สำมะงา
สำมะงา ชื่อสามัญ Garden Quinine, Petit Fever Leaves, Seaside Clerodendron[3],[4]
สำมะงา ชื่อวิทยาศาสตร์ Volkameria inermis L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendrum inerme (L.) Gaertn.)[1],[4] จัจัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
สมุนไพรสำมะงา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สำมะลิงา (ชัยภมูิ), เขี้ยวงู (ประจวบคีรีขันธ์), สัมเนรา (ระนอง), สักขรีย่าน (ชุมพร), สำปันงา (สตูล), สาบแร้งสาบกา (ภูเก็ต), สำลีงา ลำมะลีงา สำมะนา (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก), คากี (ภาคใต้), จุยหู่มั้ว โฮวหลั่งเช่า (จีน), ขู่เจี๋ยซู่ สุ่ยหูหม่าน (จีนกลาง), สามพันหว่า เป็นต้น[1],[4],[5],[7]
ลักษณะของสำมะงา
- ต้นสำมะงา จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้เถาที่เลื้อยทอดลำต้นเกาะเกี่ยวขึ้นไป มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งก้านเป็นสีเทาหรือสีขาวมน ๆ ออกสีน้ำตาลเล็กน้อย เปลือกลำต้นเรียบ เป็นสีขาวอมสีน้ำตาล ตามกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวอมม่วง และมีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการตอนกิ่งปักชำ จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินชื้นแฉะหรือตามริมแม่น้ำลำคลอง ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบขึ้นตามชายป่าใกล้ ๆ ลำห้วย และตามป่าชายหาด (แต่ในปัจจุบันนี้เริ่มหายามากขึ้นทุกที)[1],[2],[4],[6]
- ใบสำมะงา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร พื้นใบเป็นสีเขียวและมัน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นเหม็นเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ เนื้อใบบางและนิ่ม ก้านใบเป็นสีม่วงแดง ยาวได้ประมาณ 1-2 เซนติเมตร[1],[2],[4]
- ดอกสำมะงา ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ปลายยอด ช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 3-7 ดอก แต่ส่วนมากจะพบเพียง 3 ดอก ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีขนาดเล็ก มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1 นิ้ว ส่วนปลายแยกเป็นกลีบสีขาว 5 กลีบ เมื่อบานจะกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว ลักษณะเป็นรูปถ้วย ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นยาวสีม่วง จำนวน 5 เส้น เมื่อดอกร่วงโรยไปก็จะกลายเป็นผล[1],[2],[4]
- ผลสำมะงา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม รูปกลมยาว หรือเป็นรูปไข่กลับ ก้นตัด แบ่งเป็นพู 4 พู มีขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร เนื้อนิ่ม ผิวผลเรียบเป็นมันลื่น เมื่อสุกแล้วผลจะเป็นสีน้ำเงินหรือสีดำ พอแก่จะแห้งและแตกออกเป็น 4 ซีก ภายในผลแต่พูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด รวมเป็น 4 เมล็ดต่อผล[1],[2],[4,[5]
สรรพคุณของสำมะงา
- รากสํามะงามีรสขม ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ด้วยการใช้รากแห้ง 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน โดยใช้ไฟอ่อน ๆ (ราก)[4]
- ใบมีรสขมเย็น แต่มีพิษ ใช้รักษาโรคมาลาเรีย (ใบ)[4] ส่วนรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้หวัด ตัวร้อน ไข้มาลาเรีย (ราก)[5]
- รากมีรสขมเป็นยาเย็น มีพิษและมีกลิ่นเหม็น มีสรรพคุณเป็นยาขับลมชื้น (ราก)[5]
- ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะ (ราก)[5]
- ใบสํามะงามีสรรพคุณเป็นยาฆ่าพยาธิ (ใบ)[4]
- ช่วยแก้ตับอักเสบ แก้ตับและม้ามโต (ราก)[4],[5]
- หากแผลมีเลือดออก ให้ใช้ใบตากแห้ง นำมาบดให้เป็นผงแล้วนำไปโรยบนแผล จะช่วยห้ามเลือดและสมานแผลสดได้ (ใบ)[4],[5]
- ช่วยรักษาแผลเน่าเปื่อย ด้วยการใช้ใบนำมาตำพอกหรือต้มกับน้ำชะล้างก็ได้ หรืออาจตากให้แห้งแล้วบดเป็นผงทา หรือโรยบริเวณทีเป็น (ใบ)[4]
- ช่วยรักษาแผลฟกช้ำดำเขียวบวม อันเนื่องมาจากถูกกระทบกระแทก เอวเคล็ด เคล็ดขัดยอก ให้ใช้ใบสดตำผสมกับเหล้า ใช้ทาถูบริเวณที่ปวด (ใบ)[4],[5] ส่วนรากมีสรรพคุณแก้อาการบวมตามร่างกายบางส่วน หรือแผลบวมเจ็บที่เกิดจากการกระทบกระแทกเช่นเดียวกับใบ (ราก)[4]
- ทั้งต้นสดหรือต้นแห้ง มีรสเย็นเฝื่อน นำมาสับเป็นชิ้น ๆ ประมาณ 3-4 กิ่ง แล้วต้มกับน้ำอาบหรือใช้ชะล้างแผล ใช้รักษาโรคผิวหนังพุพอง และน้ำเหลืองเสีย (ทั้งต้น)[1],[2]
- ใบสํามะงามีรสเย็นเฝื่อน ตำรายาไทยจะใบเป็นยาทาภายนอก โดยนำมาพอก ต้มกับน้ำอาบ หรือใช้ชะล้างตามร่างกาย หรือใช้ไอน้ำอบร่างกายเป็นยารักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้ฝี ประดง แก้หัด อีสุกอีใส ผดผื่นคันตามตัว และผื่นคันมีน้ำเหลือง (ใบ)[1],[2],[3],[4],[5],[7]
- ช่วยรักษาอาการปวดข้อ ปวดประสาทที่ก้นกบ ให้ใช้รากแห้ง 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน แต่ต้องใช้ไฟอ่อน ๆ ในการต้ม (ราก)[4]
- ช่วยรักษาไขข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้น ปวดเอวและขา แก้อาการปวดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (ราก)[5]
หมายเหตุ : การใช้ตาม [5] ในส่วนของรากให้ใช้รากครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำแช่จาหรือใช้ทำเป็นยาประคบ ส่วนใบและก้านไม่ควรนำมาต้มเป็นยารับประทาน เนื่องจากมีพิษ ควรนำมาใช้เป็นยาภายนอกเท่านั้น โดยขนาดที่ใช้ให้กะเอาตามความเหมาะสม[5]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรสำมะงา
- ยาชนิดนี้พบพิษที่ใบและก้าน ซึ่งใบจะมีพิษมากกว่าราก (รากมีพิษและมีกลิ่นเหม็น) ฉะนั้นห้ามนำมารับประทาน และควรใช้อย่างระมัดระวัง[4],[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสำมะงา
- ใบสำมะงาจะมีสารที่ทำให้มีรสขมและละลายน้ำได้ ซึ่งเป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ (Alkaloids) อยู่หลายชนิด คือ pectolinarigenin, 4-methylscutellarein, unsaponified matters, cholesterol, higher fatty alcohols, steroids ฯลฯ นอกจากยังมีพวก resin, gum สารสีน้ำตาล เถาจากใบมีเกลือแดง (Sodium chloride) 24.01% ของเถ้าทั้งหมด[4],[5]
- น้ำที่ได้จากการสกัดใบสำมะงา จะมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูใหญ่ที่แยกออกจากตัว และมีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตของสุนัขที่ทำให้สลบชั่วคราว หรือถ้าให้ในปริมาณน้อยจะมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้[4],[5]
- สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากใบสำมะงาที่มีรสขม จะมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกของหนูใหญ่ที่กำลังมีท้อง และจากการสกัดแยกสารจำพวก Sterols จากพืชชนิดนี้ ไม่พบฮอร์โมนเพศหญิงหรือฮอร์โมนเพศชายหรือของต่อมเพศอื่น[4],[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สำมะงา (Samma Nga)”. หน้า 302.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “สํามะงา”. หน้า 182.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สำมะงา Garden Quinine”. หน้า 87.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สํามะงา”. หน้า 782-784.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สำมะงา”. หน้า 556.
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7. “สํามะงา”.
- สมุนไพรไทย, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “สำมะงา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/49320567/. [12 มิ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ria Tan, Russell Cumming, Rene van Raders, 潘立傑 LiChieh Pan, naturgucker.de / enjoynature.net, Kar Wah Tam)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)