ส้มกบ สรรพคุณและประโยชน์ของส้มกบ 38 ข้อ !

ส้มกบ สรรพคุณและประโยชน์ของส้มกบ 38 ข้อ !

ส้มกบ

ส้มกบ ชื่อสามัญ Creeping lady’s sorrel, Indian sorrel, Yellow wood sorrel, Wood sorreal

ส้มกบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxalis corniculata L.[4], Oxalis acetosella L.[1],[3] จัดอยู่ในวงศ์กระทืบยอด (OXALIDACEAE)

สมุนไพรส้มกบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มสังก๋า สังส้ม (แพร่), ส้มสังกา ส้มสามตา (เชียงใหม่), ส้มดิน หญ้าตานทราย (แม่ฮ่องสอน), เกล็ดหอยจีน ผักแว่น ผักแว่นเมืองจีน (ภาคกลาง), ซาเฮี้ยะซึ่งเช่า (จีน) เป็นต้น[1],[2],[4]

ลักษณะของส้มกบ

  • ต้นส้มกบ เป็นวัชพืชพุ่มเตี้ยมีอายุยืนหลายฤดู มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดินและมีไหลยาว ส่วนของลำต้นมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและไหล[1]

รูปส้มกบ

ต้นส้มกบ

สมุนไพรส้มกบ

  • ใบส้มกบ มีใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปหัวใจซึ่งเกิดจากจุดเดียวกันที่ปลายของก้านใบ และก้านใบมีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร[1]

ใบส้มกบรูปใบส้มกบ
  • ดอกส้มกบ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ มีกลีบดอกสีเหลือง ส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย แต่ละดอกมีปลายแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ ก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[4]

รูปดอกส้มกบ

ดอกส้มกบ

  • ผลส้มกบ ผลเป็นฝักตั้งตรง ฝักมีลักษณะเป็นเหลี่ยม 5 เหลี่ยม และมีขนขึ้นปกคลุม มีความยาวของฝักประมาณ 4-6 เซนติเมตร ผลแก่จะแห้งแตกและดีดเมล็ดออกมา[1]

ฝักส้มกบ

สารที่พบ : ลำต้นมีกรดมาลิก (Malic acid) ส่วนใบมีเกลือออกซาเลต (Oxalate) อยู่เป็นจำนวนมาก (ประมาณ 12% ของน้ำหนักแห้ง) และยังมีกรดซิตริก (Citric acid) และกรดทาร์ทาริก (Tartaric acid) อยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีธาตุแคลเซียม 5.6%, วิตามินซี 125 มิลลิกรัม% และแคโรทีน 3.6%[4]

สรรพคุณของส้มกบ

  1. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย โดยใช้ใบสดนำมาแกงกิน แถมยังช่วยทำให้เจริญอาหาร และช่วยในการย่อยอาหารอีกด้วย (ใบ)[5]
  2. ใช้เป็นยาเย็นช่วยทำให้เจริญอาหาร (เหง้า)[1],[4]
  3. ช่วยรักษาโรคนอนไม่หลับ ช่วยสงบประสาทและทำให้นอนหลับได้ ด้วยการใช้ต้นสดผสมกับซ่งจำสด 1 กิโลกรัมและน้ำ 8 ลิตร แล้วต้มให้เดือดนานถึง 1 ชั่วโมง เสร็จแล้วนำมากรองเอาแต่น้ำมาเก็บไว้
  4. อีกหม้อให้ต้มพุทราจีน 0.5 กิโลกรัมกับน้ำ 2 ลิตร แล้วต้มจนเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง เสร็จแล้วนำมากรองเอาแต่น้ำเช่นกัน แล้วนำทั้งสองมาผสมกันพร้อมกับใส่สารกันบูดกับน้ำตาลทรายลงไป แล้วนำมาแบ่งกินครั้งละ 15-20 มิลลิลิตร วันละ 3 เวลา (ต้น)[4]
  5. ช่วยแก้อาการหวัดร้อน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[5]
  6. ช่วยดับพิษร้อนภายใน ช่วยถอนพิษ ช่วยทำให้เย็น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[5]
  7. ช่วยแก้อาการร้อนในในปากและเพดานลิ้นเป็นฝ้า และมีเม็ดแดงขึ้นแถวเพดานลิ้นทำให้เจ็บที่ใต้ขากรรไกร (ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกร) และมีอาการเจ็บคอ ให้นำส้มกบมาเคี้ยวกิน เคี้ยวไปสัก 4-5 รอบอาการจะดีขึ้น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[7]
  8. น้ำคั้นจากใบและต้นใช้จิบกินบ่อย ๆ จะช่วยแก้อาการไอได้ (ใบ, ต้น)[2],[5] หรือหากมีอาการไอหรือหอบก็ให้ใช้ต้นสดนำมาต้มผสมกับข้าวใช้กินวันละ 3 เวลาก็ได้ (ต้น)[4]
  9. ส้มกบช่วยแก้อาการเจ็บคอ ในคอมีเม็ดแดง ๆ กลืนอะไรไม่ค่อยได้ ด้วยการใช้ต้นสดมาเคี้ยวกินประมาณ 2-3 รอบ ห่างกันรอบละ 3-4 ชั่วโมง จะผสมเกลือไปด้วยเล็กน้อยเพื่อแก้เปรี้ยวด้วยก็ได้ (ต้น)[4],[5],[7]
  10. ช่วยขับเสมหะ ด้วยการใช้ต้นและใบ (ไม่รวมราก) นำมาล้างให้สะอาด แล้วปั้นเป็นก้อนเท่าหัวแม่มือ ผสมกับเกลือเล็กน้อยพอเค็ม แล้วนำมาใช้อมและค่อย ๆ เคี้ยวกลืนเอาน้ำผ่านลงคอไปอย่างช้า ๆ โดยให้ทำวันละ 3-4 ครั้ง (ใบ, ต้น)[2]
  1. ช่วยแก้ฝีในลำคอ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[5]
  2. ช่วยรักษาอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือกระอักเลือด ให้ใช้ต้นแห้งประมาณ 12 กรัม นำมาผสมกับเกลือเล็กน้อยแล้วใช้ต้มกับน้ำกิน (ต้น)[4],[5]
  3. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาอุดรูจมูกไว้ (ต้น)[4]
  4. ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ต้นส้มกบนำมาขยี้กับเกลือเล็กน้อย แล้วเอาไปใช้ปิดซอกเหงือกที่มีอาการปวดทิ้งไว้สักครู่ อาการปวดก็จะบรรเทาลง เมื่อรู้สึกว่ายาจืดแล้วก็ให้เปลี่ยนใหม่ โดยเปลี่ยนยาสักประมาณ 2 ครั้ง อาการปวดฟันก็จะหายไป (ต้น)[5],[7]
  5. ช่วยรักษาโรคดีซ่านตัวเหลือง ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-45 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 2 เวลา (ต้น)[4]
  6. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
  7. ช่วยแก้อาการบิด ด้วยการใช้ต้นแห้งนำมาบดให้เป็นผง ใช้ชงกับน้ำต้มสุก ดื่มครั้งละ 15 กรัม (ต้นแห้ง)[4]
  8. ช่วยแก้อาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[5]
  9. ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการใช้ต้นสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้ผสมกับน้ำผึ้งกิน (ต้น)[4]
  10. ช่วยแก้หนองใน ด้วยการใช้ต้นสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำแล้วนำมาผสมกับน้ำผึ้งกิน (ต้น)[4]
  11. ช่วยรักษาแผล ด้วยการใช้น้ำคั้นจากต้นนำมาใช้ล้างแผล จะช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น (ต้น)[5]
  12. ช่วยรักษาแผลไฟลวก โดยใช้ต้นสดล้างสะอาดนำมาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำมันพืช นำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล (ต้น)[4],[5]
  13. ช่วยรักษาแผลน้ำร้อนลวก โดยใช้น้ำคั้นจากใบส้มกบ เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาเย็น จึงนำมาใช้รักษาแผลน้ำร้อนลวกได้ดี (ใบ)[5]
  14. ช่วยรักษาแผลฟกช้ำบวม แก้ช้ำใน ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 60 กรัม นำมาตำให้ละเอียดแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล หรือใช้ผสมกับน้ำตาลแดงต้มกินก็ได้เช่นกัน โดยใช้ในขนาดเท่ากัน (ต้น)[4],[5]
  15. ช่วยรักษารากฟันเป็นหนอง ด้วยการใช้ต้นสดผสมกับเกลือเล็กน้อย นำมาตำเพื่อคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็นวันละ 3-5 ครั้ง (ต้น)[4]
  16. ช่วยแก้ฝี ด้วยการใช้ต้นสดผสมกับน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย ตำให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี จะช่วยแก้อาการปวดและทำให้หัวฝีแตกเร็วยิ่งขึ้น (ต้น)[5]
  17. ช่วยแก้ฝีที่เต้านม ให้ใช้ต้นแห้งประมาณ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ส่วนกากที่เหลือให้นำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นฝี (ต้น)[4]
  18. ใช้ทาภายนอกช่วยขัดหูด ตาปลา และเนื้อปูชนิดอื่น ๆ (เหง้า)[1],[4]
  19. ช่วยรักษาโรคเรื้อน ด้วยการใช้ต้นแห้งประมาณ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นชา (ต้นแห้ง)[4]
  20. ช่วยแก้กลาก เกลื้อน ด้วยการใช้ต้นสดนำมาล้างให้สะอาด นำมาขยี้หรือตำแล้วใช้ถูบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนวันละ 3-4 ครั้งจนกว่าจะหาย (ต้น)[5]
  21. ช่วยแก้พิษลำโพง (น้ำคั้นจากใบสด)[5]
  22. ใช้ตำพอกเท้า แก้อาการปวด ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยรูมาติสม์ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[5]
  23. ช่วยแก้ข้ออักเสบ อาการเคล็ดขัดยอกและมีอาการปวดบวม ด้วยการใช้ใบส้มกบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นอาการช้ำบวม จะช่วยทำให้รู้สึกเย็น และอาการปวดบวมจะน้อยลง (ใบ)[5]
  24. หากกระดูกหัก ให้ใช้ต้นส้มกบ เปลือกต้นสบู่ขาว และพริกไทย 5 เม็ด นำมาตำผสมกับเหล้าขาวแล้วนำมาผัดให้อุ่น พอกให้หนา แล้วใช้ไม้พันผ้าให้แน่น (ต้น)[6]
  25. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ระบุว่าน้ำคั้นจากต้นส้มกบมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Staphylococcus aureus และแบคทีเรียพวกแกรมบวกอื่น ๆ แต่จะไม่มีผลกับเชื้อ Escherichia coli (ต้น)[4]
  26. มีรายงานทางคลินิกพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการตับอักเสบชนิดที่ติดต่อได้ จากการรักษาโดยใช้ต้นส้มกบสดประมาณ 30 กรัม นำมาตุ๋นกับเนื้อหมูไม่ติดมัน 30 กรัม ใช้รับประทานวันละ 1 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งจากการรักษาผู้ป่วย 20 ราย พบว่าได้ผลดีมาก (ต้น)[6]

ประโยชน์ของส้มกบ

  • ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้เช่นเดียวกับผักดอง[1]
  • นอกจากจะใช้เป็นอาหารแล้ว ยังนำมาใช้แทนมะขามเปียกในยามที่มะขามเกิดขาดแคลนได้ เนื่องจากส้มกบมีรสเย็น เปรี้ยว เค็ม และหวานเล็กน้อย[5]

ข้อควรระวังในการรับประทานส้มกบ

  • ส้มกบมีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร การรับประทานครั้งละมาก ๆ อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ได้[3],[7]
  • ทุกส่วนของต้นส้มกบยังมีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) หากได้รับเข้าไปในปริมาณมาก อาการเป็นพิษจะเกิดภายหลังได้รับเพียง 1-2 วัน โดยจะมีอาการอาเจียน เกิดอาการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร ถ่ายเป็นเลือด มีอาการท้องบวม และอาจมีอาการปวดศีรษะ มีอาการชัก และถึงขั้นโคม่า หน้าเกร็ง อาจมีอาการอักเสบของไต ทำให้มีเลือดและไข่ขาวในปัสสาวะ และเมื่อนำมาใช้เป็นยาภายในไม่ควรใช้ติดต่อกันนานถึง 3 วัน เนื่องจากกรดออกซาลิกอาจทำให้เกิดนิ่วในไตได้ หากใช้ติดต่อกันนานเกินไป[2],[3],[5]
  • หากใช้ยานี้ติดต่อกัน 2 วันแล้วและอาการยังไม่ดีขึ้นเลย ควรหยุดใช้และเปลี่ยนยาใหม่[7]
  • สำหรับผู้ที่ไตไม่ดีหรือเป็นโรคนิ่วในไต ไม่ควรรับประทานสด แต่ควรใช้วิธีต้มเอาน้ำมาอมกลั้วคอแทน โดยไม่ต้องกลืนกินลงไป[7]
  • ในประเทศออสเตรเลีย ต้นส้มกบมีพิษต่อแกะ เมื่อกินเข้าไปแล้วจะมีอาการเดินโซเซและล้มตายไปในที่สุด[4],[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. นวัตกรรมการบริหารงานวิจัย การสร้างขุมความรู้เพื่อรองรับการวิจัยเชิงพื้นที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ส้มกบ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th.  [30 พ.ย. 2013].
  2. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “ส้มกบ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [30 พ.ย. 2013].
  3. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “Oxalis acetosella L.“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [30 พ.ย. 2013].
  4. สมุนไพรดอตคอม.  “ส้มกบ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:www.samunpri.com.  [30 พ.ย. 2013].
  5. GotoKnow.  “สมุนไพรส้มกบ รักษาสุขภาพ“.  (ยุวดี พรรณกุลบดี).  อ้างอิงใน: ฐานข้อมูลทรัพยากรพืชพรรณของฝ่ายปฏิบัติการวิจัย (นพพล เกตุประสาท งานเรือนปลูกพืชทดลอง ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org.  [30 พ.ย. 2013].
  6. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  “ส้มกบ สามหัวใจสมุนไพรใช้ได้ดีในผู้ป่วยโรคตับ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th.  [30 พ.ย. 2013].
  7. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 62 คอลัมน์: ประสบการณ์รอบทิศ.  “ส้มกบแก้เจ็บคอ“.  (ภก.สุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [30 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Teo Siyang, 澎湖小雲雀, naturgucker.de, yokohamayomama, l_14_nt, cerberilla, mingiweng)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด