ส้มป่อย
ส้มป่อย ชื่อสามัญ Soap Pod
ส้มป่อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia concinna (Willd.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acacia rugata (Lam.) Merr., Mimosa concinna Willd.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1],[3],[4],[9]
สมุนไพรส้มป่อย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มพอดี (ภาคอีสาน), ส้มคอน (ไทใหญ่), ส้มขอน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), พิจือสะ พิฉี่สะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ผ่อชิละ ผ่อชิบูทู (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แผละป่อย เมี่ยงโกร๊ะ ไม้ส้มป่อย (ลั้วะ), เบล่หม่าฮั้น (ปะหล่อง) เป็นต้น[1],[4],[6]
ลักษณะของส้มป่อย
- ต้นส้มป่อย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่มรอเลื้อยทอดลำต้นเกาะเกี่ยวขึ้นไป สูงได้ประมาณ 3-6 เมตร แต่ไม่มีมือสำหรับเกาะเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถามีเนื้อแข็ง ขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล เถาอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง มีขนกำมะหยี่หรือขนสั้นหนานุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมสั้นอยู่ทั่วไปและมีขนหูใบรูปหัวใจ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภทที่ระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นปานกลางถึงน้อย และชอบแสงแดดมาก ขึ้นทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เป็นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี มักพบขึ้นตามป่าคืนสภาพ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ที่ราบเชิงเขา และที่รกร้างทั่วไป[1],[3],[4],[6],[7],[8]
- ใบส้มป่อย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ช่อใบย่อยมีประมาณ 5-10 คู่ ส่วนช่อย่อยมีประมาณ 10-35 คู่ ต่อช่อ ใบย่อยเรียงตรงข้าม ไม่มีก้านใบย่อย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานขนาดเล็ก ปลายใบมนหรือแหลม ที่ปลายเป็นติ่งหนามแหลมอ่อนโค้ง โคนใบมนหรือตัด ส่วนขอบใบหนาเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-11.5 มิลลิเมตร แผ่นใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 3.6-5 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มและหนาแน่น พบก้อนนูนสีน้ำตาลคล้ายต่อม 1 อัน อยู่ที่โคนของก้านใบ แกนกลางยาวประมาณ 6.6-8.5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยสั้นมาก ยาวได้ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่านั้น เกลี้ยงและมีขนนุ่มหนาแน่น[1],[2],[3],[4]
- ดอกส้มป่อย ออกดอกเป็นช่อกระจุกรูปทรงกลม โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรืออกตามซอกใบข้างลำต้นประมาณ 1-3 ช่อดอกต่อข้อ มีขนาดประมาณ 0.7-1.3 เซนติเมตร มีดอกประมาณ 35-45 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2.5-3.2 มิลลิเมตร มีขนนุ่มหนาแน่น มีใบประดับดอก 1 อัน ลักษณะเป็นรูปแถบ ความยาวไม่เกิน 1 มิลลิเมตร โคนสอบเรียว สีแดง มีขนกระจายอยู่ทั่วไป ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่นอยู่เป็นแกนดอก กลีบดอกเป็นหลอดสีขาวนวล กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ หลอดกลีบกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ปลายแหลมเป็นสีแดง หรืออาจมีสีขาวปนบ้างเล็กน้อย ส่วนกลีบดอก หลอดกลีบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร มีขนบ้างเล็กน้อยที่ปลายกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 200-250 อัน โดยยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมีย รังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีออวุลประมาณ 10-12 ออวุล ก้านรังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านและยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร เป็นสีขาวอมเหลืองหรือสีเขียวอมเหลือง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[4]
- ผลส้มป่อย ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน แบนยาว ผิวฝักเป็นลอนคลื่นเป็นข้อ ๆ ตามเมล็ด ปลายฝักมีหางแหลม สันฝักหนา ผิวฝักขรุขระหรือย่นมากเมื่อแห้ง ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.3-1.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-9.3 เซนติเมตร ฝักอ่อนเปลือกเป็นสีเขียวอมแดง เมื่อแก่แล้วฝักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลดำ ก้านฝักยาวประมาณ 2.8-3 เซนติเมตร ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดประมาณ 5-12 เมล็ด เมล็ดส้มป่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงแบนรี สีดำผิวมัน มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฝักมีสารในกลุ่มซาโปนินสูงถึง 20% เมื่อนำมาตีกับน้ำจะเกิดฟอง[1],[2],[4]
สรรพคุณของส้มป่อย
- ใบมีรสเปรี้ยว ฝาดเล็กน้อย ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาฟอกโลหิต (ใบ)[4]
- ดอกมีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก)[3]
- เปลือกฝักมีรสเปรี้ยวเผ็ดปร่า มีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกฝัก)[1],[4]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย (เปลือกต้น)[3]
- ช่วยแก้ซางเด็ก (เปลือกฝัก)[1],[4]
- ดอกมีสรรพคุณเป็นยาลดไขมัน ช่วยลดความอ้วนหรือลดน้ำหนัก โดยใช้ดอกประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่ม เช้าและเย็น (ดอก)[3]
- ใบใช้เป็นยาแก้โรคตา (ใบ)[1],[3],[4] ส่วนต้นใช้เป็นยาแก้โรคตาแดง (ต้น)[4]
- ต้นมีรสเปรี้ยวฝาด มีสรรพคุณเป็นยาแก้น้ำตาพิการ (ต้น)[1],[3],[4]
- รากมีรสขม ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ราก)[1],[3],[4] หรือจะใช้ยอดส้มป่อยนำมาต้มกินข้าวต้มก็เป็นยาแก้ไข้ได้เช่นกัน (ยอดอ่อน)[12]
- ฝักนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย (ฝัก)[1],[4]
- ต้นและรากส้มป่อยนำมาต้มกับแก่นขนุน คนทา ชิงช้าชาลี น้ำนอง เปลือกมะเดื่อ เท้ายายม่อม หัวย่านนาง และหญ้าเข็ดมอน เป็นยาแก้ไข้ เจ็บยอกในอก หรือที่โบราณเรียกว่าไข้ยมบน (ต้น,ราก)[11]
- ฝักและเปลือกฝักมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้ฝักนำมาปิ้งให้เหลืองแล้วชงกับน้ำจิบกินเป็นยา หรือจะใช้เปลือกนำมาแช่กับน้ำดื่มทำให้ชุ่มคอแก้ไอได้เช่นกัน (ฝัก,เปลือกฝัก)[1],[3],[4],[12]
- ใบมีรสเปรี้ยวฝาดเล็กน้อย ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับเสมหะ ส่วนฝักก็มีสรรพคุณช่วยขับเสมหะเช่นกัน (ใบ,ฝัก)[1],[2]
- ฝักมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะ ด้วยการนำฝักมาปิ้งให้เหลือง ใช้ชงกับน้ำจิบกินเป็นยา (ฝัก)[3],[4] เปลือกฝักมีสรรพคุณกัดเสมหะ (เปลือกฝัก)[1],[4] เปลือกต้นและใบมีสรรพคุณช่วยถ่ายเสมหะ โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกต้น,ใบ)[3],[4]
- เมล็ดนำมาคั่วให้เกรียมแล้วบดให้ละเอียด ใช้เป่าจมูก ทำให้คันจมูกและทำให้จามได้ดี (เมล็ดคั่ว)[1],[4]
- ฝักมีสรรพคุณช่วยแก้ริดสีดวงจมูก (ฝัก) (ไม่ระบุวิธีใช้)[11]
- ช่วยทำให้อาเจียน (ฝัก)[1],[3]
- ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ใบ,ฝัก)[1],[4]
- รากมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ (ราก)[3]
- ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด (ใบ)[1],[3],[4]
- รากส้มป่อยนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องร่วง (ราก)[8],[10],[12]
- ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มจะช่วยชำระเมือกมันในลำไส้ (ใบ)[4]
- ช่วยแก้อาการท้องอืด ด้วยการใช้ยอดอ่อนส้มป่อยนำมาต้มกินกับข้าวต้ม (ยอดอ่อน)[12]
- ต้นและเปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ต้น,เปลือกต้น)[3],[4]
- ฝักมีรสเปรี้ยว ใช้ต้มหรือหรือบดกินเป็นยาถ่าย (ฝัก)[1],[3],[4]
- ช่วยขับพยาธิในลำไส้ (ใบ)[3]
- ยอดอ่อนหรือใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำ และผสมกับน้ำผึ้งใช้ดื่มกินเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ (ยอดอ่อน)[4],[5]
- ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับระดูขาวของสตรี ช่วยฟอกล้างโลหิตระดู (ใบ)[1],[4],[5]
- เปลือกนำมาต้มกินเป็นยาแก้โรคตับ (เปลือก)[12]
- ฝักใช้ตำพอกหรือชุบสำลีปิดแผล แก้โรคผิวหนัง ใช้ทำขี้ผึ้งปิดแผลแก้โรคผิวหนัง (ฝัก)[1],[2],[4]
- ยอดอ่อนนำมาตำผสมกับขมิ้นอ้อย แล้วใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย หมกไฟพออุ่น แล้วนำไปพอกจะช่วยแก้ฝี แก้พิษฝี ทำให้ฝีแตกเร็วหรือยุบไป ส่วนอีกวิธีใช้รากส้มป่อยนำมาฝนใส่น้ำปูนใสทาบริเวณที่เป็นฝี (ราก,ยอดอ่อน)[4],[8],[10],[12]
- ใบใช้ตำประคบหรือตำห่อผ้าประคบเส้นช่วยทำให้เส้นเอ็นอ่อน แก้เส้นเอ็นพิการ ขัดยอก ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณทำให้เส้นเอ็นหย่อนเช่นกัน (เปลือกต้น,ใบ)[1],[3],[4],[5]
- ดอกมีรสเปรี้ยวฝาดมัน มีสรรพคุณเป็นยาแก้เส้นเอ็นที่พิการให้สมบูรณ์ (ดอก)[1],[3],[4]
- ช่วยทำให้สตรีมีครรภ์คลอดได้ง่าย ด้วยการใช้ฝักส้มป่อยประมาณ 3-7 ข้อ นำมาต้มกับน้ำอาบตอนเย็น โดยให้อาบก่อนกำหนดคลอด 2-3 วัน แต่ห้ามอาบมากเพราะจะทำให้รู้สึกร้อน (ฝัก)[8],[10]
- นอกจากนี้ใบและฝักส้มป่อยยังปรากฏอยู่ในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งได้แก่ ตำรับ “ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง” โดยเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรชนิดหลายชนิด ได้แก่ ใบส้มป่อย ฝักส้มป่อย ใบมะกา ใบมะขาม ใบไผ่ป่า ฝักคูน ขี้เหล็ก เถาวัลย์เปรียง รากขี้กาขาว รากขี้กาแดง รากตองแตก สมอไทย สมอดีงู หัวหอม และหญ้าไทร ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณแก้อาการท้องผูก มักนำมาใช้ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของส้มป่อย
- สารสำคัญที่พบ ได้แก่ acaiaside, acacinin A, B, C, D, azepin, concinnamide, lupeol, machaerinic acid menthiafolic, sonuside, sitosterol, spinasterol[3]
- ฝักมีสารออกฤทธิ์ในกลุ่มซาโปนินสูงถึง 20.8% ได้แก่ acacinin A, B, C, D, E ถ้านำฝักมาตีกับน้ำจะเกิดฟองที่คงทนมาก[2],[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าฝักส้มป่อยมีสารแทนนินประมาณ 11%, malic aicd ประมาณ 13%, น้ำตาลกลูโคสประมาณ 14%, และมียางเมือกประมาณ 20%[10]
- ส้มป่อยมีฤทธิ์ต้านการบีบตัวของลำไส้ ลดความดันโลหิต ช่วยขับปัสสาวะ ต้านเชื้อรา ฆ่าพยาธิไส้เดือน[3]
- เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองสารสกัดจากดอกส้มป่อยกับหนูเพศผู้ โดยการให้สารสกัดในขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยใช้ระยะเวลาการทดลองนาน 3 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า ค่าคอเลสเตอรอลในเลือดของหนูทดลองลดลง ไตรกลีเซอไรด์ลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสารสกัดจากส้มป่อยยังมีผลลดอสุจิและ endometrial glands ในมดลูก มีการเปลี่ยนแปลงในชั้นเซลล์ในมดลูก สรุปว่าสมุนไพรส้มป่อยสามารถใช้เป็นยาคุมกำเนิดได้ด้วย[3]
- สารสกัด acacic acid จากเปลือกส้มป่อย มีฤทธิ์ฆ่าสเปิร์ม ส่วนสารสกัดซาโปนินจากเปลือกที่ความเข้มข้น 0.004% มีฤทธิ์ฆ่าสเปิร์มในคนเพศชาย[9]
- สารสกัดซาโปนินจากเปลือกส้มปอยและสารสกัดเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 มีฤทธิ์ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก โดยค่าดัชนีการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงเท่ากับ 1,350[9]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมื่อฉีดสารสกัดจากใบและก้านหรือลำต้นส้มป่อย ด้วยแอลกอฮอล์และน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เมื่อให้หนูถีบจักรกินหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษ[3],[5] และเมื่อฉีดสารสกัดเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 จากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นส้มป่อย เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่ามีค่า LD50 เท่ากับ 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[9]
- สารสกัดเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 จากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นส้มป่อย ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ CA-9KB ในขนาดของสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ครึ่งหนึ่งมีค่ามากกว่า 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม[9]
- สารสกัดเมทานอล 75% จากฝักส้มป่อยเป็นพิษต่อเซลล์ Fibrosarcoma HT-1080 ความเข้มข้นของสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ครึ่งหนึ่งเท่ากับ 2.1 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม โดยมีสารที่ออกฤทธิ์คือสาร Kinmoonosides A, B, C ส่วนสารสกัดเมทานอล ส่วนสกัดที่ละลายน้ำ สารสกัดเมทานอลและเอทานอล ในอัตราส่วน 1:1 จากฝักส้มป่อย เป็นพิษต่อเซลล์ Fibrosarcoma HT-1080 อย่างอ่อน โดยความเข้มข้นของสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ครึ่งหนึ่งมีค่าเท่ากับ 10, 17.9, 21.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ส่วนสารสกัดคลอโรฟอร์ม สารสกัดอะซีโตน ส่วนสกัดที่ละลายน้ำ สารสกัดเมทานอล และสารสกัดเมทานอลและเอทานอล ในอัตราส่วน 1:1 จากฝักส้มป่อย มีความเป็นพิษต่อเซลล์ CA-Colon-26-L5 อย่างอ่อน[9]
ประโยชน์ของส้มป่อย
- ยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ แจ่ว หรือนำมาปรุงรส เช่น ต้มปลา เนื้อเปื่อย หรือนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ทำแกงส้ม ต้มส้มไก่ ต้มข่าไก่ ต้มส้มป่อย ข้าวผัดดอกส้มป่อยหรือข้าวผัดปลาส้มแม่ม่าย แกงเขียดน้อยใส่ยอดส้มป่อย ยอดส้มป่อยอ่อง ใช้ใส่แกงปลาหรือเนื้อ ใส่แกงอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว เป็นต้น ส่วนชาวปะหล่องจะใช้ยอดอ่อนนำไปผสมกับน้ำพริกห่อใบตองแล้วนำไปหมกรับประทานหรือนำไปทำแกง ส่วนชาวกะเหรี่ยงจะใช้ทั้งยอดอ่อนและดอก เพื่อนำมาประกอบอาหาร เช่น ทำแกง[4],[6],[12]
- ใบของส้มป่อยถือเป็นผักที่มีวิตามินเอและเบต้าแคโรทีนสูงมากเป็นอันดับต้น ๆ ผลจากการทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของยอดส้มป่อยพบว่ามีสูงมาก และยังมีสารซาโปนินในฝักส้มป่อยที่ทำให้ทีเซลล์ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้นด้วย[12]
- ยอดอ่อนและใบอ่อนสามารถใช้เพื่อดับกลิ่นคาวปลาได้[4]
- ฝักแก่แห้งนำมาต้มเอาน้ำใช้สระผมแก้รังแค แก้อาการคันศีรษะ บำรุงเส้นผม ทำให้ผมชุ่มชื้นเป็นเงางาม เป็นยาปลูกผม และป้องกันผมหงอกก่อนวัย หรือใช้ต้มกับน้ำอาบหลังคลอด[1],[2],[4],[5],[12] ส่วนตำรับยาแก้รังแค อาการคันหนังศีรษะ และรักษาผมหงอกก่อนวัยนั้น ระบุว่าให้ใช้ฝักส้มป่อยที่ปิ้งไฟประมาณ 10 นาที นำมาต้มรวมกับลูกมะกรูดที่หมกไฟดีแล้ว 2 ลูก ในน้ำ 5 ลิตร แล้วต้มจนเดือดจนแตกฟองดี แล้วนำมาใช้หมักและสระผม หากสระผมด้วยส้มป่อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะช่วยทำให้อาการคันบนหนังศีรษะและรังแคหายไปได้[12]
- ชาวลั้วะจะใช้เปลือกต้นนำมาทุบใช้ขัดตัวเวลาอาบน้ำหรือนำไปใช้สระผม ส่วนชาวไทใหญ่จะใช้ฝักแห้งนำมาต้มกับน้ำอาบและใช้ขัดตัว หรือนำมาแช่น้ำใช้สระผม[6]
- ใบส้มป่อยถูกนำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพร โดยจะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ที่ช่วยชำละล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ ช่วยบำรุงผิวพรรณ เพิ่มความต้านทานโรคให้กับผิวหนัง แก้ปวดเมื่อย และช่วยแก้หวัดได้ และยังถูกนำมาใช้ในสูตรยาลูกประคบสมุนไพรเพื่อเป็นยาแก้โรคผิวหนัง บำรุงผิว ลดความดัน[5]
- ใบและฝักนำมาต้มกับน้ำอาบ ใช้ทำความสะอาด และบำรุงผิว[4]
- ใบส้มป่อยสามารถนำมาสกัดทำเป็นสีย้อมเส้นไหมได้ โดยสีที่ได้คือสีเขียวอ่อน สีเหลืองอ่อน สีน้ำตาลอ่อน หรือสีครีม[7] นอกจากนี้เปลือกต้นส้มป่อยยังให้สีน้ำตาลและสีเขียว ที่สามารถนำมาใช้ในการย้อมผ้า ย้อมแห และย้อมอวนได้[8]
- น้ำของฝักส้มป่อยสามารถนำมาใช้ขัดเครื่องเงิน เครื่องทอง และเครื่องโลหะอื่น ๆ ได้[8]
- ในด้านของความเชื่อส้มป่อยถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวล้านนา โดยชาวบ้านจะใช้ฝักในพิธีกรรมทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ ใช้ในงานมงคล ทำน้ำมนต์รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (เชื่อว่าเป็นการแสดงออกถึงความเคารพบูชาและเป็นการขอขมาลาโทษต่อผู้ใหญ่) หรือใช้สรงน้ำพระพุทธรูป ใช้อาบน้ำผู้ป่วยเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ไล่ผี ใช้ล้างหน้าลูกหลังและล้างมือหลังไปงานศพ (เชื่อว่าจะช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์โศกและไม่ให้สิ่งเลวร้ายมารบกวน) หรือจะใช้ใบส้มป่อยใส่ลงไปในน้ำเพื่อใช้สระผมก่อนพิธีโกนผมนาคเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนชาวเหนือจะใช้ฝักส้มป่อยเป็นของขลัง ที่ช่วยป้องกันตนจากสิ่งเลวร้ายในยามจะออกนอกบ้าน โดยจะใช้ฝักส้มป่อย 3 ข้อ และข้าวสุก 3 ก้อนขว้างไปข้างหน้า ข้างหลัง และข้างบน พร้อมกับกล่าวคำว่า “เคราะห์ตังหลัง อย่าไปอยู่ท่า เคราะห์ตังหน้า อย่าไปมาจน เคราะห์ตังบน อย่าไปมาต้อง” หรือในยามที่ไปงานศพ ชาวเหนือจะเอาฝักส้มป่อยใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือเหน็บไว้ที่ผม ด้วยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันผีสางมิให้มารบกวนได้ หรือในยามที่มีลมพายุชาวเหนือก็จะนำฝักส้มป่อยไปเผาไฟ เชื่อว่าจะทำให้ลมพายุอ่อนแรงลงได้ ฯลฯ (แต่ในช่วงฤดูกาลที่ไม่มีฝักจะใช้ใบแทนก็ได้ในบางกรณี) และชาวบ้านยังเชื่อว่าต้องเก็บฝักในช่วงก่อนฝนตกฟ้าร้อง เชื่อว่าจะมีความขลังมากยิ่งขึ้น ส่วนคนเมืองจะใช้ฝักนำไปทำน้ำส้มป่อย ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ หรือนำฝักแห้งมาใช้ใส่น้ำมนต์ในงานมงคลต่าง ๆ ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ฝักแก่แห้ง นำมาทำน้ำส้มป่อยหรือนำมาผูกกับตาแหลว (เครื่องรางอย่างหนึ่ง) เป็นต้น[6],[8],[10],[11]
- ส้มป่อยจัดเป็นไม้มงคลของชาวไทย โดยเชื่อว่าการปลูกส้มป่อยจะช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งเลวร้ายไม่ให้มารบกวน ช่วยเสริมหรือคืนอำนาจให้ผู้มีถาคาอาคม โดยกำหนดให้ปลูกไว้ทางทิศเหนือ[10]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ส้มป่อย (Som Poi)”. หน้า 282.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ส้มป่อย”. หน้า 33.
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ส้มป่อย” หน้า 178.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ส้มป่อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [28 ก.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ส้มป่อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [28 ก.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ส้มป่อย, ส้มป่อยป่า”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสารานุกรมสมุนไพร : รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช)., หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [28 ก.ค. 2014].
- พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “ส้มป่อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [28 ก.ค. 2014].
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม . “ส้มป่อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:www.dnp.go.th. [28 ก.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลความปลอดภัยของสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ส้มป่อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/poisonpr/. [28 ก.ค. 2014].
- สถาบันการแพทย์แผนไทย. “ส้มป่อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th. [28 ก.ค. 2014].
- เทศบาลเมืองทุ่งสง. “ส้มป่อย” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tungsong.com. [28 ก.ค. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 365 คอลัมน์: เรื่องเด่นจากปก. (ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร). “ส้มป่อย สุดยอดผักเพิ่มภูมิคุ้มกัน กำจัดพิษกาย พิษใจ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [28 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Jayesh Patil, Shubhada Nikharge, btc_flower, Indianature SI, Dinesh Valke), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)