สบู่เลือด
สบู่เลือด หรือ ว่านสบู่เลือด ชื่อวิทยาศาสตร์ Stephania pierrei Diels จัดอยู่ในวงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)
สมุนไพรสบู่เลือด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บัวเครือ (เพชรบูรณ์), บัวกือ (เชียงใหม่, เพชรบุรี), บัวบก (กาญจนบุรี, นครราชสีมา), เปล้าเลือดเครือ (ภาคเหนือ), โกฐหัวบัว (ภาคกลาง), พุ่งเหมาด้อย (เมี่ยน), เป็นต้น[1],[2]
ทำความเข้าใจกันก่อน ! : ต้นสบู่เลือดที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นไม้คนละชนิดกันกับ “เปล้าเลือด” หรือ “บอระเพ็ดยางแดง” (Stephania venosa Spreng.) หรือที่มีชื่อเรียกเหมือนกันว่า “สบู่เลือด” ซึ่งทั้งสองชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน แต่เป็นไม้คนละชนิด นอกจากนี้ยังเป็นคนละชนิดกันกับต้น “สบู่แดง” (Jatropha gossypiifolia L.) ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE) เพียงแต่ว่ามีชื่อเรียกเหมือนกันว่า “สบู่เลือด“
ลักษณะของสบู่เลือด
- ต้นสบู่เลือด จัดเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม มีหัวขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน ลักษณะกลมแป้น เปลือกของหัวมีสีน้ำตาล ส่วนเนื้อในหัวมีสีขาวนวล มีรสชาติมันและเฝื่อนเล็กน้อย โดยลำต้นจะแทงขึ้นจากหัว โค้งงอลงสู่พื้นดิน เป็นไม้กึ่งเลื้อยทอดยาวได้ประมาณ 3-5 เมตร[1]
- ใบสบู่เลือด มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม หรือเป็นรูปกลมคล้ายใบบัว แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ใบมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-6 เซนติเมตร บางครั้งมีติ่งหนามที่ปลาย เนื้อใบบางคล้ายกระดาษแต่แข็ง มีเส้นใบออกจากโคนใบเป็นรูปฝ่ามือ เส้นใบเป็นร่างแหค่อนข้างทั้งสองด้าน มีก้านใบติดอยู่ที่กลางแผ่น ก้านใบยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร[1],[3]
- ดอกสบู่เลือด ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกตามซอกใบหรือง่ามใบ ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านช่อดอกเรียวเล็ก ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศ ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ เป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ มีสีเหลือง เนื้อกลีบนุ่ม มักมีขนาดไม่เท่ากัน กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน ไม่มีก้านหรือติดบนก้าน ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร[1],[3]
- ผลสบู่เลือด ผลเป็นแบบมีเมล็ดเดียวแข็ง มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือค่อนข้างเป็นรูปไข่กลับ มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ผนังของผลชั้นในจะมีรูเล็ก ๆ ตรงกลาง ด้านบนมีตุ่มเรียงกันเป็น 4 แถว โค้ง และมีทั้งหมดประมาณ 16-19 ตุ่ม[1],[3]
สรรพคุณสบู่เลือด
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้หัวนำมาตากแห้งบดเป็นผง ใช้ผสมกับน้ำผึ้งเป็นยาลูกกลอนนำมารับประทาน (หัว)[3]
- ช่วยทำให้เกิดกำลัง ช่วยบำรุงกำหนัด (หัว, ก้าน)[1]
- ช่วยบำรุงธาตุไฟ (ใบ)[1]
- หัวนำมารับประทาน ช่วยทำให้เจริญอาหารและแข็งแรง (หัว)[3]
- เครือนำมาต้มใส่ไก่ร่วมกับว่านมหากาฬ ใช้รับประทานเป็นยาบำรุงเลือด (เครือ)[3]
- ช่วยบำรุงเส้นประสาท (ราก)[1]
- รากหรือหัวนำมาตำใช้พอกศีรษะ ช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้ (ราก, หัว)[4]
- รากหรือหัวสบู่เลือดช่วยแก้หืด (ราก, หัว)[4]
- ช่วยแก้เสมหะเบื้องบน (หัว, ก้าน)[1]
- ต้นสบู่เลือดช่วยกระจายลม ขับลมที่แน่นในอกได้ (ต้น)[1],[3]
- ช่วยทำให้อุจจาระละเอียด (ดอก)[1]
- ช่วยขับพยาธิในลำไส้ (เถา)[1]
- ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี (เถา)[1]
- ช่วยแก้อาการตกเลือดของสตรี อาการมุตกิดระดูขาวหรือตกขาวได้อย่างชะงัด ด้วยการนำหัวมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ สัก 3 แว่น นำมาตำโขลกกับน้ำซาวข้าวหรือสุราให้ละเอียด แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มประมาณ 1 ถ้วยชา เช้า เย็น และก่อนนอน (หัว)[1]
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (เหง้า)[5]
- ใบนำมาใช้ใส่บาดแผลสดและเรื้อรัง (ใบ)[1]
- ช่วยฆ่าเชื้อ รักษาโรคเรื้อน (ดอก)[1],[3]
- หัวกับก้านใบใช้รับประทานร่วมกับสุรา ช่วยทำให้เกิดอาการชา ผิวหนังอยู่ยงคงกระพัน ถูกเฆี่ยนหรือตีไม่เจ็บไม่แตก แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้วจะเกิดอาการเจ็บภายหลัง นักเลงสมัยก่อนนิยมใช้กันนัก (หัว, ก้าน)[1],[4]
- หัวนำมาใช้ต้มดื่มช่วยแก้อาการปวดเมื่อยได้ (หัว)[4]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [10 พ.ย. 2013].
- หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. (เต็ม สมิตินันทน์).
- หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ หอพรรณไม้ กรมป่าไม้. (ก่องการดา ชยามฤต).
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [10 พ.ย. 2013].
- พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sci.psu.ac.th. [10 พ.ย. 2013].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)