตัวเมีย โดย 1 ดอกจะมีเกสรอยู่เพียง 3 เส้นเท่านั้น ส่วนวิธีการเก็บก็คือเด็ดออกจากดอกแล้วเอามาทำให้แห้งด้วยการคั่ว นอกจากนี้การเก็บเกสรต้องรีบเก็บในวันเดียวเพราะว่าดอกจะโรยหมด แล้วยังต้องรีบนำมาคั่วให้แห้งในทันที ส่วนการเก็บก็ต้องใช้แต่แรงงานคนเท่านั้นประกอบกับว่าพืชชนิดนี้มักขึ้นในที่ลาดเขาซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งในโลก โดยดอกหญ้าฝรั่นประมาณ 100,000 ดอก จะให้เกสรตัวเมียที่แห้งแล้วประมาณ 1 กิโลกรัม หรือที่เราเรียกว่า “หญ้าฝรั่น” นั่นเอง ซึ่งมีราคาแพงมาก ๆ และมีค่ามากกว่าทองคำเมื่อเทียบน้ำหนักกัน[1],[4],[5],[8]

เกสรหญ้าฝรั่นรูปหญ้าฝรั่น

สรรพคุณของหญ้าฝรั่น

  1. ใช้เป็นยาบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ช่วยต่อต้านมะเร็ง และต่อต้านสารก่อกลายพันธุ์[1],[8]
  2. มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย[8]
  3. ช่วยลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด[7]
  4. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย[5]
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร[7]
  6. การรับประทานหญ้าฝรั่นทุกวันจะช่วยถนอมสายตาไม่ให้มืดมนเมื่ออายุมาก ถนอมเซลล์อันซับซ้อนในดวงตาให้สามารถใช้งานนานและทนทานกับโรคได้ดี ป้องกันเซลล์ไม่ให้ตายเพราะมีคุณสมบัติเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่เข้มแข็งอยู่ ช่วยป้องกันดวงตาจากแสงแดด และช่วยขัดขวางไม่ให้เป็นโรคจอตาเสื่อม มีสารสีขึ้นหรือโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ (ศาสตราจารย์ซิลเวีย พิสติ มหาวิทยาลัยอกิลาในอิตาลี)[6] นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดที่จอตานอกเหนือจากจุดรับภาพเสื่อม และช่วยป้องกันโรคตาบอดกลางคืนได้[8]
  7. ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย[5]
  8. ในประเทศเยอรมนีมีการใช้หญ้าฝรั่นเพื่อเป็นยาคลายกล้ามเนื้อประสาท ช่วยผ่อนคลายความเครียดของระบบประสาท[7]
  9. ยอดเกสรและกลีบดอกหญ้าฝรั่นช่วยรักษาภาวะซึมเศร้าได้ (หญ้าฝรั่น, กลีบดอก)
  10. ใช้เป็นยาชูกำลัง[5]
  11. ช่วยบำรุงหัวใจ (ต้น)[3]Saffron
  12. ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น[1]
  13. ช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนในพลาสม่า[7]
  14. ช่วยบรรเทาอาการของโรคหอบหืด (ในเยอรมัน)[7]
  15. ช่วยแก้อาการสวิงสวายหรืออาการรู้สึกใจหวิว มีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่ามัว คล้ายจะเป็นลม[5]
  16. ช่วยแก้ซางในเด็ก[5]
  17. ใช้เป็นยาขับเหงื่อ[1]
  18. ดอกและรากหญ้าฝรั่นช่วยแก้ไข้ (ดอก, ราก)[3]
  19. ช่วยขับเสมหะ[1]
  20. ในประเทศเยอรมนีมีการใช้หญ้าฝรั่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง อาการปวดในกระเพาะอาหาร[7]
  21. ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ[7]
  22. ช่วยแก้อาการบิด (ราก)[3]
  23. ช่วยแก้อาการปวดท้องหลังการคลอดบุตรของสตรี[1]
  24. ช่วยขับระดูของสตรี[1]
  25. ช่วยแก้อาการเกร็ง เส้นกระตุก ลดอาการกล้ามเนื้อกระตุก[1],[5],[7]
  26. ช่วยระงับความเจ็บปวด[1]
  27. มีการใช้สารสกัดที่ได้จากหญ้าฝรั่นที่มีตัวยาที่ชื่อว่า Swedish bitters เพื่อใช้ในการเตรียมยาบำบัดเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ[7]
  28. งานการศึกษาอื่น ๆ ระบุว่าหญ้าฝรั่นอาจมีศักยภาพในคุณสมบัติทางด้านการแพทย์อีกหลายอย่าง[8]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าฝรั่น

สารเคมีที่พบในหญ้าฝรั่นได้แก่ Crocin 2%, Destrose, Picrocrocin 2%, Riboflavin และน้ำมันหอมระเหย[4]

ประโยชน์ของหญ้าฝรั่น

  1. เชื่อว่าหญ้าฝรั่นมีสรรพคุณช่วยทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งและมีอายุยืนยาว[5]
  2. หญ้าฝรั่นมีรสขมอมหวานและมีกลิ่นหอมแบบโบราณ นำมาใช้ทำเป็นยาหอมได้[5]
  3. หญ้าฝรั่นนิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหาร ใช้แต่งกลิ่นและสีของอาหาร โดยจะช่วยทำให้อาหารมีสีเหลืองส้มสว่าง อย่างเช่น ลูกกวาด ขนมหวาน เค้ก พุดดิง คัสตาร์ด รวมไปถึงเหล้าและเครื่องดื่ม[1],[4],[8]
  4. หญ้าฝรั่นเป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอมและกลิ่นติดทนนาน เมื่อนำมาใช้ทำอาหารจึงไม่ต้องใช้มาก และนิยมนำมาใส่ในขั้นตอนสุดท้ายของการปรุงอาหาร เนื่องจากเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพงมากจึงมักนิยมใส่ในอาหารในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เพื่อเฉลิมฉลอง[5]
  5. นอกจากนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหารแล้ว ยังใช้แต่งกลิ่นเครื่องหอมและน้ำหอมหรือน้ำอบได้อีกด้วย[4],[8]
  6. ใช้ในการย้อมสีผ้า โดยให้สีเหลือง[5]
  7. ในตำรายาสมุนไพร Farmakuya ซึ่งเป็นตำรับยาสมุนไพรโบราณระบุว่า หญ้าฝรั่นมีสรรพคุณนำมาใช้ทำเป็นทิงเจอร์ที่มีชื่อว่า Tinctura Opiicrocata[7]
  8. นิยมใช้กับข้าวปรุงรสต้นตำรับหรืออาหารจากต่างประเทศ เช่น ข้าวบุหรี่, ข้าวหมาก ข้าวปิลาฟ (Pilaf Rice), ข้าว Pilaus ของอินเดีย, ข้าวปาเอญ่า (Paella) ของสเปน, ข้าว Risotto Milanese ของอิตาเลียน, ซุปทะเลรวมมิตรแบบฝรั่งเศส หรือบุยยาเบส (Bouillabaisse) ด้วยการใช้หญ้าฝรั่นนำมาชงด้วยน้ำร้อนแล้วกรองเอาแต่น้ำ หรือนำมาบดให้ละเอียดและผสมลงในอาหารหรือใส่ทั้งเส้น[2],[5]

คุณค่าทางโภชนาการของหญ้าฝรั่น ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 310 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 65.37 กรัม
  • เส้นใย 3.9 กรัม
  • ไขมัน 5.85 กรัมลักษณะของหญ้าฝรั่น
  • ไขมันอิ่มตัว 1.586 กรัม
  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 0.429 กรัม
  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 2.067 กรัม
  • โปรตีน 11.43 กรัม
  • น้ำ 11.9 กรัม
  • วิตามินเอ 530 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 0.115 มิลลิกรัม 10%
  • วิตามินบี 2 0.267 มิลลิกรัม 22%
  • วิตามินบี 3 1.46 มิลลิกรัม 10%
  • วิตามินบี 6 1.01 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 9 93 ไมโครกรัม
  • วิตามินซี 80.8 มิลลิกรัม 97%
  • ธาตุแคลเซียม 111 มิลลิกรัม 11%
  • ธาตุเหล็ก 11.1 มิลลิกรัม 85%
  • ธาตุแมกนีเซียม 264 มิลลิกรัม 74%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 252 มิลลิกรัม 36%
  • ธาตุโพแทสเซียม 1,724 มิลลิกรัม 37%
  • ธาตุโซเดียม 148 มิลลิกรัม 10%
  • ธาตุสังกะสี 1.09 มิลลิกรัม 11%
  • ธาตุซีลีเนียม 5.6 ไมโครกรัม

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

สมุนไพรหญ้าฝรั่น

ข้อควรรู้เกี่ยวกับหญ้าฝรั่น

  • สภาพอากาศและสภาพภูมิประเทศเป็นปัจจัยสำคัญและมีผลต่อคุณภาพและปริมาณการผลิตของหญ้าฝรั่น ดังนั้นผลผลิตที่ปลูกคนละพื้นที่ จึงมีผลโดยตรงในเรื่องของคุณสมบัติและสรรพคุณของหญ้าฝรั่นที่ต่างกัน ซึ่งจากผลการวิจัยและค้นคว้าพบว่าหญ้าฝรั่นที่ปลูกในประเทศอิหร่าน มีสารพิษที่เจือปนในปริมาณที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับหญ้าฝรั่นจากประเทศอื่น ๆ จากข้อได้เปรียบดังกล่าวจึงสามารถใช้ต่อรองราคากับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ได้ และยังเป็นเกณฑ์แบ่งระดับคุณภาพ รวมถึงมาตรฐานระหว่างหญ้าฝรั่นที่ผลิตในประเทศอื่นอีกด้วย[7]
  • หญ้าฝรั่นปลอมก็มีเหมือนกัน เนื่องจากเป็นพืชที่มีราคาสูงมาก จึงมีผู้ฉวยโอกาสผลิตสินค้าลอกเลียนแบบขึ้นมา ด้วยการนำดอก Rose–Coloured ที่มีทั้งลักษณะและคุณสมบัติคล้ายกับหญ้าฝรั่น มาผสมปนกับหญ้าฝรั่นบดหรือผง ซึ่งเมื่อนำมาละลายน้ำดู น้ำก็จะเกิดเป็นสีเหลืองเช่นเดียวกับหญ้าฝรั่น โดยวิธีการตรวจสอบ
    • วิธีแรก ก็คือ ให้นำหญ้าฝรั่นผงประมาณ 2-3 มิลลิกรัม มาผสมกับกรดซัลฟิวริกเข้มข้น 2-3 หยดในหลอดทดลอง แล้วทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง หากเป็นหญ้าฝรั่นของแท้ก็จะเปลี่ยนจากสีแดงเข้มหรือสีแดงน้ำตาลเป็นสีแดงม่วง
    • วิธีที่สอง ให้นำหญ้าฝรั่นผงประมาณ 2-3 มิลลิกรัม นำมาบดกับกรดซัลฟิวริก 1 หยดบนกระจกแก้วแล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องไมโครสโคป ที่มีกำลังขยาย 100 ก็จะเห็นผล หากเป็นหญ้าฝรั่นของแท้ก็จะเปลี่ยนสีฟ้า และเกิดรัศมีทรงกลดสีฟ้าอยู่รอบ ๆ[7]
  • การเก็บรักษาหญ้าฝรั่น เนื่องจากสี กลิ่น และรสชาติของหญ้าฝรั่นมีคุณสมบัติที่ระเหยได้ง่าย โดยเฉพาะหญ้าฝรั่นที่เป็นผงหรือเป็นฝอย ดังนั้นจึงควรเก็บให้พ้นแสงแดดและในที่ที่ปราศจากความชื้น โดยเก็บไว้ในขวดโหลแก้วที่มีฝาปิดได้อย่างมิดชิด หรือจะเป็นขวดโลหะก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของรสชาติและสรรพคุณของหญ้าฝรั่นนั่นเอง และที่สำคัญอย่างมากก็คือไม่ควรนำหญ้าฝรั่นมาบดเป็นผงถ้าหากยังไม่ได้ใช้งาน[7]
  • ผลข้างเคียงของหญ้าฝรั่น การรับประทานหญ้าฝรั่นในปริมาณมากเกินไปอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ อาเจียน มีอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนตัว ตัวสั่น ผิวเหลือง มีเลือดกำเดาไหล มีเลือดออกบริเวณเปลือกตาและริมฝีปาก ถ่ายเป็นเลือด เลือดออกภายในมดลูก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากพบอาการในเบื้องต้นต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ทั้งนี้จากการค้นคว้าและวิจัยพบว่า ปริมาณการบริโภคหญ้าฝรั่นคือไม่ควรเกิน 1.5 กรัมต่อวัน[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [20 ต.ค. 2013].
  2. โรงเรียนอุดมศึกษา.  “เมนูอาหารพรรณไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.udomsuksa.ac.th.  [20 ต.ค. 2013].
  3. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [20 ต.ค. 2013].
  4. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทยเทศ เล่ม 1 (อรุณพร อิฐรัตน์), หนังสือสมุนไพรสารพัดประโยชน์ (วันดี กฤษณพันธ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: drug.pharmacy.psu.ac.th.  [20 ต.ค. 2013].
  5. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาน่าน เขต 2.  อ้างอิงใน: หนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.nan2.go.th.  [20 ต.ค. 2013].
  6. วิชาการดอตคอม.  “วิจัยเผยหญ้าฝรั่นกันตาบอด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.vcharkarn.com.  [20 ต.ค. 2013].
  7. บ้านจอมยุทธ.  “หญ้าฝรั่น (Safron)“.  อ้างอิงใน: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน มิถุนายน 2548.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.baanjomyut.com.  [20 ต.ค. 2013].
  8. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/หญ้าฝรั่น.  [19 ต.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by ozoneretired, Karl Hauser, cristynmagnus, Bognar Janos, Ian156)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด