2 สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าตดหมา !

หญ้าตดหมา

หญ้าตดหมา ชื่อวิทยาศาสตร์ Paederia pilifera Hook.f. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรหญ้าตดหมา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตดหมา (เชียงใหม่), หญ้าตดหมา (ลำปาง), เครือตดหมา, ตดหมูตดหมา, พอทุอี เป็นต้น[1],[2]

หมายเหตุ : หญ้าตดหมาที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับตดหมูตดหมา (Paederia linearis Hook.f.) และเถาตดหมา (Merremia tridentata (L.) Hallier f.)

ลักษณะของหญ้าตดหมา

  • ต้นหญ้าตดหมา จัดเป็นพรรณไม้เถาล้มลุกเลื้อยพัน มีอายุหลายปี ขนาดประมาณ 10 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมีลักษณะกลมมนเป็นสีเขียวอ่อน มีขนละเอียดสีขาวหรือสีน้ำตาลปกคลุม มีเขตการกระจายพันธุ์มากในอินเดียและทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักขึ้นตามป่าผลัดใบหรือตามชายป่าและป่าที่กำลังคืนสภาพ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400-800 เมตร โดยจะออกดอกและติดผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2]

หญ้าตดหมา

  • ใบหญ้าตดหมา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มหม่น ๆ และมีขนห่าง ๆ ส่วนด้านล่างใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวอ่อนหม่น ๆ เส้นแขนงใบออกตรงข้ามกันและเยื้องกันบ้าง ปลายเส้นวิ่งไปจนเส้นถัดไป ไม่ถึงขอบใบ เส้นแขนงเล็ก ๆ สานกันเป็นร่างกาย มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 4-7 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร และมีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ[1],[2]
  • ดอกหญ้าตดหมา ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมากอยู่ชิดกันเป็นกระจุก ดอกเป็นสีม่วงอมแดง มีกลีบรองดอกขนาดเล็ก 5 อัน กลีบดอกเชื่อมรวมกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนปกคลุม ส่วนปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก หยักเว้าแบบตื้น ๆ มีสีขาว ดอกเป็นสีม่วงแกมสีเทาทางด้านนอก และมีสีแดงเข้มทางด้านใน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดกับกลีบดอก[1],[2]

ดอกหญ้าตดหมา

  • ผลหญ้าตดหมา ผลเป็นแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่หรือรูปทรงกลมแกมรี โค้งแบนเล็กน้อย ผิวผลเกลี้ยง มีขนาดประมาณ 6-10 มิลลิเมตร เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล[1],[2]

สรรพคุณของหญ้าตดหมา

  • ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหญ้าตดหมา ผสมกับเหง้าไพล นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องอืด (ราก)[1],[2]
  • คนเมืองจะใช้ยอดอ่อนและเครือ นำมาแช่กับน้ำดื่มร่วมกับยอดฝาแป้ง ลำต้นคูน และไพล มีสรรพคุณเป็นยาแก้สรรพพิษ (ยอดอ่อนและเครือ)[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หญ้าตดหมา”.  หน้า 161.
  2. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7.  “หญ้าตดหมา”.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “หญ้าตดหมา”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].

ภาพประกอบ : www.qsbg.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด