สะแกแสง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสะแกแสง 8 ข้อ !

สะแกแสง

สะแกแสง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cananga latifolia (Hook.f. & Thomson) Finet & Gagnep. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Canangium latifolium (Hook.f. & Thomson) Pierre ex Ridl.) จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[3]

สมุนไพรสะแกแสง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เก้าโป้ง งุ้นสะบันนา งุ้น สะบานงา (เชียงใหม่), แกนแซง (อุตรดิตถ์), ส้มกลีบ หำฮอก หำอาว (นครราชสีมา), เฝิง (เพชรบูรณ์), แตงแซง (ขอนแก่น, ชัยภูมิ), แคแสง (จันทบุรี), ราบ (สุราษฎร์ธานี), เนา (ภาคเหนือ) ส่วนทั่วไปหรือทางภาคกลางเรียก “สะแกแสง” เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของสะแกแสง

  • ต้นสะแกแสง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง เรือนยอดโปร่ง แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้น ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 15-20 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลอมเทา เปลือกเรียบหรือแตกแบบรอยไถ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลอ่อนและมีกลิ่นเหม็นเขียว ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีเทาปกคลุม ตามกิ่งมีรอยแผลของก้านใบที่หลุดร่วงซึ่งมองเห็นได้ชัดเจน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชอบดินร่วนซุยที่มีความชื้นปานกลาง แต่ก็สามารถอยู่ในที่แห้งแล้งได้เช่นกัน โดยมักพบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และป่าเบญจพรรณแล้งและชื้นทั่วไป ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 50-300 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบได้ในประเทศไทย พม่า และอินโดจีน[1],[2],[4],[5]

ต้นสะแกแสง

รูปต้นสะแกแสง

  • ใบสะแกแสง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อของต้น ลักษณะของใบเป็นรูปมนหรือค่อนข้างกลม ปลายใบมนและมีติ่งแหลมสั้น ๆ โคนใบมน หรือหยัก หรือเว้าเป็นรูปหัวใจมากบ้างน้อยบ้างไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-18 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบมีสีเข้มกว่าท้องใบและมีขนปกคลุมประปราย ส่วนท้องใบจะมีขนปกคลุมอย่างหนาแน่น เส้นกลางใบหลังใบเป็นร่องและท้องใบเป็นสัน เส้นแขนงใบมีประมาณ 8-12 คู่ ปลายเส้นไม่จรดกัน ก้านใบยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร[1],[2],[4]

ใบสะแกแสง

  • ดอกสะแกแสง ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกใต้โคนก้านใบ ดอกมีลักษณะห้อยลง ช่อละประมาณ 2-3 ดอก ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อบานจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ก้านดอกยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีใบประดับลักษณะเป็นรูปรี ขนาดกว้างประมาณ 7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ติดอยู่ที่โคนก้านดอก กลีบดอกมีอยู่ 6 กลีบและแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ชั้นในกลีบดอกจะเล็กกว่ากลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปหอก โคนกลีบคอดเรียงเป็น 2 ชั้น แต่ละกลีบจะมีขนาดเท่ากัน โดยจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-1.7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีขนหนาแน่นทั้งสองด้าน ส่วนกลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายกลีบกระดกขึ้น ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมากเป็นกระจุกอยู่กลางดอก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[4],[5]

รูปดอกสะแกแสง

ดอกสะแกแสง

  • ผลสะแกแสง ออกผลเป็นกลุ่ม ก้านช่อผลยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร มีผลย่อยประมาณ 20-25 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี ผิวย่น ผลมีขนาดประมาณ 1-1.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 นิ้ว ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำหรือสีดำ ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก โดยจะมีมากกว่า 10 เมล็ด เมล็ดสะแกแสงจะมีลักษณะกลมแบนเรียงซ้อนกัน ผลจะแก่หลังจากดอกบานได้ประมาณ 4 เดือน[1],[2],[4],[5]

ผลสะแกแสง

สรรพคุณของสะแกแสง

แก่นสะแกแสง

  1. เนื้อไม้และรากสะแกแสงมีพิษเบื่อเมา ใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษทั้งปวง แก้พิษไข้เซื่องซึม และพิษกาฬต่าง ๆ (เนื้อไม้และราก)[1],[2]
  2. ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้ทั้งเป็นยาแก้พิษไข้ (ทั้งต้น)[3]
  3. เนื้อไม้และราก นำมาขูดให้เป็นฝอย มวนรวมกับใบยาสูบ ใช้สูบแก้ริดสีดวงจมูก (โรคติดเชื้อที่เกิดในจมูก มีฝีหรือหนองในจมูก ทำให้หายใจติดขัด โพรงจมูกอักเสบ) (เนื้อไม้และราก, แก่นและราก)[2],[3]
  4. เนื้อไม้และรากมีรสเบื่อเมา ใช้ปรุงเป็นยากินแก้โรคผิวหนังผื่นคัน โรคเรื้อน กลากเกลื้อน หูด น้ำเหลืองเสีย (เนื้อไม้และราก, แก่น)[2],[3]
  5. ใบมีรสเบื่อเมา นำมาสุมกับไฟรมฆ่าพยาธิผิวหนังเรื้อรัง (ใบ)[2]
  6. ตำรายาไทยจะใช้ใบสะแกแสงนำมาสุมไฟเอาควันรม รักษาบาดแผลเรื้อรัง (ใบ)[3]

ประโยชน์ของสะแกแสง

  • เนื้อไม้สะแกแสงเป็นสีเทา มีเสี้ยนตรง อ่อน เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าไสกบตกแต่งได้ง่าย นิยมนำมาทำหีบ ลังใส่ของ ของเล่นเด็ก รองเท้าไม้ เสาเข็ม ที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบการก่อสร้างชั่วคราว ใช้ทำกระดานแบบ แบบเทคอนกรีต เครื่องประดับ เครื่องจักสานและเครื่องใช้สอยต่าง ๆ[4]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เป็นไม้โตเร็ว ดอกมีกลิ่นหอมเย็น[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สะแกแสง”.  หน้า 763-764.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “สะแกแสง”.  หน้า 179.
  3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “สะแกแสง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [17 ต.ค. 2014].
  4. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “สะแกแสง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.  [17 ต.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “สะแกแสง”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [17 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by kimsoft), www.qsbg.org, www.pharmacy.mahidol.ac.th, www.biogang.net (by bud_261138), www.magnoliathailand.com (by noknoy)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด