สร้อยอินทนิล สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสร้อยอินทนิล 9 ข้อ !

สร้อยอินทนิล สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสร้อยอินทนิล 9 ข้อ !

สร้อยอินทนิล

สร้อยอินทนิล ชื่อสามัญ Bengal clock vine, Blue Trumpet, Blue Skyflower, Skyflower, Clock vine, Heavenly Blue[1],[5],[6]

สร้อยอินทนิล ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia grandiflora (Roxb. ex Rottl.) Roxb.[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[5]

สมุนไพรสร้อยอินทนิล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ย่ำแย้ (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์), ช่ออินทนิล (กรุงเทพฯ), น้ำผึ้ง (ชลบุรี), คาย (ปัตตานี), ปากกา (ยะลา), ช่องหูปากกา (ภาคใต้) เป็นต้น[1]

ลักษณะของสร้อยอินทนิล

  • ต้นสร้อยอินทนิล มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตอนเหนือ พม่า และไทย จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นไปได้ไกล 15-20 เมตร เถามีลักษณะกลม เปลือกเถาเป็นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตื้น ๆ และจะลอกออกเป็นสะเก็ดบาง ๆ เล็ก ๆ ส่วนต้นที่อายุน้อยเปลือกจะเรียบและเป็นสีเขียวเข้ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การปักชำเถาหรือหน่อ ปลูกได้ในดินทั่วไป เจริญเติบโตได้เร็ว ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวัน[1],[3],[5],[6] พบขึ้นกระจายตั้งแต่ทางตอนเหนือของอินเดียไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามที่โล่งหรือชายป่า หรือตามป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงใกล้กับระดับน้ำทะเลไปจนถึง 1,200 เมตร สามารถออกดอกและติดผลได้ตลอด[4]

ต้นสร้อยอินทนิล

  • ใบสร้อยอินทนิล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจหรือเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเว้าเป็นแฉกตื้น ๆ 3-5 พู ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบด้านบนมีขนสากคายมือ ส่วนท้องใบด้านล่างเกลี้ยง มีก้านใบยาว มีเส้นใบออกจากโคนใบประมาณ 3-5 เส้น และแตกแขนงสานกันเป็นร่างแห ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม ก้านใบยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร และมีขนปกคลุมที่สกระคายมือ[1],[2],[4]

ใบสร้อยอินทนิล

  • ดอกสร้อยอินทนิล ดอกมีลักษณะคล้ายกับดอกรางจืด โดยดอกจะออกเป็นช่อ โดยจะออกที่ปลายยอดหรือปลายกิ่ง ห้อยลง ดอกย่อยเป็นสีม่วงแกมสีน้ำเงินหรือเป็นสีฟ้าอ่อนถึงสีฟ้าเข้ม มีใบประดับหรือกลีบเลี้ยงขนาดใหญ่ 2 ใบ เป็นสีเขียว มีประจุดดำเล็ก ๆ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปโล่ ปลายมนแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และกลีบเลี้ยงจะหลุดร่วงเมื่อดอกบาน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่า ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปโล่ ปลายกลีบดอกมน ขอบกลีบดอกบิดย้วยและหยักเล็กน้อย มีขนาดกว้างประมาณ 2.7-3.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดใหญ่ ๆ ส่วนปลายบานออก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-8 เซนติเมตร โคนกลีบดอกด้านล่างมีแต้มสีม่วงเข้ม ภายในหลอดเป็นสีเหลืองนวล ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน แบ่งเป็นขนาดสั้น 2 อัน และยาว 2 อัน และมีเกสรเพศเมียที่อยู่ในหลอดดอก ดอกจะทยอยบานจากโคนช่อไปยังหลายช่อ และสามารถออกดอกได้ตลอดปี[1],[3],[4]

รูปสร้อยอินทนิล

รูปดอกสร้อยอินทนิล

ดอกสร้อยอินทนิล

  • ผลสร้อยอินทนิล ผลเป็นผลแห้งและแตกออกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ปลายสอบแหลมเป็นจะงอยคล้ายปากนก ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่จะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีกจากปากจะงอย และโดยทั่วไปต้นสร้อยอินทนิลจะไม่ติดผลและเมล็ด[1],[4]

ผลสร้อยอินทนิล

รูปผลสร้อยอินทนิล

สรรพคุณของสร้อยอินทนิล

  1. ราก ใบ ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก,ใบ,ทั้งต้น)[1],[2]
  2. ใบใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง (ใบ)[4]
  3. ชาวเขาเผ่าอีก้อจะใช้ ราก ใบ ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (ราก,ใบ,ทั้งต้น)[1],[2]
  4. ใบใช้เป็นยารักษาแผลสด แผลถลอก และช่วยห้ามเลือด (ใบ)[1],[2]
  5. ใบนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมาทา พอก หรือเคี้ยวกินเป็นยาแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน และหูด (ใบ)[1],[2]
  6. ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ บวมเป็นก้อน ติดเชื้อ (ใบ)[1],[2]
  7. รากและเถาใช้เป็นยาพอกแก้ฟกช้ำบวม หรือใช้ตำพอกแผลแก้อักเสบ (รากและเถา)[4]
  8. ใบใช้เป็นยารักษากระดูกหัก มีอาการปวดกระดูก (ใบ)[1],[2]

ประโยชน์ของสร้อยอินทนิล

  • ต้นนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ปลูกประดับในซุ้มโปร่งเพราะจะมองเห็นดอกห้อยลงมาดูสวยงามมา หรือปลูกริมทะเลก็ได้ ดอกมีความสวยงาม สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[4],[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “สร้อยอินทนิล (Soi Intanin)”.  หน้า 288.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “สร้อยอินทนิล”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 176.
  3. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สร้อยอินทนิล”.  หน้า 212.
  4. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2.  “สร้อยอินทนิล”.
  5. ความเหมือนที่แตกต่างแห่งพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “สร้อยอินทนิล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [08 มิ.ย. 2014].
  6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “สร้อยอินทนิล”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [08 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Reinaldo Aguilar, Laszlo Bolgar, Mauricio Mercadante, Burnt Umber, 3Point141, Andre Benedito)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด