ว่านสากเหล็ก
ว่านสากเหล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Molineria latifolia (Dryand. ex W.T.Aiton) Herb. ex Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Curculigo latifolia Dryand. ex W.T.Aiton)[1],[3] จัดอยู่ในวงศ์ HYPOXIDACEAE[3]
สมุนไพรว่านสากเหล็ก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านพร้าว จ๊าลาน (เชียงราย), มะพร้าวนกคุ่ม มะพร้าวนกคุ้ม (ยะลา), พญารากเดี่ยว (นราธิวาส), กูดพร้าว (ภาคเหนือ), ละโมยอ (มะลายู-นรา), ซีหนานเหวินสูหลาน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของว่านสากเหล็ก
- ต้นว่านสากเหล็ก มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางจังหวัดสระบุรี จัดเป็นพรรณไม้เตี้ยหรือไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ลักษณะคล้ายกับพืชจำพวกปาล์ม มีความสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ลำต้นเหนือดินมีลักษณะกลมชุ่มน้ำ มีหัวคล้ายรากแทงลึกลงไปในดินประมาณ 10-30 เซนติเมตร ตรงหัวจะมีรากเล็ก ๆ ลึกลงไปในดินอีกรากหนึ่ง ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับสากตำข้าว หรือเป็นรูปไข่กลมรี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ และใช้เมล็ด พบแพร่กระตายในพม่า และทางตอนใต้ของไทย รวมถึงหมู่เกาะมาเลเซียและบอร์เนียว[1],[2],[3],[5]
- ใบว่านสากเหล็ก ใบออกเรียงสลับติดกันที่โคนต้น ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก แผ่นใบพับเป็นร่อง ๆ ตามยาวคล้ายกับใบปาล์ม ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-70 เซนติเมตร มีก้านใบยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร โคนแผ่กว้างหุ้มกับลำต้น[2],[3]
- ดอกว่านสากเหล็ก ดอกออกเป็นช่อแทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน ดอกมีกลีบ 6 กลีบ สีเหลือง โคนดอกเชื่อมติดกัน ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกออกรวมกันแน่น ลักษณะเป็นช่อรูปทรงกระบอกปลายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 5-7 เซนติเมตร[3]
- ผลว่านสากเหล็ก ผลมีลักษณะกลมมีสีเหลืองอมเขียวอ่อน ส่วนผลแก่เป็นสีขาวถึงแดง มีขนาดยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ส่วนที่ด้านขั้วป่องออก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร และค่อย ๆ เรียวไปทางปลายผล[3] ผลมีรสหวานถ้ากินน้ำหลังจากกินผลไม้นี้แล้ว จะทำให้สึกว่าน้ำมีรสหวานชุ่มคอดี[1]
สรรพคุณของว่านสากเหล็ก
- ใบและรากมีรสเผ็ดขม เป็นยาเย็นมีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (ใบและราก)[2]
- ช่วยกระจายโลหิต ฟอกโลหิต และทำให้โลหิตไหลเวียนได้สะดวก (ใบและราก)[2]
- ช่วยบำรุงกำลัง (ราก)[4]
- ช่วยแก้อาการไอ เจ็บคอ ด้วยการใช้ยาแห้งประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ใบและราก)[2]
- หัวและรากของว่านสากเหล็ก นำมาหั่นบาง ๆ แล้วตากให้แห้ง ใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยาชักมดลูก สำหรับผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่ ๆ จะช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น และยังช่วยรักษามดลูกอักเสบเนื่องจากความเคลื่อนไหวของมดลูกจากที่เดิมให้เป็นปกติ (หัวและราก)[1],[2],[3]
- หัวใช้ดองกับเหล้ารับประทานแก้มดลูกพิการ หรือเนื้องอกในมดลูกทำให้ฝ่อ ช่วยแก้กระบังลมพลัด (เรียกว่า “ดากโยนี” เวลานั่งโผล่ เวลานอนหดขึ้น) ทำให้ยุบเล็กและแห้งเหี่ยวไป (หัว)[6]
- ช่วยแก้พิษงู แมลงกัดต่อย (ใบและราก)[2]
- ช่วยรักษาฝีภายนอก (ใบและราก)[2]
- ช่วยแก้อาหารฟกช้ำ โดยใช้รากแห้ง นำมาบดให้เป็นผง ใช้ครั้งละ 10 กรัม นำมาชงกับน้ำหรือเหล้ารับประทาน (ราก)[2]
- ช่วยแก้อาการปวดข้อ เคล็ดขัดยอก แก้บวม (ใบและราก)[2]
- ว่านสากเหล็กจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดเหล็กทั้งห้า” ซึ่งประกอบไปด้วยว่านสากเหล็ก แก่นขี้เหล็ก แก่นพญามือเหล็ก เถาวัลย์เหล็ก และสนิมเหล็ก มีสรรรพคุณเป็นยาแก้พิษโลหิตทั้งบุรุษและสตรี เป็นยาบำรุงกำลัง และแก้กษัย[6]
หมายเหตุ : การใช้ตาม [2] ให้ใช้ยาแห้งครั้งละ 3-10 กรัม ถ้าเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้เข้ากับตำรายาอื่นด้วยก็ได้ แต่ถ้านำมาใช้ภายนอกให้ใช้ต้นสดตำพอกบริเวณที่ต้องการ[2] ว่านสากเหล็กและพลับพลึง ต่างก็มีสรรพคุณที่คล้ายคลึงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ แต่ในตำรายาไทยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ว่านสากเหล็กเป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับมดลูกเป็นส่วนใหญ่ และก่อนจะนำมาใช้เป็นยาจะต้องนำไปกำจัดพิษออกก่อน และเวลาใช้ไม่ควรใช้ในปริมาณที่เกินกว่ากำหนด[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านสากเหล็ก
- สารที่พบได้แก่ สาร Alkaloids หลายชนิด เช่น Lycorine, Narcissine, Crinamrine, Tazettine, Amino acid เป็นต้น[2]
- สาร Tazettine ที่สกัดได้จากว่านสากเหล็กในปริมาณ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีฤทธิ์ในการกระตุ้นหัวใจที่อยู่นอกตัวของกล ทำให้มีการบีบตัวแรงขึ้น[2]
- ว่านสากเหล็กมีฤทธิ์ทางเภสัชที่สำคัญคือฤทธิ์การต้านการอักเสบ รักษาแผลพุพอง หนอง ลดอาการเจ็บปวด อาการบวม[5]
- สารสกัดหยาบด้วยน้ำอุณหภูมิห้องจากส่วนของรากและเหง้าจะให้ผลผลิตสูงสุด รองลงมาคือเอทานอลและสารสกัดหยาบจากส่วนใบและลำต้น จากการศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ พบว่าสารสกัดหยาบทั้งส่วนเหนือดิน (รากและเหง้า) และส่วนใต้ดิน (ใบและลำต้น) มีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูง โดยสารสกัดหยาบด้วยน้ำร้อนจากส่วนของใบและลำต้นจะมีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด[5]
- นอกจากนี้ว่านสากเหล็กยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มก่อโรคผิวหนัง Candida albicans, Pseudomonas aeruginosa, Stapphylococcus aureus ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้[5]
ประโยชน์ของว่านสากเหล็ก
- ผลใช้รับประทานได้ มีรสหวานถ้ากินน้ำหลังจากกินผลไม้นี้แล้ว จะทำให้สึกว่าน้ำมีรสหวานชุ่มคอ รับประทานอะไรก็หวานไปหมด[1]
- บางข้อมูลระบุว่ารากสามารถนำมาใช้ปรุงทำเป็นยาขัดผิว แก้สิวฝ้าจุดด่างดำได้[4],[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ว่านสากเหล็ก”. หน้า 730-731.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ว่านสากเหล็ก”. หน้า 516.
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ว่านสากเหล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [04 มิ.ย. 2014].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ว่านสากเหล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [04 มิ.ย. 2014].
- กรุงเทพธุรกิจ. “ว่านสากเหล็กต้านอนุมูลอิสระ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bangkokbiznews.com. [04 มิ.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลสมุนไพร, ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ว่านสากเหล็ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/medplantdatabase/. [04 มิ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by osmoxylon, tamara photos, Ahmad Fuad Morad), samunpri.webiz.co.th, www.bloggang.com (by ป้าคาล่า)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)