ว่านมหาเมฆ สรรพคุณและประโยชน์ของว่านมหาเมฆ 20 ข้อ !

ว่านมหาเมฆ

ว่านมหาเมฆ ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma aeruginosa Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1]

สมุนไพรว่านมหาเมฆ มีชื่อเรียกอื่นว่า ขมิ้นดำ ว่านขมิ้นดำ (เชียงใหม่), กระเจียวแดง, มหาเมฆ, อาวแดง, ขิงเนื้อดำ, ขิงดำ, ขิงสีน้ำเงิน, เหวินจู๋ เอ๋อจู๋ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[7]

ลักษณะของว่านมหาเมฆ

  • ต้นว่านมหาเมฆ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงได้ประมาณ 80-150 เซนติเมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะของเหง้าเป็นสีเหลืองอมเขียวอ่อน หรือเป็นสีม่วงอมน้ำเงิน จึงมีคนเรียกว่า “ขิงดำ” หรือ “ขิงสีน้ำเงิน” ความยาวของเหง้ามีขนาดประมาณ 12 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร[1] หัวหรือเหง้าเมื่อเก็บไว้นานหลายปีจะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีเหลือง พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี มักขึ้นตามดินทราย ทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ และในป่าราบทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศ[2],[4]

ต้นว่านมหาเมฆ

  • ใบว่านมหาเมฆ ใบจะแทงขึ้นมาจากเหง้าที่โคนใบจะมีกาบใบสีม่วงอมเขียวเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ในต้นหนึ่งจะมีใบประมาณ 4-7 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 18-60 เซนติเมตร ตรงกลางใบจะมีสีม่วงแดง กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ไปจนถึงปลายใบ[1]

ใบว่านมหาเมฆ

  • ดอกว่านมหาเมฆ ออกดอกเป็นช่อแทงขึ้นมาจากเหง้าและมีกาบใบห่อหุ้มอยู่ กาบใบยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร ดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกกลมรี กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีชมพูแดง มีประมาณ 20 กลีบ เรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ บริเวณโคนกลีบดอกเป็นสีขาว กลีบดอกมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 1 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่มี 3 รัง[1]

ดอกว่านมหาเมฆ

  • ผลว่านมหาเมฆ ออกผลเป็นพวง ลักษณะเหมือนดอกระกำหรือดอกคำ[2] ลักษณะของผลเป็นรูปไข่สามเหลี่ยม ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกลมมีเนื้อสีขาวใสหุ้มอยู่[1]

หมายเหตุ : หัวว่านและเนื้อในหัวว่านมหาเมฆจะมีลักษณะคล้ายกับว่านหลายชนิด เช่น ว่านขมิ้นชัน ว่านคันทมาลา ว่านใจดำ ฯลฯ แต่จุดแตกต่างที่ชัด คือ เหง้าของว่านคันทมาลาจะมีลักษณะอวบอ้วนกว่า ข้อตามเหง้าถี่กว่า แง่งสั้นมองเห็นได้ชัด ส่วนเหง้าของว่านมหาเมฆจะมีตาสีชมพูเหมือนว่านใจดำ แต่ข้อมีสีดำและห่างกว่าว่านคันทมาลา ขณะที่ว่านใจดำข้อบนเหง้ามีสีน้ำตาล และต่างกับว่านขมิ้นชันตรงที่เนื้อในหัวแก่ของว่านขมิ้นชันจะเป็นสีเหลืองเข้ม[7]

สรรพคุณของว่านมหาเมฆ

  1. เหง้าว่านมหาเมฆมีรสขมเผ็ด เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ใช้เป็นยากระจายเลือดลม (เหง้า)[1]
  2. เหง้าใช้เข้าตำรับยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย (เหง้า)[4]
  3. เหง้าใช้เป็นยาแก้โรคธาตุพิการ ด้วยการใช้เหง้าสดมาโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาว คั้นเอาแต่น้ำกิน (เหง้า)[7]
  4. ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้อาเจียน (เหง้า)[4]
  5. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคหอบหืดหายใจไม่ปกติ แก้ไอ (เหง้า)[3]
  1. ใช้เป็นยาแก้ลมขึ้น แก้จุกเสียดแน่นหน้าอก ขับลม แก้จุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ (เหง้า)[1],[2],[4]
  2. เหง้านำมาหั่นเป็นแว่นสดหรือตากแห้งต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง โรคกระเพาะ รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้ (เหง้า)[3],[4]
  3. เหง้านำมาหั่นแล้วนำไปดองกับเหล้ากินเป็นยารักษาอาการท้องร่วงได้ดีมาก (เหง้า)[2],[4]
  4. ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิเส้นด้าย ให้กินเหง้าสดกับน้ำสะอาดหรือน้ำสุกก่อนเข้านอน เพียง 3 วัน ตัวพยาธิในร่างกายก็จะตายหมด (เหง้า)[7]
  5. เหง้าใช้เป็นยาแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติเนื่องจากเส้นเลือดของมดลูกอุดตัน (เหง้า)[1]
  6. เหง้านำมาหั่นแล้วนำไปดองกับเหล้าหรือนำมาต้มกับน้ำกิน เป็นยาสำหรับสตรีที่คลอดลูกใหม่ ๆ อยู่เรือนไฟ เป็นยาช่วยแก้อาการปวดมดลูก มดลูกอักเสบ และช่วยชักมดลูกให้เข้าอู่เร็วขึ้น รัดมดลูก ทำให้ยุบตัวเร็ว (เหง้า)[1],[2],[4]
  7. ช่วยคลายและกระจายก้อนเนื้อในร่างกาย หรือซีสต์ในมดลูก (เหง้า)[1]
  8. ใช้รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกระยะแรก (เหง้า)[1]
  9. ช่วยรักษาตับและม้ามโต (เหง้า)[1]
  10. เหง้าใช้ภายนอกเป็นยาสมานแผลและต้านเชื้อรา (เหง้า)[8]
  11. เหง้าใช้เป็นยาประคบผิวหนังแก้อาการคัน (เหง้า)[3]
  12. ใช้เป็นยาแก้ปวด แก้ฟกช้ำดำเขียว (เหง้า)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] ให้ใช้ยาแห้งครั้งละ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้ากับตำรายาอื่นได้ตามต้องการ[1]

ข้อควรระวัง : สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีอาการเลือดลมพร่องหรือม้ามและกระเพาะหย่อน ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านมหาเมฆ

  • ในเหง้าพบน้ำมันซึ่งมีสารที่ประกอบไปด้วย Curcumenol, Curdione, Curzerenone, Germacene, Isofrtungermacrene, Zedoarone และยังพบแป้ง เป็นต้น (สารที่พบจากเหง้าของว่านมหาเมฆ คล้ายกับสารที่พบในเหง้าของขมิ้นอ้อย แต่จะไม่พบสาร Cucurmin ซึ่งเป็นสารที่ให้สีเหลืองของขมิ้นอ้อย)[1]
  • น้ำมันจากเหง้าว่านมหาเมฆมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Bacillus inuza, Staphylococcus, เชื้ออหิวาต์ และเชื้อในลำไส้ใหญ่ได้หลายชนิด[1]
  • สาร Curdione จากเหง้าว่านมหาเมฆมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli, Salmonella typhi, Klebsiella. Pneumoniae และ Stophylococcus aureus[8]
  • เมื่อนำสารที่สกัดได้จากเหง้ามาฉีดเข้าช่องท้องของหนูทดลองที่เป็นโรคมะเร็งในตับ หรือเป็นเนื้อร้าย 180 พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ แต่ถ้านำสารสกัดมาให้หนูทดลองดังกล่าวกิน พบว่าจะไม่มีผลในการรักษา[1]
  • เมื่อนำน้ำมันจากเหง้ามาให้คนหรือสัตว์กิน พบว่าจะมีฤทธิ์กระตุ้นกระเพาะและลำไส้ให้มีการขยับและบิดเคลื่อนไหวตัว ทำให้สามารถขับลมในกระเพาะและลำไส้ได้ อีกทั้งยังช่วยแก้อาการปวดกระเพาะและลำไส้ได้อีกด้วย[1]
  • สารสกัดชั้นน้ำยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV-1 และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HIV-1 protease (IC50 : 500 mcg/ml) (Otake et al.,1995)[6]

ขมิ้นดำ

หัวว่านมหาเมฆ

ประโยชน์ของว่านมหาเมฆ

  1. ดอกสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารรับประทานได้ โดยนิยมนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริก
  2. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือปลูกเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพรทั่วไปอย่างแพร่หลายในมาเลเซีย อินเดีย และประเทศในแถบอินโดจีน[3] สำหรับการปลูกนั้นควรปลูกในดินร่วนปนทรายผสมดินลูกรังแดง และให้วางหัวว่านโผล่พ้นดินขึ้นมาเล็กน้อย ว่านชนิดนี้ชอบแสงแดด จึงควรนำมาปลูกในที่กลางแจ้ง[5]
  3. ในด้านของความเชื่อ มีความเชื่อกันว่าหากเกิดจันทรุปราคา ให้นำหัวว่านมหาเมฆมาปลุกเสกด้วยคาถา (เสกจนพระจันทร์มืดมิด) แล้วนำหัวว่านมาทาบตัว จะทำให้ผู้อื่นมองไม่เห็นตัวเรา และหากปรารถนาสิ่งใดก็จะสมดั่งปรารถนา หรือหากนำมารับประทานก็จะเป็นคงกระพันชาตรี[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ว่านมหาเมฆ”.  หน้า 514.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ว่านมหาเมฆ”.  หน้า 727-728.
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ว่านมหาเมฆ”.  อ้างอิงใน :  หนังสือพืชสกุลขมิ้นในประเทศไทย.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [23 ต.ค. 2014]
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ว่านมหาเมฆ”.  อ้างอิงใน : หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [23 ต.ค. 2014]
  5. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย.  “ว่านมหาเมฆ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.panmai.com.  [23 ต.ค. 2014].
  6. สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์.  “ว่านมหาเมฆ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : aidsstithai.org/herbs/.  [23 ต.ค. 2014].
  7. ว่านและสมุนไพรไทย, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร.  “ขมิ้นดำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : natres.skc.rmuti.ac.th/WAN/.  [23 ต.ค. 2014].
  8. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “สารสำคัญในต้นว่านมหาเมฆ”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.  [23 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad), www.qsbg.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด