สะพ้านก๊น
สะพ้านก๊น ชื่อสามัญ Javanese Elder[2]
สะพ้านก๊น ชื่อวิทยาศาสตร์ Sambucus javanica Blume (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sambucus chinensis Lindl.)[1],[2] วงศ์ ADOXACEAE
สมุนไพรสะพ้านก๊น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พวงไข่มุก (ภาคเหนือ), ติ๊ดซีกาจึ๊ เส่งแกะบลี้ แคเส่ง บลี้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), โป่ทีโด๊ะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แป่โลเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), น่อ หน้อ (ละว้า-เชียงใหม่), ไม้ขี้ป้าน หมากอูนเทิ้น(ไทใหญ่), เปร่เส้า (ม้ง), ตุ้มแย่เมี่ย (เมี่ยน), ด่องก้าบ (ปะหล่อง), ไม้พะแป้ง (ลั้วะ), จิกุกเช่า (จีนแต้จิ๋ว), เชียลิ่ ลู่อิง เจียกู่เฉ่า (จีนกลาง), อูน, อูนป่า, ส่วนเชียงใหม่เรียก “สะพ้านก๊น” เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของสะพ้านก๊น
- ต้นสะพ้านก๊น จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านสาขามากมาย ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร ผิวลำต้นเรียบไม่มีขน ตามกิ่งก้านเป็นเหลี่ยมและเป็นสีเขียวเข้ม กิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ส่วนกิ่งแก่ไม่มีขน ข้อของกิ่งเป็นสีแดงอ่อน รากใต้ดินมีรากแก้วใหญ่และมีรากฝอย รากมีลักษณะกลม คดงอ มีเปลือกเป็นสีเลี่ยมอ่อน เนื้อในเป็นสีขาวเหลือง มีร่องประมาณ 7-8 ร่อง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ดีและเร็วมากในดินที่มีความร่วนซุย ชอบความชื้นปานกลาง พบขึ้นตามชายป่าทั่วไปที่มีความชุ่มชื้น มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[1],[2],[3],[4]
- ใบสะพ้านก๊น ใบเป็นใบประกอบขนนกปลายคี่ ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปแบบขนนก แต่ใหญ่กว่า ในก้านหนึ่งจะมีใบย่อยประมาณ 5-9 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรียาว ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-18 เซนติเมตร ผิวใบเรียบมันไม่มีขนปกคลุม หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ไม่มีหูใบ เมื่อนำใบมาขยี้ดมจะมีกลิ่นเหม็น[1],[2]
- ดอกสะพ้านก๊น ออกดอกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดของกิ่ง ลักษณะของช่อดอกคล้ายกับรูปซี่ร่ม ช่อมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีขนสั้น ๆ มีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม 5 กลีบ ดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีของดอกย่อยเป็นสีขาวออกเหลืองอ่อน หนึ่งดอกจะมีอยู่ 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปกลมรีปลายแหลม และมีเกสรเพศผู้สั้น ๆ ติดอยู่ 5 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน ยื่นออกมาข้างกลีบดอก[1],[2]
- ผลสะพ้านก๊น ผลมีลักษณะกลมรูปไข่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีแดงหรือสีเหลืองอมส้ม ส่วนผลแก่จะเป็นสีแดงจนถึงสีดำ เมล็ดเดี่ยวรูปไข่[1],[2],[3]
สรรพคุณของสะพ้านก๊น
- ทั้งต้นมีรสเปรี้ยว ขม ชุ่ม กลิ่นเหม็น เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและไต ใช้เป็นยาฟอกเลือด กระจายเลือดอุดตัน ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี (ต้นและราก,ทั้งต้น)[1],[2]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยขับลมชื้น (ทั้งต้น)[2]
- รากใช้ร่วมกับพืชชนิดอื่นเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก)[4]
- ยอดและใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไอ (ใบ)[4]
- ต้นและรากมีสรรพคุณช่วยแก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (ต้นและราก, ทั้งต้น)[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้บิด (ต้นและราก, ทั้งต้น)[1],[2]
- ผลใช้กินเป็นยาระบาย ช่วยทำให้ถ่ายท้อง (ผล)[5]
- ช่วยขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[2] ชาวเมี่ยนจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้นิ่ว (ใบ)[3]
- ใช้แก้โลหิตไหลออกจากทวารทั้งห้า ด้วยการใช้สดประมาณ 90-120 กรัม นำมาตุ๋นกับกระเพาะหมู ใช้รับประทานเป็นยาติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน (ราก)[1]
- ใช้แก้สตรีตกขาวมากผิดปกติ ด้วยการใช้ราก 90 กรัม นำมาตุ๋นกับลำไส้เล็กของหมูรับประทานเป็นยาติดต่อกันประมาณ 3-5 วัน (ราก)[1]
- ช่วยแก้ตัวบวมน้ำ รวมถึงอาการนั่งนอนไม่สบาย ด้วยการใช้รากสดนำมาลอกเปลือกออก แล้วนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ 1 ถ้วย ผสมกับเหล้า 1 ถ้วยอุ่น ใช้กินเป็นยาตอนท้องว่าง (ราก)[1],[2] ส่วนอีกตำราระบุว่าให้ใช้รากนำมาต้มให้สตรีที่เพิ่งคลอดลูกใหม่กินเป็นยาแก้ตัวบวม รักษาอาการหน้าบวม หรือบำรุงกำลัง (ราก)[4]ส่วนชาวกะเหรี่ยงแดงจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการตัวบวม (ทั้งต้น)[3]
- ช่วยแก้ไตอักเสบ บรรเทาอาการบวมน้ำ หรือขาบวมน้ำ ด้วยการใช้ต้นแห้งประมาณ 12-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา (ต้น, ต้นและราก, ทั้งต้น)[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้โรคดีซ่าน (ต้นและราก, ทั้งต้น)[1],[2]
- ใช้รักษาแผลบวมแดงอักเสบ ด้วยการใช้ใบหรือรากสดนำมาหั่นเป็นฝอย ๆ ตำให้ละเอียด ใช้ผสมกับไข่ขาวเล็กน้อยคลุกให้เข้ากัน นำมาทาบริเวณที่เป็นหรือจะใช้พอกเลยก็ได้ (ราก, ใบ)[1]
- ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประ ประเทศมาเลเซียจะใช้ใบนำมาบดกับน้ำเป็นยาทาแก้อาการอักเสบ (ใบ)[5]
- ใช้รักษาโรคผิวหนังผดผื่นคัน ผดผื่นคันมีน้ำเหลือง ติดเชื้อไวรัสบริเวณผิวหนัง ด้วยการใช้สมุนไพรสะพ้านก๊นทั้งต้นนำมาต้มแล้วเอาน้ำชะล้าง (ต้นและราก, ทั้งต้น)[1],[2],[5]
- ผลใช้เป็นยาแก้โรคหูด โดยใช้ผลสดเอามาตำให้ช้ำแล้วถูทาบริเวณที่เป็น (ผล)[1]
- ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้ฝีหนอง ปวดบวม (ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำดำเขียวจากการกระแทก ด้วยการนำผงของรากสะพ้านก๊นมาตำกับหัวหอมใหญ่ แล้วนำมาคั่วกับเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็น (ราก)[2] หรือจะใช้ยอดและใบสดนำมาตำพอกบริเวณที่มีอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม หรือนำใบสดมาปูนอนแก้อาการปวดเมื่อย (ใบ)[4] ส่วนชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ใบนำมาย่างกับไฟแล้วนำไปประคบบริเวณที่มีอาการปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด (ใบ)[3]
- ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้รากนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอว และใช้ใบนำมาอังกับไฟ ใช้นวดบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย และให้ผู้หญิงคลอดบุตรแล้วอยู่ไฟด้วยการมานั่งทับใบอุ่น (ราก, ใบ)[3] ชาวไทใหญ่และชาวปะหล่องจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำให้สตรีหรือสตรีที่คลอดลูกใหม่ ๆ อาบ เพื่อช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว เพื่อให้สบายเนื้อสบายตัว แก้อาการปวดหลังปวดเอว (ทั้งต้น)[3] ส่วนคนเมืองจะใช้รากนำมาต้มรวมกับรากกล้วยกินเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอวและแก้ลมผิดเดือนหลังการคลอดบุตรของสตรี (ราก)[3]
- ต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดข้อ ช่วยต่อกระดูกและบรรเทาอาการปวดในรายที่กระดูกหัก (ต้นและราก, ทั้งต้น)[1],[2] หรือจะใช้ยอดและใบสดนำมาพอกบริเวณที่กระดูกหักก็ได้เช่นกัน (ใบ)[4] คนเมืองจะใช้ใบร่วมกับต้นหญ้าเอ็นยืด นำมาหมดไฟ ใช้ประคบบริเวณที่กระดูกเคลื่อน (ใบ)[3] ชาวกะเหรี่ยงแดงจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มรวมกับไมยราบแล้วใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณที่กระดูกหัก (ทั้งต้น)[3] ส่วนชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้ใบนำมาอังไฟ ประคบรักษากระดูกหัก กระดูกเคล็ด (ใบ)[3]
- ก้านและใบนำมาขยี้ให้คนไข้ดม แก้อาการชัก (ก้านและใบ)[5]
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ยาสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ตำคั้นเอาน้ำมาล้างแผลภายนอก หรือทำเป็นยาพอกแผลบริเวณที่เป็น ส่วนยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 7-15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานหรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับ[2]
ข้อห้ามใช้ : สตรีมีครรภ์ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้[1],[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสะพ้านก๊น
- ทั้งต้นพบสารประกอบจำพวก Flavonoid, ฟีนอล, Tannins, Chloronic acid, Camperol, Campestetol, Stigmasterol, Ursolic acid และน้ำตาล ส่วนรากมีแทนนินมาก มีน้ำตาลคืนรูป และอัลคาลอยด์ ส่วนใบมี B-sitosterol, campesterol, stigmasterol, α-amyrin palmitate, ursolic acid และโพแทสเซียมไนเตรท และในเมล็ดพบสารไซยาโนจีนีติค ไกลโคไซด์ (Cyanogenic glycoside)[1],[2]
- สะพ้านก๊นเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และฆ่าแมลง[4]
- เมื่อใช้น้ำที่ต้มได้จากรากและใบสะพ้านก๊น มากวนกับแป้งให้ข้น ใช้ทาบริเวณหูของกระต่ายทดลองที่มีอาการบวม หลังจากทายาแล้ว พบว่ากระต่ายทดลองมีอาการบวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเส้นเลือดบริเวณหูของกระต่ายก็มีขนาดลดลงเป็นปกติด้วย[2]
- เมื่อใช้ทั้งต้นนำมาตำแล้วนำมาคั่วกับเหล้า ใช้เป็นยาพอกขาของกระต่ายที่มีอาการกระดูกหัก แล้วใช้ไม้ดามกระดูกไว้ไม่ให้กระดูกเคลื่อน โดยเปลี่ยนยาทุก ๆ 3 วัน แล้วนำรากมาต้มกับน้ำให้กระต่ายกินควบคู่ไปด้วย ทำการรักษาติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ เมื่อนำกระต่ายเอกซเรย์ พบว่าบริเวณกระดูกที่ร้าวมีแคลเซียมเคลือบอยู่ และกระดูกมีการเชื่อมติดกัน[2]
ประโยชน์ของสะพ้านก๊น
- ชาวลั้วะจะใช้ดอกนำไปวัดหรือบูชาพระ[3]
- ชาวม้งจะใช้ผลเป็นของเล่น โดยนำมาใส่ในกระบอกไม้ไผ่แล้วอัดทำให้เกิดเสียงดัง[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สะพ้านก๊น”. หน้า 765-767.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สะพ้านก๊น”. หน้า 544.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “สะพ้านก๊น, อูน ,พวงไข่มุก, อูนป่า”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [13 ต.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “สะพ้านก๊น”. อ้างอิงใน : หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [13 ต.ค. 2014].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “สะพานก๊น”. อ้างอิงใน : หนังสือป่าแม่คำมีความหลากหลายทางชีวภาพจากอดีตถึงปัจจุบัน (กลุ่มงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้)., Ethnomedical survey of plants used by the Orang Asli in Kampung Bawong, Perak, West Malaysia. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org/wiki/สะพานก๊น. [13 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, CANTIQ UNIQUE, Dick Culbert, Đức Trọng Nghiêm), phytoimages.siu.edu
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)