สะเดาอินเดีย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสะเดาอินเดีย 15 ข้อ !

สะเดาอินเดีย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสะเดาอินเดีย 15 ข้อ !

สะเดาอินเดีย

สะเดาอินเดีย ชื่อสามัญ Indian Margosa Tree, Holy Tree, Margosa, Pride of China, Nim, Neem Tree[1],[2],[3],[4]

สะเดาอินเดีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A.Juss. (จากอ้างอิงใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Azadirachta indica A. Juss. var. indica.[1],[5]) จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)[1]

สมุนไพรสะเดาอินเดีย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ควินิน ควินนิน คีนิน (ทั่วไป, ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของสะเดาอินเดีย

  • ต้นสะเดาอินเดีย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 8-12 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของลำต้นจำนวนมาก บางต้นก็มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม เปลือกต้นลำเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมเทา แตกเป็นร่องลึกตามยาว ทุกส่วนของต้นมีรสขม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอน จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้นบ้างเล็กน้อย[1],[2],[3]

ต้นสะเดาอินเดีย

  • ใบสะเดาอินเดีย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ลักษณะและการเรียงตัวจะเหมือนกับสะเดาบ้าน แต่ใบย่อยจะโค้งเป็นรูปเคียว โดยใบจะออกเรียงสลับหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ก้านหนึ่งจะมีใบอยู่ประมาณ 5-9 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบหนา มัน และขมกว่าสะเดาบ้าน หลังใบและท้องใบเรียบเป็นมัน[1],[2],[3]

ใบสะเดาอินเดีย

  • ดอกสะเดาอินเดีย ออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้น โดยจะออกตามซอกใบใกล้กับปลายยอด ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกสีเป็นขาวและมีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายกลีบดอกมน โคนเรียว[1]

ดอกสะเดาอินเดีย

  • ผลสะเดาอินเดีย ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมล็ดเดี่ยว[1]

ผลสะเดาอินเดีย

สรรพคุณของสะเดาอินเดีย

  1. เปลือกต้นมีรสขม ใช้เป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหารได้เป็นอย่างดี (เปลือกต้น)[1],[3]
  2. ดอกมีรสขม ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (ดอก)[1]
  3. ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้น ใบ และก้านใบ นำมาปรุงเป็นยาแก้ไข้และไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย ไข้ประจำฤดู ด้วยการใช้เปลือกสด 1 ฝ่ามือ หรือใบสด 2 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 4 ถ้วยแก้ว เคี่ยวจนเหลือ 2 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้วหลังอาหารเช้าและเย็น วันละ 2 ครั้ง จนกว่าอาการไข้จะหาย (เปลือกต้น,ใบ)[1],[2],[3],[5] ส่วนรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[3]
  1. ยางมีรสขม มีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อน (ยาง)[1]
  2. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด (เปลือกต้น)[1]
  3. ผลมีรสขม ใช้เป็นยาระบายท้อง (ผล)[1]
  4. ผลมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ (ผล)[3]
  5. รากมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน (ราก)[3]
  6. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำใช้น้ำล้างบาดแผล (เปลือกต้น)[1],[3]
  7. เมล็ดมีรสขม ใช้ปรุงเป็นยาแก้โรคผิวหนัง โดยในเมล็ดจะมีน้ำมันระเหยชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Margosa oil ซึ่งในประเทศอินเดียจะนำมาใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนัง (เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[3]
  8. ใบมีรสขม ใช้ตำพอกรักษาฝีหนอง หรือต้มเป็นน้ำชะล้างแผลกลาย (ใบ)[1],[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสะเดาอินเดีย

  • ใบและเปลือกต้นจะมีสารจำพวก limonoids ได้แก่ nimbolide และ gedunin (สารทั้ง 2 สองชนิดนี้สามารถฆ่าเชื้อ “ฟัลซิปารัม” ซึ่งเป็นเชื้อไข้มาลาเรียชนิดหนึ่งได้ และยังมีความเป็นพิษต่ำด้วย) ส่วนในผลสะเดาอินเดียจะมีสารชนิดหนึ่งที่มีรสขม ซึ่งสารนี้มีชื่อว่า Bakayanin และในช่อดอกจะมีสารจำพวกไกลไคไซด์ที่มีชื่อว่า Nimbosterin 0.005% และมีน้ำมันหอมระเหยที่มีรสเผ็ดจัดอยู่ 0.5% นอกจากนี้ยังพบ Nimbecetin, Nimbosterol, กรดไขมัน และสารที่มีรสขม ส่วนในเมล็ดสะเดาอินเดียจะมีน้ำมันขมที่มีชื่อว่า Margosic acid 45% (บางครั้งเรียกว่า “Nim oil” หรือ “Margosa oil“) และสารขมที่มีชื่อว่า Nimbin, Numbidin, Nimbunin ซึ่งเป็นสารที่เราพบมากใน Nim oil ที่จะเป็นตัวออกฤทธิ์และมีกำมะถันอยู่ด้วย[3],[4]
  • ในเมล็ดพบสาร limonoids อยู่หลายชนิด มีคุณสมบัติทางชีวภาพ ชนิดแรกที่พบคือ “Meliantriol” ซึ่งเป็นสารประเภทไตรเทอร์ปีน โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการกินของแมลงได้ในความเข้มข้น 3 ไมโครกรัมต่อตารางเซนติเมตร (มีคุณสมบัติยับยั้งการกินของแมลงและหนอน โดยเฉพาะตั๊กแตนและพวกแมลงปากดูด เช่น แมลงวัน ยุง เพลี้ยมวน ไส้เดือนฝอย ฯลฯ) และสารอีกชนิดหนึ่งคือ “Azadirachtin” เป็นสารที่มีฤทธิ์แรงสุด โดยสามารถยับยั้งการกินของแมลงได้ถึง 100% ในความเข้มข้นเพียง 1 นาโนกรัมต่อตารางเซนติเมตร ถ้าเก็บเมล็ดจากต้นที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี มาสกัดก็จะได้สารนี้ประมาณ 0.7% โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษพบว่าสารในเมล็ดนี้จะออกฤทธิ์ไปทำให้ฮอร์โมนในแมลงผิดปกติ ทำให้เกิดทุพพลภาพอย่างถาวร เมื่อนำสารสกัดจากเมล็ดหรือใบไปฉีด แมลงจะยังไม่ตายทันที แต่จะออกฤทธิ์ไปทำให้การสร้างไคตินซึ่งเป็นองค์ประกอบของเปลือกลำตัวผิดปกติ ทำให้การลอกคราบของแมลงเป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์ ส่งผลทำให้จำนวนของแมลงลดลงเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังมีผลต่อการฟักไข่ การลอกคราบ และการเจริญเติบโตของตัวอ่อนของแมลงสาบอีกด้วย และสาร Azadirachtin ยังสามารถออกฤทธิ์ต่อแมลงได้อีกหลายชนิด รวมทั้งตั๊กแตนสีน้ำตาลซึ่งเป็นศัตรูพืชตัวสำคัญในการทำลายพืชพรรณธัญญาหาร จนในปัจจุบันก็ได้มีผลิตภัณฑ์จากสะเดาอินเดียออกวางจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว[4]
  • จากการทดลองในสัตว์ พบว่าใบและน้ำมันจากเมล็ดของสะเดาอินเดียมีฤทธิ์ลดไข้[2]
  • ผลิตภัณฑ์จากต้นสะเดาอินเดียสามารถช่วยป้องกันมะเร็งและคุมกำเนิดได้อีกด้วย[6]

ประโยชน์ของสะเดาอินเดีย

  • เมล็ดใช้เป็นยาฆ่าแมลง (มีสารที่ออกฤทธิ์ฆ่าแมลง คือ Azadirachtin) เช่น เพลี้ยชนิดต่าง ๆ แมลงศัตรูในบุ้งฉาง มอดแป้ง ผีเสื้อข้าวเปลือก หนอนใยผัก หนอนชอนใบ ฯลฯ โดยสารชนิดนี้จะออกฤทธิ์เป็นทั้งยาฆ่าแมลง สารไล่แมลง และสารล่อแมลง ส่วนวิธีการใช้ก็ให้นำเมล็ดสะเดาอินเดียแห้งมาบดและแช่ไว้ในน้ำประมาณ 1-2 คืน (ใช้ 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ปีบ หรือประมาณ 20 ลิตร) แล้วกรอกเอากากออก เสร็จแล้วนำน้ำยาที่ได้ไปฉีดพ่นแปลงผัก จะช่วยฆ่าหนอนใยผัก หนอนกระทู้ผักได้เป็นอย่างดี หรือจะใช้ใบสะเดาแห้งนำมาบดให้เป็นผงคลุกกับเมล็ดข้าวโพดในอัตราส่วน 1:10 ก็จะสามารถช่วยลดจำนวนของด้วงงวงข้าวโพดได้ถึง 44.38% ในยุ้งฉาง[2],[4] โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ E. Shulz Jr. ศาสตราจารย์วิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แห่งมหาวิทยาลัย Washington ได้พบว่าสารเคมีในต้นสะเดาอินเดีย สามารถป้องกันภัยคุกคามจากแมลงได้ถึง 131 ชนิด และสามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ถึง 70 ชนิด (ยาฆ่าแมลงที่สกัดได้จากต้นสะเดาอินเดียสามารถสลายตัวได้เองตามธรรมชาติ จึงไม่เป็นพิษต่อมนุษย์)[6]
  • น้ำมันสะเดาที่สกัดได้ตามเมล็ดสามารถนำมาใช้ตามตะเกียงและเครื่องสำอางได้[3]
  • ส่วนกากที่เหลือจากการสกัดเอาน้ำมันออกจากเมล็ดสะเดาอินเดีย หรือที่เรียกว่า “Neem cake” ก็ยังสามารถนำมาใช้เป็นตัวชะลอการสลายตัวของปุ๋ยยูเรียได้อีกด้วย โดยปกติแล้วปุ๋ยยูเรียที่ใส่ลงไปในดินจะถูกเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียภายใน 24 ชั่วโมง จึงทำให้รากของพืชไม่สามารถดูดซึมปุ๋ยไว้ได้ทัน ทำให้เกิดการสูญเปล่า แต่ถ้าใส่ Neem cake ลงไป ปฏิกิริยาของปุ๋ยก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปอย่าง ๆ ช้า ทำให้รากพืชสามารถดูดเก็บปุ๋ยไว้ได้ทัน[4]
  • ในประเทศอินเดียมีการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของต้นสะเดาอินเดียกันอย่างกว้างขวาง เช่น ใช้ในทางยา ทำสบู่ ทำวัสดุก่อสร้าง เยื่อกระดาษ ทำกาว ใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้เป็นยาฆ่าแมลง ส่วนกิ่งเล็ก ๆ ก็นำมาทุบทำเป็นแปรงสีฟัน (ทำให้ปากไม่มีกลิ่นเหม็น) ฯลฯ[4] ส่วนใบนำมาสอดแทรกไว้ในหนังสือ ในตู้เก็บถ้วยชาม เพื่อช่วยไล่แมลง[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “สะเดาอินเดีย (Sadao India)”.  หน้า 293.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สะเดาอินเดีย”.  หน้า 59.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “สะเดาอินเดีย”.  หน้า 764-765.
  4. ไทยเกษตรศาสตร์.  “สะเดาอินเดียมีสรรพคุณดังนี้”.  อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [14 ต.ค. 2014].
  5. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “สะเดาอินเดีย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [14 ต.ค. 2014].
  6. อินเดียศึกษาและภารตวิทยาที่น่ารู้.  “สะเดาอินเดีย นีม-Neem”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.indiaindream.com.  [14 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise, Dinesh Valke), www.bangkok.go.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด