สิวอักเสบ
สิวอักเสบ (Inflamed Acne) คือ สิวที่เกิดอาการอักเสบบริเวณรูขุมขนและต่อมไขมันใต้ผิวหนัง จนปรากฏอาการออกมาเป็นสิวลักษณะต่าง ๆ ที่มักก่อให้เกิดความเจ็บปวดหากสัมผัสโดนบริเวณนั้น ลักษณะของสิวอักเสบนั้นจะสังเกตได้จากสิวขนาดใหญ่ที่นูนขึ้นมาพร้อมกับความบวมแดงและบางชนิดปรากฏให้เห็นเป็นหนองสีขาวขุ่นตรงกลางหัวสิว โดยสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่รูขุมขนอุดตัน กรรมพันธ์ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปตามรอบประจำเดือน เป็นต้น
สาเหตุของสิวอักเสบ
สิวอักเสบอาจเกิดจากการอุดตันในรูขุมขนและต่อมไขมันใต้ผิวหนังบริเวณสิวอุดตัน หรืออาจเกิดกระบวนการอักเสบขึ้นมาเองบริเวณผิวหนังปกติ โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบนั้นก็หลายอย่าง หลัก ๆ คือ
- เชื้อแบคทีเรีย P.acnes ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยปกติเชื้อ P. acnes (Propionibacterium acnes)* จะอาศัยอยู่ในรูขุมขนตามธรรมชาติและไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติใด ๆ แต่เมื่อแบคทีเรียชนิดนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นมันจะไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงาน ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันจะกระตุ้นให้รูขุมขนเกิดการอักเสบเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดเป็ยสิวอักเสบตามมา
- สิวอุดตัน/การอุดตันในรูขุมขน เพราะสิวอุดตันเกิดจากการอุดตันของไขมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ทำให้ P. acnes เจริญเติบโตได้ดีเมื่อเกิดไขมันอุดตันในรูขุมขน (เชื้อ P.acnes จะดึงดูดเม็ดเลือดขาวเข้ามาในตุ่มสิว กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และยังมีเอนไซม์ช่วยในการย่อยน้ำมัน (Sebum) ในตุ่มสิวให้กลายเป็นกรดไขมันที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ) นำไปสู่กลไกการอักเสบของสิว ในคนที่มีสภาพผิวมันจากสาเหตุต่าง ๆ จะมีความเสี่ยงที่จะมีเชื้อ P. acnes และเกิดสิวอักเสบได้มากกว่าคนทั่วไป
ส่วนปัจจัยร่วมอื่น ๆ ก็เช่น กรรมพันธุ์, ความเครียด, การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือนหรือช่วงตั้งครรภ์ (ผู้หญิง), ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่เพิ่มมากขึ้น (ฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นต่อมไขมันใต้ผิวหนังให้ทำงานมากขึ้น), ผลข้างเคียงของยาบางชนิด, ภาวะภูมิไวเกินที่ตอบสนองต่อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว, การรักษาความสะอาดที่ไม่เหมาะสม, การล้างหน้ามากเกินไป, การสครับผิว, การสูบบุหรี่ (อาจเพิ่มความสูงในคนที่อายุมาก), อาหารทอด ๆ มัน ๆ
หมายเหตุ : เชื้อ Propionibacterium acnes (P. acnes) ในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Cutibacterium acnes (C. acnes) แล้ว ถ้าคุณเห็นคำว่า C. acnes ก็ไม่ต้องสับสนหรือแปลกใจไป และขอให้เข้าใจว่า P. acnes ก็คือ C. acnes
ประเภทของสิวอักเสบ
- สิวอักเสบแบบตุ่มนูนแดง (Papule) เป็นสิวอักเสบที่พัฒนามาจากสิวอุดตันและสิวที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวของเรา เป็นสิวที่รักษาได้ง่าย ถ้ารู้ตัวว่าเป็นละก็ ก่อนนอนให้โปะด้วยคลินดามัยซินลงบนหัวสิว พอตื่นมาสิวก็จะไม่เพิ่มขนาดขึ้น แถมยังช่วยลดความแข็งของหัวสิวลงได้อีกด้วย แต่สำหรับบางคนยาชนิดนี้อาจออกฤทธิ์ดีจัด จนทำให้สิวยุบลงไปเลยก็มี
- สิวอักเสบแบบหัวหนอง (Pustule) สิวอักเสบหัวหนองแบบแรกจะเป็นสิวแบบตื้น ๆ รับมือได้ง่าย ไม่มีอาการเจ็บ มีลักษณะเป็นหนองเกาะนูนอยู่บนผิว โดยปกติแล้วถ้าเราจะใช้บีพีโอ (BPO หรือ Benzoyl peroxide) เป็นประจำ สิวอักเสบหัวหนองแบบตื้นก็แทบจะไม่มากวนใจเราเลย ส่วนอีกแบบจะเป็นสิวอักเสบแบบลึก จะใช้ระยะเวลาการรักษานานกว่าแบบแรก แถมยังเจ็บอีกด้วย เป็นสิวที่พัฒนามาจากแบบแรกจนกลายร่างเป็นแบบลึก เพราะเราปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งมันตั้งแต่แรก ถ้าเป็นถึงขั้นนี้ก็ให้รีบรักษา เพราะถ้าลุกลามไปมากกว่านี้จะรักษาได้ยากและทิ้งรอยไว้ให้หนักใจกันนานเลยทีเดียว
- สิวอักเสบแบบตุ่มแดงก้อนลึก (Nodule) จะมีลักษณะคล้ายกับสิวอักเสบแบบตุ่มนูนแดง แต่สิวแบบนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าและจะรู้สึกได้ว่ามันแข็งเป็นไต เมื่อสัมผัสหรือกดดูจะรู้ว่าสิวนั้นลึกลงไปถึงข้างใน ไม่ใช่แข็งเป็นไตนูนแค่บนผิว สิวแบบนี้จะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะยุบ แต่ถ้าเราดูแลดี ๆ สิวชนิดนี้ก็จะไม่ทิ้งรอยแผลไว้บนใบหน้าของเรา (ไม่สนับสนุนให้กด เพราะยิ่งกดจะยิ่งเห่อ)
- สิวอักเสบแบบถุงใต้ผิวหนัง (Cyst acne) ถ้าเป็นสิวชนิดนี้แนะนำว่าให้รีบไปหาหมอโดยด่วน อย่าคิดรักษาด้วยตัวเองหรือลองใช้อะไรด้วยตัวเอง เพราะสิวชนิดนี้นับว่าเป็นสิวอักเสบที่รุนแรง มีลักษณะเป็นถุงขนาดใหญ่ รูปร่างไม่จำกัดอยู่แค่รูปวงกลมเท่านั้น เพราะบางทีก็เป็นตุ่มแดง ๆ บางทีก็เป็นถุงที่มีหนองอยู่ข้างใน ซึ่งมักจะอยู่รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ๆ เมื่อเจ้าสิวชนิดนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องใจเย็นกับการรักษา หยุดทุกการกระทำกับใบหน้า เรื่องแต่งหน้าเลิกคิดไปได้ แล้วรีบไปหาหมอ แล้วอย่าลืมทำใจเอาไว้ด้วยว่าอาจมีรอยแผลเป็นแน่ ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรักษาสิวให้หายก่อน ส่วนรอยแผลเป็นต่าง ๆ เดี๋ยวค่อยมาหาทางรักษาทีหลังก็ยังไม่สาย
การรักษาสิวอักเสบ
การรักษาสิวโดยทั่วไปคือ การป้องกันการเกิดสิวใหม่และลดการอักเสบของรอยโรคเดิมลง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลา ปัจจุบันวิธีการรักษาสิวอักเสบจะมีทั้งยาทาเฉพาะที่ ยารับประทาน และการรักษาด้วยเครื่องมือแพทย์ หากอาการไม่รุนแรงนัก ในเบื้องต้นก็อาจรักษาด้วยตนเองได้ โดยใช้ยาภายใต้คำแนะนำของเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ แต่หากมีสิวขึ้นจำนวนมากหรือรักษาด้วยตนเองแล้วอาการยังไม่ทุเลาลง ก็ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจรักษา
การรักษาสิวอักเสบด้วยวิธีการต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนกว่าจะเห็นผล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุของการเกิดสิวอักเสบด้วย สำหรับสิวอักเสบระดับไม่รุนแรงไปจนถึงระดับรุนแรงปานกลาง การรักษาส่วนหลัก ๆ จะเป็นการใช้ครีมหรือเจลแต้มสิวที่มีตัวยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์และตัวยาคลินดามัยซินเพื่อฆ่าเชื้อ P. acnes และลดการอักเสบ ร่วมไปกับการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ (อาจมีเสริมด้วยยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิด) ส่วนการรักษาสิวอักเสบระดับรุนแรงไปจนถึงสิวซีสต์ หากใช้ยาข้างต้นไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา การรักษาระดับถัดมาจะเป็นการรักษาด้วยแพทย์ซึ่งมีอยู่หลายวิธี โดยการรักษาทั้งหมดนั้นมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้
- ปรึกษาแพทย์ สิวเป็นปัญหาผิวที่เกิดขึ้นได้ทุกคน บางคนอาจเกิดขึ้นและหายไปเองได้โดยไม่ต้องทำอะไร แต่ในผู้ที่เป็นสิวเรื้อรังอาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะปัญหาสิวในแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันไปและอาจไม่ได้เกิดจากเชื้อ P. acnes เสมอไป ซึ่งแพทย์จะช่วยหาสาเหตุและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้
- เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide หรือ BPO) เป็นยาทาสำหรักรักษาสิวที่แนะนำให้ใช้เป็นตัวแรก ๆ สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา เหมาะสำหรับการรักษาสิวอุดตันและสิวอักเสบ ยี่ห้อหรือชื่อทางการค้าที่คุ้นเคย คือ Benzac® (เบนแซค) มีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรียและช่วยทำให้ผิวแห้ง ส่งผลให้น้ำมันส่วนเกิดและสิ่งสกปรกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดสิวถูกชะล้างออกใบหน้าได้ง่าย โดยยานี้จะมีความเข้มข้นตั้งแต่ 2.5-10% (ในไทยมีจำหน่ายแค่ 2.5 กับ 5%) ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และควรเริ่มที่ความเข้มข้นน้อยก่อน ใช้ทาบาง ๆ ลงบนผิว โดยควรล้างมือและผิวบริเวณที่ต้องการทายาให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนทายา หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานานเพราะยานี้อาจทำให้ผิวบอบบางลงและไวต่อแสงแดด และหากใช้ไปแล้ว 3-4 สัปดาห์อาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
- คลินดามัยซิน (Clindamycin) ยาปฏิชีวนะแบบทา (Topical antibiotics) ที่มักอยู่ในรูปของครีมหรือเจลแต้มสิว มักใช้รักษาสิวอักเสบเพราะได้ผลค่อนข้างดี โดยมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ P. acnes นิยมใช้ในการรักษาสิวร่วมกับ BPO เพราะจะให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นและไม่เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ก่อนทายาต้องทำความสะอาดผิวให้สะอาดและซับให้แห้งก่อนทุกครั้ง ทายาบางๆ ที่หัวสิว วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น (ในกลุ่มยาทาปฏิชีวนะนอกจากคลินดามัยซินแล้วยังมีอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ด้วยที่เป็นยาทาลดสิวอักเสบ เพียงแต่จะไม่นิยมเท่าคลินดามัยซิน)
- ตัวอย่างยาทาคลินดามัยซิน : Preme NOBU acne gel clindamycin 1% เจลแต้มสิวที่ใช้วัตถุดิบตัวยาสำคัญของคลินดามัยซินจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เนื้อเจลใส ไร้สี เกาะผิวได้ดี ทาแล้วไม่เหนอะหนะ ซึมผ่านผิวหนังได้ดี ทำให้ความเข้มข้นของตัวยาออกฤทธิ์ได้ดีอย่างสม่ำเสมอ
- ตัวอย่างยาทาคลินดามัยซิน : Preme NOBU acne gel clindamycin 1% เจลแต้มสิวที่ใช้วัตถุดิบตัวยาสำคัญของคลินดามัยซินจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เนื้อเจลใส ไร้สี เกาะผิวได้ดี ทาแล้วไม่เหนอะหนะ ซึมผ่านผิวหนังได้ดี ทำให้ความเข้มข้นของตัวยาออกฤทธิ์ได้ดีอย่างสม่ำเสมอ
- ยาทาในกลุ่มเรตินอยด์ (Topical retinoids) อนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ มีฤทธิ์เร่งการสร้างเซลล์และผลัดเซลล์ผิว โดยเฉพาะที่ผนังรูขุมขน ทำให้หัวสิวหลุดลอก ช่วยลดความมันบนใบหน้า ลดการเกิดสิว และมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ที่นิยมใช้มีอยู่ด้วยกัน 2 ตัวหลัก ๆ คือ
- เตรทติโนอิน (Tretinoin) โดยยี่ห้อที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางก็คือ Retin-A® (เรติน-เอ) ที่อยู่ในรูปแบบครีมที่มีความเข้มข้น 0.025%, 0.05% และ 0.1% นิยมใช้รักษาสิวอุดตันหรือสิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน รวมทั้งสิวอักเสบ (แต่นิยมใช้รักษาสิวอุดตันมากกว่า) แต่การใช้ยานี้จะทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง ผิวแห้งลอก โดยเฉพาะหากยิ่งใช้ในปริมาณมาก ๆ หรือใช้ความเข้มข้นสูง ๆ (ผู้ที่ไม่เคยใช้มาก่อนควรใช้เริ่มต้นที่ 0.025%) และการใช้ในช่วงแรกมักทำให้สิวเห่อขึ้นมา (เป็นการดันตัวขึ้นมาของสิวที่อุดตันอยู่ใต้ผิว) แต่หลังจากทาอย่างต่อเนื่องอาการผิวแห้งลอกจะค่อย ๆ ไป และสิวจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไป
- อะดาพาลีน (Adapalene) ที่มีชื่อทางการค้าว่า Differin® (ดิฟเฟอริน) มีความเข้มข้น 0.1% ใช้ร่วมกับ BPO ได้ การออกฤทธิ์เหมือนกัน มีความระคายเคืองต่ำกว่า ใช้แล้วหน้าแห้งแดงลอกน้อยกว่าเรตินเอ (แต่มีราคาสูงกว่าเรตินเอ) และให้ผลดีกว่าในการรักษาสิวอักเสบ
- ยาทากรดอะซีลาอิก (Azelaic acid) ใช้รักษาสิวที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ความเข้มข้นมีทั้ง 15 และ 20% ยี่ห้อที่นิยมคือ คือ Skinoren® (สกินอเรน) 20% มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย P. acnes ลดการอักเสบ และช่วยละลายสิวอุดตันได้ (แต่ฤทธิ์ลดการอักเสบจะไม่ดีเท่า 3 ตัวแรก) มีผลข้างเคียงคือ อาการระคายเคือง แสบร้อน คัน
- แผ่นดูดสิว ใช้ง่ายเพียงแค่นำมาแปะบนหัวสิวในตอนกลางคืนก่อนนอน แผ่นดูดสิวก็จะดูดเม็ดสิวหรือหนองออกมาจากผิวหนัง โดยจะมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ แผ่นดูสิวชนิดมีตัวยารักษา (Medicated) เช่น Salicylic และ Tea Tree Oil ที่ใช้ได้กับสิวอักเสบทุกชนิด ช่วยให้สิวยุบตัวลงและแห้งไปเอง, แผ่นดูดสิวชนิดไม่มีตัวยา (Non-medicated) ที่ใช้กับสิวหัวหนอง และแผ่นดูดสิวชนิดหัวเข็มละลายสิว (Microneedle) ที่เหมาะกับสิวหัวช้างและสิวซีสต์ โดยเป็นการใช้เข็มเล็ก ๆ ที่สามารถละลายได้เป็นตัวเจาะสิวพร้อมให้ตัวยาซึมลงไป
- ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน (Systemic antibiotics) ใช้เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวและอาการอักเสบตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น ด็อกซีไซคลิน อิริโทรมัยซิน เตตราไซคลีน ฯลฯ ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ออกฤทธิ์โดยการเข้าไปลดการผลิตโปรตีนที่เป็นแหล่งอาหารของแบคทีเรีย ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์และฉลากยาอย่างเคร่งครัด เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ และควรหยุดใช้ยาหากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลงหลังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง 6-8 สัปดาห์ ใช้ยาสูงสุดต่อเนื่องได้ไม่เกิน 24 สัปดาห์
- การปรับฮอร์โมนด้วยยาเม็ดคุมกำเนิด สำหรับสิวอักเสบที่เกิดเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในร่างกาย แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม หรือยาต้านฮอร์โมนเพศชาย (Anti-Androgen) เพื่อช่วยลดผลจากการมีฮอร์โมนเพศชายมากระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันใต้ผิวมากเกินไป จนทำให้เกิดการผลิตน้ำมันมากจนเสี่ยงต่อการเกิดสิวต่าง ๆ รวมทั้งสิวอักเสบ แต่ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนใช้ยานี้เพื่อให้ทราบถึงผลข้างเคียงของการใช้ยา การเลือกชนิดยาคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับตนเอง และเพื่อให้แน่ใจว่าสิวอักเสบที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากฮอร์โมนจริง ๆ
- ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) ชนิดรับประทาน ยาอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอที่รู้จักกันในชื่อทางการค้า คือ Roaccutane® (โรแอคคิวเทน), Acnotin® (แอคโนทิน), Isotane® (ไอโซเทน), Sotret® (โซเตรส) เป็นต้น โดยมีฤทธิ์กดการทำงานของต่อมไขมันโดยตรงทำให้ผลิตสารที่เป็นไขมัน (Sebum) ลดลง, ลดปริมาณของเชื้อ P. acnes, ลดการอักเสบบวมแดงของสิว และยับยั้งการสร้างคอมีโดนหรือสิวอุดตัน จัดเป็นยาอันตรายที่มีใช้สำหรับรักษาสิวที่มีอาการรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ และต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ยานี้นับว่ามีประสิทธิภาพดีมาก แต่ผลข้างเคียงก็มากและรุนแรงด้วยเช่นกันหากใช้อย่างผิดวิธี ในหญิงตั้งครรภ์ห้ามใช้โดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ รวมไปถึงหญิงที่ต้องการจะตั้งครรภ์ก็ห้ามใช้เช่นกัน และต้องคุมกำเนิดในระหว่างใช้ยานี้ด้วย
- การรักษาด้วยโฟโตไดนามิก (Photodynamic Therapy) เป็นการใช้สารไวแสงไปเพิ้มประสิทธิภาพการทำงานของแสง เมื่อทาสารไวแสงลงบนผิว ตัวสารจะถูกดูดซึมมากในเซลล์ที่ผิดปกติ (เช่น ต่อมไขมันที่ทำงานมากเกินไปหรือมีการอักเสบของสิว) และเมื่อยิงด้วยเลเซอร์ IPL ตัวสารบวกกับแสงจะทำให้กิดกลไกการรักษาาิว 3 อย่าง คือ เกิดสาร ROS ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ P. acnes, เกิดการทำลายเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงต่อมไขมัน, เกิดการทำลายต่อมไขมัน (จากสารไวแสงที่ไปสะสมที่ต่อมไขมัน) จึงช่วยลดขนาดและการทำงานของต่อมไขมันลง โดยรวมจึงช่วยลดความมันและการเกิดสิวต่าง ๆ ได้
- การใช้เครื่องสุญญากาศดูดสิว (Isolaz) Isolaz เป็นชื่อทางการค้าของเครื่องมือนี้ โดยเครื่องจะมีหัวยิงที่เมื่อแตะลงบนผิวแล้วจะทำการดูดผิวขึ้นมาพร้อมกับการฉายแสงความเข้มข้นสูง (ที่ช่วงคลื่น 400-550 นาโนเมตร ซึ่งช่วยลดเชื้อแบคทีเรียก่อสิวได้) ซึ่งการดูดนี้จะช่วยดูดเอาสิ่งสกปรก หัวสิว หรองหรือของเหลว หรือสิ่งตกค้างในรูขุมขนออก ทำให้รูขุมขนสะอาด โดยมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพการรักษาด้วยวิธีนี้แล้วพบว่าผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ Isolaz เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการใช้รักษาควบคู่ไปกับยากินหรือยาทาเพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้น และยังเหมาะกับคนที่รักษาสิวด้วยยาทาและยากินแล้วไม่ได้ผล หรือมีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้ยา
- การกดสิว โดยปกติจะทำโดยแพทย์เพื่อขจัดสิวอุดตัน แต่สำหรับสิวอักเสบไม่ควรบีบหรือแกะสิวเอง เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำลงไปบริเวณนั้น ทำให้เกิดรอยดำหรือแผลและสิวใหม่ตามมาได้ ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบมาก วิธีที่แนะนำคือการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในตำแหน่งที่เกิดสิวอักเสบนั้นเพื่อให้สิวยุบลงจะดีกว่า
- การฉีดสเตียรอยด์ (Steroid) หรือ การฉีดสิวอักเสบ เป็นการรักษาสิวก้อนลึกและสิวซีสต์ ทำให้การบวมอักเสบของสิวหายไปโดยที่ไม่ต้องบีบสิวออกมา โดยตัวยาที่นิยมนำมาใช้ในการฉีด คือ ยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) ที่นำมาฉีดเข้าไปยังบริเวณที่เป็นสิวอักเสบนั้น นิยมใช้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนหรือมีงานสำคัญ เช่น งานแต่งงาน งานรับปริญญา หรือดาราที่ต้องใช้ใบหน้าในการเข้าฉาก หรือมีสิวอักเสบเม็ดใหญ่เพียง 1-2 เม็ด แต่ไม่อยากทานยาหรือทานยาไม่ได้ เพราะเมื่อฉีดแล้วสิวจะยุบตัวได้รวดเร็ว จึงช่วยลดการทานยา และลดโอกาสการเกิดแผลเป็นได้ แต่การฉีดยานั้นแพทย์จะต้องระวังในเรื่องของปริมาณยาที่ใช้ฉีด เพราะถ้าฉีดในปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดผลแทรกซ้อน เช่น ผิวบุ๋มหรือยุบลงไป และมีโอกาสเกิดการแพ้ยาได้
- การผ่าตัด จำเป็นสำหรับผู้ที่เป็นสิวซีสต์ซึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือวิธีการต่าง ๆ ตามที่กล่าวมา และต้องทำโดยแพทย์เพื่อลดการเกิดผลแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะใช้ยาชาฉีดหรือทาเฉพาะที่ (ไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำ สามารถทำในคลินิกผู้ป่วยนอกและกลับบ้านได้ภายหลังทำการผ่าตัด) แล้วทำการผ่าตัดเพื่อนำสิ่งอุดตันออกมา
- การผลัดเซลล์ผิวด้วยกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) หรือบีเอชเอ (BHA) วิธีนี้เป็นการรักษาร่วม เพราะไม่มีผลในการฆ่าเชื้อ P. acnes หรือลดการอักเสบได้โดยตรง แต่จะเป็นการใช้กรดเพื่อขัดลอกผิวชั้นนอกเพื่อลดการอัดตันของน้ำมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหรือลดการเกิดสิวอุดตันที่อาจเป็นต้นเหตุของการเกิดสิวอักเสบ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น รอยแดง ผิวพุพอง
- ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง การรักษาสิวอักเสบอาจต้องใช้เวลาในการรักษามากน้อยแตกต่างกันไป และแพทย์อาจสั่งจ่ายยาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งยาทาและยากิน ซึ่งควรใช้และทานอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด ไม่หยุดยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยาจนยากต่อการรักษา นอกจากนี้ แพทย์อาจมีวิธีรักษาอื่น ๆ ด้วยอย่างการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งก็ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามที่นัดหมายไว้ด้วยเช่นเดียวกัน
- ลดการสัมผัสใบหน้า ไม่บีบ แกะ กด หรือเกาสิว ไม่ว่าตุ่มสิวจะรบกวนจิตใจและความมั่นใจของคุณแค่ไหน เพราะการสัมผัสผิวบริเวณที่เป็นสิวจะเพิ่มโอกาสในการเกิดสิวเพิ่มขึ้น ทำให้รูขุมขนและผิวหนังที่สิวอักเสบรุนแรงมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดรอยแผลเป็นบนผิวหนัง อีกทั้งนิ้วมือและเล็บมือยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคหลายชนิด เมื่อนำมาสมผัสกับสิวหรือแผลสิวก็อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจนเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสสิวเสมอ ไม่ควรสครับผิวในขณะที่ผิวยังเป็นสิวอักเสบ รวมถึงผลัดเซลล์ผิวจนเกินความจำเป็น เพราะอาจทำให้อาการสิวรุนแรงขึ้นได้
- รักษาความสะอาดใบหน้าอย่างเหมาะสม ด้วยการล้างเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนเข้านอน (ไม่นอนหลับไปพร้อมกับเครื่องสำอาง และควรใช้โทนเนอร์เช็ดคราบสกรกหรือเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนล้างหน้า) และล้างหน้าเพียงวันละ 2 ครั้งในช่วงเช้าและก่อนเข้านอนด้วยน้ำสะอาดและผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวหน้า ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพื่อขจัดไขมันและสิ่งสกปรกที่อุดตันบนผิว (การล้างหน้าบ่อยเกินไปหรือมากกว่าวันละ 2 ครั้งอาจทำให้ผิวอ่อนแอ เกิดการระคายเคือง และไวต่อการเกิดสิวได้ แต่หากวันไหนทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกหรือออกกำลังกายหรือไปสัมผัสสิ่งสกปรกมากกว่าปกติหรือทำกิจกรรมนอกสถานที่ สามารถเพิ่มจำนวนในการล้างหน้าได้ตามความเหมาะสม)
- ใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Normal Saline Solution) ควรใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อเช็ดทำความสะอาดบริเวณหัวสิวหลังล้างหน้าหรือหลังจากรักษาสิว เช่น กดสิว เลเซอร์สิว ฯลฯ หรือใช้เช็ดบริเวณหัวสิวก่อนทายาแต้มสิวตามปกติ เพื่อความสะอาด ลดการติดเชื้อ และช่วยให้สิวอักเสบที่เป็นอยู่แห้งเร็วขึ้น
- แนะนำ : น้ำเกลือซอฟคลีน (SOFCLENS) น้ำเกลือปราศจากเชื้อ มีความเข้มข้นเป็นไอโซโทนิก (Isotonic) คือมีความสมดุลกับน้ำในเซลล์ของร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ผลิตด้วยเกลือโซเดียมคลอไรด์นำเข้าจากนิวซีแลนด์ ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ใส ไร้สี ปราศจากสารเติมแต่ง ไพโรเจน และไม่ใช้วัตถุกันเสีย บรรจุในขวดใสเพื่อช่วยให้เห็นด้านในได้ง่ายขึ้น บรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติก PP Medical Grade ที่ใช้ในทางการแพทย์โดยเฉพาะ ทนต่อความร้อนและแรงกระแทก และใช้ฝาปิดแบบ Safety Cap ที่ปิดได้สนิทป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
- แนะนำ : น้ำเกลือซอฟคลีน (SOFCLENS) น้ำเกลือปราศจากเชื้อ มีความเข้มข้นเป็นไอโซโทนิก (Isotonic) คือมีความสมดุลกับน้ำในเซลล์ของร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ผลิตด้วยเกลือโซเดียมคลอไรด์นำเข้าจากนิวซีแลนด์ ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ใส ไร้สี ปราศจากสารเติมแต่ง ไพโรเจน และไม่ใช้วัตถุกันเสีย บรรจุในขวดใสเพื่อช่วยให้เห็นด้านในได้ง่ายขึ้น บรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติก PP Medical Grade ที่ใช้ในทางการแพทย์โดยเฉพาะ ทนต่อความร้อนและแรงกระแทก และใช้ฝาปิดแบบ Safety Cap ที่ปิดได้สนิทป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางให้เหมาะกับผิวที่เป็นสิว เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของผิวและลดโอกาสการเกิดสิวซ้ำ โดยควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควบคุมความมันได้ดี (แต่ยังให้ความชุ่มชื้น เพื่อไม่ทำให้ผิวแห้งจนเกินไป), ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน (เน้นที่มีส่วนผสมของน้ำเป็นหลัก เลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันเพื่อลดการอุดตัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้อาจเขียนในฉลากว่า “Non-comedogenic“), อ่อนโยนต่อผิวและทำความสะอาดได้อย่างล้ำลึก (ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์แรง เพราะมักทำให้หน้าแห้งเกินไป ผิวอ่อนแอ และผลิตน้ำมันมากขึ้น), ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ (ไม่มีส่วนผสมของสารก่อระคายเคืองอย่างน้ำหอม สี สารกันเสีย) และที่สำคัญควรเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง หรือหากไม่แน่ใจควรหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ หรือสอบถามผู้เชี่ยวชาญก่อนซื้อ ส่วนครีมบำรุงหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับการรักษาสิวโดยเฉพาะควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อนใช้
ส่วนคำแนะนำอื่น ๆ ที่สำคัญและควรนำไปปฏิบัติเพื่อรักษาและลดการเกิดสิวใหม่ ได้แก่ ลดหรือเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางเมื่อเป็นสิวหรือทาทับบริเวณที่เป็นสิว, หมั่นเปลี่ยนผ้าปูที่หนอน ผ้าห่ม และปอกหมอนทุกอาทิตย์ (เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบ), รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ (เน้นทานผักผลไม้ให้มาก ลดของทอดของมันขนมหวาน), ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย และเป็นผลดีต่อสุขภาพผิว), อาบน้ำหลังทำกิจกรรมที่เจอสิ่งสกปรกหรือมีเหงื่อออกมาก, ระมัดระวังในการเลือกใช้แชมพูสระผม (แชมพูบางชนิดมีส่วนประกอบของน้ำมัน อาจอุดตันรูขุมขนใต้ผิวหนัง), สวมใส่เครื่องแต่งกายที่ไม่รัดหรือเสียดสีกับผิว (เพื่อปกป้องผิวจากการเกิดสิ่งอุดตันและการระคายเคือง), หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้าหรือได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน (แสงแดดอาจกระตุ้นกระบวนการอักเสบ ทำให้ผิวคล้ำเสีย และอาจส่งผลต่อยารักษาบางชนิดที่ใช้อยู่ แต่หากต้องออกแดดก็ควรใช้ครีมกันแดดแบบ Physical ที่มีเนื้อครีมอ่อนโยน ไม่มีสารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคือง), พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึกหรืออดนอน (อาจทำให้สิวอักเสบกำเริบ) และลดหรือเลิกการสูบบุหรี่
แม้สิวอาจเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ บนใบหน้าไม่กี่จุด แต่ผู้ที่เป็นสิวอาจเกิดความวิตกกังวล เป็นทุกข์ ขาดความมั่นใจ มีอาการเจ็บปวดจากสิวเหล่านั้น หากรักษาด้วยตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับปัญหาสิวอักเสบ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพื่อรับการตรวจรักษา
บทความที่เกี่ยวข้อง
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)