สาลี่
สาลี่ ชื่อสามัญ Asian pear, Chinese pear, Nashi pear, Korean pear, Japanese pear, Taiwan pear, Sand pear
สาลี่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Pyrus pyrifolia (Burm.f.) Nakai (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ficus pyrifolia Burm.f., Pyrus pyrifolia var. pyrifolia, Pyrus serotina Rehder) จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ (ROSACEAE)
ลักษณะของสาลี่
- ต้นสาลี่ เป็นไม้ยืนต้น รูปทรงของต้นคล้ายพีระมิด มีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันตกของจีน
- ดอกสาลี่ ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นสีขาว
- ผลสาลี่ หรือ ลูกสาลี่ มีลักษณะคล้ายผลแอปเปิล มีหลายสี ตั้งแต่สีเหลือง เขียว แดงอมส้ม และน้ำตาล โดยเนื้อสาลี่จะมีลักษณะกรอบและฉ่ำน้ำ (แต่บางสายพันธุ์จะเป็นเนื้อทราย) มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เนื้อมีกลิ่นหอม มีเมล็ดขนาดเล็กลักษณะแบนรี สีดำหรือสีน้ำตาลออกดำ
จากการสุ่มตรวจของหน่วยงานรัฐ สาลี่เป็นผลไม้ที่มักจะตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนหรือสารตกค้างอยู่บ่อย ๆ หากเราได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณมากก็อาจจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หายใจติดขัด และถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยก่อนนำมารับประทานควรล้างให้สะอาดเสียก่อน
การรับประทานสาลี่จะมีประโยชน์สูงสุดเมื่อรับประทานในขณะอิ่มหรือรับประทานหลังอาหาร และการรับประทานควรเคี้ยวสาลี่ให้ละเอียด ค่อย ๆ รับประทาน และไม่ควรรับประทานเกินหนึ่งลูกต่อวัน และสาลี่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องเดิน ผู้ที่อาเจียนจากกระเพาะเย็น ไอจากความเย็น ผู้ที่มีอาการท้องร่วง และสตรีหลังคลอด
สรรพคุณของสาลี่
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
- ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ภายในร่างกาย
- ช่วยระงับประสาท ผ่อนคลายความกังวล ไม่สบายใจ มีความทุกข์ในจิตใจ
- ช่วยฟอกเลือดให้สะอาด ทำให้ไตทำงานได้ดีขึ้น
- ช่วยปรับสมดุลของน้ำตาลในเลือด
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล
- สาลี่เป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น จึงช่วยแก้กระหาย คลายร้อน ช่วยลดความร้อนในร่างกาย และดับพิษร้อนในร่างกายได้เป็นอย่างดี
- ช่วยบรรเทาอาการหวัด ด้วยการนำสาลี่มาสับให้ละเอียดแล้วนำไปต้มกับน้ำตาลทรายรับประทาน
- ช่วยแก้อาการไอ ไอแห้ง ช่วยละลายเสมหะ เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ปอด
- ช่วยแก้อาการคอแห้ง เจ็บคอระคายคอ เค็มคอรู้สึกกระหายน้ำ ซึ่งมีสาเหตุมาจากอาหารที่ใส่ผงชูรสเยอะ ๆ
- สาลี่มีสรรพคุณช่วยบำรุงปอดให้แข็งแรง
- ช่วยฟอกกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารแข็งแรง
- ช่วยกระตุ้นความเฉื่อยชาของลำไส้ และช่วยในการหลั่งน้ำย่อยต่าง ๆ ในระบบการย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืด ทำให้กระเพาะอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น
- สาลี่มีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยระบาย ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดี
- ช่วยในการขับปัสสาวะ
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของไต
ประโยชน์ของสาลี่
- สาลี่เป็นผลไม้ที่มีรสหวาน มีน้ำตาลที่ร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที ทำให้ไม่รู้สึกหิว สาลี่จึงเป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักเป็นอย่างมาก
- สาลี่เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับลำคอ ร่างกายอ่อนแอ เป็นโรคโลหิตจางและวัณโรค
- กลิ่นหอมของสาลี่สามารถช่วยกระตุ้นจิตใจ ทำให้รู้สึกสดชื่น เบิกบาน และกระชุ่มกระชวยได้
- นอกจากจะรับประทานสาลี่เป็นผลไม้แล้ว เรายังสามารถนำสาลี่ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลายชนิด เช่น ไอศกรีม ฟรุตสลัด น้ำสาลี่กระป๋อง สาลี่อบแห้ง สาลี่แช่อิ่ม สาลี่ในน้ำเชื่อม เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของสาลี่ ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 42 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 10.65 กรัม
- น้ำตาล 7.05 กรัม
- เส้นใย 3.6 กรัม
- ไขมัน 0.23 กรัม
- โปรตีน 0.5 กรัม
- วิตามินบี 1 0.009 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 2 0.01 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 3 0.219 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 5 0.07 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 6 0.022 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 9 8 ไมโครกรัม 2%
- โคลีน 5.1 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินซี 3.8 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินอี 0.12 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินเค 4.5 ไมโครกรัม 4%
- ธาตุแคลเซียม 4 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุแมกนีเซียม 8 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแมงกานีส 0.06 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุโพแทสเซียม 121 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุโซเดียม 0 มิลลิกรัม 0%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : หนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, นิดดา หงษ์วิวัฒน์), หนังสืออิสลามกับการแพทย์ที่ไม่พึ่งยา (อะฮ์มัด อามีน ชีราซี), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)