สิงหโมรา
สิงหโมรา ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyrtosperma johnstonii (N.E.Br.) N.E.Br. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Alocasia johnstonii N.E.Br.) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]
สมุนไพรสิงหโมรา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านสิงหโมรา ผักหนามฝรั่ง (กรุงเทพฯ) เป็นต้น[1]
ลักษณะของสิงหโมรา
- ต้นสิงหโมรา จัดเป็นไม้ล้มลุก ที่มีหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นสั้นพ้นผิวดินขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ลำต้นเป็นสีชมพูอ่อน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการแยกหัว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี มีความชื้นสูง และชอบแสงแดดรำไร เวลาปลูกให้กลบดินแต่พอมิดหัวเท่านั้น ควรนำมาเพาะในกระถางให้ต้นโตพอสมควรก่อน แล้วค่อยย้ายไปปลูกในที่ซึ่งเป็นดินโคลนหรือดินเลนหรือจะปลูกในดินร่วน ๆ คลุกด้วยใบพืชผุพังก็ได้ รดน้ำแต่อย่าให้น้ำท่วมขัง มักพบขึ้นตามบริเวณลำธารที่พื้นเป็นดินโคลนเลนตามป่าดิบชื้นทั่วไปที่มีแสงแดดแบบรำไร[1],[3],[4],[6]
- ใบสิงหโมรา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุกใกล้ราก แทงออกมาจากหัวใต้ดิน ลักษณะของใบเป็นรูปเงี่ยงใบหอกถึงรูปหัวลูกศร ยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปเงี่ยงลูกศร ส่วนขอบใบเรียบ ท้องใบและหลังใบเรียบ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีจุดประสีขาว สีเขียว สีน้ำตาล และชมพู ส่วนขอบก้านใบมีหนามทู่ เส้นใบเป็นสีชมพูสดเมื่อยังเป็นใบอ่อน แผ่นใบมีแต้มสีน้ำตาลแดง เส้นใบเป็นสีเขียวถึงสีน้ำตาล โคนใบเป็นพูยาว กาบใบเป็นรูปเรือ สีม่วงเข้มด้านนอก สีเขียวแกมเหลืองด้านใน[1],[2],[3]
- ดอกสิงหโมรา ออกดอกเป็นช่อเป็นแท่งกลมยาว แทงออกมาจากกาบใบ ดอกย่อยส่วนใหญ่จะเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ มีใบประดับขนาดใหญ่คล้ายกาบสีน้ำตาลหุ้มอยู่ด้านหนึ่ง[1]
- ผลสิงหโมรา ผลเป็นผลสดมีขนาดเล็ก ผลจะมีเนื้อนุ่มหุ้มอยู่ข้างนอก ส่วนภายในจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดที่แข็งมาก[1],[4]
สรรพคุณของสิงหโมรา
- ก้านใบนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ดองกับเหล้า ใช้กินเป็นยาช่วยเจริญอาหาร ช่วยฟอกเลือดบำรุงโลหิต ซึ่งเหมาะสำหรับสตรี โดยให้ดื่มกินก่อนอาหารครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ (ก้านใบ)[1],[2],[3] หรือจะใช้ส่วนของเหง้า กาบต้น หรือทั้งต้นนำมาดิงกับเหล้ากินก็มีสรรพคุณบำรุงโลหิตเช่นกัน (เหง้า,กาบต้น,ทั้งต้น)[3],[4],[5]
- ช่วยรักษาโรคโลหิตจาง (ก้านใบ,ต้นและใบ)[4]
- ต้นและใบมีรสร้อน ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ต้นและใบ)[4]
- ทั้งต้นนำมาดองกับเหล้ากินเป็นยาช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ทั้งต้น)[4],[5]
- ช่วยบำรุงกำลัง (ก้านใบ)[4]
- ใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียนบ่อย ๆ หน้ามืด ซูบซีด ด้วยการนำต้นและใบมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ผสมกับมะตูมอ่อนและกล้วยน้ำว้าห่าม นำมาดองกับเหล้า 15 วัน หรือบดให้เป็นผงละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน ใช้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น (ต้นและใบ)[4]
- ช่วยในการย่อยอาหาร (เหง้า,ก้านใบ,กาบต้น)[3]
- ทั้งต้นมีรสร้อน ใช้ดิงกับเหล้าดื่มกินเป็นยาช่วยขับน้ำคาวปลาของสตรี (เหง้า,ก้านใบ,กาบต้น,ทั้งต้น)[3],[4]
- ดอกมีสรรพคุณช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ด้วยการนำดอกมาปิ้งกับไฟให้เหลืองแล้วดองกับเหล้า ใช้กินเป็นยาแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติของสตรี (ดอก)[3],[5]
- ต้นและใบมีรสร้อน มีสรรพคุณช่วยรักษามดลูกสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตรใหม่ (ต้นและใบ)[4]
- ก้านใบนำมาดองกับเหล้ากินเป็นยาแก้โรคอยู่ไฟไม่ได้ หรือโดนเลือดลมกระทำ อันเป็นเหตุให้ผอมแห้งแรงถอย โดยท่านให้ดื่มกินก่อนอาหารครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ (ก้านใบ[3], ทั้งต้น[4])
- ช่อดอกนำมาปิ้งไฟแล้วดองกับเหล้า ใช้กินเป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร (ช่อดอก)[1],[2]
- ใบมีรสร้อน นำมาตำพอกผสมกับเหล้า ใช้เป็นยาพอกฝีที่ไม่เป็นหนองให้แห้งหายไป (ใบ)[5]
- เหง้ามีรสร้อน นำมาฝนกับน้ำหรือฝนกับเหล้าแล้วนำไปปิดปากแผลที่ถูกแมงป่องหรือตะขาบกัดต่อย จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ (เหง้า)[3],[4]
- ก้านใบใช้ปรุงเป็นยาดูดพิษ และกำจัดสารพิษต่าง ๆ ภายในร่างกายได้ (ก้านใบ)[4]
- ช่วยบำรุงกล้ามเนื้อและบำรุงเส้นเอ็น (ก้านใบ)[4]
- นอกจากนี้บางข้อมูลยังระบุด้วยว่าว่านสิงหโมรามีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิต โดยวิธีการปรุงเป็นยาให้ใช้ต้นนำมาหั่นให้ละเอียด (รวมใบ ลำต้น และเหง้าด้วย) นำมาล้างให้สะอาดแล้วนำไปตากแดดให้แห้งประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นนำมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำที่ได้มาดื่มกินเป็นประจำทุกวัน หรืออาจใช้ดื่มแทนน้ำเปล่าเลยก็ได้ (แต่ข้อมูลตรงส่วนนี้ยังไม่มีรายงานทางเภสัชวิทยามายืนยันนะครับว่ามีฤทธิ์ดังกล่าวจริงหรือไม่)
ประโยชน์ของสิงหโมรา
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม ยามเจ็บไข้ ก็จับนำมาใช้ทำเป็นยาได้[5]
- ในด้านความเป็นมงคล มีความเชื่อว่าว่านสิงหโมรามีอานุภาพทางด้านป้องกันภูตผีปีศาจ และยังเชื่อว่าเป็นว่านคุ้มครองป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามาใกล้ โดยจะนิยมนำมาปลูกไว้ตามริมคลองหรือหน้าบ้านที่พักอาศัย เมื่อว่านออกดอกให้หาผ้าขาวบริสุทธิ์มาผูกรอบกระถาง ถ้าจะให้ดีควรปลูกในวันอังคารหรือวันพฤหัสบดีข้างขึ้น และให้รดน้ำที่เสกด้วยคาถา “อิติปิโสฯ” หรือ “นะโมพุทธายะ” 3 จบเสมอ ผู้ที่เป็นเจ้าของจะสมใจปองในสิ่งที่พึงประสงค์ไว้ (หนามของว่านจะใช้เป็นเครื่องกันภูตผีปีศาจได้)[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สิงหโมรา (Singha Mora)”. หน้า 304.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สิงหโมรา”. หน้า 98.
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ว่านสิงหโมรา” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [13 มิ.ย. 2014].
- สมุนไพรดอทคอม. “สิงหโมรา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com. [13 มิ.ย. 2014].
- อภัยภูเบศรสาร ฉบับที่ 40 ประจำเดือนตุลาคม 2549. “สิงหโมรา”. หน้า 3.
- ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ว่านสิงหะโมรา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [13 มิ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.tree2go.com, www.magnoliathailand.com (by JATO), www.biogang.net (by Praphatsorn_mild)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)