สำรอง
สำรอง ชื่อสามัญ Malva nut[4]
สำรอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Scaphium scaphigerum (Wall. ex G. Don) G.Planch. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sterculia scaphigera Wall. ex G. Don)[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scaphium macropodum (Miq.) Beumée ex K.Heyne (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Carpophyllum macropodum Miq., Sterculia macropoda (Miq.) Hook. ex Kloppenb.)[1] โดยจัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)
สมุนไพรสำรอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จอง หมากจอง (อุบลราชธานี), บักจอง หมากจอง (ภาคอีสาน), ท้ายเภา (ภาคใต้), พุงทะลาย, ฮวงไต้ไฮ้ (จีน), พ่างต้าห่าย (จีนกลาง) เป็นต้น ส่วนในจังหวัดจันทบุรี ตราด และทั่วไปจะเรียก “สำรอง“[1],[2],[4],[5],[6],[9]
สาเหตุที่เรียกสมุนไพรชนิดว่า “พุงทะลาย” เป็นเพราะในปัจจุบันมีผู้นำสำรองไปรับประทานเพื่อลดความอ้วน เนื่องจากสำรองสามารถพองตัวได้ดี เชื่อว่าจะช่วยกำจัดไขมันออกจากร่างกายได้ โดยการดูดซับไขมันเอาไว้แล้วขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ เชื่อว่ารับประทานเป็นประจำแล้วจะช่วยลดพุงได้ด้วยการรับประทานก่อนเข้านอนเพื่อจะช่วยในการขับถ่ายได้ดีในตอนเช้า จึงเป็นที่มาของเชื่อ “พุงทะลาย” นั่นเองครับ[7]
ลักษณะของต้นสำรอง
- ต้นสำรอง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 30-40 เมตร และอาจสูงได้ถึง 45 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงสูงชะลูด แตกกิ่งก้านออกรอบต้น เรียงกันเป็นชั้น ๆ ลำต้นเป็นสีเทาดำ เปลือกต้นหยาบ มีเส้นเป็นร่องตามแนวดิ่ง สามารถพบได้ตามป่าดิบเขาที่มีฝนตกชุกและมีแสงแดดส่องถึง พบได้มากในจังหวัดจันทบุรี แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าอาจจะสูญพันธุ์ได้[1],[2],[5]
- ใบสำรอง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงแบบสลับ ลักษณะของใบมีหลากหลายรูปร่าง เช่น รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปคล้ายรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อยเป็นรูปหัวใจ และใบมีรูปร่างเป็นแฉกเว้าลึกประมาณ 2-5 แฉก ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เนื้อใบแข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร ใบต้นอ่อนมักเป็นหยักประมาณ 3-5 หยักและมีก้านใบยาวมาก[1],[2] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าใบสำรองจะมีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ โดยจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ เมื่อมีอายุประมาณ 1 ปี ลักษณะของใบจะเป็นรูปปลายแหลม ฐานโค้ง เมื่อเข้าปีที่ 2 ใบจะเริ่มเปลี่ยนรูปร่างเป็นรูปฝ่ามือ 3 แฉก เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3-4 ใบจะมีลักษณะเป็นรูปฝ่ามือ 5 แฉก และในระยะสุดท้ายหรือช่วงอายุประมาณ 4-6 ปีหรือมากกว่านั้น ใบจะมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน[9]
- ดอกสำรอง ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งและง่ามใบ โดยจะออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ ดอกเป็นแบบแยกเพศ กลีบดอกเป็นแฉกคล้ายรูปดาว ยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร กลีบดอกปลายแหลม เป็นสีเขียวอ่อน ส่วนกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปร่างคล้ายทรงบอก มีขนปกสีแดงปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 10-15 ก้านและเกสรเพศเมียอีก 1 ก้าน[1],[2] โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม[6]
- ลูกสำรอง หรือ ผลสำรอง ผลจะออกตามปลายกิ่ง กิ่งหนึ่งจะมีผลประมาณ 1-5 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปร่างคล้ายเรือหรือรูปกระสวย เมื่อแก่จะแตกออก ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 18-24 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลมรีเล็กน้อย ลักษณะคล้ายกับลูกสมอ ผลแก่เป็นสีน้ำตาล ผิวเหี่ยวย่น แห้ง และขรุขระ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 18-25 มิลลิเมตร ส่วนเมล็ดเป็นรูปมนรี มีเยื่อหุ้มอยู่ ซึ่งเป็นสารเมือกมีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อถูกน้ำหรือนำมาแช่ในน้ำจะพองตัวออกและขยายตัวเป็นวุ้นคล้ายกับเยลลี่สีน้ำตาล ใช้รับประทานได้[1],[2] โดยผลจะเริ่มแก่และร่วงในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[6] เปลือกหุ้มเมล็ดชั้นนอกจะมีสารเมือก (Mucilage) ที่สามารถพองตัวได้ดีในน้ำ เพราะมีความสามารถในการดูดซับน้ำถึง 40-45 มิลลิลิตรต่อกรัม ทำให้เกิดเป็นเจล (Gel) หรือเป็นวุ้นได้โดนไม่ต้องอาศัยความร้อน[5]
สรรพคุณของสำรอง
- เมล็ดช่วยลดการดูดซึมไขมัน (เมล็ด)[1]
- ช่วยแก้ธาตุพิการ (ผลและเมล็ด)[5]
- ใบ, ผลและเมล็ด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (ใบ, ผลและเมล็ด)[5]
- ช่วยแก้ตานขโมยในเด็ก (ผลและเมล็ด)[5]
- ช่วยรักษาโรคหอมหืด (วุ้น)[7]
- วุ้นใสที่ได้จากเปลือกหุ้มเมล็ด ใช้พอกตา แก้ตาอักเสบบวมแดง ปอดบวม โดยวุ้นสำรองเป็นยาเย็น ไม่เป็นอันตรายต่อเยื่อบุอ่อน ๆ จึงสามารถนำมาใช้รักษาอาการตาอักเสบได้ วิธีการก็คือให้นำผ้าก๊อซชุบน้ำพอชุ่มชื้น แล้วนำไปวางทับบนเปลือกตาที่อักเสบ จากนั้นให้วางแผ่นเปลือกหุ้มเมล็ดสำรองลงบนผ้าก๊อซ แล้วเปลือกจะพองตัวเป็นวุ้นแทรกซึมเข้าไปในผ้าก๊อซ และช่วยบรรเทาอาการเจ็บตา ตาอักเสบอย่างได้ผล (เปลือกหุ้มเมล็ด)[1],[11] ผลแก้ตาแดง (ผล)[2] ส่วนเมล็ดช่วยแก้โรคตาแดงอักเสบ (เมล็ด)[1]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น)[5]
- ผลแห้งนำมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ผล)[1]
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้อาการไอแห้ง คันคอ คอเจ็บไม่มีเสียง ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ผลประมาณ 2-3 ผล นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม หรือจะใช้ผลแห้งครั้งละประมาณ 3-10 กรัม (หรือประมาณ 3-5 ผล) นำมาแช่กับน้ำพอสมควรจนพองเป็นวุ้น แล้วใส่น้ำเชื่อมหรือน้ำตาลกรวดลงไป ใช้รับประทานทั้งเนื้อและน้ำ วันละ 3 ครั้ง (ผล)[1],[2] หรือจะใช้เปลือกหุ้มเมล็ดที่พองตัว (มีรสจืดเย็น) นำมาปรุงกับน้ำตาลทรายแดงหรือชะเอมเทศ ใช้รับประทานแก้อาการร้อนในกระหายน้ำก็ได้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ทำให้ใจคอชุ่มชื่น และช่วยขับเสมหะ (เปลือกหุ้มเมล็ด)[1],[3] ส่วนเมล็ดก็ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้เช่นกัน (เมล็ด)[1] รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ราก)[5]
- เมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคคออักเสบ (เมล็ด)[6]
- ช่วยแก้เจ็บคอ แก้ไข้ ด้วยการใช้ลูกสำรองประมาณ 10-20 ลูก นำมาต้มกับชะเอมจีนให้พอหวานจนได้น้ำยาที่เข้มข้น นำมาใช้จิบบ่อย ๆ จะช่วยแก้ไข้เจ็บคอได้เป็นอย่างดี (ผล)[11]
- ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (ผล)[2]
- ช่วยแก้โลหิตกำเดา (ผล)[2]
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน (ผล)[2]
- ผลมีรสจืด ขุ่นเล็กน้อย เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาแก้ปอดร้อน ช่วยทำให้ปอดชุ่มชื่น (ผล)[2]
- ช่วยแก้อาการแสบร้อนอวัยวะภายในร่างกายหรือธาตุไฟแทรกซึมอยู่ในกระบังลมทั้งสาม (ผล)[2]
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น, ราก, ผลและเมล็ด)[5]
- ช่วยแก้อาการท้องผูก ลดอาการท้องผูก (ผล, เมล็ด)[2],[6] ผลและเมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาระบาย (ผลและเมล็ด)[5]
- ใบ้ใช้เป็นยาแก้พยาธิ (ใบ)[5]
- ช่วยแก้กามโรค (แก่นต้น)[5]
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวารมีเลือด (ผล)[2]
- แก่นต้นช่วยแก้โรคเรื้อน (แก่นต้น)[5]
- ช่วยแก้พยาธิผิวหนัง (ราก)[5]
- ช่วยแก้พิษ (ผล)[2]
- ในประเทศอินเดียมีรายงานการใช้สมุนไพรสำรองเพื่อการรักษาอาการอักเสบ แก้ไข้ และขับเสมหะ ส่วนในประเทศจีนจะใช้สำรองร่วมกับชะเอมนำมาจิบบ่อย ๆ เพื่อช่วยแก้อาการเจ็บคอ ลดอาหารปวด และบำรุงไต[7]
หมายเหตุ : การใช้ผลตาม [2] ให้ใช้ผลแห้งครั้งละประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ผลประมาณ 2-3 ผล นำมาชงกับน้ำเป็นชาดื่ม[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของลูกสำรอง
- ในลูกสำรองพบว่ามีสาร Glucorine 15%, Pentose 24% และพบสาร Bassorin เป็นต้น[2]
- ลูกสำรอง ประกอบไปด้วย ใยอาหาร 64.12-76.45%, ความชื้น 15.31-16.86%, เถ้า 5.84-27.9%, โปรตีน 3.75-9.5%, ไขมัน 0.41-9.5% นอกจากนี้ยังมีความหวาน 3 บริกซ์ และให้พลังงาน 4,175.24 แคลอรีต่อ 100 กรัม[5]
- ใยอาหารที่พบในลูกสำรอง ส่วนใหญ่เป็นคาร์โบไฮเดรตมากถึง 62%, โปรตีน 3.8%, เถ้า 8.4% ซึ่งคาร์โบไฮเดรตที่พบส่วนใหญ่แล้วจะเป็นน้ำตาลโมโนแซกคาไรด์ ได้แก่ Arabinose, Galactose, Glucose, Mannose, Rhamnose และ Xylose[5]
- เมื่อนำสารสกัดที่ได้จากผลในความเข้มข้น 25% มาฉีดให้สุนัขหรือแมวทดลองกิน พบว่ามีฤทธิ์ทำให้ความดันของสัตว์ทดลองลดลง[2]
- เมื่อนำน้ำที่แช่กับเมล็ดมาให้กระต่ายทดลองกิน พบว่าจะทำให้ลำไส้ใหญ่ของกระต่ายเกิดการขยายตัว และมีอาการถ่ายท้อง หรือเมื่อนำเนื้อในผลมาให้สุนัขทดลองกิน ก็พบว่ามีฤทธิ์ในการกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้มีการบีบตัวมากขึ้น[2]
- พืชในวงศ์ STERCULIACEAE สามารถนำไปใช้เป็น bulk-forming (ยาระบาย) ได้ โดย Srivastava GS และคณะ ได้ทำการศึกษาการใช้พืชในวงศ์นี้เดี่ยว ๆ ในขนาด 10 กรัม มาใช้กับผู้ป่วยที่ท้องผูกจำนวน 50 ราย เป็นระยะเวลา 1 เดือน พบว่าผู้ป่วยหายจากอาการท้องผูกจำนวน 47 คน[13]
- เปลือกผลมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะของสัตว์ทดลอง[2]
- จากการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน พิษกึ่งเรื้อรัง และฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์ พบว่าสมุนไพรชนิดนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ซึ่งอาหารเสริมจากสำรองจะมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีร่างกายเป็นปกติ แต่ไม่แนะนำสำหรับเด็ก ผู้เป็นภูมิแพ้ และสตรีมีครรภ์ เพราะบุคคลเหล่านี้มีภูมิที่ไว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายขึ้น และการรับประทานอาหารเสริมจากสมุนไพรชนิดนี้ (ชนิดแคปซูล) ควรรับประทาน 7 วัน แล้วเว้นไปอีก 7 วัน เนื่องจากในปริมาณดังกล่าวสมุนไพรนี้จะมีฤทธิ์ต่อเนื่องไป 7 วัน (ฉันทรา พูนศิริ นักวิชาการฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว.)[12]
หมายเหตุ : สำรองหรือพุงทะลายในวงศ์เดียวกันยังมีอีกสองชนิด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sterculia lychnophorum Hance มีลักษณะของลำต้นคล้ายกัน แต่ผลจะเป็นสีแดง มีสรรพคุณทางยาที่ใกล้เคียงกัน สามารถใช้แทนกันได้ และอีกชนิดหนึ่งพบได้ในไทย อยู่ในวงศ์เดียวกันแต่ต่างสกุลกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scaphium scaphigerum (G.Don) Guib. & Planch มีลักษณะและสรรพคุณที่ใกล้เคียงกัน นำมาใช้ทดแทนกันได้เช่นกัน และพันธุ์ไม้ทั้งสองชนิดนี้ยังจัดเป็นไม้หวงห้ามอีกด้วย โดยสกุล Sterculia เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ส่วนสกุล Scaphuim จะเป็นไม้หวงห้ามประเภท ข.[2]
ประโยชน์ของสำรอง
- เมื่อนำผลมาแช่ในน้ำ เนื้อบาง ๆ ที่หุ้มเมล็ดอยู่จะดูดน้ำและพองตัวออกมา มีลักษณะเป็นแผ่นวุ้น เมื่อนำมาแยกวุ้นออกจากเมล็ด เปลือก และเส้นใย จะสามารถนำแผ่นวุ้นดังกล่าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น น้ำพริก ลาบ ยำ แกงจืด (ใช้แทนสาหร่าย) ใช้รับประทานเป็นขนมหวาน ใช้รับประทานกับน้ำกะทิ หรือใช้แทนรังนก หรือใช้ทำเป็นสำรองลอยแก้ว หรือน้ำสำรองพร้อมดื่มที่บรรจุในกระป๋อง หรือทำเป็นสำรองผง เป็นต้น[4]
- คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อผลสำรองประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต 68.59%, โปรตีน 8.45%, ไขมัน 0.11%, ใยอาหาร 3.97%, เถ้า 8.01%, แคลเซียม 0.25%, ฟอสฟอรัส 0.20%, ธาตุเหล็ก 0.007%, โซเดียม 0.12%, โพแทสเซียม 0.14% (ผลวิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย)[8]
- ลูกสำรองเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่ใส่ใจสุขภาพและรูปร่าง เนื่องจากวุ้นจากเนื้อของผลแก่ “มีส่วน” ช่วยในการลดน้ำหนักได้ เพราะมีเส้นใยอาหารมาก เมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยทำให้อิ่มท้องได้นาน ทำให้ไม่รู้สึกหิว ส่งผลให้รับประทานอาหารอื่น ๆ ได้น้อยลง และวุ้นยังมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ ช่วยดูดซับไขมัน น้ำตาล สารต่าง ๆ (รวมถึงสารที่มีประโยชน์อื่น ๆ อย่างเช่น วิตามินและเกลือแร่ไปด้วย) มันจึงมีส่วนช่วยชะลอการดำเนินของโรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง และช่วยลดอาการท้องผูกได้ (เพราะเนื้อวุ้นจะช่วยทำให้อุจจาระนิ่ม ช่วยเพิ่มปริมาณของใยอาหาร ทำให้มีการบีบรูดของลำไส้เพื่อขับเป็นอุจจาระได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ขับถ่ายคล่อง) อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร ช่วยลดคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตได้อีกด้วย โดยให้รับประทานในช่วงก่อนนอน จะช่วยในการขับถ่ายตอนเช้า กากใยที่รับประทานเข้าไปจะไปช่วยชะล้างไขมันที่สะสมอยู่ในลำไส้ ทำให้ลำไส้ใหญ่สะอาดขึ้น ช่วยลดสารพิษตกค้าง แต่หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ พลอยทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา จุดนี้ขอให้ตระหนักไว้ด้วยครับ[10],[11]
- นอกจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำดื่มสมุนไพรแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสำรองที่อยู่ในรูปของแคปซูลอีกด้วย โดยมีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระและเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงตับ และเป็นยาแก้ร้อนใน[12]
- นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ได้นำสารเมือกจากลูกสำรองไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ได้แก่ การนำไปใช้เป็นสารช่วยในการแตกกระจายตัวในยาเม็ด เมื่อเทียบกับสตาร์ชข้าวโพด ก็พบว่าการแตกกระจายตัวของยาเม็ดที่มีสารเมือกสำรองเป็นสารช่วยแตกกระจายตัว จะมีอัตราเร็วในการดูดซับน้ำสูงกว่า และเม็ดยาจะแตกกระจายเร็วกว่าการใช้สตาร์ชข้าวโพดที่ระดับความเข้มข้นเดียวกัน แลกเนื่องจากคุณสมบัติในการอุ้มน้ำของสารเมือกนี้เอง จึงมีการนำสารเมือกนี้ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก เพื่อช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และยังนำไปใช้ในไส้กรอกแฟรงค์เฟอร์เตอร์ เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำจากการใช้ความร้อนกับไส้กรอกมากที่สุด ซึ่งจากการทดสอบทางประสาทสัมผัสพบว่าจะให้ค่าความแน่นเนื้อและค่าความยืดหยุ่นมาก[6]
น้ำสำรองลดความอ้วนได้จริงหรือ ?
- ในปัจจุบัน “น้ำสำรอง” กำลังเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มผู้ที่ต้องการจะลดความอ้วน โดยน้ำสำรองดังกล่าวนั้นได้บรรยายสรรพคุณไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การช่วยลดความอ้วน ช่วยกำจัดไขมันให้ออกมาจากร่างกาย ล้างไขมันในลำไส้ ด้วยการดูดซับไขมันเอาไว้แล้วอุ้มไปทิ้งพร้อมกับขับถ่าย เป็นยาระบาย แก้ร้อนในกระหายน้ำ ฯลฯ ซึ่งจากคำบอกเล่าแบบปากต่อปากถึง “สรรพคุณของน้ำสำรอง” ทำให้น้ำดื่มชนิดนี้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมถึงขั้นติด 1 ใน 10 ไปเลยก็ว่าได้[5],[7]
- จากข้อมูลทางเภสัชวิทยาเบื้องต้นที่กล่าวไป เราจะเห็นได้ว่าสารอาหารในลูกสำรอง แทบจะไม่มีสารตัวไหนที่สามารถช่วยลดความอ้วนได้เลย แต่ที่คนทั่วไปเข้าใจว่ามันช่วยลดความอ้วนได้ ก็น่าจะเกิดจากใยอาหารในลูกสำรองที่เป็นใยอาหารที่ละลายน้ำ มีสารเมือกและมิวซิเลจสูง ซึ่งใยอาหารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการพองตัวได้ดี เมื่อสัมผัสกับน้ำจะละลาย เกิดเป็นสารข้นหนืดที่สามารถช่วยเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ได้มากขึ้น มีผลทำให้อาหารเคลื่อนตัวได้ช้าลงและอยู่ในระบบทางเดินอาหารนานขึ้น จึงส่งผลไปรบกวนการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ทำให้ไปชะลอการดูดซึมไขมันและน้ำตาลได้ดีนั่นเอง และหากรับประทานมากเกินไปหรือรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ร่างกายรับสารอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดลดลงได้[5]
- หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการลดความอ้วน นอกจากคุณจะเลือกรับประทานเครื่องดื่มจากสมุนไพรแล้ว ก็ควรจะควบคุมอาหารเพื่อลดพลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไป และเร่งการใช้พลังงานหรือเผาผลาญพลังงานของร่างกายให้มากขึ้นด้วยการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย ก็จะช่วยทำให้คุณสามารถลดน้ำหนักได้ตามที่หวังไว้[5]
- โทษของน้ำสำรอง ยังไม่พบว่ามีรายงานเรื่องความเป็นพิษ แต่สิ่งที่ควรจะระวังก็คือ การดื่มน้ำสำรองที่มีจำหน่ายในท้องตลาดซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณมาก อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ และการดื่มน้ำสำรองแทนการรับประทานอาหาร ก็อาจจะทำให้ขาดสารอาหารได้[5]
วิธีทำน้ำสำรอง
- ให้นำลูกสำรองไปล้างน้ำเพื่อเอาเศษผงที่ติดมาออกให้มากที่สุด แล้วนำไปแช่ในน้ำทิ้งไว้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง (พยายามกดให้ลูกสำรองจมน้ำเข้าไว้ เพื่อจะได้พองออกมามากที่สุด)
- เมื่อลูกสำรองพองออกแล้วจะเห็นเป็นวุ้น ๆ ลอยอยู่ ก็ให้เราคัดเอาเมล็ดออก (น้ำวุ้นที่ได้จะยังมีเปลือกปนอยู่)
- ให้นำวุ้นที่ได้มาใส่ในตะแกรงถี่ ๆ แล้วเปิดน้ำไล่น้ำเก่าออกจนหมดกลิ่น เปิดจนน้ำเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีใส
- ให้ตักเอาวุ้นมาใส่ผ้ากรอง แล้วรวบผ้าบีบรูดเอากากออก เก็บเอาเฉพาะเนื้อวุ้นไว้ (ให้ตักวุ้นใส่ผ้ากรองทีละน้อยพอที่จะรูดออกได้)
- นำวุ้นที่ได้มาเติมแล้วเอาไปต้ม ระหว่างต้มก็คอยคนอย่าให้เนื้อวุ้นติดก้นหม้อด้วย และให้ใส่น้ำตาลทรายหรือน้ำหญ้าหวานตามแต่ต้องการเป็นอันเสร็จ
หมายเหตุ : หากเพิ่งหัดทำให้ทำทีละน้อย ๆ เพราะลูกสำรองที่แช่น้ำแล้วจะพองออกมาเยอะมาก และน้ำสำรองที่ได้สามารถเก็บไว้ในช่องแช่แข็งได้นาน โดยช่วงเวลาที่เหมาะแก่การรับประทาน จากข้อมูลระบุไว้ว่า ช่วง 03.00-05.00 ช่วยบำรุงปอด, 05.00-07.00 ช่วยบำรุงลำไส้ใหญ่ให้บริหาร, 07.00-09.00 ช่วยรักษาและเคลือบกระเพาะอาหาร, 09.00-11.00 ช่วยดูดซับไขมันในลำไส้และในกระเพาะอาหาร ลดไขมันหน้าท้องได้ดี, ช่วงบ่ายถึงเย็น ช่วยบำรุงไต, ช่วงหลังเวลา 19.00 หากดื่มคู่กับน้ำดอกคำฝอย จะช่วยลดไขมันในเลือด และในช่วงก่อนเข้านอน หากรับประทานช่วงนี้จะช่วยในการขับถ่ายได้ดีในตอนเช้า (ที่มา : กินลืมป่วย)
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “จอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [04 พ.ค. 2014].
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “พุงทะลาย”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 390.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สำรอง”. หน้า 184.
- วารสารวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก. ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2552 หน้า 25. “การยืดอายุการเก็บรักษาผลสำรองโดยการอบแห้ง (Prolonging the Shelf-life of Dried Malva Nut Fruits by Drying)”. (วรัญญา โนนม่วง, ชาติชาย ไชยช่วย, ทองจวน วิพัฒน์เจริญลาภ, นฤมล มงคลธนวัฒน์).
- ศูนย์เภสัชสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “น้ำสำรอง ลดความอ้วนได้จริงหรือ ?”. (ภญ.น้ำฝน ปิยะตระกูล).
- วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร. (ชนินันท์ ลิมปิชัชวาลย์). “ผลของปริมาณโปรตีนในกัมสำรองต่อสมบัติอิมัลชัน ปริมาณกรดฟีนอลิก และความสามารถต้านออกซิเดชัน”.
- หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน คอมลัมน์ รู้ไปโม้ด ฉบับวันที่ 16 ตุลาคม 2550. “สำรอง”. (น้าชาติ ประชาชื่น).
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย.
- ภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หมากจอง ไม้ท้องถิ่นสำคัญของจังหวัดอุบลฯ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: bio.sci.ubu.ac.th/research/dbdiversity/db/2550-Poster-Aranya-2.pdf. [04 พ.ค. 2014].
- เมนูเพื่อสุขภาพ, ศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก. “สำรอง พุงทะลาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: hpc9.anamai.moph.go.th/kk/htm/kk48/5_2/5.pdf. [04 พ.ค. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 335 คอลัมน์: เรื่องเด่นจากปก. “สำรอง”. (ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [04 พ.ค. 2014].
- ผู้จัดการออนไลน์. “จากน้ำสำรองสู่แคปซูลเสริมภูมิคุ้มกัน พุงทะลาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [04 พ.ค. 2014].
- Srivastava GS, Smith AN and Painter NS. Sterculia bulk-forming agent with smoot-muscle relaxant versus bran in diverticular disease. British Medical Journal. 1976; 1: 315-8.
ภาพประกอบ : www.fpcn.net, onep-intranet.onep.go.th/plant/, www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)