9 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสะพ้านก้น !

สะพ้านก้น

สะพ้านก้น ชื่อสามัญ Eastern St Paul’s-wort

สะพ้านก้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Sigesbeckia orientalis L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]

สมุนไพรสะพ้านก้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าผมยุ่ง หญ้าเยี่ยวหมู (เชียงใหม่), ผักเผ็ดหมู (น่าน), ก้นจ้ำน้อย (นครราชสีมา), ฮีเซียมเช่า (จีนแต้จิ๋ว), ซีเขียนเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของสะพ้านก้น

  • ต้นสะพ้านก้น จัดเป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 0.5-1.3 เมตร และอาจสูงได้ถึง 1.5 เมตร แตกกิ่งก้านมากและมีขน เปลือกลำต้นเป็นสีม่วง กิ่งก้านมีขนสีเทาหรือสีม่วงขึ้นปกคลุมอยู่[1],[2]

ต้นสะพ้านก้น

  • ใบสะพ้านก้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือเป็นรูปสามเหลี่ยมแกมขอบขนาน ส่วนขอบใบเป็นฟันเลื่อยแบบไม่เป็นระเบียบ ใบปลายกิ่งจะมีขนาดเล็กกว่าใบที่โคนกิ่ง โดยใบที่ปลายกิ่งจะมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ส่วนใบโคนกิ่งจะมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 4.5-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-14 เซนติเมตร แผ่นใบทั้งสองด้านมีขนขึ้นปกคลุม[1],[2]

ใบสะพ้านก้น

  • ดอกสะพ้านก้น ออกดอกเป็นช่อกระจุกบริเวณปลายกิ่งหรือตามง่ามใบ ดอกเรียงซ้อนกันเป็นวงกลมหรือเป็นซี่ร่ม ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีเหลืองสด มีชั้นกลีบเลี้ยงประดับกลีบดอกเรียงซ้อนกัน 2 ชั้น และดอกมีกลีบเลี้ยงประมาณ 12 กลีบ ส่วนกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร มีขนขึ้นปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน[1],[2]

ดอกสะพ้านก้น

  • ผลสะพ้านก้น ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะเป็นรูปพีระมิดคว่ำหรือเป็นรูปไข่กลับเป็นเหลี่ยม ด้านบนของผลจะมีขนาดใหญ่กว่าด้านล่าง ผลคดงอเล็กน้อย มีขนาดยาวได้ประมาณ 4 มิลลิเมตร เป็นสัน 4 สัน ผลเป็นสีดำ ผิวผลเรียบเป็นมัน ไม่มีขนขึ้นปกคลุม[1],[2]

ผลสะพ้านก้น

หมายเหตุ : ในประเทศจีนยังมีพืชในวงศ์เดียวกันอีก 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Siegesbeckia pubescens Mak. และชนิด Siegesbeckia glabres Mak. ซึ่งจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน และสามารถนำมาใช้แทนกันได้[2]

สรรพคุณของสะพ้านก้น

  1. ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับ ไต และม้าม ใช้เป็นยาขับลมชื้น (ทั้งต้น)[2]
  2. ใช้แก้ความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้สะพ้านก้นทั้งต้นนำมาบดให้เป็นผงใส่แคปซูล (แคปซูลละ 0.5 กรัม) นำมารับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 2-3 ครั้ง (ทั้งต้น)[2]
  3. ใช้แก้อาการนอนไม่หลับ ประสาทอ่อน ให้ใช้สะพ้านก้นทั้งต้นนำมาบดให้เป็นผงใส่แคปซูล (แคปซูลละ 0.5 กรัม) นำมารับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 2-3 ครั้ง (ทั้งต้น)[2]
  1. ใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ทั้งต้น)[2]
  2. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ตับอักเสบเฉียบพลันแบบดีซ่าน ตำรับยาแก้ตับอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน มีอาการตัวเหลือง จะใช้ต้นสะพ้านก้นสด 35 กรัม, กีจี้ 10 กรัม, เมล็ดผักกาดน้ำ 15 กรัม, กิมจี่เช่า 15 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำ 1,000 ซีซี โดยให้ต้มจนเหลือน้ำประมาณ 300 ซีซี เสร็จแล้วนำมาใช้แบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง (ทั้งต้น)[2]
  3. ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้พิษฝีหนอง รักษาแผลสดมีเลือดออก (ทั้งต้น)[2]
  4. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้โรคอัมพฤกษ์ อาการปวดข้อ ปวดขา โรคไขข้ออักเสบ มือเท้าเย็นชา หรือเป็นเหน็บชา ไม่มีแรง (ทั้งต้น)[2]
  5. ตำรับยาแก้อาการปวดข้อ ปวดขาเนื่องจากลมชื้น ให้ใช้ยาแห้ง 18 กรัม, ห่วงฮวง 18 กรัม, เหล่ายาเช่า 18 กรัม, แปะตุ๊ก 18 กรัม, อียิ๊ง 18 กรัม, กุ๊กชุ๊ยโป้ว 18 กรัม, ฉิ่งเกา 12 กรัม, โกฐเขมา 12 กรัม, งูเกียพ้วย 12 กรัม, เกียงอัวะ 10 กรัม, ตกอัวะ 10 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำแบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ตำรับยานี้ผู้มีไข้ห้ามรับประทาน (ทั้งต้น)[2]
  6. ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจะใช้ต้นและใบ นำมาตำคั้นเอาน้ำทาหรือพอกรักษาอาการปวดกระดูก กระดูกหัก (ต้น, ใบ)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนต้นสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หากนำมาใช้ภายนอกให้ใช้ได้ตามปริมาณที่ต้องการ[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสะพ้านก้น

  • ทั้งต้นพบสาร Darutin-butter, Darutigenol, Darutoside และยังพบ Alkaloid เป็นต้น[2]
  • สะพ้านก้นมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดลิ่มเลือด และยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดในสัตว์ทดลอง[1]
  • จากการวิจัยทางคลินิกในประเทศจีน โดยนำมาใช้ร่วมกับสมุนไพรอีก 7 ชนิด เพื่อใช้เป็นยารักษาผู้ที่มีลิ่มเลือดในสมอง พบว่าได้ผลถึง 80%[1]
  • น้ำที่ต้มได้จากทั้งต้นหรือเหล้าที่ดองกับทั้งต้น พบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และยับยั้งการบวมอักเสบที่ข้อเท้าของสัตว์ทดลองได้[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สะพ้านก้น”.  หน้า 196.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “สะพ้านก้น”.  หน้า 542.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, judymonkey17)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด