ส้มโอมือ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นส้มโอมือ 18 ข้อ !

ส้มโอมือ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นส้มโอมือ 18 ข้อ !

ส้มโอมือ

ส้มโอมือ ชื่อสามัญ Buddha’s fingers, Buddha’s hand, Fingered citron[1]

ส้มโอมือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus medica L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Citrus medica var. sarcodactylus (Siebold ex Hoola van Nooten) Swingle)[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1]

สมุนไพรส้มโอมือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มมือ (ทั่วไป), ฝูโส่ว ฝูโส่วกัน (จีนกลาง) เป็นต้น[2] ในอินเดียเรียก Bara nimbu ส่วนฝรั่งมักเรียกกันว่า “ส้มนิ้วพระหัตถ์” และชาวจีนจะเรียกว่า “ฝูโส่ว” หรือ “ฝอโส่ว” ซึ่งแปลว่า นิ้วพระหัตถ์เช่นเดียวกัน[4]

ลักษณะของส้มโอมือ

  • ต้นส้มโอมือ จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 2-4 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นสีม่วงแดง ตามกิ่งและลำต้นมีหนามแข็งยาวหรือสั้นขึ้นอยู่ทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีอินทรียวัตถุสูง ไม่ชอบแดดจัด[1],[2]

ต้นส้มโอมือ

  • ใบส้มโอมือ ใบเป็นใบประกอบแบบลดรูป ใบย่อยมีใบเดียว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า ก้านใบสั้น[1],[2]

ใบส้มโอมือ

  • ดอกส้มโอมือ ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกประมาณ 2-3 ดอก โดยจะออกตามซอกใบและกิ่ง ดอกเป็นสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบหนาแข็ง กลีบดอกด้านนอกเป็นสีม่วงแดง หลุดร่วงได้ง่าย โคนกลีบดอกสีขาว ปลายกลีบดอกเป็นสีม่วง และยังมีกลีบเลี้ยงดอกอีก 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นสีขาวหรือสีเหลืองจำนวนมากอยู่ตรงโคนติดกันเป็นกระเปาะ มีเกสรเพศผู้ 30 อัน ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2]

ดอกส้มโอมือ

  • ผลส้มโอมือ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรีขนาดใหญ่ ปลายผลแยกออกเป็นแฉกงอคล้ายนิ้วมือหรือคล้ายหนวดปลาหมึก จึงเรียกว่า “ส้มมือ” ผลมีขนาดยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร โคนผลเรียว ผิวผลขรุขระเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอม ไม่มีเนื้อผลและเมล็ด[1],[2]

ผลส้มโอมือ

ส้มมือ

ผลส้มมือ

สรรพคุณของส้มโอมือ

  1. ผลมีสรรพคุณช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ผล)[2] ผิวผลมีน้ำมันหอมระเหย ใช้เปลือกผลแห้งนำมาทำเป็นยาดมส้มโอมือ เพื่อสูดดมบรรเทาอาการเป็นลม หน้ามืดตาลาย และบำรุงหัวใจ (เปลือกผล)[1]
  2. เปลือกผลมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ กระตุ้นหัวใจ ทำให้เลือดลมดี (เปลือกผล)[4]
  3. น้ำในผลมีรสเปรี้ยวคล้ายมะกรูดและมีวิตามินซี ใช้กินเป็นยาแก้เลือดออกตามไรฟัน (น้ำในผล)[1]
  4. น้ำในผลใช้ผสมเป็นยากัดเสมหะ (น้ำในผล)[1] ช่วยละลายเสมหะ (ผล)[2]
  5. ผลมีสรรพคุณช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ผล)[2]
  6. ช่วยแก้อาการไอ (น้ำในผล)[1] ไอเย็น ไอหืดหอบ (ผล)[2]
  1. ตำรับยาแก้อาการไอชื้น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ระบุให้ใช้ผลส้มโอมือแห้ง 6 กรัม และปั๊วแห่ 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำผสมน้ำตาลเล็กน้อยรับประทาน (ผล)[2]
  2. ตำรับยาแก้อาหารไม่ย่อย ระบุให้ใช้ผลส้มโอมือ 5 กรัม, เปลือกมะนาว 5 กรัม, ขิง 5 กรัม, อึ่งไน้ 1 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานวันละ 1 ครั้ง (ผล)[2]
  3. ตำรับยาแก้ลมขึ้นท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ปวดท้อง ปวดกระเพาะ ระบุให้ใช้ผลส้มโอมือแห้ง 6 กรัม และหง่วนโอ๊ว 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ผล)[2]
  4. ช่วยแก้กระเพาะอักเสบเรื้อรัง ด้วยการใช้ผลสด 12-15 กรัม หรือผลแห้ง 6 กรัม นำมาแช่ในน้ำร้อนหรือชงกับน้ำรับประทานแทนน้ำชา (ผล)[2]
  5. น้ำในผลใช้กินเป็นยาฟอกเลือด ประจำเดือนสตรี (น้ำในผล)[1]
  6. เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงตับ (เปลือกผล)[4]
  7. ตำรายาแก้ลมคั่งค้างในตับหรือกระเพาะอาหาร ระบุให้ใช้ผลสด 12-15 กรัม หรือผลแห้ง 6 กรัม นำมาแช่ในน้ำร้อนหรือชงกับน้ำรับประทานแทนน้ำชา (ผล)[2]
  8. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดกระษัยลม (ผล)[2]
  9. ในตำรายาไทย ผิวส้มโอมือจัดอยู่ตำรับยา “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบไปด้วย ผิวมะนาวหรือผิวส้มโอมือ ผิวส้มโอ ผิวส้มเขียวหวาน ผิวส้มจีน ผิวส้มซ่า ผิวส้มตรังกานู ผิวๆมะงั่ว และผิวมะกรูด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้ทางลม (เปลือกผล)[3]

ขนาดและวิธีใช้ : ผลแห้งให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานหรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น[2]

ข้อควรระวังในการใช้ : ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือผู้ที่มีไข้ตัวร้อน ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของส้มโอมือ

  • ในผลส้มโอมือ พบน้ำมันระเหย และในน้ำมันระเหยพบสาร Limettin, Citropen อีกทั้งยังพบสาร Diosmin, Hesperidin และวิตามินซี เป็นต้น[2]
  • สารที่สกัดได้จากผลส้มโอมือด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนตัวของลำไส้ใหญ่ของหนู กระต่าย และแมวที่เป็นสัตว์ทดลอง ถ้านำสารดังกล่าวมาทดลองกับกระต่าย พบว่าจะมีฤทธิ์การคลายกล้ามเนื้อเรียบที่ตึงแข็งในลำไส้ของกระต่ายได้ ทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลงได้[2]
  • น้ำมันระเหยจากผลส้มโอมือ ไม่มีผลต่อการคลายกล้ามเนื้อเรียบในกระเพาะหรือลำไส้[2]

ประโยชน์ของส้มโอมือ

  • นิยมนำมาใช้ทำเป็นยาดมส้มโอมือ เครื่องหอม หรือใช้ผสมในน้ำยาทำความสะอาด เพราะมีกลิ่นหอม ในประเทศจีนและญี่ปุ่นจะนิยมนำไปวางไว้ในห้องนอนและห้องน้ำเพื่ออบกลิ่น ดับกลิ่น[1],[4]
  • ในประเทศจีนและญี่ปุ่นจะใช้ส้มโอมือเป็นผลไม้มงคลในพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา[4]
  • ผลไม่สามารถนำมารับประทานได้โดยตรง แต่อาจนำเปลือกมาใช้ผสมในอาหารได้[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ส้มมือ (Som Mue)”.  หน้า 283.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ส้มมือ”.  หน้า 530.
  3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ส้มโอมือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [19 ต.ค. 2014].
  4. ผู้จัดการออนไลน์ 2 มีนาคม 2549.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Bernadette Hawkins and Russell Reinhardt, Black Diamond Images), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด