สตรอเบอรี่ป่า
สตรอเบอรี่ป่า ชื่อสามัญ Snake Strawberry[1]
สตรอเบอรี่ป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Duchesnea indica (Jacks.) Focke (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Duchesnea indica var. indica) จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ (ROSACEAE)[1],[2]
สตรอเบอรี่ป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยาเย็น (เชียงใหม่), จั่วผู่ท้อ จั่วม่วย ฮ่วยเสี่ยเถาเช่า (จีนแต้จิ๋ว), เสอเหมย (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของสตรอเบอรี่ป่า
- ต้นสตรอเบอรี่ป่า จัดเป็นไม้เลื้อยคลุมดิน มีเหง้าอยู่ใต้ดินและมีไหลหรือลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน ยาวได้ประมาณ 1 เมตร มีข้อสั้น ตามข้อต้นมีราก ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 8-15 เซนติเมตร อาจมีขนสั้นหรือขนยาวปกคลุมต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการแยกไหล (โดยการตัดไหลที่มีรากแล้วชำลงในดินที่ผสมขุยมะพร้าว) เจริญเติบโตได้ดีและเร็วในดินร่วนซุย มีความชื้นปานกลาง เป็นไม้กลางแจ้ง และชอบอากาศเย็น[1],[2],[3]
- ใบสตรอเบอรี่ป่า ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ก้านใบประกอบยาวได้ประมาณ 5-8 เซนติเมตร ก้านใบก้านหนึ่งจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 3-5 ใบ ออกเรียงสลับ แต่ก้านใบย่อยไม่มีจะแตกออกในจุดเดียวกัน โดยลักษณะของใบย่อยจะเป็นรูปมนรี ปลายใบมน โคนใบเรียวเล็กจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 นิ้ว และยาวประมาณ 0.5-1.5 นิ้ว แผ่นใบเป็นสีเขียว ด้านล่างมีขนสั้น ๆ สีขาวปกคลุมอยู่ ส่วนด้านบนไม่ค่อยมี[1],[2],[3]
- ดอกสตรอเบอรี่ป่า ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ โดยมากก้านช่อดอกจะมีความยาวมากกว่าก้านใบ โดยก้านช่อดอกจะยาวประมาณ 5.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองมีกลีบดอก 3-5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ ซ้อนกัน 2 ชั้น เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 12-15 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นกลีบแหลมพุ่งออกมา มีประมาณ 3-5 กลีบ และมีขนปกคลุมอยู่บาง ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้มาก[1],[3]
- ผลสตรอเบอรี่ป่า ผลติดรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ เป็นรูปทรงกลมยาวแบน ฉ่ำน้ำ ส่วนลักษณะของผลจะเป็นลูกเล็ก ๆ เมื่อสุกจะเป็นสีแดงสด และมีอยู่เป็นจำนวนมาก ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ห่อหุ้มไปด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวหรือฐานรองดอกที่ขยายตัวเป็นรูปทรงกลม ฉ่ำน้ำ[1],[2],[3]
สรรพคุณของสตรอเบอรี่ป่า
- ทั้งต้นมีรสชุ่มเปรี้ยว ขมเล็กน้อย เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและม้าม ใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยแก้อาการร้อนใน ทำให้เลือดเย็น (ก้านและใบ)[3]
- ช่วยรักษาไข้หวัด ไอหวัด ไข้สูง ด้วยการใช้ใบและก้านสดประมาณ 15-25 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 2 ครั้ง (ใบและก้าน)[1],[3]
- ช่วยแก้เด็กที่มีไข้สูงและมีอาการชัก (ใบและก้าน)[3]
- หากมีอาการคอเจ็บ มีอาการไอ ให้ใช้ใบและก้านสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินหรือใช้อมกลั้วคอ (ใบและก้าน)[1]
- ส่วนตำรับยาแก้คอเจ็บ คออักเสบ และคอตีบ ให้ใช้ต้นสดนำมาตำให้แหลกแล้วนำมาแช่กับน้ำสะอาด (ใช้น้ำเป็นสองเท่าของปริมาณยา) ทิ้งไว้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง แล้วนำมากรองเอาแต่น้ำผสมกับน้ำตาลเล็กน้อย ใช้แบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้ง ถ้าเด็กมีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ครั้งแรกให้รับประทานเพียง 50 ซีซี ส่วนครั้งถัดไปให้รับประทานครั้งละ 30 ซีซี ถ้าเป็นเด็กอายุ 6-10 ขวบ ครั้งแรกให้รับประทานครั้งละ 100 ซีซี ส่วนครั้งถัดไปให้รับประทานครั้งละ 60 ซีซี (ใบและก้าน)[3]
- ช่วยแก้คางทูม (ใบและก้าน)[3]
- สำหรับเด็กที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป ถ้าเป็นโรคคอตีบ ให้ใช้ใบและก้านสด 250 กรัม นำมาตำผสมกับน้ำเย็นแล้วคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำตาล แล้วค่อย ๆ กินให้หมดภายใน 1 วัน (ใบและก้าน)[1]
- ถ้ามีอาการไอและอาเจียนออกมาเป็นเลือด หรือกระอักเลือด ให้ใช้ใบและก้านสดประมาณ 60-90 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ 1 แก้ว ผสมกับน้ำตาลกรวดเพียงเล็กน้อย ใช้ต้มกินเป็นยา (ใบและก้าน)[1]
- ใบและก้านมีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยารักษาปากเป็นแผลเพราะร้อนใน ให้ใช้ใบและก้านสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำให้ได้ 1 แก้ว แล้วต้มจนเหลืองเพียงครึ่งแก้ว ใช้กินเป็นยา (ใบและก้าน)[1]
- ช่วยรักษาเยื่อตาอักเสบ (ใบและก้าน)[1]
- หากถ่ายเป็นมูกเลือด แก้บิด ให้ใช้ใบและก้านสด 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ใบและก้าน)[1]
- ช่วยแก้บิดอะมีบา หรือบิดติดเชื้อ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 50-100 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ใบและก้าน)[3]
- ช่วยแก้สตรีที่มีประจำเดือนมามาก (ใบและก้าน)[3]
- ช่วยรักษาตับอักเสบ ตับอักเสบแบบตัวเหลือง (ใบและก้าน)[1],[3]
- ช่วยรักษาพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย และพิษจากงูกัด ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่โดนกัด (ใบและก้าน)[1],[3]
- ช่วยรักษาโรคผิวหนังผดผื่นคัน ฝีมีหนอง งูสวัด (ใบและก้าน)[3]
- ผลสุกมีพิษห้ามนำมารับประทาน แต่สามารถนำมาใช้ทาแก้โรคผิวหนังได้ (ผล)[3]
- ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (ใบและก้าน)[3]
- ช่วยรักษาแผลพองมีหนอง แผลมีหนองเรื้อรัง ด้วยการใช้ใบและก้านสดนำมาตุ๋นกับเนื้อวัวกิน และใช้ตำพอกบริเวณแผลด้วย (ใบและก้าน)[1]
- ช่วยรักษาแผลถูกความร้อนเล็กน้อยที่ยังไม่มีหนอง ด้วยการใช้ใบและก้านสดผสมกับพิมเสนเล็กน้อย ใช้ตำพอกบริเวณแผล (ใบและก้าน)[1]
- ช่วยแก้บวม (ใบและก้าน)[3]
- หากเป็นฝีเนื้อร้าย มะเร็งที่ปากมดลูก ที่ปอด หรือที่กระเพาะอาหาร ให้ใช้ใบและก้านสด ผสมกับปาล์มจีนและปั้วกีน้อยอย่างละ 30 กรัม ใช้ต้มกินเป็นยา (ใบและก้าน)[1]
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดหลัง ปวดเอว (ทั้งต้น)[2]
หมายเหตุ : ตาม [2],[3] ระบุว่าให้ใช้ทั้งต้นเป็นยา แต่ผู้เขียนเข้าใจว่าคำว่า “ทั้งต้น” คงหมายถึงส่วนของใบและก้าน (ไม่รวมผลและราก) ส่วนการใช้ตาม [3] ถ้าเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม ส่วนยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาก็ได้ตามต้องการ[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสตรอเบอรี่ป่า
- ในเมล็ดสตรอเบอรี่ป่าจะมีน้ำมัน ซึ่งประกอบไปด้วยกรดไขมันหลัก คือ nonsaponification fat ที่ประกอบไปด้วยสารจำพวก alcohol, hydrocarbon, sterol ซึ่งมี Beta-sitosterol เป็นหลัก ในปริมาณ 89.5% ของประมาณ Sterols ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมี Linoleic acid 53.1%[1],[3]
- น้ำคั้นที่ได้จากต้นสตรอเบอรี่ป่าสด มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Staphelo coccus, เชื้อคอตีบ, เชื้อบิด, และเชื้อไทฟอยด์ได้[3]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรสตรอเบอรี่ป่า
- สำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนเพลีย ร่างกายพร่อง และสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน[1]
- ผลสุกมีพิษห้ามนำมารับประทาน[3]
ประโยชน์ของสตรอเบอรี่ป่า
- สตรอเบอรี่ป่า มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สตรอเบอรี่ป่าประดับ” นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับครับ ดอก ใบ และผลดูแล้วสวยงามดี แต่ผลไม่นิยมนำมารับประทานเพราะมีรสจืดไม่เหมาะกับมนุษย์ แต่นกจะชอบ
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สตรอเบอรี่ป่า”. หน้า 740-742.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สตรอเบอรี่ป่า”. หน้า 98.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สตรอเบอรี่ป่า”. หน้า 540.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Doug, Tom Potterfield, Charlie Hickey, naturgucker.de / enjoynature.net, Stephen Buchan, Rana Pipiens, HYLink Tree)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)