สะแอะ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสะแอะ 14 ข้อ !

สะแอะ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสะแอะ 14 ข้อ !

สะแอะ

สะแอะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Capparis zeylanica L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Capparis horrida L.f.) จัดอยู่ในวงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)[1]

สมุนไพรสะแอะ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สาลีแก่นใจ (เชียงใหม่), ค้อนก้องเครือ (เพชรบูรณ์), สายชูใหญ่ (พิษณุโลก), เถาหลั่งหมากเก็บ (นครสวรรค์), เยี่ยวไก่ (นครราชสีมา), ร้านฝีป้าน ลานผีป้าย (ภาคเหนือ) ส่วนราชบุรีเรียก “สะแอะ” เป็นต้น[1]

ลักษณะของต้นสะแอะ

  • ต้นสะแอะ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มเลื้อยชนิดหนึ่ง แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นสูงได้ประมาณ 2-5 เมตร ตามกิ่งอ่อนมีขนสีแดงอมสีน้ำตาลหรือเขียวปกคลุมอยู่ แต่เมื่อแก่จะหายไปเอง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย และมีความชื้นปานกลาง[1]

ต้นสะแอะ

  • ใบสะแอะ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือบางทีเว้าเป็นรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-17.5 เซนติเมตร แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนังเป็นสีเขียว[1],[2],[3]

ใบสะแอะ

  • ดอกสะแอะ ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ดอกนั้นจะแตกออกก่อนที่ใบจะผลิ มีดอกย่อยประมาณ 2-5 ดอก โดยดอกย่อยจะเป็นสีขาว กลีบดอกมีลักษณะบาง ปลายกลีบมน ส่วนกลีบคู่ในจะมีจุดสีชมพูหรือสีแดงตรงกลางโคนกลีบ ตรงกลางดอกมีเกสรจำนวนมาก สวนกลีบรองกลีบดอกนั้นมีลักษณะหนาและมีขนปกคลุม[1],[3]

ใบสะแอะ

  • ผลสะแอะ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมหรือมนรี ผลโตมีขนาดประมาณ 1.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.52 นิ้ว เปลือกผลแข็งและหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร ผลเมื่อสุกเป็นสีค่อนข้างแดงส้มหรือม่วง ภายในผลมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาล[1]

ผลสะแอะ

สรรพคุณของสะแอะ

  1. รากสะแอะมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ (ราก)[1]
  2. รากมีสรรพคุณเป็นยาระงับประสาท (ราก)[1]
  3. ใบใช้ตำพอกศีรษะแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[1]
  4. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ทั้งต้น)[1]
  5. เปลือกต้นสะแอะใช้เป็นยารักษาโรคอหิวาตกโรค (เปลือกต้น)[1]
  6. กิ่งนำมาฝานให้เป็นแผ่นใช้เข้ายาแก้นิ่ว รวมกับลำต้นมะตันขอ ไพล ฝาง (กิ่ง)[2]
  7. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ (ทั้งต้น)[1]
  8. รากมีสรรพคุณช่วยขับน้ำดี (ราก)[1]
  9. ใบใช้ตำพอกรักษาโรคริดสีดวงทวาร (ใบ)[1]
  10. ใบนำมาทาแก้อาการคันหรือใช้ตำพอกรักษาฝี แผลบวม (ใบ)[1]
  11. รากใช้ฝนกับน้ำทาเป็นยาแก้ฝีทุกชนิด โดยผสมกับใบหรือรากหวดหม่อน และเปลือกต้นหรือใบรักใหญ่ (ราก)[3]

ประโยชน์ของสะแอะ

  • ใบนำมาสับตากแห้งใช้เข้ายาห่มตำรับไทลื้อ จะช่วยบำรุงร่างกายและผิวพรรณ[2]
  • กิ่งที่มีหนามสามารถนำมาใช้ประพรมน้ำมนต์ได้[2]
  • คนเมืองจะใช้กิ่งของต้นสะแอะนำมาผูกเปลนอนเด็ก โดยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันภูตผี[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สะแอะ”.  หน้า 768-769.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “สะแอะ, สาลีแก่นใจ”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตนันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [12 ต.ค. 2014].
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน.  (มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล).  “สะแอะ”.  หน้า 59.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด